Skip to main content
sharethis
13 ม.ค. 56 - คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคมออกแถลงการณ์กรณี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
 
แถลงการณ์กรณี คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดกรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้
โดย คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ ภาคประชาสังคม
 
สืบเนื่องจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด วันที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2556 กรณีสารพิษตะกั่วปนเปื้อนในลำห้วยคลิตี้ ระหว่างชาวบ้านคลิตี้ล่าง จำนวน 22 คน ผู้ฟ้องคดี กับกรมควบคุมมลพิษ ผู้ถูกฟ้องคดี ได้ชี้ว่ากรมควบคุมมลพิษผู้ถูกฟ้องคดีละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดและปฎิบัติหน้าที่ดังกล่าวล่าช้าจนเกินสมควร จากกรณีที่บริษัทตะกั่วคอนเซนเตรทส์ (ประเทศไทย) ผู้ก่อมลพิษได้ก่อให้เกิดการปนเปื้อนสารตะกั่วในน้ำดินตะกอนดินพืชและสัตว์น้ำ โดยกรมควบคุมมลพิษไม่ได้ดำเนินการจัดทำแผนหรือกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันหรือแก้ไขอันตรายจากมลพิษไว้ล่วงหน้า และไม่ทำการควบคุมตรวจสอบการดำเนินการแก้ไขปัญหาของบริษัทตามเวลาอันสมควรจนทำให้ชุมชนได้รับผลกระทบจากการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้และไม่สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติได้ ซึ่งนอกจากศาลจะกำหนดให้ชดใช้ค่าเสียหายให้ชาวบ้าน 22  ราย รวม 3.89 ล้านบาท แล้วศาลยังมีคำบังคับให้กรมควบคุมมลพิษกำหนดแผนงานวิธีการและดำเนินการฟื้นฟู ตรวจวิเคราะห์คุณภาพสิ่งแวดล้อมทุกฤดูกาลจนกว่าจะพบว่าค่าสารตะกั่วในน้ำดิน พืชผัก และสัตว์น้ำในลำห้วยคลิตี้ไม่เกินเกณฑ์มาตรฐานเป็นเวลาอย่างน้อย 1 ปี นั้น
 
ทางภาคประชาสังคม ซึ่งทำงานติดตามกรณีปัญหาดังกล่าว ได้มีการประชุมและจัดตั้ง คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ โดยมีมติแถลงการณ์เรียกร้องต่อกรมควบคุมมลพิษ ดังนี้
 
1.คณะทำงานฯ  คัดค้านท่าทีและความเห็นของกรมควบคุมมลพิษหลังศาลตัดสินที่ยืนยันจะใช้แนวทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ในการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วในลำห้วยคลิตี้ ซึ่งหมายถึงการไม่ดำเนินการฟื้นฟูใดๆ และได้พิสูจน์เป็นที่ประจักษ์จากระยะเวลาการใช้วีธีดังกล่าวนับสิบปีแล้วว่าแนวทาง ให้ธรรมชาติฟื้นฟูตัวเอง ไม่สามารถแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนสารตะกั่วที่มีผลกระทบต่อชุมชนได้จนถึงปัจจุบัน มาตรการดังกล่าวไม่ถูกต้อง และไม่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหา ดังนั้นกรมควบคุมมลพิษจึงต้องเปลี่ยนวิธีการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้ เพื่อให้ปริมาณการปนเปื้อนสารตะกั่วในอาหารและสิ่งแวดล้อมอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนคลิตี้โดยเร็ว
 
2. กรมควบคุมมลพิษต้องเร่งกำหนดแผนงาน วิธีการ ตรวจวัดคุณภาพสิ่งแวดล้อมและดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้จนกว่าสารตะกั่วจะลดลงในระดับที่ปลอดภัย ตลอดจนแก้ไขอันตรายอันเกิดจากการแพร่กระจายของมลพิษ ตามเงื่อนไขคำบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด โดยเร่งด่วน  ซึ่งในการดำเนินการต้องเปิดเผยข้อมูลและรับฟังความคิดเห็น สร้างการมีส่วนร่วมกับชุมชน และภาคประชาสังคม เพื่อให้การดำเนินงานโปร่งใส รวดเร็วและมีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
 
ทั้งนี้คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคมอยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอแนวทางการดำเนินการฟื้นฟูลำห้วยคลิตี้และกรณีศึกษาการฟื้นฟูจากต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เพื่อนำเสนอต่อกรมควบคุมมลพิษให้พิจารณาดำเนินการ และจะติดตามผลการบังคับตามคำพิพากษาคดีนี้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วและเป็นธรรมต่อไป
 
คณะทำงานติดตามการฟื้นฟูสายน้ำและชุมชนคลิตี้ภาคประชาสังคม ประกอบด้วย
 
1. ชุมชนคลิตี้ล่าง
2. โครงการนิติธรรมสิ่งแวดล้อม
3. ศูนย์ศึกษากะเหรี่ยงและพัฒนา
4. มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ
5. มูลนิธิบูรณะนิเวศ
6. กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. กลุ่มสตรีกาญจนบุรี
8. กลุ่มดินสอสี
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net