Skip to main content
sharethis

อินเทอร์เน็ตและเครื่องมือสื่อสารที่มีราคาถูกลงและเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จะค่อยๆ ลดบทบาทของสื่อเก่าลง โดยเฉพาะข่าว 'สืบสวน' ซึ่งเอ็นจีโอด้านสิทธิอาจจะทำได้ดียิ่งกว่า เนื่องด้วยทรัพยากรและข้อมูลที่เปิดกว้างมากขึ้น นั่นเป็นทัศนะของ 'เดวิด อิซักสัน' ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อใหม่และไอซีทีจากสวีเดน 

 

เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนปี 2554 ที่เสียมราฐ ประเทศกัมพูชา ก่อนหน้าการจัดงานสุดยอดผู้นำอาเซียนไม่กี่สัปดาห์ ได้มีการจัดงาน 'บล็อกเฟสต์ เอเชีย 2012' ซึ่งชื่อก็บอกว่า เป็นเทศกาลของชาวบล็อกเกอร์และชาวเทคโนโลยีในเอเชีย โดยเหล่าบล็อกเกอร์เยาวชนชาวกัมพูชาที่เป็นคณะจัดงาน ระบุว่า ต้องการให้งานนี้เป็นพื้นที่พบปะแลกเปลี่ยนทางความคิดระหว่างชาวบล็อกเกอร์จากประเทศต่างๆ ในเอเชีย รวมถึงเยาวชนชาวกัมพูชาที่จะได้เข้ามาเรียนรู้ประสบการณ์จากนานาประเทศ ซึ่ง 'บล็อกเฟสต์' ที่กัมพูชา นับเป็นการจัดครั้งที่ 3 แล้ว โดยก่อนหน้านี้จัดขึ้นที่ฮ่องกงและมาเลเซีย 
 
งาน 'บล็อกเฟสต์' ที่จัดขึ้นในมหาวิทยาลัยเล็กๆ ชื่อ Build Bright University ในเมืองเสียบเรียบ มีผู้เข้าร่วมกว่า 200 คนจากทั้งเวียดนาม มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย สหรัฐอเมริกา ฟิลิปปินส์ ฯลฯ โดยในงานดังกล่าว มีการพูดคุยในประเด็นเกี่ยวกับดิจิตอลเทคโนโลยีที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ความปลอดภัยทางเน็ต เสรีภาพในโลกไซเบอร์ การบล็อกด้วยโทรศัพท์มือถือ (mobile blogging) การบล็อกเชิงมัลติมีเดีย โดยมีทั้งรูปแบบของปาฐกถา วงเสวนา และการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ เป็นเวลา 3 วัน
 

มหาวิทยาลัย Build Bright ในเมืองเสียมราฐ สถานที่จัดงาน Blogfest 2012
 
'ประชาไท' ชวนแลกเปลี่ยนมุมมองกับ 'เดวิด อิซักสัน' ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ ไอซีที และการพัฒนาจากสวีเดนที่เป็นผู้กล่าวปาฐกถางานนี้ อิซักสันเป็นนักข่าวมากว่า 30 ปี โดยรายงานจากประเทศแถบละตินอเมริกา รวมถึงในเอเชียอย่างในกัมพูชาและเวียดนาม เป็นผู้เขียนหนังสือกว่า 15 เล่มเกี่ยวกับละตินอเมริกา วารสารศาสตร์ ไอซีที และการพัฒนา ปัจจุบันเขาเป็นซีอีโอบริษัทที่ปรึกษาด้านสื่อ Global Reporting และเป็นหนึ่งในกรรมการบริหารองค์กร 'Spider' ที่ทำงานด้านพัฒนาโดยนำเทคโนโลยีไอซีทีเข้ามาใช้ในการกระจายข้อมูลข่าวสาร และลดความยากจนในประเทศแถบแอฟริกาและเอเชีย 
 
ในการกล่าวปาฐกถา เขาตั้งข้อสังเกตถึงแนวโน้มที่สำคัญบางประการ คือ การเสื่อมถอยลงของสื่อดั้งเดิม จุดจบของงานข่าวสืบสวนสอบสวน การใช้ Open Data (ข้อมูลดิบที่เปิดเผยต่อสาธารณะ) และการใช้ Crowdsourcing (การระดมข้อมูลจากผู้คน) เราจะมาพูดคุยกับเขาต่อเพิ่มเติมในประเด็นดังกล่าว 
 

วงเสวนาเรื่องสถานการณ์สื่อและเสรีภาพในกัมชา ในงาน Blogfest 2012
 
คุณพูดถึงแนวโน้มของขาลงของสื่อเก่ากับขาขึ้นของสื่อใหม่ ช่วยขยายความประเด็นดังกล่าวหน่อยได้ไหม?
 
ผมคิดว่าสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือว่า สื่อดั้งเดิมหรือสื่อเก่าถูกบังคับให้ต้องย้ายไปสู่พื้นที่ของสื่อใหม่ คุณมีพื้นที่คอมเมนท์เพิ่มขึ้น มีวีดีโอ หนังสือพิมพ์ทุกวันนี้ ก็มีวิทยุและก็ช่องทางโทรทัศน์ แต่คำถามก็คือว่า ทำอย่างไรที่ทำให้เขาสามารถทำกำไรได้ อย่างสื่อดั้งเดิมหรือสื่อสิ่งพิมพ์ พวกเขาได้รายได้จากค่าโฆษณา เมื่อคุณซื้อหนังสือพิมพ์ คุณก็จ่ายเงินเป็นค่าส่ง จ่ายเป็นค่าข่าว
 
แต่คนส่วนใหญ่ไม่อยากจะจ่ายเงินสำหรับสื่อดิจิตอล ถ้าคุณเข้าไปในร้านหนังสือ คุณจะไม่มีทางคิดหยิบเอาหนังสือออกไปโดยไม่ได้จ่ายเงิน แต่ถ้าคุณค้นเจอหนังสือในอินเทอร์เน็ตและคุณถูกขอให้จ่ายเงินทางเครดิตการ์ด คุณก็คงจะดาวน์โหลดมันมาแบบฟรีๆ อยู่ดี (ถ้าทำได้) 
 
ปัญหาก็คือ การหาโมเดลธุรกิจที่ทำได้จริง เราจะเห็นว่านิตยสารอย่างนิวส์วีคที่นำเทรนด์เรื่องไปเป็นสิ่งพิมพ์ดิจิตอลอย่างเต็มตัว จริงๆ แล้วผมก็ไม่เข้าใจว่าจะมีใครอยากจะซื้อหรือเปล่า ผมไม่ทราบว่าพวกเขาจะวางจุดยืนตัวเองอย่างไรในเมื่อทุกสิ่งอย่างก็อยู่บนอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว ฉะนั้น สื่อหลายๆ ที่ก็กำลังประสบปัญหานี้ ในสวีเดนเองก็มีการคุยกันว่าในอีก 4-5 ปี หนังสือพิมพ์ใหญ่ๆ จะเป็นแบบดิจิตอลทั้งหมด แต่พวกเขาจะทำเงินอย่างไรนี่สิ
 
ฉะนั้นสิ่งที่เรากำลังเห็นตอนนี้คือการลดจำนวนสต๊าฟในสื่อเก่า มีเงินไหลเข้าน้อยลงซึ่งก็ทำให้นักข่าวที่ดีๆ ลดลงด้วย เนื่องจากว่าคุณมีทรัพยากรที่น้อยลงในการทำข่าวสืบสวนสอบสวน ซึ่งเป็นสิ่งที่สื่อเก่าได้ทำมานานหลายปี ฉะนั้นก็มีความเสี่ยงว่านักข่าวสืบสวนสอบสวนจะถูกลดลง นอกจากนี้เรายังเห็นแนวโน้มว่ากลุ่มคนที่ทำงานสืบสวนเกี่ยวกับเรื่องสิทธิมนุษยชนก็คือเอ็นจีโอ อย่างเช่นฮิวแมนไรท์วอทช์ ก็ได้เริ่มทำงานสอบสวนหลายอย่างมาก ซึ่งไม่มีสื่อไหนที่จะสามารถสนับสนุนทางการเงินหรือจัดการแบบที่พวกเขาสามารถทำได้ จริงๆ แล้วพวกเขากำลังมาแทนบทบาทของสื่อด้วยซ้ำ นี่ก็ไม่ใช่ว่าเป็นทุกทีนะ แต่ว่ามันก็เป็นแนวโน้มที่ชัดแน่นอน
 
นอกจากนี้เราก็ยังเห็นบทบาทของโซเชียลมีเดียในภาพทั้งหมดนี้ พูดให้เจาะจงก็คือ crowdsourcing ที่มีความสำคัญ มีตัวอย่างของ Open Development of Cambodia ที่ผมคิดว่าเป็นตัวอย่างที่ดีมาก โดยคนทำงานก็จะรวบรวมข้อมูลสาธารณะที่เกี่ยวกับสิทธิที่ดิน การยึดที่ดินและการลงทุนต่างๆ ลงในแผนที่ เพื่อให้คนอื่นๆ อย่างทนายความหรือนักข่าวนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ ฉันคิดว่านั่นก็เป็นวิธีหนึ่งที่จะใช้ crowdsourcing ให้เกิดประโยชน์ ตรงนี้แหละที่ Open Data เข้ามามีบทบาท เนื่องจากว่าข้อมูลก็ได้เป็นที่เปิดเผยเยอะขึ้นมาก ธนาคารโลกเองก็บอกนักหนาว่ามันเปิดเผยขึ้นมาก ก็ต้องลองดูว่าเขาจะเปิดเผยเรื่องการใช้จ่ายงบประมาณ ที่มาที่ไปของเงิน ถ้าหากว่าเราสามารถตรวจสอบได้นั่นก็จะเป็นความท้าทายต่อไป 
 
คุณกำลังบอกว่าตอนนี้พวกนักข่าวมีความสำคัญน้อยลง เนื่องจากใครก็ได้สามารถผลิตเนื้อหาของตนเองและงานสืบสวนสอบสวนอย่างนั้นหรือเปล่า
 
ผมคิดว่าเส้นแบ่งมันค่อนข้างจะเบลอมาก นิโคลัส คริสตอฟ เขาเป็นคอลัมนิสต์ของนสพ. เดอะนิวยอร์กไทมส์ แต่ในที่สุดผมคิดว่าเขาก็คือบล็อกเกอร์และคนโซเชียลมีเดียคนหนึ่ง เขามีพื้นที่ในนสพ. ที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก แต่การเข้าถึงผู้ชมของเขาทางทวิตเตอร์และในเฟซบุ๊กนั้นใหญ่กว่าคนอ่านในนิวยอร์กไทมส์มาก ฉะนั้นผมคิดว่าเขาเป็นตัวอย่างของการผสานเส้นแบ่งที่ไม่ได้จำเป็นต้องแย่เสมอไป เพราะเขาได้สร้างบทสนทนากับผู้อ่านซึ่งผมคิดว่ามีคุณค่ามาก 
 
ฉะนั้นผมคิดว่าเราอยู่ในช่วงเวลาที่สำคัญ นั่นคือเราไม่รู้ว่าสื่อจะไปทางไหน ในขณะเดียวกันมันก็มีความเป็นไปได้และมันก็มีปัญหา เนื่องจากว่าหน่วยงานของรัฐบาลและบริษัทได้ว่าจ้างคนปั่นกระแส (spin doctors) และผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อ อย่างน้อยในสวีเดน คนที่ทำงานด้านการประชาสัมพันธ์ในรัฐบาลและบริษัทเพิ่มสูงขึ้น ส่วนนักข่าวสอบสวนลดน้อยลงเรื่อยๆ ฉะนั้น สมดุลก็เอียงไปทางผู้ที่มีอำนาจในมืออยู่แล้ว หากว่าโซเชียลมีเดียเข้ามาช่วยสร้างสมดุลและทำอะไรได้มากขึ้นตรงนี้ก็จะดี
 
แต่อย่างในประเทศไทยและในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผู้คนก็ยังไม่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้มากนัก เขาจึงยังอ่านหนังสือพิมพ์เป็นส่วนใหญ่ เลยไม่แน่ใจว่าหนังสือพิมพ์จะตายลงในภูมิภาคนี้จริงหรือ
 
ผมก็ไม่แน่ใจนักเกี่ยวกับประเทศไทย แต่ในระยะยาวแล้วมันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกคนมีโทรศัพท์มือถือแบบเบสิคๆ กันหมดแล้ว เขาสามารถส่งข้อความได้ อย่างกลุ่มฝ่ายค้านทางการเมืองต่างๆ เวลามีอะไรก็จะเกิดจากการส่งข้อความทางโทรศัพท์มือถือ อาจจะด้วยทวิตเตอร์หรือไมโครบล็อกในประเทศจีน ผู้คนนั้นใช้ประโยชน์จากอุปกรณ์ทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งนั้น และในอีก 5-10 ปี ผมคิดว่าแนวโน้มนี้ก็ยังจะเป็นต่อไปเพราะของพวกนี้ก็ราคาถูกลงด้วย 
 
นอกจากนั้น สิ่งที่เราเห็นก็คือการพยายามควบคุมสื่อออนไลน์หรือนิตยสารออนไลน์ต่างๆ เหตุผลหนึ่งก็เป็นเพราะวัฒนธรรมใหม่ที่คุณไม่จำเป็นต้องทำนสพ. ต้องมาจดทะเบียนและมีเงินทุนจำนวนหนึ่งเพื่อที่จะทำนสพ. และส่งออกข้อมูลข่าวสาร สมัยนี้ ถ้าคุณเป็นบล็อกเกอร์คนหนึ่งคุณก็สามารถเผยแพร่เนื้อหาทางอินเทอร์เน็ตและมันก็จะถึงผู้คนนับล้านทั่วโลก ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อสิบปีก่อน แน่นอนว่าสิ่งนี้ทำให้รัฐบาลกังวลใจและพยายามควบคุมพื้นที่สื่อ เพราะคุณไม่มีทางรู้เลยว่าเรื่องไหนจะแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว บางเรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่เพราะมีคนเอาไปเล่นต่อ บางคนอาจจะทำอีกอย่างแล้วมันก็กลายเป็นเรื่องใหญ่มากทันที แน่นอนว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลควบคุมไม่ได้และจึงกังวลมาก
 

เดวิด อิซักสัน
 
กฎหมายอาชญากรรมคอมพิวเตอร์ก็เริ่มถูกนำเอาไปใช้ในหลายประเทศแล้วในขณะนี้
 
รัฐบาลต้องการที่จะควบคุมด้วยบริบทที่สำคัญที่สุดคือความมั่นคง จากนั้นก็เป็นเรื่องภาพยนตร์อนาจาร เรื่องเพศสัมพันธ์ ภาพยนตร์อนาจารเด็กและเรื่องอื่นๆ เหตุผลแรกคือเรื่องความมั่นคงนั้นได้ถูกท้าทายในยุโรป ผมหมายถึงว่า คุณไม่สามารถจะหยุดอัลไคด้าด้วยการเข้าค้นข้อมูลในทวิตเตอร์หรืออีเมลล์ของทุกคนได้หรอก คือว่า อัลเคด้าคงจะไม่มาส่งอีเมลล์บอกว่า โอเคเราจะลงมือบอมบ์กันพรุ่งนี้แล้วนะ หรือให้คนมาคลิก 'ไลค์' ถ้าเห็นด้วยอะไรอย่างนี้ พวกเขาคงไม่ทำกันอย่างนั้น มันเป็นวิธีที่แย่และต้องการจะควบคุมอย่างอื่นๆ 
 
ส่วนเรื่องภาพยนตร์อนาจารหรือเพศสัมพันธ์ ก็อยู่ในบริบทที่คล้ายกัน โดยเฉพาะในประเทศแถวนี้ที่มีโสเภณีเด็กจำนวนมาก คือถ้าคุณอยากจะหยุดมันจริงๆ นะก็เริ่มต้นที่บนท้องถนนก่อนก็ได้ ปัญหาใหญ่ไม่ได้อยู่ที่อินเทอร์เน็ตเสียหน่อย แต่ก็แน่นอนว่าบางอย่างก็ต้องมีข้อจำกัด เช่นภาพยนตร์อนาจารเด็กนี่แน่นอนว่ารับไม่ได้ ซึ่งในสวีเดนก็มีองค์กรเอ็นจีโอที่ทำงานร่วมกับตำรวจและภาคประชาสังคมซึ่งหากว่าพบเว็บไซต์ดังกล่าวก็จะรายงานและปิดกั้น คือมันก็มีบางอย่างที่ยอมรับไม่ได้อย่างภาพยนตร์อนาจารเด็ก แต่ถ้าอย่างอาชญากรรมทางการเงิน แน่นอนว่าอินเทอร์เน็ตไม่ใช่ที่ที่ใหญ่ที่สุดในเรื่องนี้ ปัญหามันอยู่ที่มันมีการย้ายโอนเงินออกจากประเทศไปเก็บไว้ในสวิตเซอร์แลนด์หรือเกาะเคย์แมนอะไรพวกนี้มากกว่า 
 
มองเรื่องดีเบตระหว่างเสรีภาพและการควบคุม และระหว่างฟรีสปีชและเฮตสปีชว่าอย่างไร
 
มันเป็นเรื่องที่ตอบยากมาก เพราะเอาจริงๆ ข้อจำกัดจะอยู่ตรงไหน ในยุโรปคุณไม่สามารถปฏิเสธว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่มีจริง หรือพูดว่าเห็นด้วยกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ เพราะนั่นเป็นอาชญากรรม บางคนก็กล่าวหรือตั้งคำถามว่าทำไมเราพูดคุยเรื่องมุสลิมไม่ได้ เป็นต้น
 
อย่างไรก็ตาม ในพื้นที่คอมเมนท์ท้ายข่าวหรือในเซเชียลมีเดียก็ได้เปิดต่อคำพูดที่เหยียดเชื้อชาติและดูหมิ่นมากมาย นั่นก็เป็นพื้นที่ที่ยากที่จะบอก เราต้องอดกลั้นต่ออะไรบ้างในนามของการถกเถียงอย่างเสรี หรือคุณควรจะต้องอดกลั้นหรือไม่ ในกรณีนี้ สื่อหลายที่ในสวีเดนตัดสินใจจะปิดไม่ให้มีการแสดงความคิดเห็นท้ายข่าว ส่วนหนึ่งเพราะว่ามันละเมิดคนอื่นมาก และก็ยากที่จะควบคุมเพราะคุณจำเป็นต้องมีคนดูแลพื้นที่ดังกล่าว 24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่ก็เลยปิดไป แต่แน่นอนว่าคุณก็เสียพื้นที่ในการดีเบต แต่มันก็เป็นสิ่งที่มากับอย่างอื่นเพราะพื้นที่มันเป็นพื้นที่เปิด ใครสามารถมาพิมพ์อะไรก็ได้ และเมื่อเขาตีพิมพ์เรื่องส่วนบุคคลออกไปแล้ว เจ้าของเว็บก็ไม่สามารถพิทักษ์ตนเองได้ เพราะอย่างในนสพ. คุณก็อาจจะบอกได้ว่าคุณไม่ได้เป็นคนเขียน แต่ในอินเทอร์เน็ตมันเป็นคนที่ปัจเจกและกึ่งนิรนาม อีกอย่างคือ ถ้ามันอยู่ในเน็ตแล้วมันก็จะคงอยู่ในพื้นที่นั้นอีกนาน
 

ผู้เข้าร่วมงาน Blogfest 2012 จากกัมพูชาและประเทศต่างๆ
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net