Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

'สุรพศ ทวีศักดิ์' เขียนโต้บทความ “เผด็จการธรรมวินัย” ของ 'วิจักษณ์ พานิช' ยืนยัน "วิธีแก้ปัญหาที่ผมเห็นว่าที่ดีที่สุดเวลานี้ คือ “ระบบต้องทำงาน” มีมูลไม่มีมูลต้องตอบผ่านระบบที่ทำงานอย่างโปร่งใส มิเช่นนั้นก็จะไม่เกิดผลดีแก่ใครเลย กลายเป็นปัญหาทำนอง “คู่กรณี” หรือไม่ก็เป็นเรื่องเล่าแบบ “มารไม่มาบารมีไม่เกิด” หรือไม่ก็เป็นเรื่องของถ้าเป็น “พระดี” ก็ไม่ต้องตรวจสอบ"

 
ในบทความเชื่อ “เผด็จการธรรมวินัย” วิจักษณ์ พานิช ยกข้อความที่ถกเถียงกันในเฟซบุ๊กมาว่า
 
"อยากชวนคณะสงฆ์เป็นอิสระจากรัฐ เพื่อให้ชาวพุทธกลุ่มต่างๆ มีอิสระตรวจสอบกันเอง และต้องการยืนยันว่าถ้าคณะสงฆ์ยังขึ้นต่อรัฐก็ต้องอ้างอิงกรอบพระธรรมวินัยในการจำกัดอำนาจ ตรวจสอบบทบาทของมหาเถรและสังฆะภายใต้ระบบนี้อยู่ครับ"     -- สุรพศ ทวีศักดิ์
 
 
"ธรรมวินัยมันมีบางอย่างที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ มีบางอย่างที่ต้องตีความ มีหลักฐานบันทึกเทียบเคียงความสอดคล้องได้ อย่างส่วนที่เป็นวินัยสงฆ์นี่ชัดเจนเหมือนกฎหมายเลยว่าทำอย่างนี้ผิด อย่างนั้นถูก มันถึงเป็นหลักความประพฤติที่ตรวจสอบเห็นตรงกันได้  ...ธรรมวินัยไม่ได้อิงมหาเถร ไม่ได้อิงสมบูรณาฯ เพราะธรรมวินัยเถรวาทที่อ้างอิงกันอยู่คือธรรมวินัยที่สืบเนื่องมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 มีมาก่อนสมบูรณาไทยเป็นพันๆ ปี ธรรมวินัยจึงเป็นกรอบอ้างอิงหลักเสมอ เพราะธรรมวินัยไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ แต่เป็น “ระบบสังฆะเถรวาท” ที่เป็นอิสระจากรัฐมาแต่ก่อน"      -- สุรพศ ทวีศักดิ์
 
"หลักธรรมวินัยของพุทธศาสนาเถรวาทเป็นหลักสากลที่ชาวพุทธเถรวาททั่วโลกต่างยึดถือร่วมกัน ไม่ต่างจากที่สังคมประชาธิปไตยยึดหลักประชาธิปไตยหรอก"   -- สุรพศ ทวีศักดิ์
 
แล้ววิจักษณ์ก็วิจารณ์ โดยสรุปเป็นประเด็นได้ดังนี้
 
1) จากข้อความทั้งหมดข้างต้น ตรรกะที่ผิดพลาดของอ.สุรพศ เกิดขึ้นจากการที่ อ.สุรพศไม่กล้าวิพากษ์หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร แต่กลับดีเฟนด์การใช้หลักธรรมวินัยแบบมหาเถรในฐานะกฏเกณฑ์สูงสุดของพุทธเถรวาท (สากล? เทียบเท่าหลักประชาธิปไตย?) โดยอ้างว่าคณะสงฆ์สามารถตรวจสอบได้โดยโปร่งใส ไม่มี 112 
 
จะเห็นได้ว่าวิจักษณ์จงใจนิยามสิ่งที่ผมเรียกว่า “ธรรมวินัยเถรวาท”  ว่า “หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร” ซึ่งหลักธรรมวินัยแบบมหาเถรที่วิจักขณ์ใช้คงหมายถึง “หลักธรรมวินัยที่อิงอยู่กับสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อิงอยู่กับมหาเถร” แต่ข้อความข้างต้นเป็นข้อความที่ผมโพสต์โต้แย้งหลักธรรมวินัยในความหมายที่วิจักษณ์เรียกว่า ““หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร” นั่นเอง
 
ฉะนั้น ข้อวิจารณ์ต่างๆ ของวิจักขณ์จึงเป็นการเอาความหมายของธรรมวินัยที่ตนเองเรียกว่า ““หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร” ไปแทนที่สิ่งที่ผมเรียกว่า “ธรรมวินัยเถรวาท”  เสมือนว่าความหมายที่ตนนำมาวิจารณ์นั้นเป็นความหมายตรงตามที่ผมสื่อออกมาจริงๆ ซึ่งไม่ใช่
 
ยิ่งกว่านั้น วิจักขณ์ยังบอกว่าผมไม่กล้าวิพากษ์ “หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร” ถามว่าใครกันที่วิพากษ์หลักธรรมวินัยแบบมหาเถรที่อิงระบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มากกว่า เพราะสำหรับผมหลักธรรมวินัยที่ว่านี้หมายถึง “การตีความหลักธรรมวินัยสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาญาสิทธิราชย์” ผมอยากให้ลองกลับไปอ่านบทความหลายชิ้นของผมว่า ผม “ไม่กล้าวิพากษ์” หลักธรรมวินัยในความหมายดังกล่าวนี้จริงหรือไม่
 
ฉะนั้น ถ้ายึดหลักการที่วิจักขณ์มักอ้างเสมอว่า “ธรรมวินัยเป็นเรื่องของการตีความที่มีบริบท” ผมก็ยืนยันว่าผมตีความ “ธรรมวินัยแบบมหาเถร” ต่างจาก “ธรรมวินัยแบบเถรวาท” ที่มีอยู่ก่อนซึ่งมีความหมายสำคัญต่างจากธรรมวินัยที่ถูกตีความสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาฯแบบมหาเถร
 
ข้อความที่ยกมานั้น ผมบอกชัดเจนว่า ธรรมวินัยไม่ได้อิงมหาเถร ไม่ได้อิงสมบูรณาฯ เพราะธรรมวินัยเถรวาทที่อ้างอิงกันอยู่คือธรรมวินัยที่สืบเนื่องมาจากการสังคายนาครั้งที่ 1 มีมาก่อนสมบูรณาไทยเป็นพันๆ ปี ธรรมวินัยจึงเป็นกรอบอ้างอิงหลักเสมอ เพราะธรรมวินัยไม่เกี่ยวกับอำนาจรัฐ แต่เป็น “ระบบสังฆะเถรวาท” ที่เป็นอิสระจากรัฐมาแต่ก่อน  ซึ่งหมายความว่า แม้ไม่มีมหาเถร ระบบสมบูรณาฯไทย ธรรมวินัยเถรวาทก็มีอยู่ก่อนแล้ว ระบบสมบูรณาฯ และมหาเถรต่างหากที่เอาธรรมวินัยเถรวาทที่มีอยู่ก่อนมาใช้ตีความในแบบที่เราเห็นว่าเป็นปัญหาอยู่
 
ทีนี้ถ้าเราจะวิจารณ์ว่าระบบสมบูรณาฯ มหาเถรใช้ธรรมวินัยถูกหรือผิดอย่างไรก็ต้องไปดู “ธรรมวินัยเถรวาท” ที่มีอยู่ก่อนเพื่อนำมาเป็น “หลักอ้างอิง”
 
เช่น เราจะ “รู้” ได้ว่าระบบสมบูรณาฯอ้างหลักธรรมพุทธสร้าง “ทฤษฎีอเนกนิกรสโมสรสมมติ” ที่ยกให้สถาบันกษัตริย์ศักดิ์สิทธิ์เหนือการตรวจสอบนั้นผิดหรือถูก ก็ต้องไปดูหลักการนี้ในอัคคัญญสูตรว่า พุทธศาสนาว่าไว้แบบนั้นจริงหรือไม่ เมื่อไม่จริงทฤษฎีนี้ก็ผิด เป็นต้น
 
ฉะนั้น ถามว่าถ้าเราไม่อ้างอิง “ธรรมวินัยเถรวาท” ที่มีอยู่ก่อนมาเป็นหลักในการวิพากษ์ตรวจสอบ “ธรรมวินัยแบบมหาเถร” (หรือที่วิจักขณ์เรียกชื่ออีกว่า “ธรรมวินัยแบบรัฐ”) เราจะอ้างอิงหลักอะไร?
 
2) คำถามของผมคือ ตั้งแต่มีมหาเถรสมาคมเป็นต้นมา เราสามารถตรวจสอบอะไรพระได้บ้าง? หรือพระในคณะสงฆ์ (ใน scale ใหญ่) สามารถตรวจสอบอะไรกันเองได้บ้าง? พระใช้หลักธรรมวินัยในการตรวจสอบกัน แล้วช่วยให้สังฆะมีวัตรปฏิบัติที่งดงามและสร้างสรรค์ขึ้นได้จริงหรือไม่? การตรวจสอบที่อาจารย์สุรพศบอกว่าทำได้ทุกเรื่อง เอาเข้าใจจริงทำอะไรได้บ้าง นอกจากการจับผิดพระมีเซ็กซ์
 
ก็เพราะเราไม่ยอมอ้างอิงธรรมวินัยเถรวาทในความหมายที่ผมว่ามาตรวจสอบธรรมวินัยที่ตีความแบบมหาเถร แบบสมบูรณาฯ ไงครับ มันจึงเป็นปัญหาอย่างวิจักขณ์ว่ามา
 
3) สมมติฐานของผม คือ ในโครงสร้างแบบที่เป็นอยู่ จริงๆ แล้วพระตรวจสอบไม่ได้ครับ และพระก็ไม่ได้ใช้ธรรมวินัยตรวจสอบกันและกันด้วย สิ่งที่ทำได้อย่างเดียวก็คือการไล่ปรับอาบัติปาราชิก หรือพูดง่ายๆ คือ จับพระมีเซ็กซ์เท่านั้นที่ตรวจสอบได้ นอกนั้นดิ้นได้หมด สิ่งที่อ.สุรพศ เขียนมาทั้งหมด ก็เพื่อ Validate ข้อเรียกร้องกรณีให้มหาเถรใช้หลักธรรมวินัยตรวจสอบอธิการ มหาจุฬาฯ มีเซ็กซ์เท่านั้น  
 
ธรรมวินัยแบบรัฐทุกวันนี้ยึดโยงอยู่กับอุดมการณ์ของรัฐแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ และอุดมการณ์นี้คือชุดอุดมการณ์ที่ใช้ตีความธรรมวินัยแบบเถรสมาคม พระสงฆ์มีอำนาจล้นฟ้า แล้วยังมีหลักธรรมวินัยที่ตีความเข้าข้างตัวเองเป็นหลักสูงสุด ตัดสินโดยองค์กรสงฆ์ที่ปกครองตัวเอง มีการตีความแบบเฉพาะของตัวเอง และไม่มีภาระหน้าที่หรือความรับผิดชอบอะไรต่อสังคมประชาธิปไตยเลย  ตราบใดที่ยังประพฤติพรหมจรรย์ (ที่ถูกตีความเหลือแค่ไม่มีเซ็กซ์) พระสงฆ์ทำอะไรก็ได้ ไม่ผิด
 
คำตอบย่อหน้าแรก คือคำว่า “ตรวจสอบไม่ได้” ต้องหมายถึง “ระบบไม่เปิดให้ตรวจสอบได้” เช่นเราตรวจสอบสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ เพราะระบบหรือกฎหมายห้ามตรวจสอบ แต่โดย “ข้อเท็จจริง” แล้วระบบมหาเถรไม่มีกฎหมายห้ามตรวจสอบ แม้แต่การหมิ่นประมาทสมเด็จพระสังฆราชก็มีความผิดเท่ากับหมิ่นประมาทบุคคลธรรมดา
 
สมมติ (ย้ำ “สมมติ”) ว่า พระ ก.เห็นประธานกรรมการมหาเถรยักยอกเงินวัด มีหลักฐานชัดเจน พระ ก.ก็สามารถยื่นเรื่องให้หน่วยงานรับผิดชอบของบ้านเมืองตรวจสอบเอาผิดทางกฎหมายได้เลย และยื่นเรื่องให้คณะสงฆ์เอาผิดทางวินัยสงฆ์ได้เลย หรือให้ข้อมูลแก่สื่อมวลชนช่วยตรวจสอบก็ได้ ยิ่งกว่านั้นเรายังเสนอให้ยกเลิกระบบมหาเถร ยกเลิกสมณศักดิ์ได้โดยไม่ผิดกฎหมายแต่อย่างใด และที่จริงแล้วเราก็เห็นการวิจารณ์ตรวจสอบสถาบันสงฆ์ผ่านหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ
 
ฉะนั้น ที่วิจักขณ์ว่า “พระสงฆ์มีอำนาจล้นฟ้า” นั้น ทำไมเราด่าพระได้ทุกวัน พระมี “อำนาจตามกฎหมาย” มาจำกัดเสรีภาพขั้นพื้นฐานของเราหรือ (การใช้ความสัมพันธ์ส่วนตัวให้ผู้มีอำนาจบีบบางคน นั่นไม่ถูกต้อง และไม่ได้ใช้ “กฎหมาย” เพราะไม่มีกฎหมายให้ให้อำนาจมหาเถรปิดปากเราได้) ส่วนที่ตรวจสอบไปแล้วจับได้แค่พระมีเซ็กส์ นั่นเป็นปัญหาเรื่อง “ประสิทธิภาพ” ในการตรวจสอบ การไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอไม่ได้แปลว่าหมด “ความชอบธรรม” อย่างสิ้นเชิง เหมือนระบบกฎหมายให้สิทธิตรวจสอบนักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯได้ แต่ยังไม่สามรถเอาผิดนักการเมือง ข้าราชการ ฯลฯ ที่โกงเก่งๆได้ ไม่ได้หมายความว่าระบบไม่ชอบธรรม
 
คำตอบย่อหน้าที่สอง ต้องใช้หลักธรรมวินัยเถรวาทในความหมายที่ยังไม่ถูกตีความรับใช้อุดมการณ์สมบูรณาฯและมหาเถรมาตรวจสอบธรรมวินัยที่ถูกตีความไปแบบนั้นครับ เช่น เวลา อ.สุลักษณ์วิจารณ์ว่าการตีความพุทธสนับสนุนอุดมการณ์สมบูรณาฯผิดอย่างไร ท่านก็ต้องอ้างอิงหลักการที่ถูกต้องมาวิจารณ์ตรวจสอบ เป็นต้น
 
4) เมื่อธรรมวินัยถูกอ้างอย่างไร้บริบท ราวกับกฏหมายอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดโดยตัวมันเอง เป็น “สากล” เป็น “กติกากลาง” ที่ชาวพุทธต้องยอมรับอย่างไม่อาจตั้งคำถามหรือตีความได้  ธรรมวินัยก็กลายเป็นอำนาจนิยมธรรมวินัย เผด็จการธรรมวินัย เป็นสีลัพพตปรามาส (ความเชื่อว่าการถือศีลจะทำให้คนบริสุทธิ์) ซึ่งถือเป็นมิจฉาทิฏฐิอย่างหนึ่ง ไม่ต่างจากอันตรายที่เกิดขึ้นเวลาธรรมะถูกเทศนา ถูกสั่งสอน ถูกอ้างถึงอย่างไร้การคำนึงถึงบริบทเลย
 
ที่จริงผมพูดแค่ว่า เป็น “สากล” เป็น “กติกากลาง” ที่เติมเข้ามาเองว่า “...ราวกฏหมายอันศักดิ์สิทธิ์สูงสุดโดยตัวมันเองที่ชาวพุทธต้องยอมรับอย่างไม่อาจตั้งคำถามหรือตีความได้” ไม่ใช่ความหมายที่ผมต้องการสื่อแต่อย่างใด
 
จริงๆแล้ว เวลาเราพูดเกี่ยวกับ “สากล” หรือ “กติกากลาง” ไม่จำเป็นต้องหมายถึงอะไรที่ “ศักดิ์สิทธิ์” และ “แตะต้องไม่ได้” แต่อย่างใด ตรงกันข้ามเวลาที่เราพูดถึงอะไรที่ศักดิ์สิทธิ์ แตะต้องไม่ได้เรามักจะหมายถึงสิ่งที่ “ไม่สากล” และ “ไม่ใช่กติกากลาง” เวลาที่นักปรัชญาเช่นค้านท์เสนอ “หลักจริยธรรมสากล” เขาก็ไม่เคยบอกว่าหลักสากลแตะต้องไม่ได้ แย้งไม่ได้ หรือกติกากลางอย่างสิทธิมนุษยชน หลักการประชาธิปไตยก็ไม่ได้มีความหมายในเชิงศักดิ์สิทธิ์ แตะไม่ได้ใดๆ
 
ยิ่งกว่านั้น “สากล” หรือ “กติกากลาง” ในบางเรื่องมันก็มีบริบทเฉพาะหรือ Local ของมันอยู่ เช่น เมื่อผมพูดถึงวินัยสงฆ์เถรวาทที่เป็นสากล-กติกากลาง ผมหมายถึง ความเป็นสากลในรูปของข้อตกลงร่วมกันใน Local ประเภทหนึ่ง คือประเภท “ระบบสังฆะเถรวาท” ไม่ใช่สังฆะทุกระบบในพุทธศาสนา หรือไม่เกี่ยวกับระบบสังคมการเมืองทางโลก ฉะนั้น สากล กติกากลาง จึงไม่จำเป็นต้องมีความหมายว่าศักดิ์สิทธิ์ แตะไม่ได้ เป็นเผด็จการแต่อย่างใด แต่หมายความแค่ว่าใช้กับสมาชิกแห่งสังฆะอย่างเสมอภาค หรือสังฆะเสมอภาคภายใต้ธรรมวินัย ไม่เลือกปฏิบัติ ไม่สองมาตรฐาน
 
ประเด็นความเป็นสากล-กติกากลางใน Local ประเภท “ระบบสังฆะเถรวาท” ผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะเป็นรากฐานของ “วัฒนธรรมเคารพหลักการ”
 
ทำไมเราเห็นตำรวจไปจับพระสึกบ่อยๆ ทั้งที่พระดื่มเหล้าต้องอาบัติปาจิตตีย์ยังไม่ขาดความเป็นพระ เพราะสังคมเรามองว่าพระดื่มเหล้าเป็น “พระเลว” ไงครับ ฉะนั้น สำหรับพระเลว คนเลว เราขจัดเขาด้วยวิธีไหนก็ได้ ทำเกินขอบเขตของหลักการธรรมวินัยได้ นักการเมืองเลวก็ทำรัฐประหารได้ ส่วนอำมาตย์ดีแล้วเราไม่ต้องตรวจสอบ พระอวดอุตตริหมิ่นเหม่ต่ออาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระ เราก็ไม่ตรวจสอบ เพระเชื่อว่าท่านเป็นพระดี เป็นอรหันต์ เป็นผู้วิเศษ
 
ฉะนั้น การที่สังฆะและชาวพุทธไทยไม่ยึดถือธรรมวินัยในฐานะเป็น “หลักการสากล-กติกากลาง” ที่ใช้กับสมาชิกแห่งสังฆะอย่างเสมอภาคต่างหากครับ ที่มันกลายเป็นรากฐานของการสร้าง “วัฒนธรรมบูชาคนดี-ผู้วิเศษเหนือหลักการ-เหนือการตรวจสอบ” จนหยั่งรากลึกในบ้านเรา
 
ผมไม่ปฏิเสธว่า “หลักธรรมวินัยแบบมหาเถร” สร้างปัญหาแบบที่วิจักขณ์ว่ามาทั้งหมด แต่สำหรับผมมันต้องแก้ด้วยการยืนยัน “หลักธรรมวินัยเถรวาทในความหมายที่ผมอธิปรายมา” และผมเชื่อว่ามันยังจำเป็นต้องนำมาใช้ตรวจสอบได้ แม้ศาสนายังไม่เป็นอิสระจากรัฐ
 
5) ข้อสรุปของผมคือ การตีความหลักธรรมวินัยแบบรัฐเช่นนี้แหละครับที่เป็นปัญหา และการอ้างความเป็น absolute truth ของหลักธรรมวินัยเพื่อให้คณะสงฆ์ของรัฐใช้อ้างกันเอง ตรวจสอบกันเองนี้แหละที่เป็นปัญหา  มันทำให้สงฆ์เป็นอภิสิทธิ์ชนตรวจสอบอะไรไม่ได้ พูดอะไรไม่เคยผิด ทำอะไรไม่เคยผิด ยกเว้นถูกจับได้ว่ามีเซ็กซ์  เมื่ออาจารย์สุรพศไม่กล้าวิพากษ์หลักธรรมวินัยแบบรัฐ แต่กลับอ้างว่าแม้ศาสนาจะไม่แยกจากรัฐ คณะสงฆ์ภายใต้มหาเถรก็มีสิทธิ์จะใช้ธรรมวินัยตรวจสอบกันเองตามหลักเสรีภาพทางศาสนา ข้อคิดเห็นของอ.สุรพศ ก็ยิ่งไปเสริมอำนาจผูกขาดการตีความธรรมวินัยแบบมหาเถร ผลักผู้ที่เห็นต่างจากการอ้างธรรมวินัยแบบนี้ให้เป็นอื่น และที่น่าเศร้าที่สุด คือ มันขัดแย้งโดยตรงกับหลักการพื้นฐานของกระบวนการแยกศาสนาออกจากรัฐ (secularization) อันเป็นข้อเสนอสูงสุดที่จะช่วยแก้ไขปัญหาคาราคาซังของสถานะอันไม่เป็นประชาธิปไตยของพุทธศาสนาในปัจจุบัน 
 
ความจริงวิจักขณ์ก็น่าจะรู้ว่า ข้อเสนอของผมกว้างกว่า “...เพื่อให้คณะสงฆ์ของรัฐใช้อ้างกันเอง ตรวจสอบกันเองนี้แหละที่เป็นปัญหา...” เพราะวิจักขณ์ก็รู้ว่าผมสนับสนุนทั้งการออกมาตรวจสอบ ตั้งคำถามกันเองแบบหลวงพี่ไพศาลทำ แบบให้ประชาชนเข้าไปตรวจสอบอย่างกรณี อ.สุลักษณ์และสื่อมวลชน สาธารณชน (ดังที่อธิบายแล้วว่า “ระบบเปิดให้วิจารณ์ได้ตรวจสอบได้” ข้างต้น)
 
ข้อเท็จจริงของระบบมหาเถรที่วิจักขณ์ไม่พูดถึงเลยคือ สถานะขององค์กรมหาเถรนั้นเป็นสถานะที่ได้มาโดย “กฎหมายของรัฐ” แต่สถานะโดยกฎหมายนั้นถูกระบุว่า “ต้องอยู่ใต้ธรรมวินัย” หมายความว่า กฎหมายปกครองสงฆ์กำหนดว่า มหาเถรจะออกคำสั่ง กฎ ระเบียบใดๆ ขัดแย้งกับธรรมวินัยไม่ได้ (ในความเป็นจริงเป็นไปตามนี้หรือไม่ ก็ต้องอ้างหลักธรรมวินัยมาตรวจสอบ) โดยความหมายนี้ธรรมวินัยจึงเป็นกรอบ “จำกัดอำนาจ” ตามกฎหมายที่รัฐให้ ไม่ใช่เป็นฐานอำนาจเผด็จการที่ทำให้ “มหาเถรตรวจสอบไม่ได้” แต่อย่างใด
 
แล้วความเป็นเผด็จการของมหาเถรอยู่ตรงไหน? คำตอบคือ อยู่ที่โครงสร้างองค์กรมหาเถรตามกฎหมายปกครองสงฆ์ปัจจุบันที่ไม่ยึดโยงอยู่กับสังฆะโดยรวมและชาวพุทธทั้งหมด เพราะองค์กรมหาเถรไม่ได้มาจาก “การเลือกตั้ง” แต่มาจากการแต่งตั้งตามอาวุโสทางสมณศักดิ์ เปรียบเทียบก็เหมือนองค์กรกองทัพที่คนจะขึ้นมาเป็น 5 เสือ ทบ.ก็ไต่เต้ามาตามอาวุโสทางชั้นยศ และตำแหน่งบริหารอะไรประมาณนี้
 
ลักษณะเผด็จการของมหาเถรดังกล่าวนี้ มีปัญหาในแง่ที่พระสงฆ์ผู้ใต้ปกครองอาจไม่กล้าอ้างอิงหลักธรรมวินัยตรวจสอบองค์กรมหาเถร คล้ายๆกับผู้ใต้บังคับบัญชาในหน่วยงานทหารหรือหน่วยงานอื่นๆไม่กล้าตรวจสอบผู้บังคับบัญชา เพราะกลัวอำนาจ ไม่ปลอดภัย หรืออะไรก็แล้วแต่ ทว่า “ไม่มีกฎหมายห้ามตรวจสอบ” และมหาเถรก็ไม่สามารถอ้างหลักธรรมวินัยเพื่อใช้อำนาจเผด็จการกับพระ หรือห้ามประชาชนทั่วไปตรวจสอบได้
 
6) ส่วนข้อความของผมที่วิจักษณ์เน้นตัวหนาว่า"ธรรมวินัยมันมีบางอย่างที่ชัดเจน ไม่ต้องตีความ มีบางอย่างที่ต้องตีความ มีหลักฐานบันทึกเทียบเคียงความสอดคล้องได้ อย่างส่วนที่เป็นวินัยสงฆ์นี่ชัดเจนเหมือนกฎหมายเลยว่าทำอย่างนี้ผิด อย่างนั้นถูก มันถึงเป็นหลักความประพฤติที่ตรวจสอบเห็นตรงกันได้  ...
 
คำว่า “ชัดเจนเหมือนกฎหมาย” ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่า ให้เอาธรรมวินัยไปใช้เทียบเท่ากฎหมาย เช่นไปจับคนเข้าคุกเป็นต้น แต่ข้อเท็จจริงคือธรรมวินัยส่วนที่เป็นวินัยสงฆ์จะมีการระบุไว้ชัดเจนว่าทำอะไรแล้วจะต้องรับผิดอย่างไร เช่น “ภิกษุฆ่ามนุษย์ให้ตาย = การกระทำ” “ต้องอาบัติปาราชิกขาดจากความเป็นพระ =การับผิดหรือรับผิดชอบต่อการกระทำ” เป็นต้น จะเห็นว่าโทษทางวินัยตามตัวอย่างนี้ไม่อาจ “เทียบเท่า” โทษทางกฎหมายเลย ฆ่าคนตายต้องติดคุก แต่ทางวินัยสงฆ์แค่ให้สละสมณเพศ
 
และเมื่อว่าโดยทั่วไปแล้ว การรับผิดชอบทางวินัยสงฆ์เป็นเรื่องที่แทบจะไม่มีความรุนแรงอะไรเลยเมื่อเทียบกับโทษทางกฎหมาย แต่เป็นเป็นเรื่องที่พระสงฆ์ที่เป็นปัจเจกต้องมี Accountability ต่อระบบสังฆะ และระบบสังฆะต้องมี Accountability ต่อสังคมโดยรวมเท่านั้นเอง หรือพูดอีกอย่างว่าเป็นเรื่องของการเคารพและซื่อสัตย์ต่อ “หลักการ” ซึ่งแม้แต่สังคมอย่างโลกย์ๆ ก็ยังต้องมี
 
7) ส่วนประเด็นว่า ธรรมวินัยเป็น absolute truth หรือไม่ หรือว่าเป็นเรื่องของ “การตีความล้วนๆ” อันนี้เป็นประเด็นที่เถียงกันได้ ผมคิดว่าหลักธรรมวินัยส่วนที่เป็นธรรมะนั้น พุทธศาสนามีธรรมะส่วนที่เรียกวา “ปรมัตถธรรม” ความหมายง่ายๆคือ “ความจริงตามที่มันเป็น” คือไม่ขึ้นต่อการตีความของเรา เช่นความเปลี่ยนแปลง (อนิจจัง) ตามกฎไตรลักษณ์ สุญญตาเป็นต้น
 
เราจะเรียกสิ่งพวกนี้เป็น absolute truth หรือไม่ก็แล้วแต่จะเรียกหรือไม่เรียก แต่ถ้าเป็น absolute truth ในความหมายว่า “แตะไม่ได้” วิจารณ์ไม่ได้นั้นในพุทธศาสนาไม่มี ทุกเรื่องวิจารณ์ได้ คุณจะบอกว่าพุทธะสอนผิดก็ได้ ไม่มีการเอาผิดทางกฎหมายได้ แต่ถ้ามีชาวพุทธบางคนออกมาเถียงคุณ หรือด่าคุณ มันก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะประชาธิปไตยมันต้องเถียงกันได้ ด่ากันได้มิใช่หรือ
 
ในเรื่อง “การตีความ” นั้น ว่าโดยทั่วไปแล้วก็ต้องมีหลักการหรือข้อมูลอะไรบางอย่างที่ยอมรับร่วมกันว่า “ถูกต้อง” ว่า “จริง” เป็นหลักเทียบเคียงอยู่ก่อน เราถึงจะบอกตัวเองได้ว่า เราตีความใกล้เคียงหรือไม่ ถูกหรือผิด หรือมีการตีความต่างกันหลายๆ มุมก็จะเทียบได้ว่าใครตีความถูกหรือผิด เป็นต้น ทีนี้ “อะไร” ที่ยอมรับร่วมกันว่าถูกต้อง หรือจริงที่นำมาเป็นหลักสำหรับเทียบเคียงนั้น absolute truth หรือไม่ ผมไม่ทราบ แต่ถ้าไม่มีหลักเทียบเคียงเลยแล้วถือว่า “แล้วแต่ใครจะตีความ” (จริงๆถ้าแบบนี้ไม่น่าจะเรียกว่า “ตีความ” น่าจะเป็นเรื่องที่ “คิดเอาเอง” มากกว่า) ก็จะมีปัญหาว่าถ้าเรายึดถือหลักการ “แล้วแต่ใครจะตีความอย่าง extreme” ไปเลย เราก็ไม่มีเหตุผลที่จะไปวิจารณ์ว่า “หลักธรรมแบบมหาเถร” ผิด หรือมีปัญหา เพราะแล้วแต่ท่านจะตีความ!
 
สรุปคือ ผมเห็นด้วยกับข้อเสนอของวิจักขณ์เรื่อง “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” และความคิดหลักที่เราทำงานงานร่วมกัน ก็คือต้องการให้พุทธศาสนามีประโยชน์แก่ราษฎรในแง่มุมต่างๆตามที่วิจักษณ์เสนอไว้ในท้ายบทความ
 
แต่ผมคิดว่า “เหตุผลหลัก” ของการทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ หรือการเปลี่ยนเป็น secular state นั้น คือเหตุผลเพื่อต้องการให้รัฐเป็นอิสระจากการกำกับของอุดมการณ์ทางศาสนา ให้รัฐเป็นกลางทางศาสนา ไม่ใช่เหตุผลเรื่อง “ความชอบธรรม” ในการ “อ้างหลักธรรมวินัยตรวจสอบสังฆะ” โดยตรง เพราะความชอบธรรมในการอ้างหลักธรรมวินัยตรวจสอบสังฆะอยู่ที่การอธิบายได้ว่า สามารถดำเนินการตรวจสอบตามกระบวนการที่ถูกต้อง (เทียบเคียงกับ due process ทางระบบยุติธรรม) ตามที่ระบุไว้ในพุทธบัญญัติหรือไม่ พุทธศาสนาเถรวาทตั้งแต่ยุคพุทธกาลเป็นต้นมาก็ไม่เคยอยู่ใน secular state
 
พูดอย่างถึงที่สุดเหตุผลในการต่อสู้ให้เกิด secular state ไม่ใช่ต้องเป็น secular state เพื่อ “ความชอบธรรม” ในการที่องค์กรทางศาสนาต่างๆจะอ้างอิงหลักการ กติกาของตนเองตรวจสอบกัน ประวัติศาสตร์การเกิด secular state ไม่ได้อ้างเหตุผลนี้ เขาไม่สนใจหรอกว่าศาสนาต่างๆ จะตรวจสอบอย่างไร เขาต้องการ “ความชอบธรรม” ของรัฐที่ต้องเป็นอิสระจากอำนาจศาสนจักร ไม่ให้มีการใช้อุดมการณ์ศาสนามาชี้นำนโยบายสาธารณะของรัฐ และรัฐก็ไม่ต้องแทรกแซง หรืออุปถัมภ์ศาสนาใดๆ ส่วนศาสนาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล คุณจะอยู่กันอย่างไรก็อยู่ไป ไม่เกี่ยวกับรัฐ
 
และผมก็ไม่แน่ใจว่า เคยมีกลุ่มศาสนิกของศาสนาใดๆ เรียกร้อง secular state เพื่อ “ความชอบธรรม” ในการอ้างหลักการ กติกาของศาสนาตนตรวจสอบกันเอง หรือเรียกร้อง secular state เพื่อ “ความชอบธรรมทางศาสนา” (ซึ่งมันเป็นเรื่องแปลกมากที่จะเรียกร้องให้จัด “รูปรัฐ” เพื่อ “ความชอบธรรมทางศาสนา” ใดๆ) 
อย่างไรก็ตาม อยากตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ตอนที่ผมเสนอให้ใช้ธรรมวินัยตรวจสอบการกระทำที่หมิ่นเหม่ต่อการอวดอุตตริมนุสธรรมของเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายนั้น ผมถูกกล่าวหาว่า ไม่ควรมาพูดเรื่อง “ประชาธิปไตยสากล” เลย เพราะข้อเสนอของผมไม่ต่างอะไรกับเสนอให้ใช้ ม.112 กับคนอื่น ทั้งที่ก็รู้ๆ อยู่ว่า ระบบมหาเถรสมาคม “ยึดโยง” อยู่กับอำนาจจารีตที่ถูกอ้างอิงให้ใช้ ม.112 กับผมนั่นเอง
 
แต่ครั้นเมื่อเราถกเถียงกันทาง fb เรื่องการทำให้ “ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐ” ผมเสนอว่า จะทำให้ศาสนาเป็นอิสระจากรัฐได้จริง ต้อง “ปลดล็อก” ประเด็นสถาบันให้ได้ก่อน คือต้องแก้กติกาเกี่ยวกับสถานะ อำนาจ ของสถาบันให้เป็นประชาธิปไตยก่อน secular state จึงจะเป็นไปได้ แต่อาจารย์ท่านนั้น (อ.เก่งกิจ กิติเรียงลาภ) กลับแย้งว่า “ไม่เกี่ยวกันเลย” (คิดว่า อ.เก่งกิจอาจจะมีเหตุผลของตนเองอยู่ เพียงแต่ผมยังไม่ทราบ ยังไม่เห็นรายละเอียดพอที่จะเข้าใจ)
 
ส่วนเรื่องที่ผมสนับสนุนให้นำกรณี อ.สุลักษณ์ร้องเรียนเข้าสู่ “กระบวนการตรวจสอบ” ก็ไม่ใช่ด้วยเจตนาอยากให้เอาเป็นเอาตายกับท่านที่ถูกกล่าวหาแต่อย่างใด เพราะผมก็ยังไม่ปักใจเชื่อว่าจริงหรือไม่
 
แต่เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า อ.สุลักษณ์นำเรื่องดังกล่าวเผยแพร่ผ่านสื่อ และนำไปพูดในที่ต่างๆ แทบทุกเวทีที่เอ่ยถึงปัญหาในวงการพุทธศาสนาบ้านเรามาเป็นปีๆ ผมว่ามันเสียหายแก่ท่านที่ถูกกล่าวหามากในฐานะท่านเป็นพระที่มีตำแหน่งบริหารมหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นกรรมการมหาเถร มีบทบาทด้านพุทธศาสนาระดับนานาชาติ
 
ฉะนั้น วิธีแก้ปัญหาที่ผมเห็นว่าที่ดีที่สุดเวลานี้ คือ “ระบบต้องทำงาน” มีมูลไม่มีมูลต้องตอบผ่านระบบที่ทำงานอย่างโปร่งใส มิเช่นนั้นก็จะไม่เกิดผลดีแก่ใครเลย กลายเป็นปัญหาทำนอง “คู่กรณี”  หรือไม่ก็เป็นเรื่องเล่าแบบ “มารไม่มาบารมีไม่เกิด” หรือไม่ก็เป็นเรื่องของถ้าเป็น “พระดี” ก็ไม่ต้องตรวจสอบ ฯลฯ
 
ระบบสังฆะก็จะยังคงเป็นระบบส่งเสริม “วัฒนธรรมคนดี/พระดีเหนือการตรวจสอบ” ต่อไป

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net