Skip to main content
sharethis

นักวิชาการเศรษฐศาสตร์ชี้ กสทช.ลดทอน ‘ความน่าเชื่อถือ’ จากฝีมือตัวเอง ด้านกฎหมายแนะเปลี่ยน กสทช.จากเสือกระดาษ ต้องปรับเพิ่ม ‘โทษทางปกครอง’ ขณะ ‘ผู้บริโภค’ มอง ‘กสทช.’ เน้นตั้งรับ-แก้ปัญหาช้า ห่วงยังไม่เตรียมรับมือประมูลคลื่นรอบใหม่

 

คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จัด NBTC Public Forum ครั้งที่ 11 หัวข้อ “1 ปี กสทช.กับความสมหวัง หรือ ไม่สมหวังของสังคมไทย” ณ ห้องแกรนด์บอลรูม โรงแรมเซ็นจูรี่ พาร์ค โดยมี นพ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคใน กิจการโทรคมนาคม (กทค.) และสุภิญญา กลางณรงค์ กสทช.ด้านกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (กสท.) ร่วมรับฟังการแสดงความคิดเห็น เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.55

สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสทช. กล่าวว่า งานที่ผ่านมานั้นพยายามผลักดันหลายส่วน และยังมีจำนวนมากไม่คืบหน้า ซึ่งต้องพยายามต่อไป แต่อย่างน้อยก็เห็นได้ชัดว่าเริ่มเกิดวัฒนธรรมการรับฟังใน กสทช.แม้จะเป็นเสียงข้างน้อยก็ตาม อย่างไรก็ดี ในปีหน้านี้จะมีความคืบหน้าในหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น การออกประกาศการลดหย่อนค่าธรรมเนียมสำหรับวิทยุเพื่อสังคม ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างรับฟังความคิดเห็น ส่วนคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคได้จัดทำหลักสูตรคู่มือรู้ทันสื่อ ซึ่งปีหน้ากำหนดจะเดินสายคุยกับทีวีหลัก 6 ช่องเพื่อหาแนวทางร่วมกันแล้วจะนำเสนอรัฐบาลว่าสนใจจะใส่ในหลักสูตรของนักเรียนนักศึกษาหรือไม่

สุภิญญา กล่าวด้วยว่า ในต้นปีหน้าจะมีการทบทวนอนุกรรมการที่มีอยู่กว่า 20 ชุดให้กระชับขึ้น ซึ่งบางส่วนมีความซ้ำซ้อนกันอยู่ ต้องจับตาดูว่าจะยุบคณะอนุฯ ใดบ้าง และจะมีการออกใบอนุญาตเคเบิลทีวีและวิทยุชุมชนอีก 8,000-9,000 สถานี ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นในการกำกับดูแล ซึ่งจะได้เห็นศักยภาพว่า กสทช.ติดตามกำกับได้แค่ไหน

ในส่วนรายการโทรทัศน์ ช่อง 7 จะมีภาษามือในรายการข่าว ขณะที่ ช่อง 5 true vision จะมีคำบรรยายประกอบข่าวสำหรับผู้มีปัญหาทางการได้ยิน และทีวีดิจิตอลรุ่นใหม่จะต้องมีปุ่มสำหรับผู้พิการทางสายตา นอกจากนี้ โทรทัศน์ทุกช่องยังต้องส่งแผนยามภัยพิบัติมาให้ กสทช.ตามประกาศ

“เรื่อง broadcast ยังไม่ได้สรุปโมเดลว่าจะคุมเข้มข้นโดยรัฐ หรือดูแลกันเอง หรือกึ่งๆทั้งสองอย่าง จุดตรงกลางระหว่างเสรีภาพกับความรับผิดชอบ กสทช.จะอยู่ตรงไหน ปีหน้าคงจะได้เห็นกัน” สุภิญญากล่าว


“การห้าม” อย่างเดียวไม่พอ ควรมีแนวทาง “ส่งเสริม” ด้วย
ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูตร จากคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ในฐานะเป็นกรรมการในอนุกรรมการของ กสทช.หลายชุด ขอสะท้อนการทำงานของ กสทช.ว่า ในภาพรวมนั้นเห็นว่าขาดกรอบกลางในการกำกับดูแลทางนโยบาย ระยะเวลา 10 กว่าปีของสุญญากาศทำให้ปัญหาหมักหมมโดยเฉพาะเรื่องโทรทัศน์และวิทยุที่ต้องมีการระบุปัญหาที่ชัดเจน ก่อนจะวางกรอบการปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม เช่น ทีวีดาวเทียมการเมืองทั้งหลายที่ยังด่ากันได้นั้น กสทช.จะจัดการอย่างไร ส่วนที่ผิดกฎหมายชัดเจนนั้นจัดการได้เลย

ในกรณีที่มีเนื้อหาบางประเภทที่อันตราย สร้างความเกลียดชังน่าจะมีแนวทางจัดการชัดๆ แต่ก็ไม่ควรจะเป็นแนวทาง “การห้าม” อย่างเดียว ควรมีแนวทาง “ส่งเสริม” เนื้อหาที่เหมาะสมด้วย จากนั้นจึงค่อยดูเรื่องระบบการดูแล ว่าจะใช้แต่กฎระเบียบรัฐ หรือระบบกำกับดูแลกันเอง แต่ที่สำคัญคือ การสร้างความเท่าทันสื่อให้กับประชาชน

พิรงรองกล่าวด้วยว่า การออกกฎเกณฑ์กำกับดูแลที่ผ่านมามีลักษณะเป็นไปตามบุคลิกของกรรมการค่อนข้างมาก การทำวิจัยข้อมูลเพื่อออกแบบนโยบายส่วนใหญ่จ้างสถาบันการศึกษาซึ่งไม่ได้อยู่ในปัญหาและไม่ได้อยู่ใน กสทช. ทั้งที่ศักยภาพในการทำวิจัยโดย กสทช.เองมีค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการออกแบบการกรอกใบสมัครที่ดี เพียงแค่ข้อมูลของผู้ประกอบการใบสมัครก็ทำวิจัยได้หลายเรื่องแล้ว และสามารถนำไปประมวลเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์ได้


หวั่นการประมูลครั้งใหม่ซ้ำรอย ‘3G’ ชี้ ‘ออกแบบการประมูล’ ปมหลักต้องเร่งแก้
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ กล่าวถึงการประเมินการทำงานของ กสทช.ที่ผ่านมาว่า ให้เกรด I (เกรดยังไม่ออก) ยังไม่ให้ติด F หรือให้ผ่าน เพราะยังทำให้เกิดความไม่ไว้วางใจ จากการที่ กสทช.ไม่สามารถแก้ปัญหาให้ผู้บริโภคได้ในกรณีที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้า (พรีเพด) มีการกำหนดอายุของเงินที่เติมผ่านระบบ และเรื่องเงื่อนไขการลดราคาค่าบริการ 3G ลง 15% ที่ทำให้เกิดคำถามถึงรายละเอียดและเงื่อนไขซึ่งควรเขียนให้ชัดเจน

ส่วนประเด็นการประมูลไลเซ่นส์ 3G หากติดตามจะพบว่าเงื่อนไขเปลี่ยนแปลงมาโดยตลอด ซึ่งเขาเองมองว่าสังคมไทยหลงประเด็นไปจับจ้องว่าบริษัทเอกชนมีการฮั้วประมูล แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นเท่ากับการออกแบบการประมูล ทั้งที่สามารถได้เงื่อนไขที่ดีที่สุดทั้งในส่วนราคาและดาต้าแต่กลับไม่เป็นเช่นนั้น โดย กสทช.มีข้ออ้างเช่น เกรงว่าบริษัทเดียวจะได้ไป เกรงว่าจะไม่มีคนมาประมูลในคลื่นความถี่อื่น อีกทั้งยังมีความคลางแคลงใจว่าทำไม กสทช.ไม่ให้คนนอกที่เป็นผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องเข้ามาร่วมแสดงความเห็น ดังนั้น ผลที่ออกมาจึงกลายเป็นว่าประโยชน์ที่ได้นั้นน้อยที่สุดด้วยเงื่อนไขที่เกิดขึ้น ซึ่งหากไม่มีการทักท้วงอาจเกิดการออกแบบการประมูลเช่นนี้เรื่อยๆ กับกิจการอื่นๆ ได้ 

รศ.ดร.วรากรณ์ ยังกล่าวชื่นชมการทำงานของ น.ส.สุภิญญา และ นพ.ประวิทย์ เพราะเป็นเสียงส่วนน้อยที่มีความกล้าหาญ ส่วนประเด็นเร่งด่วน ที่ กสทช.ต้องทำ คือ 1.การใช้สมาร์ทโฟนที่จะมีมากขึ้น ต้องมีการเตรียมความรู้ให้เท่าทันในเรื่องข้อมูลและเทคนิค 2.แนวโน้มดิจิตอลทีวี และ 4G ที่จะตามมาในปี 2556 ต้องมีการเตรียมการออกแบบการประมูลที่แตกต่างจากเดิมและมีความโปร่งใส 3.ความไว้วางใจของประชาชนต่อ กสทช.จะเกิดขึ้นได้จากพฤติกรรมที่เห็นปรากฏจริง กสทช.ต้องบังคับให้เป็นไปตามกฎหมาย สร้างความน่าเชื่อถือ ไม่ใช่เป็นแค่เสือกระดาษ 4.เปลี่ยนแปลงให้เกิดความรู้สึกที่ใกล้ชิดกันมากขึ้นระหว่าง กสทช.กับประชาชน

นอกจากนั้น ความคิดเห็นที่แตกต่างกันใน กสทช.เป็นเรื่องที่ทำได้ แต่ควรมีคำชี้แจงที่อธิบายได้ มีหลักฐานน่าเชื่อถือจริง


ชี้ กสทช.ลดทอนความน่าเชื่อถือจากฝีมือตัวเอง
ด้าน ผศ.ดร.ภูรี สิรสุนทร อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) กล่าวว่า เมื่อครั้งเริ่มตั้ง กสทช.ก็ไม่ได้คาดหวังอะไรกับองค์กรนี้ เพราะถือว่ามีหน้าที่ต้องกำกับดูแลตามกฎหมายอยูแล้ว แต่ต้องดูว่าทำหน้าที่ได้บรรลุเป็นที่พอใจหรือไม่ โดยที่ผ่านมา การกำหนดเงื่อนไขให้ลดราคาค่าบริการ 3G ลง 15 เปอร์เซ็นต์ ของ กสทช.นั้นลดทอนความน่าเชื่อถือของตัวเอง เพราะไม่ได้กำหนดไว้ตั้งแต่แรก และทำให้เกิดคำถามว่าลดบนพื้นฐานของอะไร ดาต้า วอยซ์ หรือ เอสเอ็มเอส แล้วคุณภาพจะดีขึ้นจริงหรือเปล่า

อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ. กล่าวตั้งคำถามต่อมาว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมา กสทช.ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ทำให้เกิดการประมูลที่ดีแล้วหรือยัง และการรับฟังความคิดเห็นในเรื่องการคุ้มครองผู้บริโภคที่ผ่านมาทำแล้วมีกลไกลการนำไปใช้อย่างไร อีกทั้งเมื่อมองโดยภาพรวม กสทช.มีอิสระอย่างมากทั้งทางการเมืองและการเงิน ทำให้มีคำถามต่อเนื่องว่าหากมีการทำความผิด กระบวนการรับผิดต่อสังคมควรเป็นอย่างไร เพราะที่ผ่านมามีการผูกขาดอำนาจในการกำกับดูแลมาแทนที่ ทั้งยังมีกลไกเพื่อไม่ให้รับผิด และการออกสื่อชี้แจง โดยเงินที่ใช้ในการบริหารจัดการคือเงินของประชาชนนั่นเอง

“คำว่าความเป็นอิสระของ กสทช.คำนี้ใหญ่มาก แต่คำถามมีอยู่ว่าอิสระแค่ไหน อย่างน้อยต้องมีกลไกของศาลที่ต้องดำเนินการเมื่อทำความผิด” ภูรีกล่าว

อีกทั้งการมีอิสระทางการเมือง โดย กสทช.กับกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) พูดกันไปคนละทาง เช่นในเรื่องคืนคลื่นความถี่ที่จะต้องนำมาจัดสรรใหม่ ตรงนี้มีผลต่อการรับรู้ของผู้บริโภค และนักลงทุน ซึ่งไม่ใช่สัญญาณที่ดีหากต้องลงทุนต่อ

ส่วนเรื่องเร่งด่วนที่ กสทช.ต้องทำนั้น อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มธ.ให้ความเห็นว่า กสทช.ควรสร้างความน่าเชื่อถือให้กลับคืนมาด้วยการปฏิบัติหน้าที่อย่างไม่โน้มเอียง และเสนอให้ถอยออกจากงานบริหารจัดการในคณะอนุกรรมการต่างๆ เพื่อมาควบคุมดูแลทิศทางในภาพใหญ่ นอกจากนั้นยังแสดงความเห็นว่า แม้จะชื่นชมการแสดงออกทางความคิดของ สุภิญญา และ นพ.ประวิทย์ ในฐานะ กสทช.เสียงข้างน้อย แต่ในภาพรวมของ กสทช.ควรต้องสะท้อนความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวขององค์กร ซึ่งภาพลักษณ์นี้จะส่งไปถึงต่างประเทศ พร้อมเสนอเรื่องการจัดการโรมมิ่งโดยใช้เรตเดียวกันทั้งภูมิภาคอาเซียน เพื่อส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน เตรียมรับการเข้าสู่ AEC


แนะเปลี่ยน กสทช.จากเสือกระดาษ ต้องปรับ ‘โทษทางปกครอง’
ดร.เอื้ออารีย์ อิ้งจะนิล อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวให้ความเห็นในด้านกฎหมายว่า ประกาศและกฎหมายของ กสทช.นั้นส่วนตัวเห็นว่ามีบางมุมที่อาจเพิ่มความเข้มในการกำหนดโทษไปด้วย เช่นโทษปรับในทางปกครอง ซึ่งองค์กรอิสระมุ่งหลักความได้สัดส่วน แต่ในการทำหน้าที่ของ กสทช.เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์หลายล้านบาทกลับมีค่าปรับที่ต่ำมาก เนื่องจากกฎหมายได้กำหนดอัตราตายตัว คือ ค่าปรับไม่เกิน 5 ล้านบาท ยกตัวอย่างกรณีทรูจอดำ ปรับวันละ 20,000 บาท มองคล้ายค่าเช่าในการกระทำผิด

ตัวอย่าง กสทช.ของฝรั่งเศส ระบุให้คิดค่าปรับเป็น 3 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมดต่อปีในกิจการของผู้ประกอบการนั้นๆ หากทำผิดซ้ำจะมีการบวกอีก 5 เปอร์เซ็นต์ ในกรณี 3G ของฝรั่งเศสมีข้อตกลงต้องทำให้ได้ 99 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ทั้งหมด ทำได้จริง 83 เปอร์เซ็นต์ แต่เมื่อ กสทช.ของฝรั่งเศสออกประกาศจะปรับ 800 ล้านยูโร ก็ส่งผลให้ค่ายมือถือเร่งปฏิบัติตามข้อตกลงได้ ดังนั้นตรงนี้จึงอยากเสนอให้ปรับอัตราค่าปรับให้เป็นไปตามผลประโยชน์ที่จะได้ เพื่อสร้างบทบาทของ กสทช.ไม่ให้เป็นเสือกระดาษดังเช่นปัจจุบัน

อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ยังกล่าวถึงประเด็นที่ตั้งข้อสงสัยส่วนตัวด้วยว่า กรณีกรรมการ กสทช.มีองค์ประกอบเกือบครึ่งหนึ่งที่มาจากทหาร-ตำรวจ โดยมองว่าเราไม่ได้อยู่ในยุคความมั่นคงที่จะต้องมีกลาโหมมากำกับดูแล และความมั่นคงในปัจจุบันก็ไม่ใช่เรื่องกลาโหมแต่คือเรื่องการมีส่วนร่วมของประชาชนในการร่วมกำกับดูแล ซึ่งในอนาคตการสรรหา กสทช.ควรให้ประชาชนมีส่วนร่วมมากกว่านี้

ในส่วนคุณสมบัติของ กสทช.ที่มีการระบุให้ไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วนที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปีก่อนหน้านั้น แต่ภายหลัง 6 ปี เมื่อพ้นวาระแล้วได้กำหนดหรือไม่ว่าจะทำอะไรได้หรือไม่ได้ เพราะการเข้ามาเป็น กสทช.เกี่ยวข้องกับผลประโยชน์จำนวนมหาศาล ต้องมีความโปร่งใส ซึ่งจากตัวอย่างในฝรั่งเศส กำหนดให้ 3 ปีหลังจากพ้นตำแหน่ง กสทช.ไม่สามารถเกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม แม้แต่เป็นที่ปรึกษา หากฝ่าฝืนมีโทษทางอาญาทั้งจำและปรับ

ดร.เอื้ออารีย์ กล่าวถึงบทบาทต่อไปของ กสทช.ด้วยว่า 1.ควรมีการปรับเปลี่ยนโทษในทางปกครอง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับผู้ประกอบการ 2.ควรมีมาตรการทางสังคม ที่นอกเหนือจากการขอความช่วยเหลือจากผู้ประกอบการอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เช่น หากศาลมีคำสั่งปรับ หรือลงโทษผู้ประกอบการที่กระทำผิด กสทช.ควรนำประเด็นเหล่านี้มาเผยแพร่ สร้างกระแสให้ผู้บริโภคเห็นการเอาเปรียบของผู้ประกอบการ ซึ่งตรงนี้จะกระทบถึงภาพลักษณ์ของผู้ประกอบการอันเป็นต้นทุนหนึ่งของการทำธุรกิจ และทำให้ผู้บริโภครับรูปและเท่าทันต่อการเอาเปรียบของผู้ประกอบการทั้งหลาย

ด้าน รศ.สุธรรม อยู่ในธรรม คณบดีคณะนิติศาสตร์ ม.หอการค้าไทย กล่าวว่า การมีความเห็นค้านกันใน กสทช.เป็นสิ่งที่ดีกับการกำกับดูแลอย่างรอบครอบ และความคิดเห็นขัดแย้งเป็นเรื่องปกติ เพราะการเห็นแย้งจะต้องทำข้อมูลที่ชัดเจนในการอธิบายเหตุผล ซึ่งตรงนี้หากมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรด้วยจะถือเป็นเอกสารหลักฐานที่มีประโยชน์ในการทำงานต่อไปได้ และในอนาคตน่าจะให้มีการจัดทำความเห็นส่วนบุคคลของ กสทช.ทุกคนด้วย


ย้ำอำนาจ กสทช.ที่มี ไม่ใช่เพื่อจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชน
จีรนุช เปรมชัยพร ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไท กล่าวว่า การเกิดขึ้นของ กสทช.ถือเป็นความสำเร็จหนึ่งในเรื่องสิทธิเสรีภาพ เมื่อมองจากอุดมการณ์การก่อตั้งที่ต้องการเปลี่ยนอำนาจในการสื่อสารจากที่ผูกขาดอยู่กับอำนาจรัฐและทุนที่แผงอยู่ มาสู่แนวคิดอำนาจของสาธารณะและทุน ซึ่งตรงนี้คือโจทย์ใหญ่ของ กสทช.และเวลา 1 ปีที่ผ่านมาถือเป็นระยะตั้งไข่ ส่วนการทำงานของ กสทช.ชุดแรกในมิติสิทธิเสรีภาพนั้น จีรนุชมองแยกเป็นคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) และคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.)

โดยในส่วน กทค.ตามอุดมการณ์ที่ว่าส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ แต่กลับมีเรื่องนี้ในบทบาทหน้าที่และยุทธศาสตร์กลับระบุไว้น้อยมาก และตรงนี้ไม่ใช่เพียงแค่ USO (Universal Service Obligation) หรือการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม แต่ต้องมองการสื่อสารเป็นเรื่องที่เข้าถึงทุกคน ทุกกลุ่ม ทุกเพศและทุกวัย เช่น การสื่อสารออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต ซึ่งปัจจุบันการบริการขั้นพื้นฐานต่างๆ เข้ามาอยู่ในโลกออนไลน์มากขึ้น ควรมีการส่งเสริมเพื่อให้ทุกคนได้รับสิทธิ์ในการสื่อสารและเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐานอื่นๆ ที่ให้บริการผ่านอินเทอร์เน็ต

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องของความเป็นกลางของอินเทอร์เน็ต (Net Neutrality) การได้รับสิทธิโดยไม่ถูกกีดกัน ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ และมีระบบที่เป็นธรรมกับทุกฝ่าย ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในทางสากล แต่เรื่องเหล่านี้ยังไม่สะท้อนในงานของ กทค.และในสังคมไทยก็ยังพูดถึงน้อย ขณะที่ปัจจุบันสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) มีการแก้ไขข้อบังคับโดยขยายขอบเขตครอบคลุมมาถึงเรื่องอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะส่งผลให้อินเทอร์เน็ตไม่ได้อยู่ในค่าความเป็นกลางอีกต่อไปเนื่องจากมีเรื่องความสามารถในการจ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง

อย่างไรก็ตาม จีรนุช ได้แสดงความชื่นชมการทำงานของ กทค.ซึ่งทำหน้าที่กำกับช่องทางให้เกิดขึ้น อย่างมีเสรีภาพ อิสระและเป็นธรรม โดยไม่เข้ามากำกับดูแลเรื่องเนื้อหา จึงไม่เกิดการเซ็นเซอร์ซ้ำกับ ICT ทำให้การสื่อสารไม่สะดุดจากการเซ็นเซอร์ อย่างไรก็ตามควรมีการพูดคุยหาขอบเขตของเรื่องนี้ให้ชัดเจน

จีรนุช กล่าวต่อมาในส่วน กสท.ว่า เกิดมาเพื่อทำหน้าที่เป็นผู้กระจายสื่อ ทำให้มีผู้เล่นที่หลากหลาย และมักถูกแรงเรียกร้องจากสาธารณะให้ทำการปิดกั้น และดูแลความถูกต้องเหมาะสม เนื่องจากวิทยุ-โทรทัศน์ มีการจัดผังรายการ และเราเป็นผู้ถูกยัดเยียดให้ต้องรับ ซึ่งจะต่างจากในกิจการโทรคมนาคมที่ผู้ใช้สื่อเป็นผู้เลือกเอง อย่างไรก็ตาม กสท.ไม่ควรต้องเป็นอีกหนึ่งกองเซ็นเซอร์ แต่ควรกำกับในสิ่งที่เป็นอันตราย เป็นโทษมากๆ โดยมีกรอบดูแลที่ชัดเจน การทำงานของ กสท.ตรงนี้ถือเป็นการวางหลัก ซึ่งจะยากกว่า กทค.ที่มีแนวทางมาแล้ว และหวังว่าจะมีการใช้ขอบเขตอำนาจการจัดสรรในการให้คุณให้โทษ ไม่ไปตามกระแสสังคม

“คนที่กำกับดูแลสื่อที่สำคัญที่สุดคือประชาชน สิ่งที่ กสทช.ควรทำคือการส่งเสริมและเปิดช่องทางให้ประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านคัดค้าน เปล่งเสียง เมื่อเกิดการนำเสนอข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง โดยอยู่ในสังคมที่เชื่อว่าประชาชนฉลาด และจะฉลาดขึ้นได้” จีรนุช กล่าว

ผู้อำนวยการเว็บไซต์ประชาไทกล่าวฝากถึง กสทช.ด้วยว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ควรพยายามสื่อสารให้เข้าใจง่าย น่าสนใจ และเข้าถึงได้ง่าย แต่ตัวอย่างของเว็บไซต์ กสทช.ค่อนข้างมีปัญหาตรงนี้ ซึ่งอาจส่งผลเป็นการปิดกั้นโอกาสที่ประชาชนจะเข้าใจและใช้สิทธิเสรีภาพของพวกเขาได้ นอกจากนั้นประกาศของ กสทช.ที่เกิดขึ้นนั้นมีความหมาย บังคับใช้ได้ ไม่ใช่เสือกระดาษ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ใช่เสือตัวใหญ่ที่มีอำนาจเหนือประชาชน

ขณะที่ จอห์น วิญญู จาก SpokeDark.TV แสดงความเห็นเกี่ยวกับ ITU ว่า ที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนผู้รับผิดชอบอย่างเป็นทางการของประเทศเข้าร่วมในการลงนามตอบรับในเรื่องการควบคุมอินเทอร์เน็ต และในการประชุมครั้งล่าสุดที่ประเทศดูไบ (การประชุม World Conference on International Telecommunications 2012 (WCIT-12) เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.55) ไทยระบุให้เสรีภาพอย่างเต็มที่ผ่านโลกออนไลน์ แต่กลับมีการลงนามให้ความรับรู้ในการควบคุมดูแลอินเทอร์เน็ต ซึ่งจะมีการส่งให้สภาเห็นชอบทางกฎหมายต่อไป ตรงนี้น่าเป็นห่วงในเรื่องสิทธิการเข้าถึงข้อมูล เพราะจะเป็นการมอบอำนาจให้รัฐอย่างเต็มที่ซึ่งจะทำให้เสรีภาพหมดไป

จอห์น กล่าวว่าเรื่องนี้ต้องเชิญ ICT มาพูดคุยทำความเข้าใจถึงการเลือกปิดกั้นโดยการบล็อคและแบนสื่อออนไลน์ว่ามีหลักเกณฑ์อย่างไร แต่สิ่งที่เขาห่วงมากในอนาคตคือเราอาจไม่มีโอกาสรู้เลยว่ามีเว็บบางเว็บอยู่ เพราะจะถูกรัฐปิดกันตั้งแต่ต้นขั้ว


จาก ‘กสทช.’ หลุดลอยจาก ปชช.-มุ่งจัดการกับสื่อใหม่ แต่สื่อใหญ่กลับไร้น้ำยา
ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความเห็นว่า กสทช.มีภาพลักษณ์ที่พยายามจะเป็น CEO (Chief Executive Officer) แต่รูปการกลับเป็นข้าราชการมากๆ ทั้งรายงานการประชุมที่ทุกหน้ามีตราครุฑ รายงานประจำปีเริ่มต้นด้วยพระบรมราโชวาท ตรงนี้ถือเป็นการเริ่มต้นโดยการทำให้ตัวเองลอยออกมาจากประชาชน ขณะที่ทุกคนมีความหวังว่า กสทช.จะเป็นองค์กรอิสระที่เป็นกลาง ออกจากรัฐและทุน มีทิศทางที่รัดกุม แต่กลับมีข้อสงสัยว่าการเป็นองค์กรอิสระนี้อาจเป็นพื้นที่แทรกเข้ามาของอำนาจนอกระบบบางอย่าง

ดร.ยุกติ กล่าวถึงประเด็นสำคัญในการทำหน้าที่จัดสรรช่องทางการของ กสทช. คือความสมดุลของความมั่นคงของรัฐกับสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งทำให้เกิดความเป็นห่วงทั้งเรื่องที่มาของประธาน กสทช.และสัดส่วนของกรรมการ กสทช.ที่มีทหาร-ตำรวจจำนวนมาก ซึ่งส่งผลให้การจัดองค์กรเป็นที่น่าสงสัย อาทิ ตำแหน่งที่ผูกติดกับสี และการสะท้อนภาพสังคมชายเป็นใหญ่ โดยหากจะแก้ต้องทำให้เกิดความหลากหลาย

ในส่วนบทบาทของ กสทช.ต่อชุมชน ดร.ยุกติให้ความเห็นว่า กสทช.ให้ความสำคัญกับผู้บริโภคและผู้ให้บริการในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งมากเกินไป อย่างเช่นกลุ่มชนชั้นกลางในเมืองหรือคนชั้นกลางระดับบน ขณะที่คนที่อยู่ไกลถูกละเลย เช่น กรณีที่คนต่างจังหวัดจ่ายแพงกว่าเพื่อซื้อจานดาวเทียม หรือต้องโทรทางไกลในราคาแพง และไม่ใช่การพูดถึงแต่แค่สื่อใหม่ๆ อย่าง 3G เพราะในขณะเดียวกันการใช้โทรศัพท์ใช้สายก็ยังคงเป็นช่องทางการสื่อสารสำหรับคนบางกลุ่มอยู่นั้น แต่คำถามคือปัจจุบันกระจายไปถึงไหน อย่างไร โอกาสที่คนเข้าถึงมันจริงๆ เป็นอย่างไร

นอกจากนั้น การประกาศหลักเกณฑ์ของ กสทช.เรื่องการอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง พ.ศ.2555 มีข้อกำหนดที่ให้ผู้เข้ารับการอบรมประกอบกิจการวิทยุชุมชนจะต้องจบปริญญาตรี ทำไมถึงต้องกำหนดเช่นนั้น ในเมื่อผู้ประกอบกิจการอยู่ในขณะนี้จำนวนหนึ่งก็ไม่ได้จบปริญญาตรี เรื่องเหล่านี้แสดงให้เห็นว่า กสทช.มุ่งจัดการกับสื่อใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ ทำให้สื่อชุมชน สื่อของคนเล็กคนน้อยถูกจับจ้องเยอะ ขณะที่สื่อใหญ่ สื่อที่ผูกขาดกลับดำเนินการอะไรได้ไม่มากนัก เช่นกรณีทรูจอดำ

ดร.ยุกติ กล่าวถึงกรณีการปรากฏตัวของพันตำรวจโททักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีในทีวีช่อง 11 ซึ่งถูกหยิบยกมาเป็นข้อร้องเรียนต่อ กสทช.ว่า แม้ว่า กสทช.จะระบุว่าการกระทำดังกล่าวไม่ได้ขัดต่อกฎหมาย แต่มีการกล่าวให้สื่อสารมวลชนโดยเฉพาะช่อง 11 ในภาพกว้าง เวลาทำรายการใดๆ ต้องระมัดระวังว่ารายการนั้นจะไม่ก่อให้เกิดข้อคิด หรือข้อขัดแย้งทางความคิดของคนในสังคม โดยส่วนตัวถือเป็นการเซ็นเซอร์ตนเอง ซึ่ง กสทช.ในฐานะผู้มีอำนาจควรระวังการแสดงออกในลักษณะเช่นนี้

“หวังว่า กสทช.จะยืนอยู่ข้างสิทธิเสรีภาพในการสื่อสารของประชาชนอย่างแท้จริง ในฐานะองค์กรอิสระ สร้างบารมีทานการคุกคามสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐและทุน เช่นในกรณีการปิดวิทยุชุมชนด้วยข้ออ้างเป็นภัยความมั่นคง นี่เป็นบทบาทที่น่าจะทำ” ดร.ยุกติกล่าว และตั้งคำถามว่า กสทช.จะมีปฏิญญาอะไรได้บ้างหรือไม่ในฐานะที่มาจากรัฐธรรมนูญ 50 หากมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เกิดขึ้น


‘ผู้บริโภค’ เผย ‘กสทช.’ เน้นตั้งรับ-แก้ปัญหาช้า ห่วงยังไม่เตรียมรับมือประมูลคลื่นรอบใหม่
ด้านสารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวถึงประเมินการทำงานของ กสทช.ในด้านคุ้มครองผู้บริโภค โดยอยู่ในฐานะที่เป็นประธานและคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมด้วยว่า ทำงานมองในเชิงการตั้งรับ ขณะที่เรื่องร้องเรียนกว่า 2,105 เรื่องในเวลากว่า 11 เดือนที่ผ่านมา กลับแก้ปัญหาได้น้อยและไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ใน 30 วันตามที่กำหนดไว้ นอกจากนั้น ในการทำงานแม้ว่าอนุกรรมการฯ จะเห็นไปในทางเดียวกัน แต่สำนักงานไม่ทำตามเพราะเห็นว่าอนุกรรมการฯ ไม่สามารถให้คุณให้โทษได้ ตรงนี้คืออีกปัญหาหนึ่งซึ่งต่อไปคงต้องคิดว่าจะทำงานตรงนี้อย่างไร ทั้งการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นแล้ว แต่กลับไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงแก้ไขด้วย

สารี ให้ข้อมูลด้วยว่า เรื่องที่มีการร้องเรียนเป็นอันดับ 1 คือ มือถือแบบเติมเงิน (พรีเพด) ที่มีการกำหนดอายุของเงินที่เติม ซึ่งตัวเลขมือถือระบบนี้ประมาณ 70 ล้านเลขหมาย หากเติมเงิน 300 บาท ประมาณ 140 บาทจะสูญเสียระหว่างทางเนื่องจากวันหมดแล้วถูกตัดเงินไป หรือคิดเป็นประมาณ 9,800 ล้านบาทต่อเดือน แต่ตัวเลขที่ปรับไม่เพียงพอกับความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง แม้จะเป็นการปรับเต็มตามกฎหมายที่ให้ไว้สูงสุด 5 ล้านบาท และในปัจจุบันเองก็ยังไม่มีการปรับในจำนวนดังกล่าว สารีมองว่าตรงนี้ทำให้เอกชนยอมเสียค่าปรับมากกว่าที่จะแก้ปัญหา และเมื่อมีการสั่งปรับ 1 แสนบาทต่อเดือนบริษัทเอกชนก็มีการอุทธรณ์

นอกจากนั้น สารียังแสดงความเป็นห่วงในกรณีสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 MHz ที่กำลังจะหมดอายุ (เดือน ก.ย.56) ซึ่งมีการพูดมาตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาเพื่อให้เตรียมการ แต่กลับไม่มีการดำเนินการอะไร ขณะที่การย้ายค่ายมือถือกำหนดเพียง 3,000-4,000 เลขหมายต่อวัน ซึ่งจะใช้เวลาโอนย้ายนานนับปี ทั้งที่ศักยภาพจริงในปัจจุบันมีถึง 40,000 เลขหมาย

“กสทช.โปรธุรกิจมากเกิน ธุรกิจจึงเห็นความสำคัญของผู้บริโภคน้อยลง” สารีให้ความเห็น 

สำหรับความคาดหวัง สารีกล่าวว่า ปัญหาเดิมๆ ต้องจัดการให้ได้ ทั้งกรณีเอสเอ็มเอส บัตรเติมเงิน และซิมการ์ดแจกฟรี ฯลฯ กสทช.ต้องแสดงให้เห็นว่าจะจัดการเรื่องเหล่านี้อย่างไร ส่วนสัญญาสัมปทานที่กำลังจะหมดอายุลงเป็นเรื่องใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับผู้บริโภคกว่า 20 ล้านเลขหมายต้องเร่งดำเนินการ และต้องจัดการเรื่องเลขหมายให้ดีขึ้น ทำให้เกิดความเท่าเทียมกัน และกระจายข้อมูลความรู้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net