Skip to main content
sharethis

ศูนย์การศึกษาแรงงานร่วมกับสำนักข่าวประชาไทจัดงานเสวนาเรื่อง "ทิศทางเศรษฐกิจไทยกับการจ้างงานที่ดี (Decent Work of all)" เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2555 ณ ห้องประชุม 209 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ตระหนักถึงภาวะทางเศรษฐกิจที่มีผลต่อการจ้างแรงงาน และระดมความคิดแนวทางปฏิบัติเพื่อนำไปสู่การจ้างแรงงานที่ดี

ในช่วงเช้าเป็นการนำเสนอภาวะเศรษฐกิจที่มีผลต่อการจ้างแรงงาน และแนวทางในการสร้างความสามารถในการแข่งขัน โดย ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโส สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) และ วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยอิสระด้านเศรษฐกิจและแรงงาน ส่วนในช่วงบ่ายเป็นแลกเปลี่ยนประสบการณ์จากองค์กรแรงงานจากประเทศเนเธอร์แลนด์ และสหภาพแรงงานไทย นำเสนอปัญหาการจ้างแรงงานที่ไม่เหมาะสม และแนวทางในการจัดตั้งสหภาพแรงงานอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้กลุ่มแรงงาน

ณัฐวุฒิ ลักษณาปัญญากุล นักวิจัยอาวุโส ทีดีอาร์ไอ อธิบายว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชีย เป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตสูง และสำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนประเทศมากว่า 30 ปี โดยเน้นการส่งออกไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว แต่เมื่อประเทศเหล่านั้นเศรษฐกิจเริ่มชะลอตัว ประเทศไทยก็ส่งออกได้น้อยลง และเมื่อถึงจุดๆ หนึ่งจะพบกับดักของการเป็นประเทศรายได้ระดับกลางซึ่งไม่สามารถพัฒนาให้ข้ามไปจากระดับนี้ได้  ซึ่งต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้สูงขึ้นสอดคล้องกับแต่ละอุตสาหกรรม และรวมถึงข้อจำกัดด้านสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น ความพยายามลดก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

ณัฐวุฒิ เสนอว่า นอกจากเราต้องขยายตลาดมาเน้นที่แถบอาเซียน เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวมาก เราต้องมุ่งพัฒนาและสะสมเทคโนโลยีที่โปรกรีน คือ มีความสะอาดมากขึ้น สามารถใช้พลังงานอย่างได้คุ้มค่ามากขึ้น การเกิดเทคโนโลยีเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อนายจ้างโดยตรง ส่วนที่ได้รับประโยชน์มากขึ้นก็จะเป็นอุตสาหกรรมแบตเตอรี่  ชุดอิเล็กทรอนิกส์ในรถยนต์ ส่วนที่ได้รับผลกระทบในลบก็มี เช่น ถ้าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น นายจ้างที่ได้รับผลกระทบก็เป็นกลุ่มที่ผลิตกระปุกเกียร์ เพราะว่า รถยนต์ไฟฟ้าไม่ใช้กระปุกเกียร์ และเมื่อมันไม่ใช้น้ำมันแล้ว ก็จะกระทบกับกลุ่มที่ผลิตถังน้ำมันและหม้อน้ำ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในต่างประเทศมีการใช้ระบบสมองกลฝังตัวมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราลืมปิดเตาแก๊สที่บ้าน ก็ใช้โทรศัพท์มือถือสั่งการให้ปิดเตาแก๊สจากระยะทางไกลได้ หรือการปศุสัตว์ก็ก้าวหน้ามาก มีการฝังชิปไว้ที่หูของวัว เพื่อตรวจสอบดูว่า วัวแต่ละตัวเดินไปไหนบ้าง กินอะไรบ้าง มันพัฒนาไปไกลมาก ในอนาคตเราก็ทำได้ ถ้าเราให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาให้มากกว่านี้ เราลงทุนไปน้อยมากในด้านการวิจัย จึงไม่มีความรู้มากพอที่จะไปพัฒนาเทคโนโลยีได้ และก็ไม่ค่อยมีการติดตามผลลัพธ์ไปด้วยว่าเงินที่ลงทุนไปกับการวิจัยมันก่อให้เกิดอะไรใหม่ๆ ขึ้นมาบ้าง ตัวชี้วัดตรงนี้คือสิทธิบัตร ถ้าเราคิดอะไรใหม่ๆ มาได้ก็ไปจดมาใหม่ อย่างตอนนี้ มาเลเซียเขาตั้งเป้าหมายให้เป็นประเทศพัฒนาแล้วในอีก 10 ปีข้างหน้า โดยเขาเน้นการลงทุนในด้านการวิจัยและพัฒนา หรือตัวอย่างที่มีให้เห็นแล้วคือเกาหลีใต้ ที่เน้นลงทุนในด้านการวิจัยมาหลายปี จนมีบริษัทระดับโลกอย่าง Samsung เกิดขึ้น

ณัฐวุฒิ กล่าวต่ออีกว่า ในด้านของแรงงาน สิ่งที่จะกระทบกับแรงงานก็คือจำนวนแรงงานของจีนและอินเดียที่พร้อมจะกระโจนเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรมด้วยค่าจ้างราคาถูก เป็นจำนวนมาก มีผลโดยตรงต่อการแข่งขันของแรงงาน ส่วนในประเทศไทยเอง มีแนวโน้มที่ค่าแรงจะสูงขึ้นเรื่อยๆ การเพิ่มค่าแรงมากในครั้งเดียวอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวม และกดดันให้ต้องเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้น กล่าวคือ ทำให้ผลิตได้มากขึ้นและมีคุณภาพดีขึ้น ตรงนี้มันมีผลกระทบก็คือ อาจจะนำไปสู่การจ้างแรงงานที่ไม่เหมาะสมและแรงงานถูกกดดันจากนายจ้างมากขึ้น

วรดุลย์ ตุลารักษ์ นักวิจัยด้านแรงงาน กล่าวว่า ประเทศไทยและประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียทุกประเทศมีความเติบโตทางเศรษฐกิจสูง แต่ในขณะเดียวกัน จากงานวิจัย “Precarious Work in Asia” ปี 2012  พบว่า ความเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วในเอเชียทุกประเทศมาพร้อมกับการจ้างงานที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปเป็น precarious work มากยิ่งขึ้น กล่าวคือเป็นงานที่ไม่มีความมั่นคง ไม่แน่นอน ไม่มีเสถียรภาพ และความเสี่ยงต่างๆ ถูกโอนไปอยู่กับคนงานเกือบทั้งหมด เช่น ถูกเลิกจ้างได้ง่าย ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านสวัสดิการทางสังคม ฯลฯ เช่น ในประเทศไทย เมื่อเกิดน้ำท่วมเมื่อปีที่แล้ว บริษัทข้ามชาติใหญ่ๆ เลือกเลิกจ้างคนงานที่ไม่ได้เป็นคนงานประจำครั้งละเป็นพันคนก่อน

ฉัตรชัย ไพยเสน สหภาพแรงงานไทยอินดัสเตรียล กล่าวว่า การจ้างงานที่ดี นอกจากจะมีค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีแล้ว ยังรวมไปถึงการที่ลูกจ้างรู้สึกรักในงานที่ทำและมีความผูกพันต่อนายจ้าง แต่ปัจจุบันรูปแบบการจ้างเปลี่ยนไป เพราะระยะเวลาการทำงานที่ยาวนาน เช่น ในอุตสาหกรรมการขนส่งแก๊ส คนงานส่วนใหญ่ทำงานโดยเฉลี่ยประมาณ 12 ชั่วโมงต่อวัน พอเลิกงานก็เหนื่อยและเพลียมาก ความผูกพันต่อนายจ้างก็ลดลง หลายแห่งนายจ้างอยู่ต่างประเทศ เกิดเจ็บตายขึ้นมาก็ไม่มีใครรับผิดชอบ และคนงานต้องรับผิดชอบกันเอง
ส่วนนักลงทุนจะเลือกไปลงทุนที่ประเทศใด ก็ดูว่ากฎหมายแรงงานของประเทศนั้นเป็นอย่างไร ถ้ากฎหมายแรงงานคุ้มครองแรงงานได้อ่อนแอก็จัดว่า เป็นประเทศที่น่าไปลงทุน เพราะจะได้ไม่ต้องไปรับผิดชอบต่อลูกจ้างมากเกินไป ยกตัวอย่าง พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กำหนดข้อยกเว้นในการคุ้มครองไว้ ตาม ม.22 เช่น งานเกษตรกรรม งานประมงทะเล งานบรรทุกหรือขนถ่ายสินค้าเรือเดินทะเล งานที่รับไปทำที่บ้าน งานขนส่ง กำหนดว่าให้มีการคุ้มครองแรงงานแตกต่างไปจากพระราชบัญญัตินี้ก็ได้ ถามว่าแล้วจะเป็นหลักประกันให้ลูกจ้างได้อย่างไร

ฉัตรชัยกล่าวต่อไปในประเด็นการย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศที่มีแรงงานราคาถูกว่า ข้อกังวลที่ว่าจะมีการย้ายฐานการผลิตอะไรทำนองนี้มันไม่เกิดขึ้นหรอก มีแต่คนอยากจะมาลงทุนที่ประเทศไทย เพราะกฎหมายคุ้มครองแรงงานบ้านเราอ่อนแอเมื่อเทียบกับเพื่อนบ้าน ดังนั้นสิ่งสำคัญก็คือ เราต้องมีระบบสหภาพแรงงานที่เข้มแข็งเพื่อเป็นปากเป็นเสียงของแรงงาน

เยาวภา ดอนเส เครือข่ายเพื่อสิทธิคนงานไก่ ให้ความเห็นว่า ปัจจุบันอุตสาหกรรมอาหารมีมูลค่าการส่งออกที่สูงมาก แต่มีจำนวนสหภาพแรงงานต่ำที่สุด การเรียกร้องสิทธิก็ทำได้ยาก อย่างโรงงานแช่แข็งไก่ก็มีปัญหา คนงานมีเวลาพักผ่อนน้อย ต้องเดินทางมาโรงงานก่อนเวลาเพื่อแต่งชุดฟอร์มป้องกันความเย็น ทำงานในอุณหภูมิประมาณ 10 องศาเซลเซียส ประกอบกับระยะเวลาการทำงานที่นานถึง 12 ชั่วโมง ทำให้สุขภาพคนงานย่ำแย่มาก จะเข้าห้องน้ำก็ลำบาก กว่าจะถอดชุดฟอร์มอีก แล้วก็มีเวลาให้แค่ 30 นาทีต่อวัน หลายคนก็เลือกที่จะไม่เข้าห้องน้ำ กลั้นปัสสาวะจนกลายเป็นโรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ นอกจากนี้ ยังเป็นโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ แล้วพวกอุบัติเหตุเลือดตกยางออกก็เกิดขึ้นบ่อยมาก เพราะโดนบังคับในอยู่ในสภาพการทำงานที่เร่งรีบ ก็มีการหกล้ม มีดบาด เจ็บกันไปเป็นเรื่องธรรมดา

คำผอง คำพิทูรย์ ตัวแทนคนงานในอุตสาหกรรมตัดเย็บ จากสหภาพแรงงานประชาธิปไตย กล่าวว่า ในอุตสาหกรรมตัดเย็บ แม้ว่าเรามีสหภาพแรงงาน คนงานก็ยังไม่ได้รับสิทธิเท่าที่ควรจะเป็น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าจ้างหรือเรื่องวันหยุดก็ตาม ถ้าเราไม่มีสหภาพแรงงานก็จะยิ่งแย่ไปใหญ่ สำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานของจังหวัดก็ช่วยได้ไม่มากนัก เราจำเป็นต้องขยายสหภาพแรงงานไปเพื่อเป็นปากเป็นเสียงในการต่อรอง เรียกร้องสิทธิ ไม่ใช่แค่เพื่อแรงงานไทยเท่านั้น แต่เพื่อแรงงานคนอื่นที่เป็นแรงงานข้ามชาติอีกด้วย โดยเฉพาะให้คนงานข้ามชาติเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน เพื่อให้เขาได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานที่เสมอภาคมากกว่าที่เป็นอยู่

Andriette Nommensen เจ้าหน้าที่ฝ่ายนโยบายต่างประเทศของสภาแรงงานเนเธอร์แลนด์ FNV (Federatie Nederlandse Vakbeweging) เล่าถึงประสบการณ์การรณรงค์จัดตั้งของสภาแรงงาน FNV ว่า ล่าสุดในการรณรงค์ประเด็นพนักงานทำความสะอาดทั่วประเทศเนเธอร์แลนด์ มีการวางแผนงานและการศึกษาวิจัยเป็นอย่างดี มีเป้าหมายในการส่งเสริมการรวมกลุ่มและการทำข้อตกลงสภาพการจ้างเพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานทำความสะอาด ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนงานหญิงอพยพมาจากประเทศอื่น

งานทำความสะอาดเป็นงานที่มีค่าจ้างต่ำ คนงานทำงานยาวนานชั่วโมง โดยปราศจากการยอมรับจากสังคมว่าเป็นงานที่มีคุณค่า  สภาแรงงาน FNV วางแผนเริ่มต้นการรณรงค์ด้วยเรื่องชีวิตการทำงานของคนงานทำความสะอาดเพื่อให้สังคมเข้าใจและสนับสนุนการรวมกลุ่มยื่นข้อเรียกร้องของคนงานทำความสะอาดต่อบริษัทที่จ้างงาน  นอกจากนี้ เพื่อให้ตัวคนงานทำความสะอาดเองมีส่วนร่วมในการรณรงค์อย่างแข็งขันเพื่อปรับปรุงสภาพการทำงานของตัวเอง

จุดเด่นของการรณรงค์ครั้งนี้ คือสังคมเนเธอร์แลนด์ให้การสนับสนุนการต่อสู้ของคนงานทำความสะอาด ในช่วงที่มีการนัดหยุดงานของคนงานทำความสะอาดทั่วประเทศ แม้ถนนหนทาง และสถานีรถไฟในประเทศเนเธอร์แลนด์จะเต็มไปด้วยขยะ แต่ประชาชนเข้าใจและบางส่วนเข้าร่วมการชุมนุมนัดหยุดงานของคนงานเหล่านี้ด้วย

นอกจากนี้ องค์กรแรงงานให้การสนับสนุนแล้ว ศิลปินสาขาต่างๆ ในประเทศเนเธอร์แลนด์ ยังมาช่วยในการออกแบบการรณรงค์เพื่อสร้างความสนใจในวงกว้าง มีการใช้โซเชียลมีเดียเพื่อเผยแพร่การรณรงค์อย่างมีประสิทธิภาพ

“การดึงศิลปินมาช่วยด้วยก็เป็นจุดดึงดูดให้สังคมหันมาสนใจประเด็นปัญหาของเราได้เหมือนกัน หรือการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ เช่น มีการสร้างพิพิธภัณฑ์ของเสียเพื่อแสดงให้เห็นว่าในแต่ละวัน พนักงานทำความสะอาดต้องประสบกับอะไรบ้าง นอกจากนี้ก็ต้องประยุกต์โซเชียลมีเดียมาใช้ เพราะเป็นสื่อที่คนส่วนใหญ่สามารถเข้าถึงได้ง่าย”

ทั้งนี้ Andriette อธิบายภาพรวมของด้านแรงงานในเนเธอร์แลนด์ว่า ประเทศเนเธอร์แลนด์ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยในประเด็นแรงงานเป็นอย่างมาก เรื่องภาวะเศรษฐกิจ การเมืองที่ผลต่อการจ้างงานจะมีหน่วยงานต่างหาก ซึ่งถือเป็นองค์กรอิสระทำหน้าที่วิจัยศึกษาเพื่อทำเป็นข้อเสนอต่อรัฐบาล และสหภาพแรงงานในเนเธอร์แลนด์ก็ทำงานกันอย่างจริงจัง มีการประชุมระดับภาค ระดับท้องถิ่น สิ่งสำคัญเมื่อมีการเจรจาคือเรายอมรับในบทบาทซึ่งกันและกัน ยอมรับว่า กลุ่มแรงงานได้ประสบปัญหาจริงๆ ยอมรับว่า รัฐบาลและนายจ้างก็มีหน้าที่รักษาสิทธิประโยชน์ของแรงงานด้วย

ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของการเจรจาคือข้อตกลงว่าด้วยสภาพการจ้างของคนงานทั้งอุตสาหกรรม (ไม่ใช่คนงานในแต่ละบริษัท) ซึ่งมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ที่ครอบคลุมทั้งที่เป็นสมาชิกและไม่ใช่สมาชิกสหภาพแรงงาน ตรงนี้ก็แสดงให้เห็นว่าสหภาพแรงงานมีผลมากต่อการเจรจาเรียกร้องสิทธิของแรงงาน

ในการจัดตั้งสหภาพแรงก็ต้องมีการศึกษาและวางยุทธศาสตร์ด้วย ที่เนเธอร์แลนด์จะมีนักจัดตั้งโดยเฉพาะ ทำหน้าที่เผยแพร่ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับแรงงาน ให้ความรู้และแนวทางต่างๆ เพื่อทำให้แรงงานคนอื่นเข้าใจปัญหาและเกิดความรู้สึกว่า ต้องเข้าร่วมสหภาพแรงงาน ต่อสู้พร้อมกับสหภาพแรงงานเพื่อเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ของตัวเขาเอง

“สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือต้องทำให้สาธารณะเข้าใจด้วยว่า เรากำลังประสบปัญหาอะไร ไม่ใช่เพียงไม่พอใจแล้วนัดหยุดงาน สังคมก็อาจจะได้รับผลกระทบและหันมาประณามเรา แทนที่จะเห็นใจและให้การสนับสนุน แต่มันก็มีปัญหาที่เมื่อก่อนเวลาเราจะชี้ให้สังคมเห็นว่า เราเดือดร้อนอย่างไร เรามักยกประเด็นค่าจ้างขึ้นมาก่อน คนก็คิดว่าพวกแรงงานเอาแต่เรียกร้องค่าจ้าง แล้วก็รู้สึกเบื่อกับการเรียกร้องของแรงงาน เราต้องทำให้เขาเห็นด้วยว่าปัญหาของเราไม่ได้มีเฉพาะเรื่องค่าจ้าง แต่ยังมีเรื่องความมั่นคงในอาชีพ ปัญหาสุขภาพ รวมไปถึงการไม่ได้รับการยอมรับนับถือ โดนดูถูกดูแคลน เช่น กรณีพนักงานทำความสะอาด”  Andriette กล่าว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net