Skip to main content
sharethis

บทความเรื่อง Bicholim Conflict ซึ่งพูดถึงความขัดแย้งระหว่างโปรตุเกสกับจักรวรรดิในอินเดียในช่วงศตวรรษที่ 17 ถูกลบออกจากเว็บวิกิพีเดียแล้ว หลังมีผู้พบว่าทั้งหมดเป็นเรื่องแต่ง

บทความนี้ถูกโพสต์ในเว็บวิกิพีเดีย ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2550 มีความยาว 4,500 คำ มีแหล่งอ้างอิง 17 แหล่งและเรื่องแนะนำให้อ่านเพิ่มเติมอีก 3 แหล่ง โดยสองเดือนต่อมา บทความนี้ได้รับเลือกให้เป็นบทความระดับดีของวิกิพีเดีย

ผู้ใช้วิกิพีเดียที่ใช้ชื่อ "ShelfSkewed" ตรวจสอบพบว่า หนังสือที่ถูกอ้างว่าใช้เป็นหนังสืออ้างอิงนั้นไม่มีอยู่จริงเลย จึงเสนอให้มีการลบบทความดังกล่าวเมื่อวันที่ 29 ธ.ค.ปีที่ผ่านมา

"ShelfSkewed" ระบุว่า หลังจากพิจารณาอย่างถี่ถ้วนและค้นคว้าบางส่วนแล้ว ได้ข้อสรุปว่าบทความนี้เป็นเรื่องแต่งที่ฉลาดและพิถีพิถัน แต่เรื่องแต่งก็คือเรื่องแต่ง เมื่อค้นหาเรื่อง Bicholim conflict หรือแหล่งอ้างอิงของบทความดังกล่าวทางออนไลน์ ก็เจอแต่เพียงในบทความนั้นเท่านั้น

หลังจากพิจารณาแล้ว บรรณาธิการวิกิพีเดียอีกหกคนก็เห็นตรงกันให้ลบบทความดังกล่าวออก

"โชคร้ายที่ข่าวลือในวิกิพีเดียไม่ใช่เรื่องใหม่ ยิ่งพวกเขามีฝีมือเท่าไหร่ ก็ยิ่งยากที่จะจับได้ไล่ทัน" วิลเลียม บิวท์เลอ ประธาน Beutler Wiki Relations บริษัทที่ปรึกษาของวิกิพีเดีย บอกและว่า "ใครก็ตามที่ฉลาดพอจะสร้างแหล่งอ้างอิงที่ดูน่าเชื่อถือ มีแรงจูงใจพอที่จะใช้เวลากับมัน ทั้งยังมีทักษะพอในการเขียนบทความที่ดูน่าเชื่อถือ ก็สามารถจะหลอกโลกอินเทอร์เน็ตทั้งหมดได้ อย่างน้อยก็ช่วงเวลาหนึ่ง"

บิวท์เลอ กล่าวด้วยว่า ในหลายๆ ด้าน วิกิพีเดียก็ไม่ได้ต่างจากโลกของสื่อมืออาชีพที่ต้องคัดกรองอย่างมากจากแหล่งข้อมูลที่มี ไม่มีแหล่งไหนสักแหล่งที่ไม่มีข้อผิดพลาดเลย แม้แต่กับชุมชนของเหล่าบรรณาธิการผู้เฝ้าดูอย่างระมัดระวังและใส่ใจในรายละเอียด

อย่างไรก็ตาม บทความ Bicholim Conflict ยังไม่ใช่เรื่องแต่งที่อยู่นานที่สุด โดยยังมีบทความหลายชิ้นก่อนหน้านี้ อาทิ เรื่องแต่งเกี่ยวกับเครื่องทรมานที่ชื่อ "Crocodile Shears" ซึ่งอยู่ในวิกิพีเดียนาน 6 ปี 4 เดือน เรื่องของเฉิน ฟาง นักศึกษามหาวิทยาลัยฮาวาร์ดที่แกล้งใส่ชื่อตัวเองเป็นผู้ว่าการไชน่าทาวน์ ซึ่งอยู่มานานกว่า 7 ปีกว่าที่บรรณาธิการของวิกิพีเดียจะมาเจอและลบออก เรื่องของการลอบสังหารจูเลียส ซีซาร์ ที่แต่งว่า ในภายหลังเขาถูกฆาตกรรมโดยโสเภณีชาย ซึ่งถูกจ้างโดยมาร์ค แอนโทนี ซึ่งอยู่ในเว็บมากว่า 8 ปีก่อนจะถูกลบออก

ทั้งนี้ มีรายงานด้วยว่า แม้บทความ Bicholim Conflict จะถูกลบจากวิกิพีเดียแล้ว แต่ก็ยังคงอยู่ในเว็บที่ทำเลียนแบบวิกิพีเดีย อย่าง New World Encyclopedia และ Encyclo รวมถึงยังสามารถหาซื้อได้ในรูปแบบหนังสือเล่มด้วย

อนึ่ง เมื่อเดือนธันวาคม 2555 โพลล์ของบริษัทวิจัย the Pew Internet and American Life Project ระบุว่า กูเกิลและวิกิพีเดียติดสองอันดับแรกของเครื่องมือที่นักเรียนเกรด 6-12 ในสหรัฐฯ ใช้ทำรายงาน

 

 

ที่มา:
http://news.yahoo.com/blogs/sideshow/war-over-imaginary-bicholim-conflict-page-removed-wikipedia-234717353.html
http://www.dailydot.com/news/wikipedia-bicholim-conflict-hoax-deleted/
ผ่าน http://www.blognone.com/node/39641

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net