‘คดีคลิตี้’ ศาลสั่งกรมควบคุมมลพิษจ่าย 1.7 แสนต่อคน ‘คนคลิตี้’ กังวลให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ

ศาลปกครองสูงสุดชี้กรมควบคุมผิดละเลยการปฏิบัติหน้าที่ ให้จ่ายชดเชยค่าเสียหายให้ชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 รายๆ ละ 1.7 แสนบาท ‘คนคลิตี้’ กังวลไร้แผนการฟื้นฟูลำห้วย ชี้ให้ฟื้นฟูตามธรรมชาติ เตรียมจับตา ‘กรมควบคุมมลพิษ’ แก้ปัญหา
 
 
 
 
วันนี้ (10 ม.ค.56) เวลา 09.00 น.ศาลปกครองกลางนัดอ่านคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ในคดีหมายเลขดำที่ 214/2547 คดีหมายเลขแดงที่ 637/2551 ที่ตัวแทนชาวบ้านคลิตี้ล่าง 22 คน ฟ้องกรมควบคุมมลพิษ (ค.พ.) ในข้อหาละเลยการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหน่วยงานผู้เชียวชาญด้านมลพิษ จากกรณีสารพิษตะกั่วจากการทำเหมืองแร่ของบริษัท ตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (แห่งประเทศไทย) จำกัด ปนเปื้อนและสะสมในลำห้วยคลิตี้ หมู่บ้านคลิตี้ล่าง อ.ทองผาภูมิ จ.กาญจนบุรี ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศน์ของลำห้วย ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและแหล่งอาหารสำคัญของชาวบ้าน
 
ศาลปกครองสูงสุดพิเคราะห์ว่า การปฏิบัติหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษในการฟื้นฟูและลดมลพิษในลำห้วยคลิตี้ล่าช้า รวมทั้งไม่มีการจัดทำแผน และกำหนดการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษไว้ล่วงหน้า ส่งผลให้ผู้ฟ้องทั้ง 22 ราย ได้รับความเสียหาย ซึ่งในปัจจุบันชาวบ้านยังไม่สามารถนำน้ำในลำห้วยขึ้นมาอุปโภค บริโภคได้ เนื่องจากมีสารตะกั่วปนเปื้อนสูงกว่าค่ามาตรฐาน
 
ศาลตัดสินให้ กรมควบคุมมลพิษชดเชยค่าเสียหายแก่ชาวบ้านผู้ฟ้องร้องทั้ง 22 คน ในส่วนภาระค่าใช้จ่ายในการซื้ออาหารทดแทนอาหารที่เคยมีอยู่ในสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติ ในอัตรารายละ 700 บาทต่อเดือน พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อีกทั้งยังต้องชดเชยในส่วนค่าเสียหายต่อสิทธิในการใช้ประโยชน์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ในอัตรารายละ 1,000 บาทต่อเดือน โดยให้ชดใช้ค่าเสียหายในอนาคตเป็นระยะเวลาเพิ่มอีก 94 เดือน จากเดิม 22 เดือน (เดิมตั้งแต่ พ.ย.45-27 ส.ค.47 ซึ่งเป็นวันยื่นฟ้องคดีเพิ่มเติม บวกเพิ่มอีก 94 เดือน ตั้งแต่วันที่ 28 ส.ค.47-26 มิ.ย.55 ซึ่งเป็นวันที่ศาลปกครองสูงสุดนั่งพิจารณาคดีครั้งแรก) รวมให้ชดเชยต่อรายเป็นเงิน 177,199.55 บาท ภายใน 90 วันตั้งแต่คดีถึงที่สุด
 
ส่วนการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ศาลให้กรมควบคุมมลพิษกลับไปจัดทำแผนฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ และดำเนินการฟื้นฟูตามธรรมชาติ ซึ่งต้องตรวจสอบคุณภาพน้ำในทุกฤดูกาลจนกว่าสารตะกั่วในน้ำจะอยู่ในระดับที่ไม่เกินค่ามาตรฐานการควบคุม ต่อเนื่องกันอย่างน้อยเป็นเวลา 1 ปี โดยให้มีการติดประกาศให้ชาวบ้านได้รับทราบโดยทั่วกัน
 
 
 
‘คนคลิตี้’ กังวลไร้แผนการฟื้นฟูลำห้วย เตรียมจับตา ‘กรมควบคุมมลพิษ’ แก้ปัญหา
 
นายกำธร ศรีสุวรรณมาลา ชาวบ้านคลิตี้ล่างหนึ่งในผู้ฟ้องคดี กล่าวว่า รู้สึกพอใจผลการตัดสินในระดับหนึ่งที่ชาวบ้านได้รับค่าชดเชย ซึ่งจะมีการนำไปจัดสรรเป็นเงินกองทุนในการเดินทางไปรักษาพยาบาล และซ่อมแซมระบบน้ำประปาหมู่บ้าน แต่ประเด็นหลักของการฟ้องคดีนี้คือต้องการให้มีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ ซึ่งการฟื้นฟูตามธรรมชาตินั้นไม่รู้จะเห็นผลเมื่อไหร่ เท่ากับเป็นการปล่อยตะกอนสารพิษทิ้งไว้ ซึ่งที่ผ่านมากว่า 10 ปี ก็ได้เห็นแล้วว่าวิธีนี้ไม่มีประโยชน์ เมื่อเข้าสู่ฤดูฝนน้ำป่าก็จะไหลทะลักทำให้ตะกอนในลำห้วยฟุ้งกระจายขึ้นมาอีก
 
ต่อคำถามถึงแนวทางการแก้ปัญหาสารพิษในลำห้วยคลิตี้ นายกำธร กล่าวว่า ในสายตาชาวบ้านต้องการให้ดูดตะกอนออกไปทำการฝังกลบ แต่ชาวบ้านไม่มีเครื่องมือจึงไม่สามารถดำเนินการด้วยตัวเองได้ ทั้งนี้ ที่ผ่านมาแม้เคยมีการดูดตะกอนออกจากลำห้วยแต่ก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องตามหลักวิชาการ เพราะเป็นการดูตะกอนแล้วนำไปทิ้งไว้ใกล้ๆ ลำห้วย ระยะห่างเพียง 5-6 เมตร อีกทั้งการฝังกลบไม่แน่นหนา ทำให้เมื่อเกิดฝนตกหนัก น้ำก็ชะให้ตะกอนสารตะกั่วไหลลงลำน้ำสร้างปัญหาให้ชาวบ้านอีก    
 
นายกำธร กล่าวด้วยว่า หลังจบคดีชาวบ้านจะมีการพูดคุยกันอีกครั้งว่าจะมีกระบวนการอย่างไรในการติดตามการแก้ไขปัญหาตามที่ศาลได้มีคำพิพากษาแล้ว และหากจะให้ชาวบ้านไปเดินหน้าฟ้องคดีต่อไปอีกคงไม่มี เพราะ 9 ปีที่ผ่านมาชาวบ้านเหนื่อยมากแล้ว  
 
“ต้องสู้ต่อไป หน้าที่ของพวกผมต้องจับตาดูแผนการแก้ไขปัญหาของกรมควบคุมมลพิษ และการเปิดเผยข้อมูล” นายกำธร กล่าว
 
 
 
ทนายชี้ ‘คดีคลิตี้’ ก้าวหน้า ให้ทำแผนการป้องกันก่อนปัญหาผุด
 
ด้านนายสุรชัย ตรงงาม ผู้อำนายการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม (EnLAW) ในฐานะผู้รับมอบอำนาจจากชาวบ้านคลิตี้ล่างในคดีดังกล่าว แสดงความเห็นต่อผลการตัดสินคดีในวันนี้ว่า มีความก้าวหน้าที่เป็นบรรทัดฐานในเรื่องของอำนาจหน้าที่ของกรมควบคุมมลพิษในการแก้ปัญหา ซึ่งศาลพูดไปถึงการไม่จัดทำแผนการป้องกันและแก้ไขปัญหาล่วงหน้าว่าเป็นการละเลยการปฏิบัติหน้าที่ก่อผลกระทบ และการไม่ติดตามการแก้ไขปัญหาทำให้เกิดความเสียหายแก่ชุมชน ตรงนี้ไม่ใช่เฉพาะกรณีคลิตี้แต่จะถูกนำไปใช้ต่อไป เช่น ในกรณีของสารไซยาไนด์ในเหมืองทองที่จังหวัดเลย ถือเป็นความก้าวหน้าในระดับหนึ่ง แม้จะยังไม่ถึงขั้นของการกำหนดแผน
 
นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า ประชาชนต้องติดตามการบังคับคดีกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งอาจมีการตั้งคณะทำงานที่เป็นของภาคประชาชนโดยร่วมกับนักวิชาการ ในการติดตาม ตรวจสอบ การดำเนินการของกรมควบคุมมลพิษอย่างจริงจัง เพื่อให้ค่าสารพิษที่ตกค้างในธรรมชาติลดลง และคุณภาพชีวิตของชาวบ้านต้องดีขึ้น
 
ส่วนบทเรียนจากกรณีคลิตี้ สะท้อนปัญหาที่ว่า รัฐยังไม่มีหลักประกันในการแก้ไขเยียวยาความเสียหายที่เกิดจากมลพิษจากอุตสาหกรรมที่รวดเร็วและเป็นธรรมพอ เพราะกรณีคลิตี้ต้องใช้เวลาถึง 15 ปี ซึ่งถือว่าเกินจะรับได้สำหรับสังคมประชาธิปไตยแบบประเทศเรา และเป็นการผลักภาระให้ประชาชนต้องใช้สิทธิทางศาลยาวนานถึง 9 ปี ทั้งที่ความเสียหายนั้นรัฐต้องมีมาตรการเยียวยาอย่างทันท่วงที
 
“โมเดลคลีตี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ควรปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้นอีก” ผู้อำนายการโครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อมกล่าว
 
นายสุรชัย กล่าวถึงการเคลื่อนไหวต่อไปขององค์กรด้านสิ่งแวดล้อมว่า จะมีการผลักดันการแก้ไขกฎหมายให้การแก้ไขปัญหามีความชัดเจนขึ้น เช่น มีกองทุนสิ่งแวดล้อมเพื่อไปไล่เบี้ยกับผู้ที่ก่อมลพิษ และช่วยเหลือในคดีความฟ้องร้องของชาบ้าน หรือการผลักดันระบบภาษีสิ่งแวดล้อมอีกครั้ง
 
ทั้งนี้ ผลวิเคราะห์ตัวอย่างน้ำและตะกอนดินในลำห้วยคลิตี้โดยกรีนพีซ เมื่อเดือน ก.พ.55 ยังคงพบการปนเปื้อนของสารตะกั่วในตะกอนดินสูงกว่าภาวะปกติทั่วไปตามธรรมชาติหลายร้อยเท่า รวมทั้งตรวจพบสารตะกั่วในดินมากกว่าค่ามาตรฐานคุณภาพดินของประเทศไทยสูงสุดประมาณ 5 เท่า จากดินบริเวณที่เคยถูกน้ำท่วมจากลำห้วย สอดคล้องกับรายงานผลการตรวจวัดปริมาณสารตะกั่วของกรมควบคุมมลพิษ ซึ่งตรวจในเดือน ก.ย.54 พบว่าในกุ้ง หอย ปู ปลา ซึ่งชาวบ้านนำมาบริโภคตามวิถีชีวิตที่ต้องพึ่งพิงธรรมชาติมีสารตะกั่วเกินค่ามาตรฐานอาหารที่มีสารปนเปื้อนหลายเท่า 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท