Skip to main content
sharethis

 

เรื่องราวของนางแบเดาะ สะมาแอ หญิงวัย 54 ปี ฐานะยากจน อยู่ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีอาชีพกรีดยาง ซึ่งเปลี่ยนตัวเองจากผู้หญิงที่แทบไม่เคยออกจากหมู่บ้าน ออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ เพื่อติดตามความคืบหน้าเรื่องการตายของลูกชาย

วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ณ มุมอับ ชายแดนใต้ สังคมชายขอบของประเทศไทย ชีวิตอีกชีวิตหนึ่งต้องจากไปก่อนเวลาอันควร  

“ผู้ตายคือนายอัสฮารี สะมาแอ ตายขณะอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550 เหตุที่ตายเนื่องจากสมองช้ำ พฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บ ถูกส่งตัวไปที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร โรงพยาบาลปัตตานี และโรงพยาบาลศูนย์ยะลา แล้วถึงแก่ความตาย”

คำสั่งศาลจังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2555  ปิดฉากห้าปีของการต่อสู้เรียกร้องเพื่อที่จะให้ได้มาซึ่งคำตอบที่ว่า อัสฮารี สะมาแอ เสียชีวิตเพราะอะไร

อัสฮารี  สะมาแอ ถูกควบคุมตัว วันที่ 21 กรกฎาคม 2550 ที่บ้านจาเราะซือโปะ อำเภอกรงปีนัง  จังหวัดยะลา  พร้อมกับบุคคลอีกเก้าคน  โดยเจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจ และฝ่ายปกครองในพื้นที่  การเข้าปิดล้อมแบบจู่โจมของเจ้าหน้าที่  เพราะมีคนแจ้งเบาะแสว่าที่กระท่อมหลังนั้นมีการซุกซ่อนอาวุธปืนและระเบิด

ผู้ที่ถูกจับกุมในครั้งนั้นคนหนึ่ง เล่าเหตุการณ์ที่ถูกจับกุมตอนนั้นว่า

“ประมาณสิบเอ็ดโมง เห็นรถตำรวจมาจอดอยู่หน้ากระท่อม แล้วก็ได้ยินเสียงปืน ผมก็วิ่งหนี แล้วก็โดนจับ เขาเอามือผมไขว้หลัง ใส่กุญแจมือ แล้วพามานั่งที่กระท่อม ถามว่าปืนทิ้งที่ไหน ผมก็บอกว่าไม่รู้ ไม่มี  พอไม่รู้นั่นแหละ กระทืบเลย ประมาณสามชั่วโมงได้”

คนอื่น ๆ ที่เหลือก็ระบมเหมือนกันรวมทั้งอัสฮารีที่ถูกจับเป็นคนสุดท้าย

“ผมได้ยินเสียงเหมือนคนกำลังจะตาย หายใจแรง ผมนึกว่าเค้าตายแล้ว ”

หลังจากเจ้าหน้าที่จับกุมตัวได้ทั้งหมด ก็พาไปที่สถานีตำรวจกรงปีนัง จากปากคำของเจ้าหน้าที่ที่ให้การกับศาลและหน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชน อัสฮารีมีอาการสลึมสะลือไม่รู้สึกตัวตั้งแต่นั้น อัสฮารีและกลุ่มคนที่ถูกจับถูกนำส่งไปที่ค่ายอิงคยุทธบริหาร แต่ด้วยสภาพร่างกายที่บอบช้ำและไม่รู้สึกตัว เจ้าหน้าที่จึงส่งตัวไปรักษาที่โรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร ซึ่งรักษาไม่ไหวต้องส่งตัวไปรักษาต่อที่โรงพยาบาลจังหวัดปัตตานี  โรงพยาบาลปัตตานีส่งตัวไปเอกซเรย์สมองที่โรงพยาบาลสิโรรสก่อนจะถูกส่งไปรักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา อัสฮารีเสียชีวิตลงที่นั่นเมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2550

"สภาพเหมือนศพที่ถูกซ้อมทรมาน ถูกต่อย ถูกเหยียบ ศพมีรอยแผลช้ำเป็นสีน้ำเงิน"

นางแบเดาะ สะมาแอ  มารดาอัสฮารี เล่าว่า “วันนั้นมีคนโทรมาบอกว่า ลูกเสียชีวิต ให้ไปรับศพที่โรงพยาบาลปัตตานี ไปหาที่โรงพยาบาลปัตตานีก็ไม่พบ ถามหมอที่โรงพยาบาลเขาบอกว่า ลูกไปอยู่ที่โรงพยาบาลศูนย์ยะลา ไปถึงโรงพยาบาลศูนย์ยะลา พบลูกอยู่ที่ห้องเย็นแล้ว สภาพเหมือนศพที่ถูกซ้อมทรมาน ถูกต่อย ถูกเหยียบ ศพมีรอยแผลช้ำเป็นสีน้ำเงิน รู้สึกเศร้าใจทั้งครอบครัว เพราะอะไรถึงได้ตายแบบนี้ ทำให้ทุกข์ใจ เศร้าใจ”

การตายที่ไม่ปกติ บวกกับการที่ช่วงเวลานั้นในพื้นที่สามจังหวัดภาคใต้มีปัญหาร้องเรียนเรื่องการซ้อมทรมานสูง ทำให้มีนักรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชนที่ทำงานกับหลายๆกรณีในพื้นที่ยื่นมือเข้าช่วยนางแบเดาะด้วย ในจำนวนนี้มีอับดุลอาซิส ตาเดอินทร์ จากสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทยที่เป็นคนแรก ๆ ที่ได้เห็นสภาพศพ  “พอเห็นศพ เราสงสัยทันทีเลยว่าคงโดยซ้อมจนสมองบวม หลังจากฝังศพอัสฮารี เราบอกแม่เขาถึงขั้นตอนต่างๆ  ว่าหากถูกซ้อมทรมานจนตายต้องทำอย่างไร เรื่องสิทธิมนุษยชนถูกละเมิดอย่างไร เรื่องหน่วยทหารหน่วยไหนเราก็ต้องทำเรื่องราว”  อับดุลอาซิสเป็นคนหนึ่งที่เข้าช่วยเหลือครอบครัวอัสฮารีในเรื่องของการร้องขอความเป็นธรรม

หลังจากนั้นครอบครัวของอัสฮารี จึงเดินหน้าเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับการตายของลูกชาย ควบคู่กันไปกับการฟ้องร้องเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติหน้าที่ในขณะนั้น ว่าทำร้ายร่างกายอัสฮารีขณะเข้าจับกุมจนเป็นเหตุให้บาดเจ็บและเสียชีวิตต่อมา  โดยมีมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม ประจำจังหวัดยะลาและมูลนิธิผสานวัฒนธรรมซึ่งเป็นองค์กรด้านกฎหมายจากกรุงเทพมหานคร  ดูแลช่วยเหลือในของคดี และสมาคมยุวมุสลิมแห่งประเทศไทย ดูแลเรื่องการเรียกร้องการเยียวยา แต่กว่าจะได้มาซึ่งคำสั่งศาลที่ว่า การตายของอัสฮารีเกิดจากการกระทำของเจ้าหน้าที่ ก็ต้องใช้เวลาในการต่อสู้เรียกร้องนานห้าปี  

นางแบเดาะ สะมาแอ หญิงวัย 54 ปี ฐานะลำบากยากจน อยู่ตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา มีอาชีพกรีดยาง มีลูกทั้งหมด 9 คน อัสฮารีลูกชายคนโต เรียนอยู่ที่สถาบันราชภัฏยะลา และเป็นความหวังของครอบครัว ว่าจะได้ช่วยกันดูแลส่งเสียน้องๆ เรียนหนังสือสูงๆ แต่ช่วงเกิดเหตุไปทำงานรับจ้างที่หาดใหญ่

นางแบเดาะ เล่าถึงลูกชายว่า  “เขาเป็นเด็กดี อยู่บ้านก็อัธยาศัยดี โรงเรียนปิดเสาร์-อาทิตย์ ก็กลับมาช่วยแม่กรีดยาง อยู่บ้านก็ไม่เคยไปมีเรื่องทะเลาะกับใคร ถึงเวลาละหมาดก็ไปมัสยิด ชอบอ่านอัลกุรอาน ไม่ไปเที่ยวเตร่”

“อัสฮารี เคยบอกแม่ว่า  ถ้าเขาเรียนจบ เขาจะเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ เพราะได้เงินเดือนเยอะ เขาจะทำบ้านให้แม่ และจะช่วยส่งน้องๆ เรียนให้จบ”

จากสภาพชุมชนที่นางแบเดาะอาศัยอยู่ มีเด็กวัยรุ่นหลายคนไม่ได้เรียนหนังสือ หลายคนไม่มีงานทำ หลายคนติดยาเสพติด ทำให้นางแบเดาะคิดเสมอว่า ลูกต้องเรียนหนังสือ เพื่อให้พ้นจากสภาพเหล่านั้น

“พยายามให้ลูกเรียน บอกว่าลูกต้องเป็นคนดี ไม่ต้องเกเร ไม่มีเงินก็ต้องเรียน”

ด้วยความที่เชื่ออย่างสนิทใจว่า อัสฮารีลูกชายของตัวเองเป็นคนดี ไม่ทำผิดคิดร้ายใคร

“ก็แค่อยากจะรู้ความจริงเท่านั้นเอง เราทำอะไรไม่ได้  พระเจ้าเท่านั้นเป็นคนตัดสินใจ ก็แค่อยากจะรู้จริง ๆ ความจริงไปที่ศาลเค้าก็บอกแบบโน้นแบบนี้ ลูกนี้ลื่นแบบนั้น น้ำตาก็เต็มตา  แต่ก็ไม่ออกมา มันอยู่ในตา ก็รู้หมดว่าตำรวจ ทหารเป็นคนจับตัวไป แล้วก็ไปซ้อมแบบนั้น แบบนั้น”

นางแบเดาะเดินทางไปเรียกร้องขอความเป็นธรรมและความช่วยเหลือจนแทบจะทุกหน่วยงานเท่าที่นึกกันได้ ทั้งที่ไปเอง และที่มีคนพาไป

“ก๊ะ พยายามไปที่โน่นที่นี่ แล้วแต่เขาบอก เพื่ออยากให้ความจริงมันปรากฏ ว่าคดีของลูกไปถึงไหนแล้ว ออกจากบ้านไปคนเดียว ในเรื่องความกลัวนั้น มันหมดแล้ว มันกลายเป็นความกล้า พอเกิดเรื่องมันต้องพยายาม ไปกับรถโดยสารบ้าง บางทีขับมอเตอร์ไซด์ไปยะลาคนเดียว คิดว่า เราไม่ได้อยู่คนเดียว มีพระเจ้าคอยคุ้มครองเราอยู่”

อิสมาแอ สาและ  ประธานมูลนิธิเพื่อการศึกษาและพัฒนาทรัพยากรมนุษย์  เป็นอีกคนหนึ่งที่รับรู้เรื่องราวของครอบครัวนี้และเข้ามาช่วยเหลือตั้งแต่ต้นด้วยการพาไปยังสถานที่ต่างๆ

 “ก็ไม่ใช่ทุกหน่วยงานที่ให้ความช่วยเหลือ ไปขอเยียวยา เขาก็บอกว่าไม่ได้ คุณไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ เราก็ต้องใช้วิธีการอื่น เช่น ไปพบผู้ว่าฯ บ้าง พาไปเจอกับกระทรวงยุติธรรมที่กรุงเทพก็หลายครั้ง ไปเจอกรรมการสิทธิ์ก็หลายครั้ง  กว่าจะมาถึงวันนี้ได้มันหนักมาก ช่วงแรก ๆ ทำเรื่องขอความเป็นธรรมอย่างเดียว แต่ละเรื่องแทบจะไม่มีความคืบหน้า ไม่มีความก้าวหน้าเลย”

จากผู้หญิงที่แทบไม่เคยออกจากหมู่บ้าน ต้องออกเดินทางไปยังที่ต่างๆ แม้แต่ในตัวจังหวัดยะลา สำหรับคนที่ไม่ค่อยได้เดินทางเข้าตัวจังหวัดอย่างแบเดาะ การไปติดตามความคืบหน้าเรื่องการตายของลูกชายกับทนายอาดิลัน อาลีฮิสเฮาะ ที่มูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม จังหวัดยะลา ก็นับว่าต้องใช้ความพยายามอย่างมาก

“ในตัวเมืองยะลา ก๊ะไม่รู้เลยว่าสถานที่ อยู่ตรงไหน บอกว่าให้รอที่โน่นที่นี่ ก๊ะไม่รู้จักชื่อ ไปไม่ถูก ทางก็ไม่รู้ว่าจะไปยังไง แรก ๆ ทนายอาดิลันโทรให้ไปหา ก็ไปหาที่ศูนย์ ก๊ะก็ไป ไปหาจนเจอ แบลันก็โทรถามว่าอยู่ไหนตอนนี้  ก็ไปจนเจอ  ก็ไปจนได้ไปตามประสาก๊ะ  แต่ไม่ใช่ก๊ะคนเดียว เพราะมีพระเจ้าคอยคุ้มครองก๊ะอยู่  คอยช่วยเหลือก๊ะ ให้เจอคนนั้น คนนี้ ก๊ะยึดตรงนั้นแหละ”

นี่คือกลุ่มคนที่คอยช่วยเหลือแบเดาะตั้งแต่เกิดเหตุการณ์ช่วงแรกๆ และเธอก็ไว้วางใจจนกลายเป็นความผูกพัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอิสมาแอ ที่แบเดาะเห็นเป็นตัวแทนของลูกชาย

"โทรไปหาตลอด โทรถามเรื่องคดีของลูก ที่ไปขอความเป็นธรรมที่ศาลากลาง ก๊ะไม่รู้ว่าเค้าช่วยได้หรือไม่ได้  แบแอก็บอกว่าพวกนั้นช่วยไม่ได้เพราะไม่เข้าในหลักเกณฑ์ จากนั้นก็เงียบ แล้วก็โทรไปใหม่ โทรไปบ่อย อยากให้สบายใจ ได้ระบายออกไป  ถ้าเงียบมันจะลำบาก คิดอยู่คนเดียว  คิดถึงลูก คิดถึงมาก ๆ ไม่ได้คิดน้อย ๆ คิดถึงจริง ๆ  เวลาผ่านไปสองปีถึงได้ทำงานได้"

ตลอดห้าปีที่ผ่านมา อิสมาแอจึงต้องรับโทรศัพท์เพื่อตอบคำถามเรื่องความคืบหน้าหรือไม่คืบหน้าของคดีนี้โดยตลอด

หนึ่งปีผ่านไป ไม่มีอะไรคืบหน้า ทั้งเรื่องคดีและการเยียวยา  

“ก๊ะก็ท้อเหมือนกัน ไม่อยากจะไปแล้ว เค้าชวนไปที่ไหน ที่ไหนก็รู้สึกว่าขี้เกียจ เบื่อจะไปแล้ว  แล้วพวกเค้าชวนอีก  แล้วก็บอกกับตัวเองว่า ไม่ได้ต้องไป ก๊ะต้องสู้”

ที่สำคัญคือการต่อสู้กับตัวเอง จากคนที่พูด ฟัง ภาษาไทยแทบไม่ได้ เพราะใช้ภาษามลายูถิ่นเป็นหลัก ก็ต้องฝึกพูดภาษาไทยให้คล่อง  ต้องหัดขี่มอเตอร์ไซค์ หัดขับรถยนต์  เพื่อให้ง่ายต่อการเดินทางไปหาความจริงเรื่องลูก  อิสมาแอเป็นผู้หนึ่งที่เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและความพยายามที่เกิดขึ้น

"ก็ยอมรับว่าก๊ะ จากการที่พูดภาษาไทยไม่ได้  ณ วันนี้สามารถเข้าใจภาษาไทย  จากการไม่รู้จักคนเลย เป็นชาวบ้านโดด ๆ ทำอยู่แต่ในบ้าน ดูแลลูก แต่ ณ เวลานี้ ก๊ะเองต้องเปลี่ยนบทบาท จากคนทำงานอยู่ในบ้านอย่างเดียวต้องใช้เวลาส่วนหนึ่งตามหาความยุติธรรมให้กับลูก  นี่คือการเปลี่ยนแปลงที่ผมเห็นชัด "

“ให้แม่ติดตามเรื่อง เพราะปลอดภัยมากกว่า”

ขณะที่แบเดาะออกนอกบ้าน เดินหน้าเรียกร้องหาความเป็นธรรมและการเยียวยาจากหน่วยงานรัฐ อับดุลวาฮับ พ่อของอัสฮารีรับหน้าที่ดูแลบ้านและลูกๆ เขาไม่ออกไปเดินเรื่องกับภรรยาแต่อย่างใด

“ ผู้หญิงปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย ที่เค้าจะสงสัยอะไรมันก็มีน้อยหน่อย ในส่วนติดต่อกับเจ้าหน้าที่ ให้แม่เค้าเป็นคนทำ เพราะจะปลอดภัยมากกว่าผม ปลอดภัยมากกว่าผู้ชาย เพราะว่าผู้ชายถ้าเค้าทำอะไร คนก็มองแล้ว และแม่เขาทำอะไรจะรอบคอบกว่า ถ้าผู้ชายรู้บ้างไม่รู้บ้างไม่เป็นไร แต่ถ้าเป็นผู้หญิงต้องรู้ให้หมด อย่างนี้แหละที่ส่งแม่ไปตามเรื่องคดีของอัสฮารี แม่เขาไปพบใคร ไปแบบไหน เขาก็จะกลับมาเล่าให้ฟัง”

การเดินทางออกไปติดตามความคืบหน้าของคดี ทำให้นางแบเดาะ รู้จักคนมากขึ้น โดยเฉพาะทีมทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมที่มาจากกรุงเทพ   นางแบเดาะ เล่าว่า ตอนแรกก็กล้า ๆ กลัว ๆ ที่จะเดินหน้าเรื่องคดี

"ทนายที่กรุงเทพก็มาเอาชื่อของก๊ะ ว่าจะช่วยเหลือในเรื่องของลูก เค้าถามว่า ก๊ะจะแจ้งความ จะฟ้องศาลไหม ก๊ะบอกว่าก๊ะไม่เอา ก๊ะกลัว ก๊ะไม่รู้อะไร  ทนายก็บอกไม่เป็นไร เราแค่อยากจะรู้ความจริง จากนั้นก๊ะก็บอกไม่เอา ๆ ก๊ะกลัว แล้วก๊ะก็ถามเค้าว่าถ้าเราฟ้องศาลขึ้นมา ท้ายที่สุดแล้ว เค้าเอาความกับก๊ะไหม ทนายบอกว่าไม่เป็นไร ไปเหอะ เราฟ้องเพื่อจะเรียกร้องค่าเสียหาย ก๊ะก็ฟ้องตามที่ทนายบอก "

คดีนี้ มีทีมทนายเข้ามามีบทบาทหลายคน  ทั้งทนายความจากมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  คุณพรเพ็ญ  คงขจรเกียรติ์ ประธานมูลนิธิผสานวัฒนธรรม  เล่าให้ฟังถึงการตัดสินใจส่งทีมทนายความมาดูแลคดีนี้    

"เป็นที่ชัดเจนเรื่องว่ามันเป็นความต้องการของญาติ แล้วเราก็อยากให้เป็นคดีตัวอย่างด้วย เพื่อผลักดันให้การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการยุติธรรม"

อติวัณณ์  ชูช่วย ทนายความจากมูลนิธิผสานวัฒนธรรมเป็นอีกคนหนึ่ง ที่แบเดาะให้ความไว้วางใจปรึกษาหารือทั้งในเรื่องคดีและความเป็นอยู่ส่วนตัวตลอดจนระบายความกลัดกลุ้มบ้างในยามที่ต้องการจนกลายเป็นคนสนิทไปในช่วงนั้น

"แกไปที่ไหน แกก็ผิดหวัง แกก็กลัวว่า แกจะไม่ได้รับอะไรอีกเลย เหมือนแกหมดอะไรแล้วประมาณนั้น จริงๆ ม๊ะ  มีอาการถึงขนาดแกเคยโทรมา ตี 4 แกตื่นมาละหมาดแล้วแกเกิดภาวะที่แกรู้สึกว่า กระบวนการทุกอย่างทำร้ายแกซ้ำซาก แกโทร แกบอกว่าม๊ะไม่ไหวแล้ว”

“เราก็พยายามช่วย แม้ไม่ใช่หน้าที่ของทนายหรอก แต่ว่าถ้าช่วยได้ก็ช่วย คือภาษาก็ไม่ค่อยถนัดกัน แกก็พูดมลายู ในขณะที่เราพูดไม่ได้เลย ฟังไม่ได้เลย ศาสนาก็ไม่เหมือนกัน เราไม่รู้ว่าในทางศาสนาของเค้า คือศาสนาอิสลาม เค้ามีคำว่าสมาธิมั๊ย ในขณะที่เราเป็นพุทธ เราก็รู้จักแต่คำว่าสมาธินั่นแหละ ที่จะดึงภาวะบางอย่างของมนุษย์ที่กำลังร้อนรน ให้มันเย็นลง แล้วก็อยู่กับตัวเองให้ได้ แล้วก็คลี่คลาย  ถ้าผู้หญิงแก่ๆ คนนี้ ไม่มีสติสตัง ที่จะมาอยู่กระบวนการยุติธรรมได้ เรื่องนี้ก็จบ คนที่ทำผิด ก็ไม่ต้องรับโทษ ไม่ต้องรับอะไร เพราะว่าจะไปหวังเอากับใคร"

3 ปีของการต่อสู้กันในชั้นศาลเรื่องไต่สวนการตาย ในที่สุดวันที่ 28 มิถุนายน 2555 ศาลจังหวัดยะลามีคำสั่งจากผลการพิจารณาออกมาว่า อัสฮารี สะมาแอ ตายเนื่องจากสมองช้ำ พฤติการณ์ที่ตายคือ ผู้ตายถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารและเจ้าพนักงานตำรวจควบคุมตัว และมีการทำร้ายร่างกายผู้ตาย เป็นเหตุให้ผู้ตายได้รับบาดเจ็บแล้วถึงแก่ความตาย

ความรู้สึกของนางแบเดาะ ณ เวลานั้น

“ก็ได้รู้ว่าเจ้าหน้าที่เป็นคนทำ ลูกตายจากการทำของเจ้าหน้าที่ พอตัดสินแบบนั้น ก๊ะก็รู้สึกเบาอกหน่อย โล่งอก ที่พวกเค้าทำลูกเราแล้วไม่ยอมรับ ทั้งๆ ที่ดูสภาพลูกเรา ก๊ะก็จะบอกว่าเค้าล้มธรรมดาเป็นไปไม่ได้”

ทนายอาดิลัน ที่ทำคดีด้านความมั่นคงใน 3 จังหวัดหลายปี และร่วมช่วยในคดีนี้ให้ความเห็นว่า

“คดีของลูกชายก๊ะแบเดาะนั้น ไม่ได้มีผลเฉพาะตัวของลูกชายก๊ะแบเดาะคนเดียว เป็นผลต่อคนอื่นอีกมากมายใน 3 จังหวัดนี้”

สำหรับทีมทนายความ เส้นทางของแบเดาะจึงไม่ใช่การต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือตัวอย่างของการต่อสู้ของคนที่ไม่ยอมจำนนต่อความโชคร้าย และน่าจะเป็นแบบอย่างให้กับคนอีกจำนวนมากที่ประสบปัญหาคล้ายกัน พวกเขาหวังว่าเรื่องราวของเธอจะบอกให้สังคมได้รับรู้ว่า การจะให้เกิดความยุติธรรมขึ้นได้นั้น คนที่ต้องการความยุติธรรมจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้ และสู้อย่างถูกหนทางดังในกรณีของแบเดาะ สะมาแอนั่นเอง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net