Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อนุสนธิจากที่”ประชาไท”ได้นำบทความ” ส.ศิวรักษ์:สถาบันสงฆ์” ลงเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2012 โดยที่ส.ศิวรักษ์ได้อ่านบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ เรื่อง”เงินกับสมณศักดิ์”ตีพิมพ์ลงในไทยโพสต์ ตามด้วยบทประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์ เรื่อง”ถามมหาจุฬาฯ” ได้เคยตีพิมพ์ลงไทยโพสต์ ฉบับวันที่ 18 มกราคม 2551 โดยในช่วงนั้น ส.ศิวรักษ์ได้เขียนจดหมายเป็นหนังสือร้องเรียนถึง สมเด็จพระมหาธีราจารย์ เจ้าคณะใหญ่ หนกลาง( 8 กุมภาพันธ์ 2551) และถึงผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ(5 กุมภาพันธ์ 2551) (ที่มา”สิ่งละอันพันละน้อย  ในโอกาส เปิดเรือนร้อยพัน 9 เมษายน 2550 มูลนิธิเสฐียรโกเศศ-นาคะประทีป) และบทประกายสำนึก”กระเบื้องเพื่องฟูลอย” ของพ.กิ่งโพธิ์ ซึ่งเขียนกลอนเหล่านี้ขึ้นมาเพื่อปุจฉา เพื่อจุดประกาย ส.ศิวรักษ์ได้อ่านบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ ในฐานะพุทธบริษัทท่านก็ตั้งคำถาม ขยายความต่อและเสนอข้อแนะนำขึ้นมา ส.ศิวรักษ์ เขียนว่า 

“ ข้าพเจ้าได้ทำหนังสือถึงเจ้าคณะกรุงเทพฯ ซึ่งก็คือ นายกสภามหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และเจ้าคณะภาค 1 ตลอดจนเจ้าคณะหนกลาง ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของอธิการบดีมหาจุฬาฯว่าถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป แต่ไม่ได้รับคำตอบเอาเลย จึงเขียนถึงผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งตอบมาว่า ไม่มีอำนาจหน้าที่เกี่ยวข้องกับอธิกาณ์ของสงฆ์”(ประชาไทย 2012-11-17)

และยังมีบทจุดประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์อื่นๆอีกที่ส.ศิวรักษ์อ้างถึงที่ได้ตีพิมพ์ลงใน ไทยโพสต์ แต่ผมจะไม่ขอกล่าวถึง

จากบทจุดประกายของ พ.กิ่งโพธิ์ดังกล่าว ในฐานะพุทธบริษัท ส.ศิวรักษ์จึงได้ทำจดหมายร้องเรียนไปถึงพระผู้หลักผู้ใหญ่ที่เกี่ยวข้อง ขอให้คณะสงฆ์ตรวจสอบข้อเท็จจริง และสถานะการต้องอาบัติปฐมปาราชิกหรือไม่ของอธิการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย(ประชาไทย 2012-11-17) ข้อความนี้ ส.ศิวรักษ์เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า

  1. ได้อ่านประกายสำนึกของ พ.กิ่งโพธิ์ เป็นปุจฉาสถานะการต้องอาบัติปฐมปาราชิกของอธิอการบดีมหาวิทยาลัย มหาจุฬาลงกรณวิทยาลัย (อดีต พระธรรมโกศาจารย์ ปัจจุบัน พระพรหมบัณฑิต ชั้นหิรัญบัตร) ในฐานะพุทธบริษัทที่เป็นห่วงพระศาสนาคนหนึ่งพึงกระทำ ส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือถึงคณะสงฆ์ที่เป็นฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาสอบสวน ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากบทประกายสำนึกของพ.กิ่งโพธิ์ปุจฉาขึ้นมา เพื่อตอบข้อเท็จจริงว่า ท่านต้องอาบัติปฐมปราชิกหรือไม่ แล้วเฉลยออกมาให้ปรากฏกระจ่างแจ้งต่อทุกๆฝ่าย
  2. เพื่อให้เป็นไปตามความถูกต้องของกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่ได้ตราไว้(พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505 และพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ 2 )พ.ศ.2535) เป็นไปตามหลักพระวินัยและธรรมเนียมประเพณีระบบการปกครองของคณะสงฆ์ไทย พระสงฆ์เมื่อถูกโจทย์อธิกรณ์ คณะสงฆ์จะต้องตรวจสอบ ต้องสอบสวนกัน คือเป็นเรื่องที่คณะสงฆ์จะต้องจัดต้องทำเลย
  3. ส.ศิวรักษ์ได้เขียนไว้อย่างชัดเจนว่า “ถ้าผู้ที่ถูกกล่าวหา เป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ฟ้องหนังสือพิมพ์ ไทยโพสต์ และผู้เขียน ถ้าเป็นอลัชชีตามข้อกล่าวหา ก็ควรให้ลาสมณเพศไป”นี้คือการให้เกียรติและข้อเสนอแนะทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

หนังสือที่ส.ศิวรักษ์ร้องเรียนไปลงวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2551 ตราบจนถึงปัจจุบันนี้(มกราคม 2556) ส.ศิวรักษ์ยังไม่ได้รับคำตอบใดๆเลยจากคณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง นอกจาก จากผู้ตรวจการแผ่นดินและจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติที่ได้ตอบ การไม่ตอบหนังสือ การไม่ตอบจดหมาย หรือการไม่ชี้แจงใดๆเลย ถือว่าเป็นการผิดมารยาทตามหลัก praxis สากลที่เขาปฏิบัติกัน หรือตีความได้อีกทางหนึ่งว่า นี้แสดงถึงความขาดศักยภาพหรือขาดประสิทธิภาพต่อการปฏิบัติการให้เป็นไปตามกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทยที่ได้ตราไว้(พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2505) และขาดมาตรฐานของหลักการบริหารขั้นต้นที่ควรปฏิบัติกัน พูดให้ชัด กฏ ระเบียบการที่ตราประกาศไว้นั้น ไม่มีความหายใดๆเลย

และแล้วสมภาร พรมทาก็ออกมาแสดงความคิดเห็น และตอบโต้ข้อร้องเรียนของส.ศิวรักษ์ ต่อท้ายบทความ ส.ศิวรักษ์ :สถาบันสงฆ์( ประชาไทย 17 พฤศจิกายน 2012) สมภาร พรมทาเขียนว่า

“...การฟังความมาเพียงเท่านั้น ก็เอามาเสนอต่อสาธารณชนทันที แม้ท่านอาจารย์จะไม่สรุปว่าใครผิดหรือไม่ แต่ท่านอาจารย์ก็ทราบว่า ท่านเสียหายในกรณีนี้ท่านเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ว่าไปแล้วท่านเหล่านี้ไม่อยู่ในสถานะที่จะมาต่อกรทางสื่อกับกับท่านอาจารย์ได้ ท่านเป็นพระ ดังนั้นต่อให้ท่านอาจารย์ท้าทายว่า ไม่จริงก็ไปฟ้องศาลซิ ท่านก็ไม่ทำดอกครับ นึกถึงจิตใจของลูกศิษย์ท่านเหล่านี้ซิครับว่าเขาจะคิดอย่างไร”

จากข้อความดังกล่าว สมภาร พรมทาบอกว่า ส.ศิวรักษ์นั้นหูเบา ตรรกะของสมภาร พรมทาคือ การสอบสวน การตรอจสอบผู้กระทำผิดต่อกฏ ผิดต่อระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ และผิดต่อพระวินัย ตลอดทั้งผิดต่อกฏหมายของบ้านเมืองนั้น ขึ้นอยู่กับสถานะของบุคคลผู้นั้น เช่นกรณีนี้ ท่านเป็นพระ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ ดังนั้นไปแตะต้องท่านไม่ได้ ทำให้ท่านเสียหาย และยังกระทบจิตใจของผู้เป็นลูกศิษย์ลูกหาของท่านอีก ดังนั้น สำหรับสมภาร พรมทา ความผิดถูกของมนุษย์นั้น จะขึ้นอยู่กับ”สถานะ”ของบุคคลผู้นั้น ในที่นี้คือความเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ของท่าน ท่านเป็นพระสงฆ์และท่านเป็นผู้ที่มีลูกศิษย์ลูกหา

“...ผมเองก็รับรู้มา จากแหล่งเดียวกันกับท่านอาจารย์ และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่อาจารย์รับรู้มา เมื่อค่อยๆชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ...”

ถือเป็น  a priori ถือเป็นจริยวิธีการของนักวิชาการที่ต้องเปิดเผยที่ไปที่มาของข้อมูล(source)ที่ตัวเองได้อ้างถึง กล่าวคือข้อมูลที่อ้างถึงนั้นจะต้องโปร่งใส สมารถตรวจสอบได้(transparent) มิใช่อ้างขึ้นมาลอยๆ และแหล่งอื่นๆที่มากกว่าที่อาจารย์รับรู้มา” สมภาร พรมทา ออกมารับและเป็นผู้ตัดสินแทนฝ่ายที่เกี่ยวอย่างเสร็จสรรพ คำถามต่อมาคือ สมภาร พรมทารู้ได้อย่างไรว่าส.ศิวรักษ์ได้ข้อมูลมาจากแหล่งเดียว ได้สอบถามส.ศิวรักษ์หรือไม่ “ เมื่อชั่งน้ำหนักดูแล้ว ผมคิดว่ายังไม่เพียงพอที่เราจะเป็นห่วง ผมจึงเงียบ ตีความได้ว่า สมภาร พรมทา ตั้งตัวเองเป็นคณะสงฆ์สอบสวนอธิกรณ์เอง หรือตีความได้อีกทาง กรณีนี้ สมภาร พรมทาทำตัวเป็นตำรวจ ทนายความ อัยการและผู้พิพากษาไปในตัวอย่างเสร็จสรรพ อย่างน้อยก็จากข้อความที่ผ่านสื่อ

“ท่านอาจารย์อาจไม่ทราบว่า ทำไมร้องเรียนไปยังคณะสงฆ์แล้วท่านเงียบ ไม่ตอบกลับท่านอาจารย์มา ท่านไม่ตอบหรอกครับ เพราะพระวินัยให้ดุลยพินิจแก่ท่าน(อนิตสิกขาบท)ว่า ก่อนจะดำเนินการต่อ อุบาสกอุบาสิกาที่ร้องเรียนอธิกรณ์นั้น จะต้องเป็นผู้ที่คณะสงฆ์เชื่อมั่นอย่างไร้ข้อสงสัยว่าหวังดีกับพระศาสนาและเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ ที่ท่านเงียบก็แปลว่าท่านเห็นว่า ท่านอาจารย์สุลักษณ์ไม่เข้าข่าย ผมตีความอย่างนั้น”

จากข้อความดังกล่าว สมภาร พรมทาต้องการสอนส.ศิวรักษ์ (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) และเป็นผู้ตัดสินแทนคณะสงฆ์แบบมีสูตรสำเร็จพกมาในกระเป๋าของตนเองอยู่แล้ว ถึงแม้สมภาร พรมทาจะออกตัวว่า”ผมตีความอย่างนั้น”(ย้ำ) ผมอดชื่นชมความเก่งกล้าสามารถ และความเชื่อมั่นในตนเองของสมภาร พรมทาไม่ได้ ถือได้ว่านี้เป็นการฟันธงต่อส.ศิวรักษ์อย่างที่ผมไม่เคยได้ยินได้อ่านจากที่ไหนมาก่อนเลย (ไม่ว่าจะในความหมายใดๆ) สมภาร พรมทารู้ได้อย่างไร ว่าคณะสงฆ์(ในความหมายของคณะสงฆ์แบบองค์รวม หรือคณะสงฆ์ที่รวมกันเป็นกลุ่ม เป็นคณะปัจเจกบุคคล มีธุระหน้าที่รับผิดชอบเฉพาะกิจในเรื่องนั้นๆ สมภาร พรมทา ไม่ได้บ่งบอก ) มีความเชื่อ มีความเข้าใจว่าส.ศิวรักษ์ไม่หวังดีต่อพระศาสนา และส.ศิวรักษ์ไม่มีความเป็นผู้ใหญ่เพียงพอ คำใหญ่ๆโตๆอย่างนี้สมภาร พรมทาก็ไม่ได้อธิบายขยายความ และที่คณะสงฆ์เงียบไปนี้(คณะสงฆ์ที่เกี่ยวข้อง หรือควรที่จะเกี่ยวข้องต่อกรณี) เพราะคณะสงฆ์ปล่อยให้สมภาร พรมทาออกรับแทน หรือเพราะคณะสงฆ์ยังไม่มีอะไรตอบ หรืออยู่ในวาระปฏิบัติงานอยู่ หรือเพราะคณะสงฆ์สรุปออกมาแล้วว่าข้อร้องเรียนนั้นไม่มีมูลอะไรเลย แต่ไม่ได้ตอบให้ผู้ร้องเรียนรับทราบ หรือเพราะเหตุผลอย่างอื่นๆและฯลฯ กรณีนี้ เมื่อคำนึงระยะเวลาและศักยภาพของการทำงานของคณะสงฆ์ กล่าวคือ ส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือขึ้นมาร้องเรียนตั้งแต่ต้นปี 2251 ตราบจนถึงปัจจุบัน ก็นับได้ว่าเป็นเวลานานหลายปีเข้าไปแล้ว      

“ ว่าไปแล้ว คณะสงฆ์ไทยเวลานี้ แม้จะมีเรื่องไม่ดีอยู่บ้าง แต่ก็ไม่เลวร้ายอะไรหนักหนาดอกครับ ผมเป็นคนในรู้ดี ท่านอาจารย์ต่างหากที่เป็นคนนอก”

สมภาร พรมทาอาจถือว่าตัวเองเป็นผู้มีความสามารถ และมีความชอบธรรมที่จะฟันธงสถานะและกำหนดมาตรฐานภาพรวมของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบันได้ อาจจะถูก แต่สมภาร พรมทาก็ไม่มีความชอบธรรมมากไปกว่าส.ศิวรักษ์ และเอาอะไรมากำหนด เอาอะไรมาวัดว่าตัวเขาเองเป็น”คนใน”และเป็นผู้”รู้ดี”ในขณะไปกำหนดว่าส.ศิวรักษ์นั้นเป็น”คนนอก”ย่อมไม่รู้ดี สมภาร พรมทา อาจจะถือตัวเอง อาจจะอ้างว่าตัวเองว่าเคยบวชเรียนมา เป็นนักวิชาการทางพุทธศาสนา และเป็นนักอะไรต่ออะไร( อ่านแบบ underline ภาษาบ่งบอกมาอย่างนั้น) การฟันธงคำใหญ่ๆโตๆลงไป ประดิดประดอยวาทกรรมเพื่อให้เท่เก๋ไก๋ขึ้นมา แล้วเดินหนีไปเฉยๆ โดยไม่ได้อธิบาย ไม่ได้ให้ข้อมูลและไม่มีข้อเสนออะไรใหม่ๆนั้น ตีความได้ว่า นี้อาจเป็นความเมามัน อาจเป็นวาทกรรมของนักปลุกระดม นักโฆษณาชวนเชื่อก็เป็นได้ ขอประทานโทษ คงจะไม่แตกต่างไปจากการผายลมในวงสนทนาแล้วเดินหนีไปเฉยๆนั้นเอง

ประชาไทลงบทความ”ท่านจันทร์สันติอโศก:ส.ศิวรักษ์ กับ คนเสื้อเหลือง-คนเสื้อแดง(21 ธันวาคม 2555) สมภาร พรมทาได้เขียนต่อท้ายบทความของท่านจันทร์ดังนี้

“ค่ำวันวาน ออกไปเดินเล่นสูดอากาศเพราะเพิ่งพื้นไข้ ภรรยาเดินออกไปหา ส่งโทรศัพท์ให้ บอกว่าท่านอาจารย์ส.จะขอคุยด้วย พอแนบโทรศัพท์เข้ากับหู ท่านอาจารย์ก็”ใส่”ผมแบบไม่ยั้ง เรื่องที่ผมเรียนติงท่าน เรื่องที่ท่านวิจารณ์ท่านอธิการบดีมหาจุฬาฯ ไม่เห็นหน้ากัน เลยไม่ทราบว่าน้ำเสียงที่ดุดันรุกแบบเอาเป็นเอาตาย นั้นเป็นสีหน้าของมิตรหรือศัตรู พอท่านใส่ชุดใหญ่พอแล้ว ผมก็ขอโอกาสพูดบ้าง อย่างผู้น้อย ดูท่านไม่ค่อยฟัง พูดแทรก ตัดบท ผมก็เลยไม่มีแก่ใจที่จะชี้แจงอะไร แต่ก็ได้พูดไปกับท่านว่า ผมมีวิธีคิด วิธีทำงานแบบของผม ท่านถามผมว่า ทำไมยังอยู่กับพวกอลัชชี พวกนี้มันเหี้ยทั้งนั้น สำหรับผม ไม่มีอลัชชี ไม่มีเหี้ย มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาดด้วยกันทั้งนั้น รวมทั้งผมเองด้วย หากอยากช่วยเพื่อนมนุษย์ อย่าด่า ผมไม่เชื่อว่าด่าแล้วจะช่วยใครได้”

ตรงนี้ต้องทำความเข้าใจกันให้ชัดว่า ส.ศิวรักษ์ไม่ได้วิจารณ์อธิการบดีมหาจุฬาฯ หากส.ศิวรักษ์ได้ทำหนังสือร้องเรียนต่อคณะสงฆ์และฝ่ายที่เกี่ยวข้องให้ตรวจสอบการต้องอาบัติปฐมปาราชิกอธิการบดีมหาจุฬาฯหรือไม่ พร้อมทั้งมีข้อเสนอแนะด้วย นี้คือประเด็น ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด(ย้ำ)ที่สมภาร พรมทาถูกส.ศิวรักษ์”ด่า”ทางโทรศัพท์จนทำให้สมภาร พรมทางุนงงหลงทาง หลงประเด็นไปนั้น (เช่นเขียนว่า “ ขออนุญาตออกปลีกวิเวก... อาจเป็นปี และตลอดไป”คือฝังใจกับ”คำด่า”แต่ละเลยไปว่าที่ด่า ด่าในเรื่องอะไร ) ความข้อนี้คงอธิบายได้หลายระดับ แต่ปฐมสาเหตุน่าจะมาจาก เพราะทั้งสองท่านไม่รู้จักกันดีพอ ไม่มีความสนิทสนมกัน และไม่ชินต่อการพูดคุยสนทนากัน สมภาร พรมทาเองก็ยอมรับว่านี้เป็นครั้งแรกที่พูดกันทางโทรศัพท์ ยังไม่ต้องไปพูดถึงขั้นขนาดใช้ผรุสวาจตอบโต้กันได้อีกเลย เพราะการใช้ผรุสวาจตอบโต้กันได้ บ่งถึงสถานะของการรู้จักและความสนิทกันได้ เมื่อโดน”ใส่”สมภาร พรมทา ย่อมตั้งตัวไม่ติด อารมณ์ที่ตกอยู่ในสภาวะเช่นนั้นย่อมเป็นใหญ่ ย่อมเป็นนายอยู่ดี ยังมิพักต้องไปพูดถึง หัวข้อ Discourse อีกเลย อารมณ์ของมนุษย์เรานั้นบางทีมันไม่ขึ้นอยู่กับสถานะและวุฒิภาวะของบุคคลเลย เป็นปราชญ์ก็มีสิทธิ์หลุดได้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้(ย้ำ) เกิดขึ้นได้กับมนุษย์ทุกคน คือมิใช่เรื่องแปลก แต่ที่แปลกก็คือ นำเอาเหตุการณ์และภาวะในบัดนั้นขึ้นมาร้อยเรียงเขียนเป็นกิจจะลักษณะ เขียนแบบผู้เขียน (จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม) เป็นพระเอกยืนโต้ลมหนาวและห่าฝนอยู่เพียงผู้เดียว เขียนแบบภาษาดอกไม้ สุภาพและเรียบง่าย แต่ลึกๆแล้วแฝงเร้นไปด้วย ความคับแค้น ดูเหมือนไม่มีเจตนาดีเป็นที่ตั้ง และดูเหมือนต้องการ discredit ฝ่ายตรงกันข้าม หรือโดยนัยยะหนึ่ง เมื่อโดน”ใส่” เมื่อถูกกระทบ ความคับแค้นที่ถูกเก็บไว้ก็ระบายขยายออกมาแบบไม่มีขอบเขต ถือเป็นธรรมชาติของสัญชาตญาณการปกป้องตนเองของคนเรา และโดยธรรมชาติของมนุษย์นั้น มักจะเข้าข้างตัวเองเสมอ อันนี้เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ อลัชชีนั้นมีจริง ไม่ว่าในสมัยพุทธกาลหรือในสมัยปัจจุบัน และคำว่า “ไม่มีอลัชชี ...มีแต่มนุษย์ที่ผิดพลาด”ของสมภาร พรมทา หมายความว่าอย่างไร หรือนี้เป็นแค่การสร้างวาทกรรมขึ้นมาเพื่อความเก๋ไก๋ หรือไร้ความหมายใดๆ

“เดินทางกลับเข้าบ้านแบบมึนๆ ถามภรรยาว่า โทรศัพท์เครื่องที่ใช้นี้มีที่เก็บเสียงที่เพิ่งได้รับไว้ไหม ภรรยาบอกว่าไม่มี แล้วถามทำไมเหรอ ผมก็ไม่ตอบอะไร บอกเพียงว่าถามอย่างนั้นเอง ที่ถามเพราะตอนนั้นรู้สึกว่า หากมีการอัดเสียงไว้ ก็น่าจะดีที่จะเอามาเปิดให้คนอื่นฟัง จะได้ช่วยวินิจฉัยว่า ท่านอาจารย์ของเราที่ใครๆยกย่องว่าเป็นปัญญาชนสยาม ท่านพูดกับผมอย่างไรบ้าง...”

คำถามสั้นๆคือ สมภาร พรมทา คิดไปไกลถึงขนาดนี้ได้อย่างไร เพราะอะไรจึงคิดอย่างนี้ และสมภาร พรมทาคิดได้แค่นี้หรือ

“...ท่านอาจารย์ส.นั้น ผมรู้สึกว่าท่านอ่านยาก คนที่อ่านยากอย่างนี้ผมจะไม่เข้าหา พยายามอยู่ห่างๆ การพูดกันทางโทรศัพท์นั้นก็เป็นครั้งแรกที่ผมกับท่านพูดจากัน ไม่นับการทักทายกันตามมารยาทในงานสาธารณะ สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติอย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระและมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้...”

นอกจากกำหนดและสร้างมาตรฐานต่อคนอื่นแล้ว ด้วยความเคารพ แสดงว่าสมภาร พรมทาไม่ได้รู้จักผลงานของส.ศิวรักษ์ และไม่ได้รู้จักตัวตนของส.ศิวรักษ์ดีเลย เพราะสมภาร พรมทามีสูตรสำเร็จเป็นไม้บรรทัดเพื่อวัด เพื่อกำหนด หรือลดทอนคนอื่น(reducera) กล่าวคือ สำหรับสมภาร พรมทา ส.ศิวรักษ์เป็นผู้ที่อ่านยาก ต้องอยู่ห่างๆ “ สำหรับผม คนที่จะเป็นหลักของสังคมต้องมีคุณสมบัติ อย่างแรกเลยคืออ่านง่าย เย็น นิ่ง พูดน้อย แต่หนักด้วยสาระ และมีเมตตาที่คนอื่นรับรู้ได้...” ตรรกะและ Retorik ในที่นี้คือ ในเมื่อสมภาร พรมทาเลือกเป็นผู้อยู่ห่างๆส.ศิวรักษ์ แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ศิวรักษ์นั้นอ่านยาก จะรู้ได้อย่างไรว่า ส.ศิวรักษ์นั้นไม่มีสาระ และไม่มีเมตตา  

สุรพจน์ ทวีศักดิ์ เขียนบทความ “กรณีส.ศิวรักษ์ เรียกร้องให้ตรวจสอบอาบัติปาราชิกอธิการบดีมกาจุฬาฯ”(ประชาไทย 2012-12-22) โดยสุรพจน์ ทวีศักดิ์จับ Discourse ถูกประเด็น และขยายความอย่างเป็นตรรกะ(ตรรกะตามกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทย พระวินัยและจารีตประเพณีของการปกครองคณะสงฆ์ไทย) พร้อมทั้งเสนอแนะด้วย กล่าวคือเมื่อคณะสงฆ์ได้รับการร้องเรียนอธิกรณ์แล้ว คณะสงฆ์จะต้องลงมือทำงานทันที มิใช่โอ้เอ้วิหารราย ทอดธุระ ปล่อยปละละเลย มานานหลายปีอย่างนี้ ทั้งนี้ เพื่อรักษาศรัทธา เพื่อปกป้องพระศาสนา เพื่อความศักดิ์สิทธิ์ของกฏ ระเบียบการที่ได้ตราไว้ และเพื่อความน่าเชื่อถือของการปกครองคณะสงฆ์ ตลอดทั้งเพื่อความโปร่งใสต่อผู้ที่เกี่ยวข้องทุกๆฝ่าย จำต้องมีการลงมือปฏิบัติการตรวจสอบ สอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งเฉลยผลให้ปรากฏแก่ทุกๆฝ่ายรู้ สุรพจน์ ทวีศักดิ์ยังได้บ่งบอกไว้อย่างชัดเจนว่า ท่านผู้เป็นโจทย์นั้นล้วนแต่เป็นนิติบุคคล มีตัวตน เป็นบุคคลสาธารณะ เป็นที่ยอมรับนับถือของสังคม ยังไม่ต้องพูดถึงสถานะเพื่อพระศาสนาและความเป็นพุทธบริษัทของส.ศิวรักษ์อีก

สมภาร พรมทาได้เขียนข้อความต่อท้ายบทความของสุรพจน์ ทวีศักดิ์ดังกล่าว เช่น

“ผมรู้สึกเบื่อกับการแสดงความเห็นผ่านสื่อที่เปิดออกไปอย่างไม่มีขอบเขต ทำให้ชีวิตและความคิดของมนุษย์คนหนึ่งที่มีขอบเขตเฉพาะอย่างผมยากที่ท่าน ที่ไม่รู้จักผมจะเข้าใจ...เหนื่อย...โลกไซเบอร์เป็นเช่นนี้เอง”

จากข้อความนี้ สมภาร พรมทาเข้าใจว่า ที่คนอื่นๆเข้าใจผิดไปนั้น เพราะความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ คือสมภาร พรมทาพูดและเขียนอะไรแล้วยิงภาษาของตนเองเข้าไปเรียงรายอยู่ในพรมแดนของโลกไซเบอร์ ที่ไม่สามารถกำหนดและเป็นนายภาษาของตัวเองได้แล้ว ความผิดคือ เพราะความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ ไม่ใช่ผู้เป็นเจ้าของภาษา ทั้งๆที่สมภาร พรมทานั้นรู้ดีว่า ภาษานั้น ไม่ว่าจะเป็นภาษาพูดหรือภาษาเขียน เมื่อพูด เมื่อเขียนขึ้นมาแล้ว ผู้พูดและผู้เขียนก็ยังเป็นเจ้าของภาษานั้นอยู่ ยากที่จะปฏิเสธได้ ผู้ฟังและผู้อ่านก็มีสิทธิ์ที่จะรับรู้ ที่จะแปลและตีความได้ เป็นเรื่องง่ายเกินไปที่จะไปโยนความผิดให้กับความไร้พรมแดนของโลกไซเบอร์ หรือโยนความผิดให้กับการแปลการตีความของคนอื่นๆ ท้ายของข้อความที่เป็น”ภาษา”ของสมภาร พรมทา ได้บ่งบอกไว้ว่าจะปลีกวิเวกไป อาจเป็นปี และตลอดไป แต่จากบท”สัมภาษณ์สมภาร พรมทา: “อนาคตสถาบันสงฆ์ในสังคมประชาธิปไตย” (ประชาไทย 26 ธันวาคม 2555) โดยสุรพจน์ ทวีศักดิ์ ให้คำตอบว่า สมภาร พรมทาไม่ได้ปลีกวิเวกไปไหนเลย จากการตอบคำถามข้อสุดท้าย สมภาร พรมทายังได้ตอบว่าเพราะ”สาระ”ของข้อมูลในจดหมายที่ส.ศิวรักษ์เขียนขึ้นมาร้องเรียนนั้นไม่มีน้ำหนักเพียงพอ ครานี้สมภาร พรมทา โยนความผิดไปที่”สาระ”ตามจดหมายร้องเรียนนั้น  จดหมายที่ส.ศิวรักษ์เขียนขึ้นมาร้องเรียนนี้ เป็นหนังสือร้องเรียนขั้นต้นขอให้คณะสงฆ์และผู้ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล หลักฐานของโจทย์ จดหมายของส.ศิวรักษ์ไม่ได้เป็นเอกสารสมบูรณ์แบบทางข้อมูลและหลักฐาน และไม่มีข้อสรุปใดๆ นี้คือ”สถานะ”และประเด็นหลักของหนังสือร้องเรียนของส.ศิวรักษ์ สมภาร พรมทาเองก็ยอมรับว่าส.ศิวรักษ์ไม่ได้สรุปว่าใครผิดใครถูก การพูดถึง”สาระ”ของจดหมายร้องเรียนขั้นต้นที่สมภาร พรมทาเรียกหาจึงขาดตรรกะและเป็นการเข้าใจผิด สมภาร พรมทาจะให้คำตอบ จะให้ข้อสรุปอย่างถูกต้อง และเสร็จสมบูรณ์แบบต่อสิ่งที่ยังไม่ได้ลงมือปฏิบัติ ตรวจสอบและพิสูจน์หลักฐานให้ปรากฏขึ้นมาได้อย่างไร

ผมนั้นเป็นคนไกลปืนเที่ยงเกินไป ไม่เคยรู้จักสมภาร พรมทาเป็นการส่วนตัว จำได้ว่าเมื่อหลายสิบปีก่อน ผมเคยเห็นชื่อท่านในวารสารรายสัปดาห์ที่ผมรับประจำ โดยได้อ่านบทกวีที่ท่านเขียน ช่วงนั้นท่านยังบวชอยู่ เพราะชื่อท่านแปลก ผมเลยจำได้(อย่างน้อยผมก็เชื่ออย่างนั้น) เมื่อไม่กี่ปีมานี้ผมได้พบกับอาจารย์ท่านหนึ่งสอนอยู่ที่สถาบันเดียวกันกับสมภาร พรมทา อาจารย์ท่านนี้ไปสอนพิเศษที่ยุโรปอยู่ช่วงหนี่ง ท่านบอกผมว่าสมภาร พรมทาคือศาสตราจารย์ประจำสถาบันที่ท่านสอน พอได้ยินชื่อผมก็ดีใจ เพราะในอดีตที่ผ่านเลย ผมเคยได้อ่านบทกวีของท่านมา ช่วงหลังๆนี้ก็พอได้อ่านผลงานทางวิชาการของท่านบ้าง เมื่อดูสถานะทางวิชาการและผลงาน ผมจึงแปลกใจที่เห็นการแสดงความคิดเห็นของสมภาร พรมทาต่อส.ศิวรักษ์ในกรณีนี้ แน่นอนความคิดเห็นต่างและการวิพากษ์วิจารณ์(Kritisk)เป็นวิธีการที่ถูกต้องและเป็นความจำเป็นต่อ Discourse นั้นๆ หากมิใช่แสดงความคิดเห็นแบบไปโลดไปเลย โดยนัยยะหนึ่งสมภาร พรมทาหันลูกศรธนูผิดที่ผิดทางไป หรืออย่างภาษาของ Shakespeare ” Don t shoot the messenger ”

ย่อมเป็นที่รู้จักอย่างประจักษ์แจ้ง คือเป็น a priori ไปแล้วว่า ส.ศิวรักษ์ ปราชญ์สยามประเทศท่านนี้   เป็นพุทธบริษัท  เป็นศาสนิกชนผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยศรัทธาปสาทะต่อพระพุทธศาสนาอย่างแม่นมั่นและมั่นคง การตั้งคำถามว่าส.ศิวรักษ์หวังดีต่อพระศาสนาหรือไม่ เป็นผู้หลักผู้ใหญ่ มีความน่าเชื่อถือต่อพระศาสนาหรือไม่ และฯลฯ คำถามเช่นนี้ ถือได้ว่า เป็นคำถามที่ไม่ใช่คำถาม (non-question) เป็นถามที่ไม่ควรตั้งคำถามขึ้นมาเลย หรือ ขอโทษครับ เป็นคำถามที่ออกจะไร้มารยาท แน่นอนผมเองก็มีสูตรสำเร็จต่อส.ศิวรักษ์ แต่สูตรสำเร็จนั้นก็ตั้งอยู่บนสถานะและระดับผลงานของส.ศิวรักษ์เองเป็นหลัก โดยนัยยะหนึ่ง เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวทางส่วนตัวของปัจเจกบุคคลเลย

เรื่องอธิกรณ์อาบัติปฐมปาราชิกพระภิกษุสงฆ์ ถ้าผมเข้าใจไม่ผิด(ย้ำ) เป็นความสำคัญของกฏ ระเบียบการปกครองคณะสงฆ์ไทย และพระวินัย ถือเป็นความเป็นความตายต่อปัจเจกบุคคลที่เกี่ยวข้อง และลึกๆแล้วถือเป็นความเป็นความตายต่อศรัทธา ต่อการสืบสานพระศาสนาด้วย มิพักจะต้องเอ๋ยถึงกฏ ระเบียบ ข้อบังคับที่ได้ตราไว้ที่จะต้องลงมือปฏิบัติการอีกเลย และแล้วไฉนเอยกรณีสำคัญเช่นนี้ จึงกลายเป็นความเงียบที่หายไป

   

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net