จะลืมกลับวัดหรือไม่ : ไม่สำคัญ (นะจ๊ะ)?

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ

           
สมมติว่า พระสุดที่รักของคุณโยม เกิดลืมกลับวัดขึ้นมา จะทำอย่างไร? และไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไรก็ตาม คุณโยมยังอยากให้ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัดหรือไม่? แล้วอะไรเป็นเหตุผลที่ คุณโยมอยากให้ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัด? เรื่องนี้น่าสนใจ เพราะมันเกิดคำถามตามมาอีกหลายคำถาม เป็นต้นว่า เมื่อ พระสุดที่รักของคุณโยม กลับวัดแล้ว ท่านบำเพ็ญสมณกิจ หรือ สมณธรรมอะไร? หรือ จริงๆแล้ว คุณโยม อยากเห็น พระสุดที่รักของคุณโยม เล่นบทบาทอะไร?
               
ทุกวันนี้ ภาพลักษณ์ของนักบวช ถูกตั้งคำถามและชวนให้ตรวจสอบอยู่เสมอ เป็นที่ทราบกันดีว่า ประเทศไทยแสดงตนอย่างมั่นใจว่า เป็นเถรวาท และความเป็นเถรวาทนี้ ทำให้นักบวชชาย (เถรวาท) ในประเทศไทยไม่อาจทำอย่างองค์ทะไลลามะ หรือ พระเซ็นอย่างท่าน ติช นัท ฮันห์ ได้? ปัญหา คือ ทั้งๆ มีนักคิดและพระภิกษุจำนวนหนึ่งพยายามที่จะอนุรักษ์ความเป็นเถรวาทเอาไว้ ไม่ว่าจะฝากฝังไว้กับสถาบัน หรือ ให้สถาบันเป็นผู้สถาปนาความเคร่งครัดขึ้นใหม่ หรือจะการสร้างสังฆะขึ้นมาปกครองตัวเองก็ตาม แต่ทว่า ภายใต้ร่มโพธิ์ร่มเดียวกันนี้ เรากลับเห็นอะไร (เห็นพระ?) ที่น่าสงสัยว่า เป็นเถรวาท หรือ มหายาน? (หรือสัทธรรมปฏิรูป?) เพราะบางที พระภิกษุเหล่านั้นไม่เคยลืมที่จะกลับวัด มากไปกว่านั้น ไม่เคยออกสื่อ (มวลชน) เลยว่า ออกจากวัด? (แต่อาจจะขับรถไปไหนมาไหนยามค่ำคืน)
               
คงต้องยอมรับว่า มี บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ ซึ่งมีความรู้เกี่ยวกับวิชาโฆษณาและประชาสัมพันธ์เหลือเฟือ (หรือเรียกกันอย่างชาวบ้านว่าพีอาร์) อาสาถวายงานเสกสรรปั้นแต่ง ภาพลักษณ์ของนักบวช ขึ้นใหม่ บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ พระนักเทศน์หนุ่มไฟแรง? บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ ผู้รู้แจ้งในดินฟ้าเวหาหน? บ้างก็เป็นภาพลักษณ์ของ พระผู้สงบนิ่งในศีล สมาธิ ปัญญา ปัญหาอีกข้อหนึ่ง คือ ภาพลักษณ์ดังกล่าวนี้รับใช้ใคร (จ๊ะ) ? และใครเป็นผู้ที่ได้กำไรที่สุดในนิทรรศการ : ศิลปะแห่งการชวนเชื่อนี้?  คำตอบคือ “ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม”  อาจต้องโมทนาสาธุการเอาใจคุณโยมสักหนึ่งที เพราะบ่อยครั้งการได้เสียนั้น ไม่ใช่เรื่องเงิน? (โปรดอย่าคิดลึกกับพระ!บาป!)
               
อาจเป็นไปได้ว่า พระสุดที่รักของคุณโยม  ต้องเล่นละครให้สมบทบาทเมื่อเดิน (จงกรม) ออกจากกุฏิ (เป็นธรรมเนียมว่า เราจะไม่อภิปรายเรื่องในกุฏิ) และไม่ว่าจะเป็น อิริยาบถใหญ่ (ยืน เดิน นั่ง นอน) หรือ อิริยาบถย่อย (เหลียวซ้าย แลขวา ฯลฯ) เป็นไปได้ว่า ต้องเล่นละครให้สมบทบาท ซึ่งบางครั้ง เมื่อใช้คำว่า “สมณสา(ร)รูป” อธิบายพระภิกษุเหล่านั้นอย่างเลื่อมใส มันจึงเกิดปัญหาขึ้นอีกข้อหนึ่ง คือ แล้วพระภิกษุที่ไม่เล่นละครล่ะ? อะไรจะเป็นเกณฑ์เกี่ยวกับ (สมณ) สารรูป? แล้ววรรณกรรมที่แต่งขึ้นโดยพระภิกษุที่มีอำนาจทางการเมือง (เรื่องพระๆ) จะน่าเชื่อถือหรือไม่?  หรือ พระภิกษุในประเทศไทยถูก ห้ามมิให้กระทำ โดยพระไตรปิฎกเถรวาท หรือ จารีตเถรวาทไทย? นั่นหมายความหรือเปล่าว่า นิทานเซ็นเรื่องพระภิกษุที่ว่ายน้ำไปช่วยหญิงสาวที่กำลังจะจมน้ำจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่ได้ อย่างเด็ดขาด? (ที่จริง เพียงเอาขาพาดโต๊ะก็อาจเป็นเรื่องที่ยอมให้เกิดขึ้นไม่ได้เสียแล้ว) ซึ่งความสงสัยที่ยังไม่อยากตอบนี้ มันเย้ายวนให้ต้องถามคำถามว่า “แล้วธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม” เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ (และปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป) กระนั้นหรือ?
               
ฉะนั้น การที่ พระสุดที่รักของคุณโยม เกิดลืมกลับวัดขึ้นมา จึงไม่น่าสนใจเมื่อเทียบกับ “ผลประโยชน์ที่พระและคุณโยมที่ร่วมธุรกิจกันจะได้?” จะเลวร้าย (บาป?) กว่านั้น ถ้า บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ เกิดตัดสินใจหลอกพระ (โกหก?)  หรือ ใช้พระที่อุตส่าห์รักคุณโยม เป็นเครื่องมือทางธุรกิจเชิงการตลาด? (ซึ่งก็ทำกันมานานแล้ว) แต่เรื่องนี้จะหักมุมกลายเป็นหนังโศกนาฏกรรมชีวิตมากๆ ถ้า บรรดาคุณโยมสุดที่รักของพระ มีเจตนาบริสุทธิ์สะอาด แต่ ความบริสุทธิ์สะอาดดังกล่าวกลับเป็นการยืนยันตัวเองอย่างมั่นใจ (ราวกับประกาศตนเป็นพุทธมามกะ) ว่าร้อยรัดอยู่กับ “ความไม่รู้” หรือที่ในทางพุทธศาสนาเรียกว่า “อวิชชา”? เพราะ “ความไม่รู้” เป็นผลให้เดือดร้อนถึงผู้เป็นอาจารย์? มันจึงเกิดตลกร้ายขึ้นมาอีกสองมุข คือ แล้วพระอาจารย์ไม่สอนหรอกหรือ? แล้ว ถ้าพระอาจารย์สอนแล้ว แต่ คุณโยมสุดที่รักเกิดหัวดื้อไม่ทำตามที่สั่งสอน ไยจึงอ้อนเรียกว่าอาจารย์อีกเล่า? (แล้วไยพระอาจารย์ยังอยู่เฉยๆ?)
               
เป็นเรื่องที่น่าเห็นใจในสังคมชาวพุทธที่เต็มไปด้วยความย้อนแย้ง เป็นเรื่องที่น่าสงสัยว่า การขอร้องอย่างอ้อมๆให้พระกลับวัด และต้องฝึกฝนตนเอง (หรือเล่นละคร) ให้เหมาะสมกับ “สมณสา(ร)รูป” ตามจารีตเถรวาทไทยเป็น เรื่องที่ต้องเกิดขึ้นก่อน จริงๆ? เมื่อเปรียบเทียบกับ “ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม”  และเป็นอะไรที่น่าสงสัย (อีกแล้ว) ว่า “สมณสา(ร)รูป” ทำไมถึงสำคัญนัก? และยังทำให้ยังสงสัยไม่เลิกว่า การสร้างภาพลักษณ์ของนักบวช ? เป็นภาวะจำใจจำทนที่จำทำในสิ่งที่พอจะทำได้หรือเปล่า? (เพราะมีสิ่งที่ ห้ามมิให้กระทำ และ ทำไม่ได้อย่างเด็ดขาด) และเป็นที่น่าสงสัย(อีก) ว่า “สมณสา(ร)รูป” ถ้าได้รับการสถาปนาให้คืนกลับเป็นจารีตแล้ว  “ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม” จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญ? อะไรเป็นหลักประกัน? หรือธุรกิจนั้นจะยังคงเฟื่องฟูต่อไปแบบวงการบันเทิง?
               
หรือความหวังลมๆแล้งๆที่ค่อนข้างสะเปะสะปะแบบกลับวัดไม่ถูกเหมือนกันของผู้เสพสื่อกำลังอยู่ที่ใด? ทำไมความต้องการที่จะเห็น ภาพลักษณ์ของนักบวช ทำให้ความสะลึมสะลือมากพอที่จะทำให้มองไม่เห็น “ธุรกิจของพระที่ร่วมได้เสียกับคุณโยม” ทั้งที่ สิ่งนี้สำคัญกว่า “สมณสา(ร)รูป” และ สิ่งนี้ยังน่าสงสัยกว่าเสมอ คือ ไม่ว่า พระสุดที่รักของคุณโยม จะมี (สมณ)สารรูปใดก็ตาม พระสุดที่รักของคุณโยม ก็ควรจะเป็น ผู้ที่เจริญรอยตามคำสอนว่าด้วยพุทธะแบบเถรวาท (ตามที่ได้ประกาศต่อสังฆะไว้?) และไม่ว่า จะลืมกลับวัด หรือ อยู่ (จำ) วัดตลอดเวลา ก็ตาม สิ่งที่น่าจะเป็น คือ การฝึกฝนตนเองเพื่อที่จะหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง (ตามเป้าหมายที่ตนเองสมัครใจในรูปแบบที่ตนเองยินดี) แต่ที่แน่ๆ เรื่อง “เงินๆทองๆ” ไม่น่าจะเกี่ยวกับ ผู้เจริญรอยตามคำสอนว่าด้วยพุทธะแบบเถรวาท ด้วยประการทั้งปวง? (จริงๆนะจ๊ะ)     
               

           

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท