Skip to main content
sharethis

มติ ครม.เห็นชอบ มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ของ SMEs นายก ย้ำค่าจ้าง 300 บาทช่วยแรงงานมีรายได้เพิ่ม กระตุ้นการบริโภคในประเทศ รองประธาน ส.อ.ท. โต้ เกาไม่ตรงที่คันเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไร

8 ม.ค.56 ข่าวกระทรวง​การคลัง สนง.ปลัดกระทรวง​การคลัง ฉบับที่ 3/2556  รายงาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 ม.ค.56) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2556 ดังนี้

1.1 ให้นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคลให้หักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า

1.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

1.3 ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรก

2. ปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท จากเดิม 150,000 บาทแรกเป็น 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน

3. ปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักและค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน

4. จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 ต่อเนื่องจากระยะที่ 4 ผ่านบรรษัทค้ำ ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท โดยยื่นรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อโดยมีวงเงินค้ำประกันต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

5. ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วย (1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร และ (2) สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำ งาน ในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้วงเงินสินเชื่อรวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 2 ปีแรก และให้ ธพว. พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ

6. ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี เป็นอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี เพื่อช่วย SMEs ขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มกิจการให้เข้าถึงสินเชื่อ และคงค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 2.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน 7 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก จากเดิมร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศไทย โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ SMEs สำหรับกำไรสุทธิ 150,000 บาทเป็น 300,000 บาท คาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 210,000 ราย มาตรการด้านการเงิน PGS5 คาดว่าจะทำให้มี SMEs ได้สินเชื่อเพิ่ม80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 320,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท

 

นายก ย้ำค่าจ้าง 300 บาทช่วยแรงงานมีรายได้เพิ่ม กระตุ้นการบริโภคในประเทศ

ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงานด้วยว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการพิจารณามาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลังปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันว่า ครม.ได้พิจารณามาตรการการดูแลช่วยเหลือธุรกิจSMEs โดยมาตรการหลักๆ ที่จะดูแลคือ 1. มาตรการที่ภาครัฐจะไปใช้บริการต่างๆ ใน SMEs เพื่อช่วยเสริมสร้างรายได้ 2. มาตรการด้านภาษีที่จะช่วยลดรายจ่าย และ 3. เรื่องดอกเบี้ย หรือเงินทุนหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานและผลผลิตที่ดีขึ้น ส่วนอีก 2 มาตรการที่กระทรวงแรงงานเสนอมานั้น ครม.ให้นำกลับไปพิจารณาทบทวนใหม่

นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทั้ง 3 มาตรการนี้ถือว่าเป็นมาตรการใหญ่ ซึ่งตนได้สั่งการให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะกระทรวงอุตสาหกรรมเข้าไปดูบางบริษัทที่มีการเลิกจ้าง ทั้งผู้ถูกเลิกจ้าง และระดับผู้ประกอบการSMEsว่ามีปัญหาอะไร วันนี้เรามีความห่วงใยทุกบริษัทที่ต้องหยุดกิจการ โดยเราจะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปดูในเนื้อหารายละเอียดว่าผลประกอบการที่ผ่านมาเป็นอย่างไร เพื่อที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือเป็นรายเฉพาะบริษัท

ผู้สื่อข่าวถามว่าบริษัทที่ปิดกิจการไปมีสาเหตุมาจากการขึ้นค่าแรง 300 บาทตามนโยบายของรัฐบาลหรือไม่นั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ค่าแรง 300 บาทประกาศปรับขึ้นตั้งแต่ 1 ม.ค. ส่วนจะมีผลพวงจากการขึ้นค่าแรงหรือไม่อย่างไรนั้น นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้สั่งการให้กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงการคลังเข้าไปดูในเนื้อหารายละเอียดแล้ว อย่างไรก็ตามการปิดกิจการไม่ว่าจะด้วยสาเหตุอะไร เราต้องคงเข้าไปดูว่าจะทำอย่างไร และจะให้ความร่วมมือการช่วยเหลืออย่างไรได้บ้าง จะต้องเข้าใจปัญหาต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เพราะบางครั้งมีหลายสาเหตุด้วยกัน

ผู้สื่อข่าวถามว่าจะอธิบายอย่างไรว่าการปิดกิจการของบริษัทต่างๆ ไม่ได้มาจากผลกระทบการขึ้นค่าแรง 300 บาท น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า จะให้กระทรวงพาณิชย์เข้าไปดูในรายละเอียด และดูสถิติปริมาณบริษัทที่ถูกปิดกิจการในแต่ละปีมาประกอบ เพื่อชี้แจงให้ประชาชนได้รับทราบ เมื่อถามย้ำว่ารัฐบาลมั่นใจใช่หรือไม่ว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทจะมีประโยชน์ในอนาคต น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า ยืนยันว่าการขึ้นค่าแรง 300 บาทมีประโยชน์ทั้งสองส่วน คือ จะช่วยเหลือผู้ใช้แรงงานเพื่อให้มีรายได้ที่เพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ และระยะยาวทำให้การบริโภคต่างๆ ในประเทศดีขึ้น ซึ่งในช่วงรอยต่อก็ต้องดูในเรื่องผลกระทบที่มีการปรับตัวควบคู่กันไป

  ส่วนกลุ่มธุรกิจSMEsมีการร้องขอให้รัฐบาลช่วยเหลืออะไรบ้างนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์กล่าวว่า วันนี้เราได้ตอบรับหลายๆ มาตรการที่ขอมาแล้ว ซึ่งจะให้รองนายกรัฐมนตรีหารือกับภาคเอกชน กลุ่มธุรกิจSMEsอีกครั้งหนึ่งว่าจากมาตรการที่รัฐบาลออกไปยังมีอะไรอีกบ้างที่จะร่วมมือกันทำงานต่อไป ซึ่งในระยะยาวเราต้องมองว่าจะทำอย่างไรให้SMEsมีรายได้เพิ่มขึ้น มากกว่าการไปลดค่าใช้จ่าย หรือการทดแทนเพราะตรงนี้จะไม่สามารถอยู่ได้ในระยะยาว เพราะระยะยาวคือจะทำอย่างไรให้ธุรกิจนี้อยู่ได้และแข่งขันได้ในอนาคต

 

อธิบดีกรมสรรพากร ชงลดภาษี SMEs เหลือ15%

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ รายงานว่า นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติมาตรการทางภาษีเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายของรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาททั่วประเทศ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

ประกอบด้วย 1.การขยายฐานการยกเว้นการเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตรา 15% สำหรับ SMEs ที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 300,000 บาท จากเดิมที่จะได้รับยกเว้นกรณีที่มีกำไรสุทธิไม่เกิน 150,000 บาท, กรณีที่มีกำไรสุทธิตั้งแต่ 300,000-1 ล้านบาท เสียภาษี 15% และกรณีที่กำไรสุทธิเกินกว่า 1 ล้านบาทขึ้นไป เสียภาษี 20%

2.การลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่ายเหลือ 2% จากเดิม 3% และ 3. การขยายเวลาการหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรได้ 100% ในปีแรกออกไปอีก 1 ปีจนถึงสิ้นเดือน ธ.ค.56 จากเดิมที่ครบกำหนดในสิ้นเดือน ธ.ค.55

 

รองประธาน ส.อ.ท. โต้ รบ.ลดภาษี “SMEs” เกาไม่ตรงที่คันเพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไร

ASTVผู้จัดการออนไลน์ รายงาน นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลSMEsที่มีกำไรไม่มาก เพื่อช่วยลดผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศว่า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้ SMEs นับเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีกำไร จึงไม่มีประโยชน์ที่จะยกเว้นหรือลดอัตราภาษีและเห็นว่าข้อเสนอของอุตสาหกรรม 5 ภาค ทั้ง 7 มาตรการเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

สำหรับการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงนั้น นายทวีกิจกล่าวว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีทุนมากกว่าSMEsจะได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของต่างชาติ บริษัทเหล่านี้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมากกว่าแรงงาน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลช่วยเหลือSMEsอย่างจริงจัง โดยมาตรการที่จะออกมาช่วยต้องเป็นรูปธรรมที่ทำแล้วเห็นผลทำได้จริง การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้วจากต้นทุนการปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท

นายทวีกิจกล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจส่งออกที่เป็นรายเล็กและSMEs ขณะนี้การปรับค่าแรง 300 บาทเริ่มส่งผลกระทบแล้วหลายอุตสาหกรรมทั้งสิ่งทอและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น โดยต่างจังหวัดที่รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหายไปแล้วเฉลี่ยร้อยละ 10-20 ขณะที่การเพิ่มราคาทำได้ยาก เพราะลูกค้าต่างประเทศจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า โดยผู้สั่งซื้อมองว่าการปรับเพิ่มราคาเป็นเพราะนโยบายค่าแรงของประเทศไทย จึงจะไปสั่งซื้อในประเทศคู่แข่งที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่าแทน เช่น เวียดนามและกัมพูชา

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. 2556 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน

 “ยังมีแนวโน้มเลิกจ้างอีก 2 แห่ง ลูกจ้าง 480 คน และมีอีก 5 แห่งที่ส่งสัญญาณขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่ ลูกจ้าง 999 คน” นายเผดิมชัยกล่าว

ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันนี้ (8 ม.ค.) จะหารือมาตรการเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังจะเสนอ ครม.ช่วยเหลือSMEsที่มียอดรายรับไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท โดยขยายฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทแรก เดิมยกเว้น 1.5 แสนบาทแรก

สำหรับกำไรที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียในอัตรา 15% และรายได้เกิน 1 ล้านบาท เสีย 20% เหมือนเดิม

นายเผดิมชัยกล่าวว่า จะเสนอมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อ คือ 1. ลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาท/ปี นาน 3 ปี ลดค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจรายปีลง 50%      

2. จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปสถานศึกษาและสถานประกอบการ 3. เพิ่มค่าใช้จ่ายจัดประชุมสัมมนาส่วนราชการ 4. จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ และ 5.ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 2%

อย่างไรก็ตามสำหรับมาตรการการคลังโดยเฉพาะการลดภาษีนิติบุคคลนั้น ที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 11 ต.ค.54 ก็เคยได้ มีมติเห็นชอบปรับลดอัตราการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ภายในปี 55 และลดเหลือ 20% ในปี 56 ตามข้อเสนอของกระทรวงการคลัง โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 55 เป็นต้นไปมาก่อนหน้าแล้ว

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net