Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
DSJ ได้นำเสนอรายงานความยาว 6 ตอนเพื่ออธิบายที่มาที่ไป ความคิดและการปฏิบัติการของขบวนการเอกราชปาตานี รวมถึงได้สะท้อนสิ่งที่ภาคส่วนอื่นๆ มองขบวนการ โดยมุ่งหวังว่าความเข้าใจในเรื่องเหล่านี้จะนำไปสู่การวางนโยบายต่อการแก้ปัญหาในจังหวัดชายแดนภาคใต้อย่างมีทิศทาง มีเอกภาพและตรงประเด็นมากขึ้น  
 
ในบทสรุป  ทาง DSJ ทดลองประมวลข้อเสนอทางนโยบาย 6 เรื่องฝากให้ผู้กำหนดนโยบายได้พิจารณา
 
ประการแรก ความเห็นของหลายฝ่ายที่ DSJ ไปสัมภาษณ์มองตรงกันว่าเรื่องการพูดคุยกับขบวนการเอกราชปาตานีเป็นเรื่องสำคัญในการยุติความรุนแรง ที่ผ่านมา แม้จะมีความพยายามจากองค์กรเอกชนระหว่างประเทศในการเชื่อมประสานการพูดคุยระหว่างรัฐกับขบวนการ  แต่ความไม่มีเสถียรภาพของการเมืองไทยได้เป็นอุปสรรคสำคัญที่ทำให้การดำเนินการในเรื่องนี้ต้องสะดุดอยู่ตลอดเวลา  เมื่อมีการเปลี่ยนรัฐบาล ทิศทางการดำเนินการในเรื่องนี้ก็ถูกเปลี่ยนไปด้วย 
 
เอกภาพระหว่างสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ในการดำเนินการเรื่องการพูดคุยก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่สำคัญ ในขณะนี้ดูเหมือนจะมีพัฒนาการไปในทิศทางบวกมากขึ้น  หลังจากที่สมช. ได้จัดทำ “นโยบายการบริหารและการพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2555 – 2557”  ตามพรบ. การบริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ พ.ศ. 2553 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2555  ที่ผ่านมา วัตถุประสงค์หนึ่งในนโยบายนี้ระบุว่ารัฐมีหน้าที่ “สร้างสภาวะแวดล้อมที่เหมาะสมและเอื้อต่อการพูดคุยในการแสวงหาทางออกจากความขัดแย้งและการให้หลักประกันในการเข้ามามีส่วนร่วมของผู้เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในกระบวนการเสริมสร้างสันติภาพ”  ซึ่งต่อมาทางกอ.รมน. และศอ.บต. ได้นำนโยบายนี้ไปใช้ในการกำหนดเป้าหมายการทำงานในระดับปฏิบัติการ
 
ประการที่สอง  การส่งเสริมในเรื่องการดำรงรักษาอัตลักษณ์และวิถีวัฒนธรรมของคนมลายูมุสลิมจะช่วยลดเงื่อนไขในการต่อสู้กับรัฐ  และเป็นการลดความรู้สึกหวาดระแวงและเกลียดชังรัฐ  สิ่งสำคัญอยู่ที่การปรับวิธีคิดของรัฐต่อเรื่องนี้ให้สามารถยอมรับได้ว่าการอนุญาตให้คนกลุ่มน้อยดำรงรักษาภาษา วัฒนธรรมและศาสนาของตนเองซึ่งแม้แตกต่างจากคนส่วนใหญ่ในชาติ ไม่ได้กระทบต่อความมั่นคงของชาติแต่อย่างใด  รัฐสามารถดำเนินการผ่านโครงการที่เป็นรูปธรรม  เช่น ส่งเสริมให้มีการเรียนการสอนภาษามลายูในโรงเรียนของรัฐ   การอนุญาตให้ใช้ภาษามลายูเป็นภาษาทำงานในพื้นที่  
 
ประการที่สาม  ทุกฝ่ายควรจะร่วมกันสร้างพื้นที่การถกเถียงทางการเมืองอย่างสันติวิธีให้เป็นเวทีการต่อรองทางอำนาจที่มีความหมาย   หากทุกภาคส่วนให้ความสำคัญกับพื้นที่นี้ก็จะส่งผลให้ความชอบธรรมของการต่อสู้ด้วยอาวุธลดลง    พื้นที่นี้ควรเปิดกว้างให้มีการอภิปรายถกเถียงได้ในทุกๆ เรื่อง แม้กระทั่งเรื่องเอกราช  ตราบใดที่ยังคงเป็นการเคลื่อนไหวอย่างสันติวิธี
 
ประการที่สี่  รัฐควรจะให้ผู้นำศาสนาในปอเนาะและสถาบันศาสนาในท้องถิ่นเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้  ควรเปิดให้มีการพูดคุยในประเด็นที่อึดอัดคับข้องใจของชาวมลายูมุสลิม  รวมถึงให้มีการถกเถียงถึงการตีความหลักการศาสนาอิสลามในประเด็นต่างๆ เพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน  
 
ประการที่ห้า รัฐควรจะให้น้ำหนักในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งระบบ ทั้งภาครัฐและโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยมุ่งทำให้การเรียนการสอนมีมาตรฐานและทำให้เกิดสมดุลระหว่างการศึกษาวิชาสามัญและศาสนาซึ่งเป็นความต้องการของชาวมลายูมุสลิมในพื้นที่  กระทรวงศึกษาธิการควรมีบทบาทนำอย่างจริงจังในเรื่องนี้ โดยอาจจะให้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งเพื่อยกร่างโมเดลการปฏิรูปการศึกษาทั้งระบบในจังหวัดชายแดนภาคใต้  โดยในกระบวนการนี้ควรจะพยายามให้ผู้นำและประชาชนในพื้นที่ได้มีส่วนร่วมให้มากที่สุด  และไม่ควรเป็นนโยบายที่ถูกกำหนดมาจากข้าราชการจากส่วนกลาง
 
ประการที่หก  รัฐควรจะส่งเสริมการการอยู่ร่วมกันในสังคมพหุวัฒนธรรม  ข้อมูลในการทำรายงานพิเศษชุดนี้ชี้ให้เห็นว่าคนที่เข้าร่วมขบวนการจำนวนหนึ่งมีปฏิสัมพันธ์กับรัฐและคนต่างศาสนาน้อย  ความไม่รู้จักทำให้เกิดความหวาดระแวง  กระทั่งความเกลียดชัง สายสัมพันธ์ที่ดีระหว่างคนต่างศาสนาจะเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างสันติภาพที่ยั่งยืนในชายแดนภาคใต้  
 
สุดท้าย  DSJ อยากจะฝากคำถามบางประการไปยังขบวนการเอกราชปาตานี  เราอยากจะเห็นขบวนการทบทวนยุทธศาสตร์และยุทธวิธีในการต่อสู้   เราตั้งคำถามว่าข้อเรียกร้องเรื่องเอกราชจะเป็นประโยชน์มากน้อยเพียงใดต่อคนปาตานีในบริบทโลกยุคโลกาภิวัตน์และขบวนการจะเดินไปสู่เป้าหมายทางการเมืองนั้นด้วยวิถีทางใด  การเลือกใช้วิถีความรุนแรงในการต่อสู้ ที่แม้จะมีความพยายามเลือกและกำหนดกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีผู้บริสุทธิ์ที่ต้องสูญเสียในความขัดแย้งนี้จำนวนมาก  การใช้ยุทธวิธีทางการทหารเช่นนี้ต่อไป จะเป็นการลดความชอบธรรมในสายตาของผู้ที่เห็นด้วยหรือเห็นอกเห็นใจต่อเป้าหมายทางการเมืองของขบวนการหรือไม่ การเดินหน้าด้วยการทหาร โดยไม่ปรากฏถึงความก้าวหน้าในทางการเมืองอย่างชัดเจนและท่ามกลางความสูญเสียที่ไม่จบสิ้น  ทำให้เกิดคำถามว่าในที่สุดขบวนการต้องการจะสร้างสังคมประเภทใดในพื้นที่ที่เคยเป็นอาณาจักรปาตานีแห่งนี้ การพูดคุยกับรัฐไทยน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแสวงหาทางออกของความขัดแย้งนี้ร่วมกัน
 
 
 
หมายเหตุ รุ่งรวี เฉลิมศรีภิญโญรัช  เป็นอดีตนักวิเคราะห์ของ International Crisis Group    ปัจจุบัน เธอกำลังศึกษาในระดับปริญญาโทด้านทฤษฎีการจัดการความขัดแย้งที่ King’s College London และเป็นที่ปรึกษาของโรงเรียนนักข่าวชายแดนใต้  การจัดทำรายงานพิเศษเรื่อง “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี” ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่
 
 
อ่านย้อนหลังรายงานพิเศษชุด “ถอดความคิดขบวนการเอกราชปาตานี”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net