Skip to main content
sharethis

เอ็นจีโอไทยและระหว่างประเทศกว่า 60 องค์กร ร่วมลงนามในจดหมายส่งถึงรัฐบาลลาว พร้อมสำเนาถึงเลขาธิการอาเซียน สถานกงสุลและสถานทูตนานาชาติ ร้องตามหา‘นายสมบัด สมพอน’ นักพัฒนาอาวุโสของลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ หายตัวลึกลับ

 
วันนี้ (18 ธ.ค.55) คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป. อพช.) พร้อมด้วยเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยและระหว่างประเทศกว่า 60 องค์กร ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกส่งถึง รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี ประธานสภาแห่งชาติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายใน รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง เจ้าแขวงกำแพงนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กรณีการหายตัวไปของ นายสมบัด สมพอน (Sombath Somphone) นักพัฒนาอาวุโสของลาว เจ้าของรางวัลแมกไซไซ ปี พ.ศ.2548

อีกทั้งมีการสำเนาถึง ดร.สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน สถานกงสุล และสถานทูต ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย อินโดเนเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไทย และสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเวียงจันทน์ สปป.ลาว
 
จากเหตุการณ์ที่ นายสมบัด หายตัวไป ระหว่างการขับรถกลับบ้านพักในกรุงเวียงจันทน์ ในช่วงระหว่าง 17.00-18.00 น.ของวันเสาร์ที่ 15 ธ.ค.ที่ผ่านมา และหลังจากมีการติดตามสถานการณ์แล้วไม่ปรากฏความเคลื่อนไหวใดๆ ภาคประชาสังคมจึงมีการจัดทำจดหมายเปิดผนึก เพื่อสนับสนุนให้มีการสืบค้นหาตัวนายสมบัดโดยเร็วที่สุด
 
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) กล่าวว่า หลังจากเหตุการณ์ได้มีการประสานไปทางภรรยาของนายสมบัด ทราบว่าเธอได้ยื่นหนังสือสอบถามไปยังผู้ใหญ่ในรัฐบาลลาวแล้ว และได้รับการยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการหายตัวไปของนายสมบัด เมื่อรัฐบาลลาวได้ยืนยันแล้วเช่นนี้ ทางเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยจึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลร่วมสืบค้นหาตัวนายสมบัดให้ได้โดยเร็ว
 
นอกจากนั้น การจัดทำจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการแจ้งให้รัฐบาลลาวได้รู้ว่า ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ที่เครือข่ายภาคประชาสังคมในภูมิภาคนี้ให้ความสนใจจับตามองและต้องการเห็นความคืบหน้า ซึ่งนอกจากจดหมายเปิดผนึกของเครือข่ายภาคประชาสังคมไทยแล้ว ขณะนี้ยังมีการจัดทำจดหมายในกรณีเดียวกันนี้ซึ่งเป็นการล่ารายชื่อจากองค์กรประชาสังคม องค์กรสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอีกฉบับหนึ่งด้วย
 
นางสุนทรี กล่าวด้วยว่าการหายตัวไปของนายสมบัดได้สร้างความหวั่นวิตกให้เกิดขึ้นต่อองค์กรภาคประชาสังคมในวงกว้าง เนื่องจากนายสมบัดถือเป็นนักพัฒนาอาวุโสซึ่งเป็นที่รู้จักของหลายองค์กรทั้งในไทยและภูมิภาค เคยร่วมงานกับหลายๆ องค์กร และที่ผ่านมาการจัดกิจกรรมของภาคประชาชนใน สปป.ลาวก็มีนายสมบัดช่วยเหลือเป็นผู้อำนวยการให้ เช่นล่าสุดในการจัดประชุมของภาคประชาชน (Asia-Europe Peoples Forum: AEPF) คู่ขนานกับการประชุม ASEM หรือ Asia-Europe Meeting ครั้งที่ 9 ณ นครหลวงเวียงจันทน์ เมื่อเดือนพ.ย.ที่ผ่านมาก็มีนายสมบัติเป็นกำลังสำคัญในการจัดงาน
 
ส่วนประเด็นที่อาจเป็นมูลเหตุการหายตัวไปของนายสมบัดนั้น นางสุนทรีกล่าวว่าในส่วนของภาคประชาสังคมก็มีการตั้งคำถามกันในหลายประเด็น เช่นแนวคิดต่อการพัฒนาเป็นต้น ทั้งนี้ โดยในส่วนภรรยาของนายสมบัดเองก็ยืนยันว่าสามีไม่มีความขัดแย้งในประเด็นส่วนตัวอื่นๆ อย่างไรก็ตามภาคประชาสังคมไทยจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป เพราะกรณีที่เกิดขึ้นถือเป็นการคุกคามสิทธิมนุษยชนต่อผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมด้วย
 
ในจดหมายเปิดผนึกดังกล่าวระบุข้อเรียกร้องให้รัฐบาลลาวดำเนินมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการหายตัวไปของ นายสมบัด โดยองค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการซึ่งร่วมลงชื่อจะรอรับข้อมูลความพยายามในการเร่งรัดสืบค้นติดตามการหายตัวไป เพื่อให้แน่ใจว่าทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
 
“พวกเราหวังว่าท่านสมบัดยังคงปลอดภัยและสามารถกลับมาสานต่อภารกิจที่ยังคั่งค้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ร่วมทำงานในภารกิจเดียวกันนี้เท่านั้น แต่เพื่อผู้คนที่ต้องการสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน” เนื้อความในจดหมายตอนหนึ่งระบุ
 
 
นอกจากนั้น การหายตัวไปของนายสมบัดยังได้สร้างกระแสความเคลื่อนไหวในโลกออนไลน์ โดยมีการเผยแพร่และส่งต่อภาพของเขารวมทั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในภาษาลาว ผ่านทางเฟซบุ๊ก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.55 โดยบุคคลที่ใช้ชื่อว่า Xaysomphone Phaypadith ซึ่งล่าสุด (เวลา 19.30 น.วันที่ 18 ธ.ค.55) มีการแชร์ดังกล่าว1,647 ครั้ง
 
ทั้งนี้ นายสมบัด เป็นผู้ก่อตั้งองค์กร Participatory Development Training Centre (PADECT) และเป็นที่รู้จักกันดีในฐานะผู้บุกเบิกและอุทิศตนให้กับงานพัฒนาสังคมในประเทศลาว โดยเฉพาะงานด้านการศึกษา มาเป็นเวลายาวนานหลายทศวรรษจนได้รับรางวัล “รามอนแมกไซไซ” ปี 2005 (พ.ศ.2548) ด้านบริการชุมชน ปีเดียวกับ จอน อึ๊งภากรณ์ อดีตสมาชิกวุฒิสภา (สว.) กรุงเทพมหานคร ซึ่งได้รับรางวัลในด้านบริการภาครัฐด้วย
 
ผู้สื่อข่ายรายงานว่าจนถึงขณะนี้การหายตัวของนายสมบัด ยังไม่ทราบถึงสาเหตุและผู้ที่กระทำการอย่างแน่ชัด
 
จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว มีรายละเอียดดังนี้
 
 
 
 
 
18 ธันวาคม 2555
 
เรียน:
 
รัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี
ประธานสภาแห่งชาติ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงภายใน
รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคง
เจ้าแขวงกำแพงนครเวียงจันทน์
กำแพงนครเวียงจันทน์ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
 
สำเนาถึง:
 
ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน
สถานกงศุล และสถานทูต ออสเตรเลีย ฝรั่งเศส เยอรมันนี อินเดีย อินโดเนเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เกาหลี สวีเดน ไทย และสหรัฐอเมริกา ณ กรุงเวียงจันทน์
 
 
เรื่อง ขอให้สืบสวนเรื่องการหายตัวไปของ ท่านสมบัด สมพอน โดยด่วนที่สุด
 
เมื่อวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม 2555 ที่ผ่านมา เราได้รับแจ้งถึงการหายตัวไปของท่านสมบัด สมพอน ผู้ก่อตั้ง ‘ศูนย์ฝึกอบรมฮ่วมพัฒนา’ (Participatory Development Training Centre [PADECT]) ผู้เป็นเจ้าของรางวัล ‘รามอนแมกไซไซ’ ปี 2548 ซึ่งเป็นนักคิดอาวุโสที่ได้รับความเคารพอย่างยิ่งในฐานะผู้ทำงานช่วยเหลือด้านการพัฒนาสังคมมาโดยตลอด การหายตัวไปของท่านสมบัด สมพอน เกิดขึ้นเมื่อตอนเย็นของวันเสาร์ที่ 15 ธันวาคม กลางนครเวียงจันทน์ ขณะกำลังขับรถจากที่ทำงานเพื่อกลับบ้าน ผู้คนที่รู้จักท่านสมบัด ที่อยู่ในประเทศไทยต่างตกใจและห่วงใยเป็นอย่างยิ่งต่อความปลอดภัยของท่านสมบัดในทันทีที่ได้รับทราบข่าว
 
ประชาชนในสังคมไทย อาเซียน และนานาประเทศ ต่างตระหนักรับรู้ถึงบทบาทของท่านสมบัด ในฐานะผู้บุกเบิกและอุทิศตนให้กับงานพัฒนาสังคมในประเทศลาว ความมุมานะที่ทุ่มเทให้กับการยกระดับด้านการศึกษาเพื่อผู้คนมานับทศวรรษ ซึ่งเป็นคุณูปการอันใหญ่หลวงกับประชาชนมากมายในประเทศของท่าน รางวัลรามอนแมกไซไซด้านบริการชุมชนที่ท่านได้รับนั้นเป็นเครื่องพิสูจน์คุณค่าและอิทธิพลอันสำคัญถึงผลงานของท่านที่มีต่อประชาชนในประเทศผู้ต้องการโอกาสทางการพัฒนาและการศึกษา ยิ่งไปกว่านั้น ความตั้งใจจริงในการทำงานเพื่อประโยชน์ของประชาชนในประเทศของท่านเอง เป็นสิ่งที่ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับหลายๆ คนในนอกประเทศเช่นพวกเรา
 
ดังนั้น พวกเรา องค์กรภาคประชาสังคม และนักวิชาการในประเทศไทย ขอเรียกร้องให้รัฐบาลลาวดำเนินมาตรการเร่งด่วนเกี่ยวกับการหายตัวไปของท่านสมบัด พวกเรารอรับฟังความถึงความพยายามในการเร่งรัดสืบค้นติดตามการหายตัวไป เพื่อให้แน่ใจว่า ทุกอย่างจะคลี่คลายไปในทางที่ดี
 
ท้ายที่สุดนี้ พวกเราหวังว่าท่านสมบัดยังคงปลอดภัยและสามารถกลับมาสานต่อภารกิจที่ยังคั่งค้าง ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยส่งเสริมและเป็นกำลังใจให้กับคนที่ร่วมทำงานในภารกิจเดียวกันนี้เท่านั้น แต่เพื่อผู้คนที่ต้องการสร้างโลกนี้ให้ดีขึ้นสำหรับพวกเราทุกคน
 
ด้วยความนับถือ
 
กลุ่มรักษ์เขาชะเมา
กลุ่มรักษ์เชียงคาน
กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch)
กลุ่มศึกษาปัญหายา
กลุ่มศึกษาพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นธรรม
กลุ่มสื่อเสียงคนอีสาน (ISAN voice)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (PMove)
ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม
คณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
คณะทำงานเพื่อโลกเย็นที่เป็นธรรม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก
เครือข่ายคนไทยไม่เอาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายปฎิรูปที่ดินภาคเหนือ
เครือข่ายประชาชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมือง
เครือข่ายผู้ได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้าชัวมวล อุบลราชธานี
เครือข่ายผู้หญิงอีสาน
เครือข่ายพลังงานยั่งยืน จังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายพลังงานยั่งยืนจังหวัดสุรินทร์
เครือข่ายภูมิปัญญาท้องถิ่น อุบลราชธานี
เครือข่ายสลัมชุมชน
โครงการทามมูล
โครงการทามมูล
โครงการแม่น้ำเพื่อชีวิต
พรศิริ ชีวะวัฒนานุวงศ์ คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
มูลนิธิเกษตรยั่งยืน
มูลนิธิชีววิถี (Biothai)
มูลนิธิชุมชนอีสาน
มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH)
มูลนิธิพัฒนาภาคชุมชน
มูลนิธิพัฒนาศักยภาพชุมชน
มูลนิธิพัฒนาอีสาน (NET)
มูลนิธิพัฒนาอีสาน/งานพลังงานและสิ่งแวดล้อม
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน
มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
มูลนิธิเสฐียรโกเศศ - นาคะประทีป
มูลนิธิอาสาสมัครเพื่อสังคม
เครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือกภาคอีสาน
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ดินทำกิน จ.เพชรบูรณ์
ศูนย์ข้อมูลสิทธิมนุษยชนและสันติธรรม
ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูวัฒนธรรมชุมชนเทือกเขาเพชรบูรณ์ จ.เพชรบูรณ์
เครือข่ายผู้หญิงปกป้องสิทธิที่ทดินทำกิน จ.เพชรบูรณ์
ศูนย์ส่งเสริมสิทธิมนุษยชนภาคอีสาน
สถาบันการจัดการทางสังคม
สถาบันบ่มเพาะจิตสู่การแปรเปลี่ยนสังคม
สภาการศึกษาทางเลือกไทย
สมัชชาคนจน กรณีเขื่อนปากมูน
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ
สหพันธ์องค์กรผู้บริโภค
สำนักข่าวประชาธรรม
โฮงเฮียนสืบสาน
ASEAN WATCH- Thailand
International Network of Engaged Buddhists (INEB)
School for Wellbeing Studies and Research
ThaiDhhra
Thai-Water Partnership
The Collaboration for the Young Generation in Mekong Region
The Creative Youth Group
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net