Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis


ครั้งหนึ่ง หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมชผู้ประกาศตนว่า "ข้าพเจ้าเป็นรอยะลิสต์" ได้เขียนสนับสนุนการรื้อโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยที่สะพานผ่านฟ้า ถนนราชดำเนินกลางเพื่อสร้างลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์และเปิดมุมมองต่อโลหะปราสาทและวัดราชนัดดาที่สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ว่า

“ในยุค 50 ปีที่แล้วมานี้ [หมายถึงยุคคณะราษฎร พ.ศ. 2475-2490 - ผู้เขียน] ได้มีการสร้างตึกรามที่น่าเกลียดน่ากลัวเอาไว้ใน กทม. อีกมากพอสมควร เพราะฉะนั้น เมื่อเริ่มทุบทิ้งอะไรกันขึ้นแล้ว เราก็ควรจะรู้สึกมันมือ เที่ยวทุบตึกอื่นๆ ที่อยู่ผิดที่ผิดทาง และมีสถาปัตยกรรมอันไม่กลมกลืนกับสถาปัตยกรรมของกรุงเทพฯ” (คึกฤทธิ์ ปราโมช, ซอยสวนพลู, สยามรัฐรายวัน, 17 สิงหาคม 2532)

ความปรารถนาของคึกฤทธิ์ดูจะค่อยๆ กลายเป็นความจริงขึ้นมาทุกวัน เพราะนอกจากโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยจะถูกทุบทิ้งไปในปี 2532 แล้ว การ “ทุบทิ้งอย่างมันมือ” สำหรับตึกอื่นๆ ที่ “อยู่ผิดที่ผิดทาง” ก็เกิดขึ้นอีกในรูปของแผนการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาที่ตั้งอยู่ใกล้ท้องสนามหลวง เป็นการรื้อทิ้งเพื่อสร้างกลุ่มอาคารใหม่แบบที่มี “ความเป็นไทย” ขึ้น โดยแบบอาคารใหม่ที่แสดงความเป็นไทยตามแบบฉบับสถาปัตยกรรมประเภทแสดงความเป็นไทยนั้นก็ทำอย่างง่ายๆ ด้วยการใส่ “หลังคาจั่ว” นั่นเอง

หลังคาจั่ว ลวดลายและองค์ประกอบในสถาปัตยกรรมแบบประเพณีที่อยู่ในแบบอาคารใหม่เป็นเครื่องแสดง “ฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรม” (ดูหนังสือเกี่ยวกับศิลปะ สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรของชาตรี ประกิตนนทการ) ชี้ให้เห็นว่าเป็นอาคารของชนชั้นสูง ยิ่งมีลวดลายวิจิตรบรรจงมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นของชนชั้นสูงขึ้นเท่านั้น

สถาปัตยกรรมสมัยคณะราษฎรได้ตัดทอนฐานานุศักดิ์ในสถาปัตยกรรมออกไปเพื่อนำเสนอความคิดเรื่องความเท่าเทียมโดยหันไปหารูปแบบสถาปัตยกรรมที่เรียบง่ายและมีหลังคาตัด กระบวนการรื้อกลุ่มอาคารศาลฎีกาเพื่อแทนที่ด้วยอาคารใหม่ (ที่มีลักษณะแบบเก่า) ที่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อราวต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจึงเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่คึกฤทธิ์อธิบายว่าเป็น

“[การ]ทำให้กรุงเทพมหานคร ราชธานีของเรานี้เป็นนครเห็นคนที่มีปัญญา รู้จักรักสวยรักงาม และมีสุนทรีย์ในการสร้างสรรค์ เพื่อแสดงให้ชาวโลกได้เห็นว่า เมืองไทยเรานั้นมีความเจริญและมีวัฒนธรรมอันสูงส่งมาเป็นเวลาช้านานแล้ว” (เล่มเดิม)

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้อาคารเหล่านี้ผิดที่ผิดทางและควรถูกทุบทิ้ง? จุดร่วมระหว่างโรงภาพยนตร์เฉลิมไทยและกลุ่มอาคารศาลฎีกาคือการเป็นสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในสมัยคณะราษฎรและใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมแบบสมัยใหม่ (Modern architecture) ในสายตาของคึกฤทธิ์ สิ่งก่อสร้างเหล่านี้ล้วนน่าเกลียดและไร้รสนิยม ดังที่ได้เคยกล่าวถึงศิลปกรรมในยุคนี้เอาไว้ว่า

“...ทีนี้สำหรับศิลปกรรมของไทยหลัง 2475 นั้น ถ้าจะพูดกันตามตรง พูดกันด้วยความรักชาติตามสมควร ก็จะต้องบอกว่าเป็นยุคของศิลปกรรมที่เสื่อมโทรมที่สุด คือ ไม่มีศิลปกรรมไทยเกิดขึ้นในยุคนี้... ผู้นำปฏิวัติก็เท่ากับนักเรียนนอก กลับมาจากฝรั่งเศส รสนิยมในทางศิลปะอะไรของท่านเหล่านั้นอยู่แค่คาเฟ่ริมถนนที่กรุงปารีส ภาพที่เห็นสวยงามก็ภาพโป๊...” (คึกฤทธิ์ ปราโมช, “ปาฐกถานำ ศิลปกรรมสมัยใหม่” ใน บันทึกการสัมมนาศิลปกรรมหลัง 2475, กรุงเทพฯ: สถาบันไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์, 2528)

ศิลปกรรมของคณะราษฎรนั้น “ไม่ไทย” เอาเสียเลย ซ้ำยัง “ไม่มีรสนิยม" อีกด้วย ไม่เหมาะกับกรุงเทพมหานครของเราเลยแม้แต่นิดเดียว

ในเมื่อมัน “ไม่ไทย” ก็ไม่รู้จะเก็บไว้ทำไม จริงอยู่ว่าข้อเขียนของคึกฤทธิ์เพียงลำพังคงไม่เพียงพอที่จะให้ใครตัดสินใจทุบตึก และก็คงไม่มีใครเอาข้อเขียนของคึกฤทธิ์มากางดูก่อนเป็นแน่ ทว่า มุมมองเกี่ยวกับความเป็นไทยและศิลปะคณะราษฎรในฐานะสิ่งแปลกปลอมที่อยู่ในข้อเขียนของคึกฤทธิ์ และในวาทกรรมว่าด้วยความเป็นไทยที่เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นคืนกลับของพลังอนุรักษ์นิยม/กษัตริย์นิยมที่เกิดขึ้นอย่างเป็นระลอกตั้งแต่หลัง 2490 เป็นต้นมาต่างหากที่เป็นกรอบในการเลือกว่าอะไรไทย ไม่ไทย และอะไรต้องขจัดทิ้งเพื่อให้ได้มาซึ่งความเป็นไทย การเมืองของความเป็นไทยจึงสัมพันธ์กับการช่วงชิงกันทางอุดมการณ์ทางการเมืองโดยรวม และแน่นอนว่างานศิลปะ ตลอดจนสิ่งก่อสร้างต่างๆ โดยเฉพาะที่เป็นของรัฐหรือได้รับความสนับสนุนจากรัฐก็อยู่ในวงจรนี้ด้วย

สิ่งที่จะกำหนดว่าศิลปกรรมชิ้นไหนมีความเป็นไทยหรือไม่ก็อยู่ที่ตรงนี้เอง

 

 

หมายเหตุ

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาเป็นสถาปัตยกรรมที่เริ่มสร้างขึ้นเมื่อปี 2482 ที่จอมพล ป. พิบูลสงครามเป็นนายกรัฐมนตรี โดยมีเป้าหมายเพื่อเป็นที่ระลึกถึงการที่ประเทศไทยได้รับเอกราชทางการศาลในปี 2481 นับเป็นเวลา 83 ปีหลังจากที่เสียไปในการทำสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในปี 2398

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาสร้างขึ้นด้วยรูปแบบสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ (Modern architecture) ซึ่งเป็นรูปแบบเฉพาะอย่างหนึ่งที่พบในนวัตกรรมด้านงานสถาปัตยกรรมในสมัยคณะราษฎร การหันไปหาความเรียบง่ายของรูปแบบสมัยใหม่ของสถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นในยุคนี้เป็นภาพตัวแทนของอุดมการณ์เรื่องความเท่าเทียมกันภายใต้ระบอบรัฐธรรมนูญ

- กลุ่มอาคารศาลฎีกาได้รับรางวัลอาคารควรค่าแก่การอนุรักษ์และรางวัลอาคารอนุรักษ์ดีเด่นจากสมาคมสถาปนิกสยามเมื่อปี 2550 และ 2552 ตามลำดับ ในปี 2552 กรมศิลปากรได้ออกจดหมายระบุว่า ตึกกลุ่มนี้มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์และเข้าข่ายเป็นโบราณสถานตามนิยามของ พ.ร.บ.โบราณสถาน (แต่ก็ยังไม่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานมาจนปัจจุบัน) 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net