Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

 

กรณีจากฝรั่งเศส แม้ว่าการสำรวจความเห็นประชาชน 69 เปอร์เซ็นต์ จะมีความเห็นว่าควรทำประชามติในเรื่องการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันแต่ข้อเสนอเรื่องการทำประชามตินั้นเป็นอันสะดุดลงไปด้วยเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาในประเทศฝรั่งเศสมีประเด็นทางสังคมและกฎหมายที่น่าสนใจและเป็นที่ถกเถียงในวงกว้างทั้งจากนักการเมือง นักการศาสนา รวมถึงกลุ่มอิสระต่างๆ นั่นคือประเด็นของการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน (mariage homosexuelle) โดยที่มีทั้งฝ่ายคัดค้านและฝ่ายสนับสนุนจนเกิดการปะทะกันของทั้งสองฝ่ายในช่วงเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมที่ผ่านมา เป็นที่น่าสนใจว่าในประเทศที่ค่อนข้างเสรีอย่างฝรั่งเศสนั้นชาวรักร่วมเพศไม่สามารถมีสิทธิในการจัดตั้งครอบครัวได้ คงได้แค่การจดทะเบียนเพื่อเป็นหุ้นส่วนชีวิตหรือปัคเซ่ (pacser, pacte civil de solidalité) ซึ่งข้อตกลงต่างนั้นจะเป็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดการทรัพย์สินของหุ้นส่วนชีวิต แต่ไม่รวมถึงสิทธิต่างๆในการเป็นครอบครัว

ในการประชุมสภาที่ผ่านมาข้อเสนอของนาย โลรองค์ โวกิเยต์ (Laurent WAUQUIER) อดีตรัฐมนตรีสังกัดพรรค UMP ต้องพบกับอุปสรรคชิ้นใหญ่นั่นคือรัฐธรรมนูญ เขากล่าวว่าทำไมถึงจะไม่ทำประชามติเกี่ยวกับสิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกัน? ข้อเสนอนี้ถูกหยิบยกขึ้นในการอถิปรายในช่วงท้ายของฝ่ายขวาโดยเฉพาะเป็นข้อเสนอจาก นายโลรองค์ โวกิเยต์ เขากล่าวในวันอาทิตย์ที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมาว่าจะดำเนินการเคลื่อนไหวให้มีการลงประชามติเกี่ยวกับประเด็นนี้ในสัปดาห์หน้า โดยที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้เรียกร้องไปยังประธานาธิบดีเพื่อให้ประธานาธิบดียอมรับร่างกฎหมายการสมรสสำหรับทุกคน (mariage pour tous) เพื่อนำไปให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งชาวฝรั่งเศสทำการตัดสินใจ

ในทางการเมืองแล้วการกระทำดังกล่าวอาจกระทบต่อฐานเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งได้ แม้ว่า ร้อยละ 58 ของชาวฝรั่งเศสจากการสำรวจของ Le Nouvel Observateur เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมาจะเห็นด้วยกับการแต่งงานของบรรดารักร่วมเพศก็ตาม นอกจากนั้นจากการสำรวจของJDDพบว่าร้อยละ 60 ของประชาชนให้การสนับสนุนเรื่องนี้ นอกจากนี้ร้อยละ 69 ยังเห็นว่าประเด็นนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่าการทำประชามติ

อย่างไรก็ตามข้อเสนอในการทำประมติดังกล่าวต้องสะดุดไปเนื่องจากเงื่อนไขที่ตราไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 11 ซึ่งได้บัญญัติไว้ว่า ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสามารถนำร่างกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ องค์กรทางการเมือง การปฏิรูปการเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม บริการสาธารณะของชาติที่กำลังจัดทำอยู่และการให้สัตยาบันกับสนธิสัญญาที่แม้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญแต่อาจกระทบต่อหน้าที่ขององค์กรหรือสถาบันการเมือง

โดมินิค รุสโซ(Dominique Rousseau)นักกฎหมายรัฐธรรมนูญและศาสตราจารย์ด้านกฎหมายมหาชนของมหาวิทยาลัยปารีส1กล่าวว่า มาตรา11ของรัฐธรรมนูญไม่เปิดโอกาสให้มีการจัดทำประชามติในเรื่องการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ซึ่งความเห็นดังกล่าวสอดคล้องกับ กี กากาสซอน (Guy Carcassonne) ศาตราจารย์ทางกฎหมายมหาชนจากมหาวิทยาลัยปารีส 10 ที่กล่าวว่าการทำประชามติในประเด็นนี้เป้นไปไม่ได้เพราะเป็นการยากที่จะหาเหตุผลมาสนับสนุนว่าสิทธิในการแต่งงานของคนรักเพศเดียวกันนั้นอยู่ในเงื่อนไขใดตามมาตรา 11 ดิดิเยต์ โมร์ (Didier Maus) นักวิชาการด้านรัฐธรรมนูญและอดีตข้าราชการระดับสูงกล่าวยืนยันความเห็นนี้โดยกล่าวว่า มันมีข้อแตกต่างระหว่างประเด็นทางสังคมและสถาบันทางสังคม (social et sociétal) สำหรับดิดิเยต์นั้นสิทธิในการสมรสของคนรักเพศเดียวกันไม่ใช่ประเด็นทางสังคมและเขาจะรอดูการตัดสินในของ โลรองค์ โวกิเยต์ อยู่

กี กากาสซอน ยกตัวอย่างกรณีของการจัดทำประชามติในปี1962 ของประธานาธิบดี เดอโกล เกี่ยวกับการเปลี่ยนระบบการเข้าสู่อำนาจของประธานาธิบดีว่ากรณีดังกล่าวนั้นปราศจากข้อสงสัยสัยเนื่องจากเข้ากับเงื่อนไขตามมาตรา11 ซึ่งเปิดโอกาสให้มีการตรารัฐกฤษฎีกาให้ออกเสียงลงประชามติได้

จากอุปสรรคทางกฎหมายดังกล่าวก่อให้เกิดอุปสรรคทางการเมืองตามมา ข้อเสนอของโลรองค์ โวกิเยต์นั้นแทบจะไม่มีโอกาสได้รับการตอบสนองเลย ดิดิเยต์ โมร์ กล่าวว่ามันเป็นการยากที่รัฐสภาจะยอมรับข้อเสนอนี้อย่างไรก็ตามการที่โลรองค์ โวกิเยต์เสนอข้อเสนอดังกล่าวมาทำให้เขาเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงอีกครั้งหนึ่งและยังเป็นการตอบสนองต่อคำถามของสาธารณะชนชาวฝรั่งเศสอีกด้วย ดิดิเยต์ โมร์ได้กล่าวทิ้งท้ายว่าการเสนอให้มีการจัดทำประชามตินั้นเป็นเทคนิคทางกฎหมายและการเมืองเพื่อที่จะเปิดโอกาสให้ผู้เสนอมีเวลาในการอภิปรายมากขึ้นเนื่องจากกฎหมายได้กำหนดให้มีการเพิ่มเติมเวลาให้สำหรับข้อเสนอให้มีการจัดทำประชามติ

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนเห็นว่าคงเป็นการยากลำบากในการยอมรับร่างกฎหมายฉบับนี้ แม้ว่าสังคมฝรั่งเศสจะเป็นสังคมที่แยกอาณาจักรออกจากศาสนจักรอย่างเด็ดขาดตาม รัฐบัญญัติปี1905แต่ประชาชนส่วนมากยังนับถือศาสนาคริสต์นิกายโรมันคาทอลิกซึ่งคงเป็นการยากที่จะยอมรับในเรื่องดังกล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net