Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

ประกาศนิติราษฎร์ ฉบับที่ 41 (วรเจตน์ ภาคีรัตน์)

ภารกิจคณะนิติราษฎร์ใน พ.ศ. 2556

   

โดยที่มีผู้สอบถามถึงกิจกรรมทางวิชาการของคณะนิติราษฎร์ : นิติศาสตร์เพื่อราษฎร ที่จะดำเนินการต่อไปใน พ.ศ.2556 ตลอดจนสอบถามถึงความคืบหน้าของการรณรงค์แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และการดำเนินการตามแนวทางการตรากฎหมายเพื่อขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นใน สังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ตามที่ได้เคยประกาศไว้ในประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34 (25 เมษายน 2555) ในโอกาสขึ้นปีใหม่พุทธศักราช 2556 นี้ คณะนิติราษฎร์ขอชี้แจงถึงภารกิจและกิจกรรมที่จะดำเนินการต่อไป ดังนี้

 

1. การรณรงค์และรวบรวมรายชื่อประชาชนเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ โดยคณะรณรงค์แก้ไขมาตรา 112 (ครก.112) นั้น ได้ผ่านพ้นจากขั้นตอนการรณรงค์รวบรมรายชื่อประชาชนไปสู่การเสนอร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวไปยังประธานรัฐสภาแล้ว เมื่อกลางปี 2555 ต่อมาในราวเดือนตุลาคม 2555 ประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ได้ปฏิเสธไม่บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม โดยอ้างว่าร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่เป็นร่างพระราชบัญญัติตามที่กำหนดในหมวด 3  (สิทธิและเสรีภาพของปวงชนชาวไทย) และหมวด 5 (แนวนโยบายแห่งรัฐ) ของรัฐธรรมนูญ ทั้งๆที่กรณีเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 122 ซึ่งกำหนดโทษในทางอาญานั้น เป็นกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเสรีภาพในร่างกายและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลซึ่งเป็นเสรีภาพที่รับรองไว้ในรัฐธรรมนูญ การปฏิเสธไม่บรรจุร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเข้าสู่วาระการประชุม จึงเป็นการปฏิเสธที่ไม่ชอบด้วยเหตุผล หลังจากทราบการปฏิเสธแล้ว ครก.112 (ซึ่งประกอบไปด้วยบุคคลหลายฝ่ายรวมทั้งคณะนิติราษฎร์) ได้พยายามประสานเพื่อเสนอความเห็นให้ประธานรัฐสภาทบทวนการวินิจฉัย แต่ไม่ได้รับความร่วมมือเท่าที่ควรจากบุคคลที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นในเดือนมกราคม 2556 นี้ ครก.112 จะได้โต้แย้งคำสั่งของประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) เป็นลายลักษณ์อักษร เพื่อให้มีการทบทวนคำสั่งดังกล่าว หลังจากนั้นจะดำเนินการตามช่องทางในทางกฎหมายต่อไปจนสุดหนทาง

ในระหว่างนี้ หากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่ายี่สิบคนหรือคณะรัฐมนตรีเห็นความสำคัญของปัญหาดังกล่าว อันเป็นปัญหาที่นานาชาติตลอดจนองค์การระหว่างประเทศให้ความสนใจ และประสงค์จะปฏิรูปประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ให้ได้ในระดับที่นานาอารยประเทศพอที่จะยอมรับนับถือได้ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือคณะรัฐมนตรีอาจพิจารณาเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์หรือข้อเสนอของคณะกรรมการบางคณะที่รัฐบาลได้ตั้งขึ้น (เช่น คอป.) เข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาตามวิถีทางประชาธิปไตยก็ได้ การดำเนินการในลักษณะดังกล่าวจะเป็นการช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากการมีคำสั่งของ ประธานรัฐสภา (นายสมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์) ที่ไม่บรรจุร่างกฎหมายที่ประชาชนร่วมกันเข้าชื่อโดยถูกต้องทุกประการตามหลักเกณฑ์ของกฎหมายเข้าสู่วาระการประชุมของรัฐสภาได้อีกทางหนึ่ง

ในส่วนของประชาชนที่ร่วมลงชื่อ ตลอดจนเครือข่ายกลุ่มกิจกรรมต่างๆที่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 มีปัญหาทั้งในแง่อุดมการณ์เบื้องหลังตัวบท ปัญหาในระดับตัวบท และปัญหาในการบังคับใช้ หากจะจัดกิจกรรมในรูปแบบต่างๆต่อไป เท่าที่มีกำลังจะทำได้ เพื่อขยายแนวความคิดให้แพร่ไปในหมู่ประชาชนในวงกว้าง ให้เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างถูกต้อง พ้นจากการบิดเบือนให้ร้ายของสื่อมวลชน องค์กรและกลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองที่แสวงหาประโยชน์จากการดำรงอยู่ของบทบัญญัติมาตรานี้ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการแก้ไขบทบัญญัติมาตรานี้ในอนาคต

2. สำหรับการดำเนินการตามแนวทางการตรากฎหมายเพื่อนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมอย่างเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายภายหลังจากการแย่งชิงอำนาจรัฐเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นั้น ขณะนี้คณะนิติราษฎร์ได้ยกร่างรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้ง  เสร็จสิ้นแล้ว และได้ประกาศเผยแพร่ต่อสาธารณชนพร้อมกับประกาศนิติราษฎร์ฉบับนี้ เนื้อหาสาระหลักของร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวเป็นไปตามประกาศนิติราษฎร์ฉบับที่ 34  ทั้งนี้โดยคณะนิติราษฎร์ได้กำหนดรายละเอียดของเนื้อหาบางประการเพิ่มเติม อนึ่ง กฎหมายนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์ คณะนิติราษฎร์เลือกที่จะเสนอในรูปของร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ไม่ใช่ร่างพระราชบัญญัติ เพื่อป้องกันปัญหากรณีร่างพระราชบัญญัติขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ โดยในร่างรัฐธรรมนูญที่เสนอนี้ไม่มีการนิรโทษกรรมให้แก่บรรดาเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์การชุมนุมประท้วงตลอดจนการสลายการชุมนุมทุกเหตุการณ์ตั้งแต่วันที่ 19 กันยายน 2549 เป็นต้นมา ให้มีการนิรโทษกรรมแก่ผู้เข้าร่วมการประท้วงและชุมนุมทางการเมืองตามเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญกำหนด ทั้งนี้เท่าที่ไม่ขัดกับพันธกรณีระหว่างประเทศ ให้มีคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งจำนวน 5 คน ซึ่งประธานรัฐสภาแต่งตั้งจากบุคคลที่ได้รับเลือกจากองค์กรต่างๆตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยกำหนดให้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการขจัดความขัดแย้งมีผลผูกพันองค์กรของรัฐทุกองค์กร และไม่อาจเป็นวัตถุแห่งการพิจารณาขององค์กรตุลาการหรือองค์กรอื่นใด นอกจากนี้คณะนิติราษฎร์ยังกำหนดให้รัฐสภาเป็นผู้ทรงไว้ซึ่งสิทธิเด็ดขาดในการตีความบทบัญญัติในหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งด้วย

ร่างรัฐธรรมนูญหมวดว่าด้วยนิรโทษกรรมและการขจัดความขัดแย้งตามข้อเสนอของคณะนิติราษฎร์นี้ เมื่อได้เผยแพร่ต่อสาธารณะแล้ว ย่อมถือเป็นสมบัติของสาธารณะที่อาจจะได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ เสนอแนะตลอดจนปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น คณะนิติราษฎร์ไม่สงวนสิทธิที่กลุ่มบุคคลหรือคณะบุคคลใดจะนำร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าวไปรณรงค์เคลื่อนไหวตลอดจนผลักดันให้เกิดผลเป็นตัวบทกฎหมายที่มีผลใช้บังคับได้จริงในบ้านเมือง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายต่อไป

 

อ่านเนื้อหาทั้งหมดที่ เว็บไซต์นิติราษฎร์

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net