Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

“ดูเหมือนคืบหน้าแต่ยังเป็นแบบแก้ผ้าเอาหน้ารอด-ซุกปัญหาใต้พรม”

 

ภาพโดยรวมของการแก้ปัญหาด้านแรงงานของรัฐบาลในรอบปี 2555 ที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการแก้ปัญหาเชิงนโยบายของกระทรวงแรงงานในการเสริมสร้างคุณภาพชีวิตแรงงานให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ  ในการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิและบริการมีหลายด้านที่มีความก้าวหน้าไปอย่างเห็นได้ชัด

  • ที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึงกันอย่างมากเห็นจะได้แก่การยืนยันที่จะดำเนินการให้นโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศปรากฏเป็นจริง แม้จะมีกระแสต้านอย่างรุนแรงของฝ่ายทุน
  • ความพยายามกับการจัดการกับปัญหาการเก็บหัวคิวกับผู้ใช้แรงงานไทยที่เดินทางไปทำงานในต่างแดน
  • การประกาศกฎกระทรวงแรงงานฉบับที่ 14 (พ.ศ.2555) ซึ่งออกตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2555 ซึ่งมีผลให้คนรับใช้ตามบ้านซึ่งมีจำนวนถึง 4.4 แสนคนทั่วประเทศ มีวันหยุดประจำสัปดาห์ไม่น้อยกว่าสัปดาห์ละ 1 ครั้ง นายจ้างต้องกำหนดวันหยุดตามประเพณี ปีละไม่น้อยกว่า 13 วัน ลูกจ้างที่ทำงานในวันหยุดต้องได้รับเงินค่าทำงานในวันหยุด เป็นต้น

แต่อย่างไรก็ตามหากพิจารณาลงไปในรายละเอียดของการแก้ปัญหาให้กับแรงงานกลุ่มต่างๆ  แล้ว ยังต้องบอกว่าส่วนใหญ่ไม่มีความคืบหน้านัก ปัญหาของแรงงานกลุ่มต่างๆ  จำนวนมากยังไม่ได้รับการสะสาง มาตรการแก้ไขที่ดำเนินไปเป็นไปในลักษณะ “แก้ผ้าเอาหน้ารอด” และยังคง “ซุกปัญหาไว้ใต้พรม” เสียเป็นส่วนใหญ่ ข้อเรียกร้องของฝ่ายแรงงานจำนวนมากยังคงถูกเพิกเฉยไม่ได้รับการพิจารณา ต่อไปนี้เป็นการประเมินการดำเนินงานของรัฐบาลต่อแรงงานกลุ่มต่างๆ 


กลุ่มแรงงานในระบบ ผลงานเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ทั่วประเทศที่ดำเนินการอย่างจริงจังโดยรัฐบาลในรอบปีที่ผ่านมานับว่าเป็นเรื่องโดนใจคนงานในระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานไร้ฝีมือหลายล้านคนซึ่งค่าจ้างอ้างอิงอยู่กับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ

สิ่งที่น่ากังวลคือ รัฐบาลยังไม่มีมาตรการที่ชัดเจนในการติดตามและช่วยเหลือแรงงานจำนวนหนึ่งที่อาจถูกเลิกจ้าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานประกอบการเอสเอ็มอีหรือสถานประกอบการที่ใช้แรงงานเข้มข้น อีกทั้งรัฐยังไม่มีมาตรการในการตรึงราคาสินค้า และค่าครองชีพอย่างมีประสิทธิภาพ ที่จะทำให้ค่าจ้างที่ได้รับการปรับเพิ่มขึ้นมาส่งผลให้คนงานมีคุณภาพและชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี สิ่งที่น่ากังวลอีกประการก็คือมาตรการเยียวยากับฝ่ายผู้ประกอบการที่รัฐประกาศออกมาอาจส่งผลระยะยาวต่อผู้ใช้แรงงาน ที่สำคัญคือการให้นายจ้างลดส่งเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม ที่จะส่งผลต่อความมั่นคงของกองทุนนี้ซึ่งถือเป็นหลักประกันสำคัญสุดของแรงงานในระบบ

กลุ่มแรงงานนอกระบบ  ผลงานเด่นเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำของรัฐบาล ไม่ได้ครอบคลุมไปถึงแรงงานนอกระบบ ขณะที่ราคาสินค้าและค่าครองชีพที่สูงขึ้นจากมาตรการดังกล่าวได้ส่งผลต่อคนงานในภาคเศรษฐกิจนอกระบบ

แรงงานนอกระบบยังมีข้อจำกัดอย่างมากในการเข้าถึงหลักประกันทางสังคมที่มีอยู่อย่างจำกัดมาก โดยเฉพาะการใช้สิทธิในฐานะผู้ประกันตนตามมาตรา 40 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องช่องทางการจ่ายเงินสมทบที่ต้องไปจ่ายที่สำนักงานประกันสังคมจังหวัดเพียงแห่งเดียวเท่านั้น ทำให้แรงงานนอกระบบที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลต้องประสบปัญหาในการเดินทาง สิ้นเปลืองเวลา และค่าใช้จ่ายเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ แม้ว่าจะมีทางออกโดยการจ่ายผ่านร้านสะดวกซื้อหรือเคาน์เตอร์เซอร์วิสในร้าน 7-11 แต่ช่องทางนี้ก็เหมาะกับกลุ่มแรงงานนอกระบบที่อยู่ตัวอำเภอหรือเมืองใหญ่เท่านั้น หรือการจ่ายโดยการหักเงินสมทบผ่านบัญชีธนาคาร ธกส. หรือธนาคารออมสิน ผู้ประกันตนก็ต้องนำใบเสร็จรับเงินที่หน่วยบริการดังกล่าว ไปติดต่อสำนักงานประกันสังคมเขตพื้นที่หรือสาขาจังหวัดพร้อมสมุดนำส่งเงินสมทบเพื่อให้เจ้าหน้าที่ประกันสังคมประทับตราในสมุดนำส่งเงินสมทบ เนื่องจากต้องใช้เป็นหลักฐานการยื่นเรื่องเมื่อมาขอใช้สิทธิประโยชน์ต่างๆ  ผ่านไปอีกหนึ่งปีที่รัฐบาลไม่ได้มีการออกกฎหมายลูกเพื่อให้ผู้รับงานไปทำที่บ้านได้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.ผู้รับงานไปทำที่บ้าน

แรงงานข้ามชาติ รัฐบาลนี้ก็เหมือนกับรัฐบาลไทยอื่นๆ  ที่ไม่เคยข้ามพ้น “อคติทางเชื้อชาติ” และการมองปัญหาแรงงานข้ามชาติโดยใช้กรอบ “ความมั่นคงแห่งชาติ” ทัศนคติดังกล่าวทำให้รัฐมองไม่เห็นคุณูปการของแรงงานข้ามชาติต่อระบบเศรษฐกิจไทยโดยรวม ดังนั้นมาตรการที่ออกมาใช้กับแรงงานข้ามชาติจึงเป็นมาตรการเพื่อการควบคุมมิใช่มาตรการเพื่อการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิของแรงงานข้ามชาติ 

การดำเนินการพิสูจน์สัญชาติและปรับสถานะแรงงานข้ามชาติ 3 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา ที่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงานตามมติรัฐมนตรีให้เป็นแรงงานที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย พบว่ากระทรวงแรงงานมีความมุ่งมั่นในการดำเนินการให้เสร็จสิ้นมาตั้งแต่วันที่ 14 ธันวาคม 2555 แต่ก็พบว่ายังมีแรงงานข้ามชาติอีกนับล้านคนที่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการดังกล่าว ทั้งนี้มีสาเหตุหลัก คือ แรงงานส่วนใหญ่ไม่มีเอกสารประจำตัวอะไรเลย รวมทั้งเอกสารที่แรงงานใช้ในการทำงานและนายจ้างที่จ้างงานอยู่จริงไม่ตรงกัน ซึ่งกลายเป็นอุปสรรคสำคัญในการดำเนินการพิสูจน์สัญชาติ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยไม่สามารถเข้าถึงกระบวนการพิสูจน์สัญชาติได้ และต้องกลายเป็นแรงงานข้ามชาติผิดกฎหมายในอนาคต ซึ่งกระทรวงแรงงานยังไม่มีมาตรการในการแก้ไขข้อจำกัดที่แรงงานกลุ่มนี้เผชิญ

นอกจากนั้นแล้วยังพบต่ออีกว่าแรงงานข้ามชาติที่พิสูจน์สัญชาติผ่านแล้วจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสังคม แต่ด้วยข้อจำกัดจากกฎหมายที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงของกลุ่มแรงงานข้ามชาติ และรวมทั้งระบบประกันสังคมประเทศไทยเป็นระบบสวัสดิการระยะยาวที่คุ้มครองในระหว่างการทำงานจนถึงวัยชราภาพ หรือหลังเกษียณอายุจากการทำงานแล้ว ซึ่งเหมาะสมกับกลุ่มที่เป็น “พลเมืองไทย” ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยถาวรมากกว่า แต่สำหรับกลุ่มแรงงานข้ามชาติแล้ว ที่มีลักษณะจำเพาะของการจ้างงาน คือ อยู่อาศัยและทำงานได้เพียง 4 ปีเท่านั้น และจะต้องกลับไปประเทศต้นทาง จึงต้องประสบปัญหาเกี่ยวกับการเข้าถึงสิทธิและการใช้สิทธิตามกฎหมายประกันสังคม ทั้งกรณีคลอดบุตร กรณีสงเคราะห์บุตร กรณีว่างงาน กรณีชราภาพ อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเงื่อนไขการเกิดสิทธิ หรือเงื่อนระยะเวลาในการรับสิทธิประโยชน์ หรือหลักเกณฑ์และวิธีการขอรับและจ่ายสิทธิประโยชน์ หรือการติดต่อสื่อสารระหว่างสำนักงานประกันสังคมกับผู้ประกันตนและ/หรือผู้มีสิทธิของผู้ประกันตน

กลุ่มแรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศ พบว่า แรงงานไทยไปทำงานต่างประเทศมักถูกบริษัทจัดหางาน นายหน้าเถื่อนหลอกลวงหรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายสูงเกินความเป็นจริง หรือเรียกว่า "ค่าหัวคิว"  กระทรวงแรงงานได้มีการสั่งระงับการจัดส่งแรงงานไทยไปทำงานที่ประเทศอิสราเอลในช่วงต้นปี 2555 และสั่งพักใบอนุญาตบริษัทจัดหางาน 37 แห่งชั่วคราว พร้อมกับสั่งให้กรมการจัดหางานแก้ไขระเบียบการเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายให้รัดกุม รวมทั้งเตรียมออกมาตรการจำแนกบริษัทจัดหางาน

แต่ก็ยังพบว่ากฎหมายที่ใช้ในการคุ้มครองแรงงานไทยที่ไปทำงานต่างประเทศ คือ พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ.2528 ยังมีช่องว่างที่ทำให้นายหน้า/สายสามารถหลอกลวงคนงานได้ง่ายขึ้นโดยที่กระทรวงแรงงานไม่สามารถเอาผิดได้  โดยเฉพาะในมาตรา 38 ที่ได้มีการเปิดช่องให้มีการเรียกเก็บเงินค่าบริการมากกว่าความเป็นจริง ผู้รับอนุญาตจัดหางานสามารถเรียกหรือรับค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานได้ ยิ่งเมื่อคนหางานมีความต้องการไปทำงานมากเท่าใดก็จะเป็นช่องทางให้มีการเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายสูงกว่าอัตราที่กฎหมายกำหนด

กลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจและลูกจ้างรัฐ ในปีที่ผ่านมาอาจมีข่าวพาดหัวหนังสือพิมพ์ ข้าราชการ ลูกจ้างรัฐ พนักงานรัฐวิสาหกิจเฮ ได้รับการปรับค่าจ้าง แม้คนงานเหล่านั้นจะได้รับประโยชน์ แต่ก็เป็นไปในลักษณะ “ประชานิยม” หรือการ “หาเสียง” เสียมากกว่า ที่จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน รัฐไทยยังคงไม่ยอมรับในสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรองของคนงานกลุ่มนี้ แม้รัฐวิสาหกิจจะมีกฎหมายรองรับสิทธิในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง แต่ก็เป็นไปอย่างจำกัดและขัดกับหลักการในอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศซึ่งเป็นกติกาสากลอันเป็นที่ยอมรับปฏิบัติกันทั่วโลก กรณีตัวอย่างคือการเลิกจ้างผู้นำแรงงาน 13 คนของสหภาพแรงงานรถไฟ หนึ่งในนั้นเป็นผู้นำแรงงานระดับชาติที่มีบทบาทสำคัญเป็นที่ยอมรับในระดับสากลเมื่อปี 2554 การเลิกจ้างดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์โดยองค์กรระหว่างประเทศ แต่ผ่านมาหนึ่งปี รัฐบาลหาได้มีความพยายามที่ชัดเจนที่จะคืนความเป็นธรรมให้กับนักสหภาพแรงงานทั้ง 13 คน


นอกจากนโยบายทั้ง 5 กลุ่มแรงงานที่ยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการคุ้มครองแล้ว ยังพบอีกว่ากระทรวงแรงงานยังละเลย/เพิกเฉย/มองไม่เห็น/ไม่ให้ความสำคัญที่จะดำเนินนโยบายดังต่อไปนี้ แม้ว่าทางคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์กรเครือข่ายจะดำเนินการผลักดันมาอย่างต่อเนื่องตลอดปี ได้แก่

(1) การผลักดันและสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่..) พ.ศ.... ฉบับที่นางสาว
วิไลวรรณ แซ่เตีย กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 14,264 คน เป็นผู้เสนอ
เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ นับตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2553 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยและองค์เครือข่ายพันธมิตรด้านแรงงาน ได้ยื่นร่างพรบ.ประกันสังคม พ.ศ .… (ฉบับบูรณาการแรงงาน) ต่อประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรได้รับหลักการและพิจารณากฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้นับตั้งแต่วันที่ 21 ธันวาคม 2554 จนถึง 26 ธันวาคม 2555 ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ได้ถูกบรรจุวาระเพื่อให้สภาผู้แทนราษฎรพิจารณารับหลักการเห็นชอบในวาระ 1 แต่อย่างไรก็ตามนับตั้งแต่วันดังกล่าวจวบจนปัจจุบัน กลับพบว่าทางสภาผู้แทนราษฎรยังไม่มีความชัดเจนว่าจะพิจารณาร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวนี้ในการประชุมครั้งใด แม้ว่าจะมีการบรรจุวาระการประชุมทุกครั้งก็ตาม
 


คนงานชุมนุมเรียกร้องเร่งนำร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับคนงาน พิจารณาให้ทันสมัยสามัญนิติบัญญัติ เมื่อ 22 มี.ค.55 (แฟ้มภาพ: ประชาไท)
 

(2) การผลักดันให้รัฐบาลไทยรับรองอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 87 และ ฉบับที่ 98 ที่พบว่ารัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อ แม้ว่าทางกระทรวงได้มีการจัดเวทีเพื่อรับฟังความคิดเห็นเรื่องการให้สัตยาบันอนุสัญญาดังกล่าว รวมทั้งการเคลื่อนไหวรณรงค์อย่างต่อเนื่องขององค์กรแรงงาน เพื่อผลักดันรัฐบาลให้สัตยาบันอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ(ILO) ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวจัดตั้งองค์กร และเจรจาต่อรอง เพื่อสิทธิและคุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ใช้แรงงาน

(3) การผลักดันให้มีการร่าง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ..... ซึ่งเป็นร่างกฎหมายที่ผู้ใช้แรงงานได้เข้าชื่อกันเสนอเพื่อประกาศใช้แทนพ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 ซึ่งได้ใช้มานานและมีบทบัญญัติที่ขัดกับหลัการของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศฉบับที่  87 และ 98 ที่ได้จำกัดสิทธิและเสรีภาพในการรวมตัวและเจรจาต่อรอง มีการแทรกแซงการรวมตัวและเจรจาต่อรองโดยรัฐ ปราศจากความเป็นอิสระ คนงานไม่มีอำนาจในการตัดสินใจ อันจะส่งผลให้การรวมตัวของคนงานยากขึ้น และทำให้พลังในการเจรจาต่อรองมีน้อยลง จึงถือเป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ลง ขัดกับหลักการของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

 


น้ำท่วมขังในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน อยุธยา 12 พ.ย.55 (แฟ้มภาพ: ประชาไท)
 

(4) การแก้ไขปัญหาของแรงงานที่ประสบวิกฤติอุทกภัยมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2554 ให้ลุล่วง พบว่า แรงงานที่เป็นกำลังการผลิตส่วนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมต่างได้รับความเดือดร้อนถ้วนหน้า สถานประกอบการต้องปิดตัวลง การหยุดงานเป็นเวลานาน ความไม่ชัดเจนของการจ่ายค่าจ้าง หรือแม้กระทั่งการเลิกจ้าง เหล่านี้เป็นปัญหาที่รุมเร้าแรงงานตลอดช่วงเวลาที่เกิดอุทกภัย ซึ่งเป็นผลมาจากการที่นายจ้างไม่ปฏิบัติตามหรือใช่ช่องว่างทางกฎหมาย เช่น การใช้มาตรา 75 ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 กับลูกจ้างโดยไม่เป็นธรรม หรือในกรณีการไม่มีระยะเวลาที่แน่นอนในการเปิดสถานประกอบการ ทำให้แรงงานไม่สามารถใช้สิทธิทดแทนการว่างงาน จาก พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ได้  หรือการเลิกจ้างแรงงาน การล้มสหภาพแรงงาน โดยอ้างเหตุจากวิกฤติอุทกภัย นี้ไม่นับว่ามีการเลิกจ้างแรงงานกลุ่มเหมาช่วง เหมาค่าแรงเป็นกลุ่มแรกๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย แต่กระทรวงแรงงานก็กลับไม่มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว

(5) การควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น ในทุกครั้งที่มีการประกาศปรับค่าจ้างขึ้น ไม่ว่าจะเป็นของภาคข้าราชการหรือเอกชน สิ่งที่ตามมาเสมอคือการขอปรับขึ้นราคาสินค้าที่ผู้ประกอบการอ้างว่ารับภาระการขาดทุนไม่ไหว ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงานและประชาชนทั่วไป ที่ต้องมีค่าครองชีพที่สูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างเพิ่มเพียงน้อยนิดนั้นกลับไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับราคาสินค้าที่ปรับราคาขึ้นไป นั่นก็ทำให้การปรับขึ้นค่าจ้างไม่เกิดประโยชน์อย่างแท้จริงแต่กลับเพิ่มภาระในค่าครองชีพที่สูงขึ้น และรัฐบาลก็ไม่มีมาตรการรองรับที่ชัดเจนในการควบคุมราคาสินค้าที่จำเป็น เช่น สินค้าอุปโภค บริโภค น้ำมัน ก๊าซหุงต้ม เป็นต้น

ดังนั้น การก้าวย่างการทำงานของกระทรวงแรงงานในปี 2556 คณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทยจึงมีข้อเสนอว่า กระทรวงแรงงานต้องตระหนักว่า เวลากล่าวคำว่า “คุณภาพชีวิตแรงงาน” ผู้ใช้แรงงานไม่ได้หมายถึงเพียงเรื่องของ “การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ” หรือการเข้าถึง “สวัสดิการแรงงาน” เท่านั้น แต่หมายรวมถึง การลดทอนความเหลื่อมล้ำทางรายได้ การสร้างสิทธิ โอกาส อำนาจ และศักดิ์ศรี เป็นสำคัญ ที่ผ่านมาความยากจนของพี่น้องแรงงานถูกสร้างและกำหนดจากนโยบายรัฐที่เลือกปฏิบัติและโครงสร้างสังคมที่อยุติธรรม เอารัดเอาเปรียบ และให้อำนาจรัฐและทุนเสมอมา วันนี้แรงงานจำนวนมากต้องเผชิญกับรายได้ต่ำ ไร้สิทธิ ไร้โอกาส ไร้อำนาจ และไร้ศักดิศรีความเป็นมนุษย์มากขึ้นทุกวัน

ดังนั้น กระบวนการลดทอนความเหลื่อมล้ำและหยุดยั้งความอยุติธรรมที่ถั่งโถมสู่ผู้ใช้แรงงานทุกกลุ่ม จึงมิใช่เพียงการขึ้นอัตราค่าจ้างหรือเข้าถึงสวัสดิการเท่านั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่รัฐต้องปรับเปลี่ยนหรือยุตินโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่นายจ้าง ต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างและระบบแรงงานด้วยการสร้างความคุ้มครองทางสังคมและความมั่นคงของแรงงาน ทั้งในด้านของการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพในการรวมกลุ่ม การเจรจาต่อรอง การยึดหลักการทำงานที่มีคุณค่า (decent work) มาเป็นหลักการสำคัญในการกำหนดนโยบาย กฎหมาย แผนงาน และมาตรการต่างๆ ของรัฐ เหล่านี้จึงจะสามารถสร้างความเป็นธรรมขึ้นในสังคมไทยได้จริง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net