Skip to main content
sharethis

 

แจงค่าแรงงาน 300 บาทกระทบการท่องเที่ยวน้อย

8 ม.ค. 56 - นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผอ.ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ปัญหาการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน กระทบธุรกิจท่องเที่ยวไม่มากเท่ากับธุรกิจอื่น โดยจะส่งผลกระทบในแง่สภาพคล่อง เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายแรงงานต่อวันที่โรงแรมต้องเสียสูงขึ้น โดยธุรกิจโรงแรม และรีสอร์ทขนาดเล็กที่ใช้แรงงานมาก อาจประสบปัญหามากกว่า โรงแรมและรีสอร์ทขนาดใหญ่ที่มีสายป่านยาว อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการท่องเที่ยวที่ดี จะเป็นปัจจัยช่วยให้ผู้ประกอบการไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะหากนักท่องเที่ยวมามาก อัตราเข้าพักสูงขึ้น โรงแรมและรีสอร์ท ก็จะมีรายได้สูงขึ้น คุ้มค่ากับค่าแรงงานที่เสียมากขึ้น  โดยคาดว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยโรงแรมทั่วประเทศปีนี้ จะอยู่ที่ 65-70% เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 60%


“การที่นักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มเดินทางมาไทยมากขึ้นปีนี้ จะช่วยประคับประคองธุรกิจท่องเที่ยวให้เดินหน้าไปได้ อย่างไรก็ตามรัฐบาลต้องช่วยเหลือภาคเอกชนด้วย ทั้งด้านการลดภาษีที่เกี่ยวข้อง และการออกมาตรการเยียวยาอื่นๆ ส่วนระยะยาวจะต้องช่วยสนับสนุนการพัฒนาฝีมือแรงงาน เพื่อทำให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท ไม่เป็นอุปสรรคกับธุรกิจ” นายธนวรรธน์ กล่าว


นายธนวรรธน์ กล่าวด้วยว่า ทั้งนี้ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ได้ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จัดทำผลสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโลกที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยว ไทยในปี 56 โดยสำรวจจากผู้ประกอบการท่องเที่ยว 600 ราย สรุปว่าการท่องเที่ยวจะเป็นพระเอกสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจครึ่งปีแรกของปี นี้ ก่อนที่รัฐจะมีส่วนสำคัญขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากการใช้เม็ดเงินลงทุนโครงส้าง พื้นฐาน 200,000 ล้านบาท ช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งแม้เศรษฐกิจโลกมีปัญหาอยู่ แต่การท่องเที่ยวไม่ได้รับผลกระทบมากนักเพราะปรับตัวได้ อีกทั้งกลายเป็นโอกาสของไทย จากการที่นักท่องเที่ยวแถบประเทศยุโรปที่มีปัญหาเศรษฐกิจ หันมาเที่ยวไทยแทน เพราะคุ้มค่าเงินกว่า อย่างไรก็ตามนักลงทุนกังวลกับปัญหาการเมืองไทยที่สุด ว่า จะกระทบท่องเที่ยว ส่วนปัจจัยเศรษฐกิจโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่คำนึงถึง แต่ยังเชื่อว่าเศรษฐกิจโลกจะดีขึ้นครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 24.5 ล้านคน สร้างรายได้เกิน 1 ล้านล้านบาท และเป็นปีแรกที่รายได้ท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติจะทะลุ 1 ล้านล้านบาท โดยนักท่องเที่ยวจะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นทุกตลาด.

(เดลินิวส์, 8-1-2556)

 

ภาคก่อสร้าง ภาคเหนือขาดแคลนแรงงานอย่างหนัก

นายไพศาล ภู่เจริญ อุปนายกสมาคมการค้าอสังหาริมทรัพย์เชียงใหม่-ลำพูน เปิดเผยว่า จากการขยายตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในจังหวัดเชียงใหม่เมื่อปี 2555 โดยมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นกว่า 50 - 60% เมื่อเทียบกับปี 2554 ส่งผลให้พื้นที่การก่อสร้างเพิ่มขึ้นอย่างมากจากเดิมจังหวัดเชียงใหม่ในปี 2553 -2554 มีพื้นที่ก่อสร้างรวมประมาณ 3 แสนตารางเมตร ในปี 2555 และปี 2556 พบว่ามีพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นถึง 6 แสนตารางเมตร

ทั้งนี้ปัญหาที่ตามมาเมื่อพื้นที่ก่อสร้างเพิ่มขึ้นจะเกิดปัญหาแย่งชิง แรงงาน และขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างตามมา โดยเฉพาะโครงการขนาดใหญ่หลายแห่งจากปี 2555 ที่เริ่มวางฐานรากแล้วเร็จในปี 2556 จะเริ่มงานก่อสร้างเต็มรูปแบบ เช่น โครงการก่อสร้างศูนย์การค้าเซ็นทรัล เฟสติวัล เชียงใหม่ ที่มีพื้นที่มากกว่า 1.2 แสนตาางรางเมตร โครงการพรอมเมนาดา รีสอร์ท ช้อปปิ้งมอลล์ โครงการก่อสร้างโรงพยาบาลกรุงเทพ ฯลฯ

ด้านนายวัชระ ตันตรานนท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สุเทพพรอพเพอร์ตี้ จำกัด ในเครือวี กรุ๊ป กล่าวว่า ปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคก่อสร้างเริ่มมีให้เห็นและเกิดขึ้นแล้วเพราะการมี โครงการก่อสร้างเกิดขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ค่อนข้างมาก แม้แต่แรงงานต่างด้าวรับจ้างรายวันที่อยู่ตามถนนอัษฎาธร ในตัวเมืองเชียงใหม่ ก็เรียกค่าจ้างสูงถึงวันละ 400 - 500 บาทแล้ว เนื่องแรงงานจาดแคลนและมีความต้องการแรงงานในภาคก่อสร้างมีสูง

นายณัฐนารถ สินธุนาวา กรรมการผู้จัดการ บริษัท PCN จำกัด เอกชนผู้รับเหมาก่อสร้างในจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า แรงงานในภาคก่อสร้างถือว่ามีปัญหาขาดแคลนมาก เนื่องจากการขยายตัวของงานก่อสร้างที่เพิ่มขึ้นในจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งโครงการหมู่บ้านจัดสรร คอนโดมิเนียม ศูนย์การค้า ฯลฯ เบื้องต้นประเมินว่ามีแรงงานก่อสร้างหายไปจากระบบถึง 50%

"หากเป็นแรงงานในโครงการก่อสร้างถนนมีการเรียกร้องค่าแรงค่อนข้างสูง โดยเฉพาะแรงงานที่มีประสบการณ์และความชำนาญสูง เช่นพนักงานขับรถเครนบดถนน ค่าแรงสูงถึงวันละ 700 - 800 บาท พนักงานขับรถแบล็กโฮ ค่าแรงวันละ 400 -500 บาท หรือแม้แต่แรงงานทั่วไปในภาคก่อสร้างมีก็ค่าแรงไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาทแล้ว"นายณัฐนารถ กล่าว

นายณัฐนารถ กล่าวอีกว่า แต่ละเดือนบริษัทก่อสร้างและผู้รับเหมาแต่ละแห่งต้องประกาศรับสมัครงานไม่ ต่ำกว่า 10 - 20 ต่ำแหน่ง แต่ยอมรับว่าค่อนข้างหายากโดยเฉพาะแรงงานไทย ส่วนใหญ่มีแต่แรงงานต่างด้าวซึ่งก็เรียกร้องค่าแรงไม่ต่ำกว่าวันละ 300 บาท

(เนชั่นทันข่าว, 8-1-2556)

 

นราธิวาสไม่พบแนวโน้มเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท

8 ม.ค. 56 - รักษาการแรงงานจังหวัดนราธิวาส เผย จ.นราธิวาส ยังไม่พบแนวโน้มการปรับลดพนักงานหรือเลิกจ้าง หลังรัฐบาลประกาศใช้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 ม.ค.56

น.ส.อารี การธิโร รักษาการแรงงานจังหวัดนราธิวาส เปิดเผยว่า หลังมีการประกาศใช้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2556 ในส่วนของ จ.นราธิวาส ยังไม่พบแนวโน้มการปรับลดพนักงานหรือยกเลิกการจ้างงาน เนื่องจากอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเดิมอยู่ที่ 239 บาท ถือว่าปรับขึ้นจากเดิมไม่มากนัก อีกทั้งผู้ประกอบการส่วนใหญ่มีความเข้าใจในมาตรการของรัฐบาล และมั่นใจว่าในระยะยาวจะส่งผลดีต่อสภาพเศรษฐกิจโดยรวมให้ดีขึ้น เพราะจะช่วยลดปัญหาการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งใน จ.นราธิวาส มีผู้ใช้แรงงานจำนวนมากที่เดินทางเข้าไปทำงานในประเทศมาเลเซีย ทั้งที่ถูกกฎหมายและลักลอบเข้าไปอย่างผิดกฎหมาย เพื่อหวังค่าจ้างแรงงานที่สูงกว่า เมื่อมีนโยบายปรับค่าแรง 300 บาท เชื่อว่าจะส่งผลให้แรงงานไทยเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศมากขึ้น

ส่วนผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย (เอสเอ็มอี) ในพื้นที่กว่า 1,700 แห่ง มีผู้ใช้แรงงานอยู่ในระบบ 10,300 คน อาจได้รับผลกระทบในระยะแรก ทางจังหวัดได้เปิดจุดรับลงทะเบียนผู้ประกอบการทั้ง 13 อำเภอ เพื่อรับทราบปัญหาและหาแนวทางแก้ไข รวมถึงส่งเรื่องกลับไปยังระดับนโยบาย

(สำนักข่าวไทย, 8-1-2556)

 

เอกชนอัด รบ.ลดภาษี "เอสเอ็มอี" เกาไม่ตรงที่คัน เพราะเป็นธุรกิจที่ไม่มีกำไร

นายทวีกิจ จตุรเจริญคุณ รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวถึงกรณีกระทรวงการคลังจะเสนอให้มีการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลเอสเอ็มอี ที่มีกำไรไม่มาก เพื่อช่วยลดผลกระทบการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาททั่วประเทศว่า มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับเอสเอ็มอี นับเป็นการแก้ไขปัญหาไม่ตรงจุด เพราะธุรกิจเหล่านี้ไม่ค่อยจะมีกำไร จึงไม่มีประโยชน์ที่จะยกเว้นหรือลดอัตราภาษีและเห็นว่าข้อเสนอของอุตสาหกรรม 5 ภาค ทั้ง 7 มาตรการเป็นการแก้ไขปัญหาที่ตรงจุด

สำหรับการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลลงนั้น นายทวีกิจ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และมีทุนมากกว่าเอสเอ็มอีจะได้ประโยชน์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นธุรกิจของต่างชาติ บริษัทเหล่านี้ใช้เครื่องมือและเทคโนโลยีมากกว่าแรงงาน ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้รัฐบาลออกมาตรการดูแลช่วยเหลือเอสเอ็มอีอย่างจริง จัง โดยมาตรการที่จะออกมาช่วยต้องเป็นรูปธรรมที่ทำแล้วเห็นผลทำได้จริง การช่วยเหลือด้านสภาพคล่องก็เป็นส่วนหนึ่งที่สามารถช่วยได้ แต่ไม่ใช่ทั้งหมดเพราะผลกระทบเกิดขึ้นแล้วจากต้นทุนการปรับเพิ่มค่าแรงเป็น 300 บาท

นายทวีกิจ กล่าวอีกว่า สำหรับธุรกิจส่งออกที่เป็นรายเล็กและเอสเอ็มอี ขณะนี้การปรับค่าแรง 300 บาท เริ่มส่งผลกระทบแล้วหลายอุตสาหกรรมทั้งสิ่งทอและอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้ม ข้น โดยต่างจังหวัดที่รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศหายไปแล้วเฉลี่ยร้อยละ 10-20 ขณะที่การเพิ่มราคาทำได้ยาก เพราะลูกค้าต่างประเทศจะหันไปสั่งซื้อจากประเทศอื่นที่ต้นทุนถูกกว่า โดยผู้สั่งซื้อมองว่าการปรับเพิ่มราคาเป็น เพราะ นโยบายค่าแรงของประเทศไทย จึงจะไปสั่งซื้อในประเทศคู่แข่งที่ต้นทุนค่าแรงถูกกว่าแทน เช่น เวียดนามและกัมพูชา

ด้านนายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รมว.แรงงาน กล่าวว่า กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) รายงานว่าตั้งแต่วันที่ 1-4 ม.ค. 2556 มีสถานประกอบการได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทแล้ว 4 แห่ง เลิกจ้างลูกจ้าง 275 คน

“ยังมีแนวโน้มเลิกจ้างอีก 2 แห่ง ลูกจ้าง 480 คน และมีอีก 5 แห่ง ที่ส่งสัญญาณขาดสภาพคล่องและหมดสัญญาเช่าที่ ลูกจ้าง 999 คน” นายเผดิมชัย กล่าว

ดังนั้น การประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ม.ค. จะหารือมาตรการเยียวยาเอกชนที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ โดยนายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่มปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า คลังจะเสนอ ครม. ช่วยเหลือเอสเอ็มอีที่มียอดรายรับไม่เกินปีละ 50 ล้านบาท โดยขยายฐานยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นกำไรไม่เกิน 3 แสนบาทแรก เดิมยกเว้น 1.5 แสนบาทแรก

สำหรับกำไรที่เกิน 3 แสนบาท แต่ไม่เกิน 1 ล้านบาท เสียในอัตรา 15% และรายได้เกิน 1 ล้านบาท เสีย 20% เหมือนเดิม

นายเผดิมชัย กล่าวว่า จะเสนอมาตรการเพิ่มเติม 5 ข้อ คือ 1.ลดค่าธรรมเนียมห้องพักโรงแรม จากปัจจุบันที่จัดเก็บห้องละ 80 บาท/ปี นาน 3 ปี ลดค่าธรรมเนียมประกอบธุรกิจรายปีลง 50%

2.จัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปสถานศึกษาและสถานประกอบการ 3.เพิ่มค่าใช้จ่ายจัดประชุมสัมมนาส่วนราชการ 4.จัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ และ 5.ลดภาษีหัก ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 2%

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 8-1-2556)

 

มติ ครม.ออก 6 มาตรการการ อุ้ม SMEs ชงลดภาษีเหลือ 15% หลังขึ้นค่าแรง

8 ม.ค.56 ข่าวกระทรวง​การคลัง สนง.ปลัดกระทรวง​การคลัง ฉบับที่ 3/2556  รายงาน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (8 ม.ค.56) คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบมาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจาก การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำและเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาด กลางและขนาดย่อม (SMEs) โดยมีรายละเอียดดังนี้

1. ขยายระยะเวลามาตรการภาษีเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำและ เพิ่มขีดความสามารถของ SMEs ออกไปอีก 1 ปี จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2555 เป็นสิ้นสุดวันที่ 31ธันวาคม 2556 ดังนี้

1.1 ให้นายจ้างที่เป็นบุคคลธรรมและนิติบุคคลให้หักค่าใช้จ่ายส่วนต่างค่าแรงขั้นต่ำได้ 1.5 เท่า

1.2 ให้ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากการขายเครื่องจักรเก่าเพื่อซื้อเครื่องจักรใหม่เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

1.3 ให้สามารถหักค่าเสื่อมเครื่องจักรใหม่ได้ร้อยละ 100 ในปีแรก

2. ปรับเพิ่มการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล สำหรับบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลซึ่งมีทุนที่ชำระแล้วในวันสุดท้ายของ รอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 5 ล้านบาทและมีรายได้จากการขายสินค้าและการให้บริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่ เกิน 30 ล้านบาท จากเดิม 150,000 บาทแรกเป็น 300,000 บาทแรก สำหรับรอบระยะเวลาบัญชีที่เริ่มในหรือหลังวันที่ มกราคม พ.ศ. 2556 เป็นต้นไป เพื่อลดภาระภาษีเงินได้นิติบุคคลให้แก่ SMEs ที่มีรายได้น้อย และปรับโครงสร้างอัตราภาษีของ SMEs ที่เป็นบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลให้เท่าเทียมกัน

3. ปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าที่พักและค่าอาหารในการฝึกอบรมของส่วนราชการให้สอดคล้องกับค่าครองชีพและสภาวการณ์ปัจจุบัน

4. จัดทำโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะที่ 5 ต่อเนื่องจากระยะที่ 4 ผ่านบรรษัทค้ำ ประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) วงเงินค้ำประกันรวม 240,000 ล้านบาท โดยยื่นรับคำขอค้ำประกันได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ระยะเวลาค้ำประกัน 7 ปี เพื่อสนับสนุน SMEs ที่มีศักยภาพแต่ขาดหลักประกันให้สามารถเข้าถึงสินเชื่อโดยมีวงเงินค้ำประกัน ต่อรายสูงสุด 40 ล้านบาทต่อรายต่อสถาบันการเงิน ค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 1.75 ต่อปีของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อ

5. ขยายระยะเวลาโครงการสินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต (Productivity Improvement Loan) ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ประกอบด้วย (1) สินเชื่อเพื่อพัฒนาเครื่องจักร และ (2) สินเชื่อเพื่อพัฒนากระบวนการทำ งาน ในวงเงินรวม 2 โครงการที่ 20,000 ล้านบาท จากเดิมสิ้นสุดการอนุมัติสินเชื่อในวันที่ 23 เมษายน 2557 เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อจาก ธพว. ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 โดยให้วงเงินสินเชื่อรวมกันไม่เกิน 5 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลากู้ยืมไม่เกิน 5 ปีหรือ 7 ปี ขึ้นอยู่กับประเภทสินเชื่อ และมีระยะเวลาปลอดชำระเงินต้น 1 ปี ทั้งนี้รัฐบาลจะชดเชยส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 3 ใน 2 ปีแรก และให้ ธพว. พิจารณาสินเชื่อให้แล้วเสร็จภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ปิดรับคำขอ

6. ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อในลักษณะ Portfolio Guarantee Scheme สำหรับผู้ประกอบการใหม่ (PGS New/Start-up) ออกไปอีก 3 ปี เป็นสิ้นสุดการขอรับสินเชื่อในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 และปรับเกณฑ์คุณสมบัติ SMEs จาก SMEs ที่ประกอบกิจการที่มีอายุกิจการไม่เกิน 2 ปี เป็นอายุกิจการไม่เกิน 3 ปี เพื่อช่วย SMEs ขนาดย่อมที่เพิ่งเริ่มกิจการให้เข้าถึงสินเชื่อ และคงค่าธรรมเนียมค้ำประกันร้อยละ 2.5 ต่อปี ของวงเงินค้ำประกันสินเชื่อตลอดอายุการค้ำประกัน 7 ปี โดยรัฐบาลรับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันแทน SMEs ในปีแรก จากเดิมร้อยละ 1.75 เป็นร้อยละ 2.50

ทั้งนี้ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง กล่าวว่า มาตรการการคลังและการเงินเพื่อบรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) จะช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินและเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ไทย โดยการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ให้แก่ SMEs สำหรับกำไรสุทธิ 150,000 บาทเป็น 300,000 บาท คาดว่าจะมี SMEs ที่ได้รับประโยชน์ ประมาณ 210,000 ราย มาตรการด้านการเงิน PGS5 คาดว่าจะทำให้มี SMEs ได้สินเชื่อเพิ่ม80,000 ราย สร้างสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน 424,800 ล้านบาท เกิดการจ้างงานรวม 320,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ 2.328 ล้านล้านบาท

(ประชาไท, 8-1-2556)

 

กมธ.เตรียมเชิญแรงงาน-คลัง-พณ.แจงค่าแรง 300 บาท

นายชนินทร์  รุ่งแสง ประธาน กมธ.พัฒนาเศรษฐกิจ สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยว่า ในวันที่ 16 ม.ค. เวลา 13.00 น. ทางกมธ.จะเชิญตัวแทนจากกระทรวงแรงงาน กระทรวงการคลัง กระทรวงวงพาณิชย์  กระทรวงอุตสหกรรม และผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมเข้าชี้แจงเกี่ยวกับนโยบายการขึ้นค่าแรง 300 บาททั่วประเทศ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลดื้อไม่ให้ความสนใจกับการเตรียมพร้อมในการรับมือปัญหา ที่กระทบต่อแรงงานและ ภาคอุตสาหกรรม

นอกจากนี้ เมื่อเกิดปัญหารัฐบาลจึงออกมาตรการรองรับจนมีมติครม.เมื่อวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา   ซึ่งอยากเรียกมาตรการดังกว่าเป็นมาตรการแต่งหน้าศพเพราะกว่าจะออกแนวทางการ แก้ปัญหาก็ปล่อยให้กิจการต่างๆ ล้มหายตายจากไปแล้ว ถือว่าเป็นการออกมาตรการไม่ทันท่วงที เป็นการแก้ปัญหาแบบวิ่งไล่ตามปัญหา

นายชนินทร์ กล่าวว่า  ไม่อยากให้รัฐบาลโยนบาปให้ ผู้ประกอบการ ​ที่บอกว่าต้องปิดกิจการเพราะไม่มีการสั่งซื้อและไม่มีลูกค้า ทั้งที่ต้นเหตุมาจากนโยบายของรัฐบาลที่ทำให้ต้นทุนค่าแรงสูงขึ้นจนไม่สามารถ แข่งขันกับคู่แข่งได้    ​ซึ่งหากรัฐบาลยังปล่อยปละเรื่องนี้ย่อมจะส่งผลบานปลายกระทบต่อประชาชนที่ ต้องบริโภคสินค้าที่แพงขึ้น

(โพสต์ทูเดย์, 10-1-2556)

 

รัฐบาลแจงกระทู้ โรงงานปิดไม่มีออร์เดอร์

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกระทู้ถามสดของน.ส.เจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาล ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือแล้ว ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่หยุดที่จะช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามในส่วนของปัญหาที่เกิดกับผู้ประกอบการ หากเป็นธุรกิจที่มีปัญหาด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ถ้าปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลพร้อมเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง

ขณะที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงในกระทู้เดียวกัน ว่าทราบข่าวว่ามีโรงงานปิดตัวลงไปจำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากกรณีที่โรงงานไม่มีออเดอร์ทำของ เช่น โรงงานวีณาการ์เม้นต์ อำเภอวิหารแดง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตชุดชั้นในสตรีส่งขายตลาดประเทศยุโรป ซึ่งปิดกิจการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค 55 ทั้งที่ทำกิจการมาแล้วกว่า 10 ปี โดยเหตุผลที่ปิดกิจการคือไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ลูกจ้างจำวน 287 คนต้องตกงาน นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายโรงงานที่ลดพนักงาน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นเทคนิคของการบริหารธุรกิจ

"รัฐบาลที่ดีต้องเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง โดยให้ลูกจ้างอยู่ได้ และนายจ้างอยู่ได้ด้วย คือต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามนโยบายขึ้นค่าแรงไม่ใช่ขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ผู้ประกอบการได้ทราบมาแล้วตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยลงพื้นที่หาเสียง ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวมาเป็นปีแล้ว ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วอ้างว่าตกงาน แท้จริงแล้วขณะนี้กรมจัดหางานมีตำแหน่งงานว่างถึง 1.2 แสนอัตรา ดังนั้นต้องมีการพูดคุย ที่ผ่านมาตามที่นายกฯ และผมไปเยือนต่างประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนาม ได้หารือในส่วนของอัตราการจ้างงานด้วย ดังนั้นในอีก 2 ปี ที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปลี่ยน ด้วยการไปเอากำไรลูกค้า ไม่ใช่แสวงกำไรจากลูกจ้าง ไม่ใช่เอาค่าแรงถูกเพื่อให้นายจ้างอยู่ได้ วันนี้ผมว่าหากข้าวแกงแพงขึ้นอีก 2 บาท ก็ไม่เป็นไร"นายเผดิมชัย ชี้แจง

น.ส.เจิมมาศ กล่าวระหว่างการถามกระทู้สดว่า ที่รัฐมนตรีระบุว่าโรงงานปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีออร์เดอร์ ผู้ประกอบการหลายรายได้คุยกับตน และพบข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยมีต้นทุนที่แพงกว่าต่างประเทศมาก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือ ก็เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ล่าสุดผู้ประกอบการโรงแรม ในจ.ภูเก็ต ประกาศขึ้นค่าห้องพักอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น การทำเช่นนี้อาจสอดคล้องตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ระบุให้ทุกฝ่ายคิดบวก คือ บวกราคาเพิ่มไปหมด

(กรุงเทพธุรกิจ, 10-1-2556)

 

รัฐบาลแจงกระทู้ โรงงานปิดไม่มีออร์เดอร์

นายทนุศักดิ์ เล็กอุทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงกระทู้ถามสดของน.ส.เจิมมาศ จึงเลิศศิริ ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ ถึงมาตรการเยียวยาผู้ประกอบธุรกิจ และผู้ใช้แรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาท ของรัฐบาล ว่า ขณะนี้รัฐบาลมีมาตรการเพื่อช่วยเหลือแล้ว ซึ่งได้ทำมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2554 ทั้งนี้รัฐบาลยังไม่หยุดที่จะช่วยเหลือ อย่างไรก็ตามในส่วนของปัญหาที่เกิดกับผู้ประกอบการ หากเป็นธุรกิจที่มีปัญหาด้วยตัวเอง ถือเป็นเรื่องสุดวิสัย แต่ถ้าปัญหาที่เกิดจากนโยบายของรัฐบาล รัฐบาลพร้อมเข้าไปดูแลอย่างจริงจัง

ขณะที่ นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ชี้แจงในกระทู้เดียวกัน ว่าทราบข่าวว่ามีโรงงานปิดตัวลงไปจำนวนมาก แต่ส่วนหนึ่งเกิดจากกรณีที่โรงงานไม่มีออเดอร์ทำของ เช่น โรงงานวีณาการ์เม้นต์ อำเภอวิหารแดง จ.สระบุรี ซึ่งเป็นโรงงานที่ผลิตชุดชั้นในสตรีส่งขายตลาดประเทศยุโรป ซึ่งปิดกิจการ ตั้งแต่วันที่ 19 ธ.ค 55 ทั้งที่ทำกิจการมาแล้วกว่า 10 ปี โดยเหตุผลที่ปิดกิจการคือไม่มีออร์เดอร์จากต่างประเทศเข้ามา ทำให้ลูกจ้างจำวน 287 คนต้องตกงาน นอกจากนั้นแล้วยังมีอีกหลายโรงงานที่ลดพนักงาน ซึ่งประเด็นดังกล่าวนั้นเป็นเทคนิคของการบริหารธุรกิจ

"รัฐบาลที่ดีต้องเป็นพี่เลี้ยงที่ดี ทั้งฝ่ายลูกจ้างและนายจ้าง โดยให้ลูกจ้างอยู่ได้ และนายจ้างอยู่ได้ด้วย คือต้องให้ความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย อย่างไรก็ตามนโยบายขึ้นค่าแรงไม่ใช่ขึ้นแบบปัจจุบันทันด่วน แต่ผู้ประกอบการได้ทราบมาแล้วตั้งแต่ที่พรรคเพื่อไทยลงพื้นที่หาเสียง ดังนั้นต้องมีการเตรียมตัวมาเป็นปีแล้ว ส่วนพนักงานที่ถูกเลิกจ้างแล้วอ้างว่าตกงาน แท้จริงแล้วขณะนี้กรมจัดหางานมีตำแหน่งงานว่างถึง 1.2 แสนอัตรา ดังนั้นต้องมีการพูดคุย ที่ผ่านมาตามที่นายกฯ และผมไปเยือนต่างประเทศ อาทิ ประเทศเวียดนาม ได้หารือในส่วนของอัตราการจ้างงานด้วย ดังนั้นในอีก 2 ปี ที่ประเทศไทยต้องเข้าสู่ประชาคมอาเซียน ผู้ประกอบธุรกิจต้องเปลี่ยน ด้วยการไปเอากำไรลูกค้า ไม่ใช่แสวงกำไรจากลูกจ้าง ไม่ใช่เอาค่าแรงถูกเพื่อให้นายจ้างอยู่ได้ วันนี้ผมว่าหากข้าวแกงแพงขึ้นอีก 2 บาท ก็ไม่เป็นไร"นายเผดิมชัย ชี้แจง

น.ส.เจิมมาศ กล่าวระหว่างการถามกระทู้สดว่า ที่รัฐมนตรีระบุว่าโรงงานปิดตัวลงเนื่องจากไม่มีออร์เดอร์ ผู้ประกอบการหลายรายได้คุยกับตน และพบข้อเท็จจริงว่า ประเทศไทยมีต้นทุนที่แพงกว่าต่างประเทศมาก แม้รัฐบาลจะออกมาตรการมาช่วยเหลือ ก็เป็นการเกาไม่ถูกที่คัน ล่าสุดผู้ประกอบการโรงแรม ในจ.ภูเก็ต ประกาศขึ้นค่าห้องพักอีก 10 เปอร์เซ็นต์ เพราะต้นทุนค่าแรงเพิ่มขึ้น การทำเช่นนี้อาจสอดคล้องตามที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกฯ ระบุให้ทุกฝ่ายคิดบวก คือ บวกราคาเพิ่มไปหมด

(กรุงเทพธุรกิจ, 10-1-2556)

 

เทสโก้โลตัสยันไม่ใช้แรงงานต่างด้าว-คนไม่ขาด

นางสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการ ฝ่ายกิจการบรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ ซึ่งปลายปีที่ผ่านมา พบว่าประชาชนมีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ปัจจัยเสี่ยงที่น่าเป็นห่วง คือปัญหาการเงินจากยุโรปและอเมริกา ที่ยังคงประสบปัญหาเศรษฐกิจอยู่ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย แต่ภาครัฐฯ ก็พยายามออกมาตรการแก้ไขอย่างต่อเนื่องเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อภายในประเทศให้ อยู่ในระดับที่ดี สนับสนุนให้ภาคการเกษตรมีรายได้มากขึ้นจากโครงการประกันคุณภาพสินค้าทางการ เกษตร รวมถึงการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท

สำหรับการปรับขึ้นค่าจ้างนี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อต้นทุนราคาสินค้าของเทสโก้ โลตัส แม้บริษัทจะมีพนักงานเกือบ 5 หมื่นคน เนื่องจากภาครัฐมีนโยบายช่วยเหลือต่างๆ เช่น การปรับลดอัตราภาษีนิติบุคคล รวมถึงเทสโก้ โลตัสก็ได้ปรับการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรมนั้น นางสลิลลา เผยว่าธุรกิจค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัส ยังไม่ประสบปัญหาดังกล่าว เนื่องจากมีสาขากระจายอยู่ทั่วประเทศกว่า 1,000 สาขา และยังมีการจ้างแรงงานจากคนในท้องถิ่น จึงไม่จำเป็นต้องจ้างแรงงานต่างชาติจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างลาว พม่า กัมพูชา หรือเวียดนาม

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตหากมีปัญหาเรื่องการขาดแรงงาน ก็อาจมีการนำแรงงานต่างชาติเข้ามาใช้ นอกจากนี้ยังมองว่าประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา และพม่ามีกำลังซื้อที่สูงมาก ซึ่งเทสโก้ โลตัสก็มีสาขาอยู่ในจังหวัดที่มีเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน อย่างอุดรธานี มุกดาหาร และตาก เป็นต้น จะทำให้ได้รับอานิสงส์จากการเปิดประชาคมอาเซียนครั้งนี้ที่ชาวกัมพูชา ลาว พม่าจะข้ามฝั่งมาซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคในไทยมากขึ้น

เทสโก้ โลตัส ยังคงเพิ่มการซื้อสินค้าคุณภาพเข้ามาจำหน่าย โดยวันนี้ (10 ม.ค.) เทสโก้โลตัส เปิดแถลงข่าวต่อยอดความร่วมมือ ระหว่างเทสโก้ โลตัสกับโครงการหลวง โดยศ.ดร.กำพล อดุลวิทย์ ผู้อำนวยการฝ่ายตลาดมูลนิธิโครงการหลวง กล่าวว่าในปี 2556 นี้ เทสโก้ โลตัสได้ให้คำมั่นว่าจะซื้อสินค้าของโครงการหลวงเพิ่มขึ้นอีกเท่าตัว รวมมูลค่ากว่า 60 ล้านบาท จากสินค้าทั้งหมดกว่า 52 ชนิด เพื่อไปจำหน่ายในเทสโก้ โลตัสทุกสาขาทั่วประเทศ

(กรุงเทพธุรกิจ, 10-1-2556)

 

ก.แรงงานยืนยันการเลิกจ้างอยู่ในภาวะปกติ

10 ม.ค. 56 - นพ.สมเกียรติ  ฉายะศรีวงศ์  ปลัดกระทรวงแรงงาน แถลงข่าวชี้แจงผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ว่า  สถานการณ์การเลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ  เมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์การเลิกจ้างในช่วงที่ระบบเศรษฐกิจอยู่ในภาวะ ปกติ เช่น ปี 2554 ช่วงเดือนมกราคม มีการเลิกจ้าง 6,600 คน เดือนกุมภาพันธ์  5,200 คน ซึ่งอัตราการเลิกจ้างตลอดทั้งปีจะอยู่ที่ 5,000 – 6,000 คน ก่อนที่จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วม
 
ล่าสุดหลังการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท ใน 70 จังหวัด ระหว่างวันที่ 1 – 9 มกราคม มีสถานประกอบการปิดกิจการ 5 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 421 คน พร้อมยืนยันว่าจากการวิเคราะห์การเลิกจ้างของสถานประกอบการทั้ง 5 แห่งนี้ ไม่ได้มีผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำเลย เนื่องจากเป็นการเลิกจ้างบางส่วน  และมองว่าเป็นการอ้างเหตุการณ์ปรับค่าจ้างมาขอความเห็นใจในการเลิกจ้าง  แต่จริงแล้วมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัย เช่น ไม่มียอดสั่งซื้อ การขาดทุนสะสม หรือต้องการย้ายฐานการผลิต ดังนั้นจึงไม่อยากให้เกิดความวิตกว่าการปรับค่าจ้างในครั้งนี้ต้องมีคนตกงาน จำนวนมาก ซึ่งเชื่อว่าช่วงเดือนกุมภาพันธ์จะเห็นผลกระทบได้ชัดเจนที่สุด  อย่างไรก็ตามหากมีการเลิกจ้าง กระทรวงแรงงานก็ต้องทำหน้าที่หาตำแหน่งงานรองรับ ซึ่งขณะนี้มีกว่า 1.2 แสนอัตรา รวมถึงความต้องการจ้างแรงงานในปีนี้อีกว่า 6 แสนอัตรา โดยเชื่อว่าเพียงพอต่อความต้องการ  แม้ช่วงเดือนมีนาคม จะมีนักศึกษาจบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานกว่า 3 แสนคน

(สำนักข่าวไทย, 10-1-2556)

 

เชียงใหม่ -โรงแรมขนาดกลาง-เล็ก กระทบหนักจากค่าแรง 300 บาท

นายกสมาคมโรงแรมไทย(ภาคเหนือตอนบน) เผยค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ส่งผลกระทบหนักต่อธุรกิจโรงแรมเกินครึ่งในเชียงใหม่ โดยเฉพาะโรงแรมขนาดกลางและเล็กต้องแบกรับภาระต้นทุนเพิ่ม 10-20% แต่ยังไม่มีการเลิกจ้างงาน ขณะที่โรงแรมใหญ่ไม่สะเทือน เหตุให้ค่าจ้างสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว ระบุกำลังรวบรวมผลกระทบเสนอภาครัฐออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อน

นายภูณัช ธนาเหล่าพานิช นายกสมาคมโรงแรมไทย(ภาคเหนือตอนบน) เปิดเผยว่า จากนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ในส่วนของธุรกิจโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่ ถือว่าได้รับผลกระทบจากนโยบายโดยตรง เนื่องจากทำให้ต้นทุนในการประกอบธุรกิจเพิ่มขึ้นทันที 10-20% สร้างความเดือดร้อนอย่างมาก โดยเฉพาะกับผู้ประกอบการโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งมีสัดส่วนเกินกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนโรงแรมที่มีอยู่ทั้งหมดในจังหวัด เชียงใหม่ โดยในช่วงนี้ที่เป็นช่วงไฮซีซั่นอาจจะยังไม่เห็นผลกระทบชัดเจนมากนัก แต่น่าเป็นห่วงหากเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซั่น ขณะที่โรงแรมขนาดใหญ่ ตั้งแต่ระดับ 3-5 ดาว อาจไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายดังกล่าว เนื่องจากปกติให้ค่าแรงสูงกว่า 300 บาท อยู่แล้ว

ทั้งนี้จากผลกระทบที่เกิดขึ้น ทางสมาคมโรงแรมไทย(ภาคเหนือตอนบน) ร่วมกับสมาคมธุรกิจท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กำลังดำเนินการรวบรวมข้ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับผู้ประกอบการโรงแรมในจังหวัด เชียงใหม่ ทั้งในส่วนที่เป็นสมาชิกและไม่ได้เป็นสมาชิกของนำเสนอให้ภาครัฐออกมาตรการ บรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น นอกเหนือไปจากมาตรการที่มีอยู่แล้ว เช่น การลดภาษี 1 ปี ซึ่งมองว่าไม่ได้เป็นการบรรเทาความเดือดร้อนเท่าที่ควร โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จที่สุด

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ายังไม่มีโรงแรมในจังหวัดเชียงใหม่แม้แต่แห่งเดียวที่เลิกจ้างพนักงาน

(ครอบครัวข่าว, 11-1-2556)

 

ค่าแรง 300 บาทอาจลดความสามารถในการแข่งขันของประเทศกับชาติอาเซียน

11 ม.ค. - นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการ วิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย รายงานผลการวิจัย ภาพรวมนโยบายรายได้ไม่น้อยกว่า 300 บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ว่า จากการวิจัยพบว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราค่าจ้างขั้นต่ำสำหรับแรงงานไทยยังไม่เหมาะสมกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูง ขึ้น และยังมีแรงงานที่ไม่ได้รับค่าจ้างขั้นต่ำมากกว่า 4 ล้านคน แสดงถึงการคุ้มครองแรงงานยังไม่ทั่วถึง ส่งผลให้ฐานะทางเศรษฐกิจของแรงงานตกต่ำเสี่ยงต่อความยากจนและภาระหนี้สิน การดำเนินนโยบาย “ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท” ของรัฐบาลให้ครบทุกจังหวัดใน 2 ครั้ง ทำให้เพิ่มค่าแรงถึงร้อยละ 80 ของค่าแรงขั้นต่ำเฉลี่ย ซึ่งนโยบายดังกล่าวมีความสำคัญและจะมีผลกระทบอย่างมหาศาลกับตลาดแรงงานไทย

ผลวิจัยพบข้อดี คือ ทำให้ผู้ใช้แรงงานมีรายได้เพิ่มขึ้นเท่ากันทั่วประเทศ มีฐานะความเป็นอยู่โดยรวมดีขึ้นเนื่องจากมีเงินทุนหมุนเวียนจากการจับจ่าย ใช้สอยมากขึ้น รัฐสามารถจัดเก็บภาษีได้มากขึ้น มีแรงงานได้ประโยชน์โดยตรงประมาณ 3.2 ล้านคน หรือเกือบร้อยละ 30 ของลูกจ้างเอกชนทั้งหมด, ค่าจ้างใหม่ที่เพิ่มขึ้นช่วยลดความเหลื่อมล้ำให้กับแรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มที่มีรายได้ต่ำและมีอำนาจต่อรองน้อย

ส่วนข้อเสียคือ ทำให้ต้นทุนรายจ่ายของกลุ่มอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น, มีความเสี่ยงที่เงินเฟ้ออาจจะเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 1 จากกรณีปกติ และอาจจะลดความสามารถในการแข่งขัน เนื่องจากต้นทุนเชิงเปรียบเทียบที่สูงขึ้นของไทย ทำให้ราคาสินค้าไทยสูงขึ้น, ภาระด้านต้นทุนค่าแรงงานของนายจ้างจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งอาจส่งผลให้สัดส่วนการจ้างงานของธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมลดลงมากและเคลื่อนย้ายไปสู่เศรษฐกิจนอกระบบ (informal economy) มากขึ้น และถ้าไม่สามารถปรับระดับผลิตภาพแรงงานให้สูงขึ้นอีกร้อยละ 8 – 10 อาจจะส่งผลให้การขยายตัวผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ (จีดีพี) ลดลงมากกว่าร้อยละ 1.7

ส่วนผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมพบว่า สาขาเกษตรกรรมได้รับผลกระทบต่อต้นทุนค่าจ้างรวมมากที่สุด เพราะอาศัยแรงงานเป็นหลัก (labour intensive) โดยหากคิดเป็นจำนวนเงินแล้ว นายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้นจำนวน 2,125 – 2,936 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นการเพิ่มร้อยละ 21.71 – 29.99 สาขาที่จะได้รับผลกระทบรองลงมาคือ สาขากิจการโรงแรงและบริการด้านอาหาร ซึ่งนายจ้างจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น 465 – 861 ล้านบาทต่อเดือน คิดเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.82 – 14.32 อันดับต่อมาคือ สาขาก่อสร้าง โดยจ่ายเพิ่มขึ้น 836 – 1,308 ล้านบาท คิดเป็นค่าจ้างที่ต้องเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.01 – 10.98

โดยสรุปแล้ว การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมทั้งในระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งอาจจะมีผลดังนี้ การส่งออกของอุตสาหกรรมใช้แรงงานเข้มข้น 15 กลุ่ม ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น ทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันลดลงและจะเป็นปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจระยะยาว ด้านเงินเฟ้อผลกระทบทางด้านเงินเฟ้อ เพราะสินค้ากว่าจะมาถึงผู้บริโภคได้ต้องผ่านห่วงโซ่อุปทานประมาณ 10 อุตสาหกรรม แต่ละช่วงต้องมีการผลักภาระค่าจ้างบางส่วนใส่เข้าไปในตัวสินค้า ทำให้สินค้าเมื่อถึงมือผู้บริโภคมีราคาสูงขึ้น
 
นอกจากนี้ ยังส่งผลให้อุตสาหกรรมกระจุกตัวอยู่ในเขตเมืองใหญ่ โดยเฉพาะปริมณฑลในระยะยาว จะเป็นการทำลายโครงสร้างค่าจ้างปัจจุบันที่เน้นให้อุตสาหกรรมขยายตัวไปใน จังหวัดที่ห่างไกล เพื่อเป็นการกระจายรายได้และกันคนให้อยู่ในพื้นที่

ผลกระทบด้านการลงทุนไทย หากค่าจ้างของไทยสูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนามซึ่งอัตราค่าจ้างต่ำกว่าไทย 2.3 เท่า จะทำให้การลงทุนในประเทศมีการชะลอตัว ทั้งนี้ ในระยะสั้นและกลาง ภาคการผลิตของไทยจำเป็นต้องใช้การผลิตที่มีแรงงานเข้มข้นอยู่ในระบบการผลิต ก่อนที่ไทยจะปรับตัวไปสู่อุตสาหกรรมที่ใช้ทักษะเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Productive Industry) มากขึ้น

แรงงานผิดกฎหมายจะไหลเข้ามาสู่ระบบมากขึ้นกว่าเดิม จากที่ปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวในไทยประมาณ 3.8 ล้านคน แต่ในจำนวนนี้มีการขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายประมาณ 8.9 แสนคนเท่านั้น รวมถึงปัญหาด้านความมั่นคง สวัสดิการสังคมและอื่นๆ ตามมา

ส่วนผลกระทบต่อภาคการผลิต ภาคการค้า และภาคบริการ โดยภาพรวม ต้นทุนการผลิตรวมจะเพิ่มขึ้นร้อยละ 4.0 โดยหากพิจารณาผลกระทบเป็นรายกลุ่ม พบว่า ทุกกลุ่มอุตสาหกรรมไม่ว่าจะขนาดเล็ก กลาง ใหญ่จะได้รับผลกระทบเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 90-94 และภาคตะวันออกได้รับผลกระทบมากที่สุดร้อยละ 98 ตามมาด้วยภาคเหนือร้อยละ 96 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 95 ภาคใต้ร้อยละ 90 และภาคกลางได้รับผลกระทบน้อยที่สุดร้อยละ 89

สำหรับผลกระทบกับรายสาขาธุรกิจ พบว่า ธุรกิจที่มีการใช้แรงงานเข้มข้นในภาคการผลิต เรียงตามลำดับผลกระทบมากไปน้อย ได้แก่ ผลิตเฟอร์นิเจอร์หวาย ผลิตเฟอร์นิเจอร์ไม้ ผลิตพลอยเจียระไน เครื่องนุ่งห่ม เครื่องกระเป๋าหนัง เป็นต้น ในส่วนภาคบริการ ได้แก่ ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างบ้าน และธุรกิจการขนส่งทางบก เป็นต้น

นายยงยุทธ ยังคาดว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอาจส่งผลให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการ หรือย้ายฐานการผลิตไปสู่ประเทศอื่นๆ อันจะนำไปสู่การลดลงของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

(สำนักข่าวไทย, 11-1-2556)

 

Electrolux ระยองเลิกจ้างสหภาพแรงงานฯ ยกเข่ง หลังต่อรองปรับค่าจ้าง 300

12 ม.ค. 56 - สืบเนื่องมาจากวันที่ 10 มกราคม 2556 เวลาประมาณ 13.00 น. หลังจากที่ประธานสหภาพแรงงานอีเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ได้เข้าเจรจากับผู้บริหารเรื่องนโยบายการปรับค่าจ้างตามที่รัฐบาลประกาศ ซึ่งส่งผลกระทบกับวิถีการดำรงชีวิตของผู้ใช้แรงงานทุกคน ซึ่งปัญหาที่ได้รับผลกระทบคือค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงขอให้บริษัทฯ พิจารณาปรับค่าจ้างให้กับพนักงานทุกคนในสัดส่วนที่เหมาะสม ไม่ใช่ปรับให้เฉพาะคนที่ยังมีค่าจ้างไม่ถึง 300 บาทหรือเกินกว่านั้นเพียงบางส่วนเท่านั้นโดยไม่คำนึงอายุงานว่าใครจะทำงานมา นานเท่าไร คือ
 
ค่าจ้างเดือนละ 8000-8099 ปรับเพิ่ม 1000 บาท
ค่าจ้างเดือนละ 8100-10000 ปรับเพิ่ม 900 บาท
ค่าจ้างเดือนละ 10001-15000 ปรับเพิ่ม 800 บาท
 
ต่อมาในวันที่ 11 ม.ค. 56 เวลาประมาณ 08.00 น. ผู้บริหารได้มาชี้แจ้งต่อที่ประชุมของพนักงานว่าไม่สามารถปรับเพิ่มโดยไม่ ชี้แจงเหตุผลให้กับพนักงานทุกคนทราบ หลังจากนั้นประธานสหภาพแรงงานจึงได้โต้แย้งว่าทำไมจึงไม่ปรับเพิ่มให้ตามที่ ได้คุยกันไว้ ทำให้ผู้บริหารเกิดความไม่พอใจ และได้จูงมือประธานสหภาพแรงานฯ ออกมานอกโรงงานและบอกว่าเลิกจ้างเพราะสร้างความแตกแยกและทำให้บริษัทฯได้รับ ความเสียหาย และให้รถตู้ไปส่งยังที่พัก ต่อมาเวลาประมาณ 15.00 น. บริษัทได้ออกมาแจ้งกับพนักงานทุกคนว่าบริษัทเลิกจ้างกรรมการและสมาชิกสหภาพ แรงานทุกคนแล้ว

(ประชาไท, 12-1-2556)

 

ชัยนาทเผยค่าแรง 300 บาท พ่นพิษ-ลดสวัสดิการเพื่ออยู่รอด

เมื่อเร็วๆ นี้ ที่สำนักงานหอการค้า จ.ชัยนาท ถ.วงษ์โต อ.เมือง จ.ชัยนาท นายสาธิต เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้า จ.ชัยนาท เผยเปิดกับผู้สื่อข่าวว่า จากการปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท/วัน ทั่วประเทศตามนโยบายของรัฐบานั้น ขณะนี้ผู้ประกอบการใน จ.ชัยนาท ในกลุ่มขนาดกลางและขนาดเล็กต่างได้รับผลกระทบอย่างชัดเจน เนื่องจากเดิมนั้น จ.ชัยนาท มีค่าแรงขั้นต่ำอยู่ที่ 233 บาท/วัน ซึ่งถือว่าเหมาะสมและผู้ประกอบการอยู่ได้ ลูกจ้างแรงงานอยู่ได้ เพราะ จ.ชัยนาท เป็นเมืองที่มีค่าครองชีพไม่สูงดังเช่นเมืองใหญ่อย่างจ.นครสวรรค์ พิษณุโลก เชียงใหม่ หรือ กรุงเทพฯ

แต่เมื่อมีการประกาศบังคับใช้กฎหมายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท/วัน ผู้ประกอบการใน จ.ชัยนาท จึงจำเป็นต้องหามาตรการเพื่อความอยู่รอด ทั้งลดสวัสดิการเช่นอาหารกลางวันที่เคยเลี้ยงก็ต้องงด เสื้อผ้าเครื่องแบบที่เคยแจกก็ต้องให้คนงานซื้อเอง การทำงานล่วงเวลาก็ต้องงด และการจ้างคนงานเพิ่มก็ต้องถูกหยุดไว้อย่างไม่มีกำหนด เพราะต้นทุนที่สูงขึ้นมากเกินที่ผู้ประกอบการจะเสี่ยงเพิ่มอัตราการจ้างใน ระยะนี้

ด้านผู้ประกอบการกิจการขนาดใหญ่ ได้รับผลกระทบบ้างเพียงเล็กน้อย เพราะปกติแล้วกิจการขนาดใหญ่จะมีการจ้างงาน โดยลูกจ้างแรงงานจะมีรายได้รวมเกินวันละ 300 บาทอยู่แล้ว แต่ก็มีผลกระทบอยู่บ้างในการจ้างลูกจ้างรายใหม่ที่เป็นแรงงานไร้ฝีมือที่ ต้องนำมาฝึกใหม่ ซึ่งภาระค่าใช้จ่าย 300 บาท/วันกับแรงงานไร้ฝีมือในส่วนนี้ ผู้ประกอบการยังหนักใจ ซึ่งอาจมีผลทำให้หยุดการจ้างงานเพิ่มในกลุ่มแรงงานใหม่ไประยะหนึ่ง

(บ้านเมือง, 13-1-2556)

 

ส.ว.โวยเอกชนมั่วนิ่ม อ้างค่าแรง 300 ลดโควตารับแรงงานพิการ

14 ม.ค. 56 - ในการประชุมวุฒิสภา โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 ทำหน้าที่ประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายมณเฑียร บุญตัน ส.ว.สรรหา หารือถึงนโยบายค่าแรง 300 บาทว่า ขณะนี้ได้มีบริษัทเอกชนอยู่หลายแห่งได้นำนโยบายนี้ไปปะปนกับประเด็นการต้อง ทำตามกฎหมาย ซึ่งเป็นคนละเรื่อง ตัวอย่างเช่น สถานประกอบการเอกชนได้ยกเอาเรื่องภาระที่จะต้องแบกรับจากค่าแรง 300 บาทมาเป็นข้อต่อรองเพื่อขอปรับลดโควตาการจ้างงานคนพิการตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ
      
โดยจะเสนอให้ถอยกลับไปใช้โควตา 1 ต่อ 200 ซึ่งขณะนี้โควตา 1 ต่อ 100 ก็ถือว่าต่ำที่สุดในภูมิภาคนี้แล้ว เนื่องจาก พ.ร.บ.ไม่ได้กำหนดสัดส่วนแต่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง เพราะฉะนั้นจึงขอเตือนและวิงวอนไปยังรัฐบาลว่าอย่าได้หวั่นไหวและอย่าเปิด ช่องให้นำเรื่องไปเป็นข้อต่อรองเพื่อสร้างความชอบธรรม จะเป็นการถอยหลังเข้าคลอง ขอให้รัฐบาลยืนยันปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด และหามาตรการเยียวยาอื่นไปช่วยเหลือบริษัทเอกชน เช่นการปรับปรุงสร้างแรงจูงใจในเรื่องภาษีกรณีการจ้างแรงงานคนพิการตาม กฎหมาย
      
ด้านนายกฤช อาทิตย์แก้ว ส.ว.กำแพงเพชร หารือไปถึงนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ ถึงปัญหาที่สหกรณ์การเกษตรมียุ้งฉางไม่พอเพียงว่า ทุกวันนี้ผลผลิตทางการเกษตรมีมากมาย ต้องมียุ้งฉางเพื่อเก็บผลผลิตของตนเองเพื่อต่อรองกับพ่อค้าคนกลาง แต่ขณะนี้สหกรณ์ทางการเกษตรเกษตรจำเป็นต้องเป็นคนกลาง เนื่องจากรัฐบาลได้มอบภารกิจบางส่วน เช่น การจัดซื้อข้าวเปลือก จึงมีปัญหาเรื่องที่เก็บไม่เพียงพอ สหกรณ์การเกษตรในพิ้นที่ต่างๆ จึงต้องดำเนินการตามยถากรรม สหกรณ์ใดที่รู้จักกับ ส.ส.ก็ของบประมาณมา ที่ใดไม่รู้จัก ส.ส.ก็กู้ธนาคาร นำเงินมาจัดสร้างยุ้งฉางเอง จึงขอให้รัฐบาลได้ช่วยดูแลเรื่องนี้ และทำเป็นนโยบายสอบถามไปว่าสหกรณ์การเกษตรที่ใดต้องการที่จะมียุ้งฉางเพิ่ม บ้าง นอกจากนี้ขอเสนอให้กระทรวงการเกษตรและสหกรณ์ แยกออกเป็น 2 หน่วยงาน เพราะดูแลแต่งานด้านการเกษตรไม่ดูแลด้านสหกรณ์เลย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 14-1-2556)

 

จังหวัดลำพูนใช้ 5 มาตรการ บรรเทาผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท

นายพินิจ หาญพาณิชย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำพูน เปิดเผยว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2556 เห็นชอบให้กระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามมาตรการบรรเทา ผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2556 และเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก (SMEs)นั้น จังหวัดลำพูนก็ได้ดำเนินการตามมาตรการ 5 มาตรการหลัก ดังนี้คือ มาตรการที่ 1.เพื่อส่งเสริมสภาพคล่อง เพิ่มวงเงิน ลดต้นทุนทางการเงิน โดยผ่านกระบวนการให้สินเชื่อ โดยมุ่งให้สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงาน, สินเชื่อเพื่อพัฒนาผลิตภาพการผลิต, การค้ำประกันสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการใหม่ มาตรการที่ 2. มาตรการลดต้นทุนผู้ประกอบการ โดยผ่านกระบวนการทางภาษีและเงินสมทบ มุ่งลดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม, ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล,นำส่วนต่างของค่าจ้างที่จ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราค่า จ้างขั้นต่ำ ในปี 2555 เป็นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำวันละ 300 บาท มาหักเป็นค่าใช้จ่ายก่อนชำระภาษี, การนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงานตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการ พัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 มาหักลดหย่อนภาษี, การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลกรณีการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรเพื่อเพิ่ม ประสิทธิภาพการผลิต, การหักค่าเสื่อมราคาเครื่องจักรและการลดค่าธรรมเนียมห้องพักที่เรียกเก็บ สำหรับโรงแรม/ที่พักแรม มาตรการที่ 3.มาตรการเพิ่มผลิตภาพแรงงานให้ผู้ประกอบการ มุ่งให้กู้ยืมเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงานในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.1 เพื่อใช้ในการฝึกอบรมพัฒนาฝีมือแรงงาน และการจัดคลินิกพัฒนาฝีมือแรงงานเคลื่อนที่ไปยังสถานประกอบการต่าง ๆ มาตรการที่4.เพิ่มรายได้ให้ผู้ประกอบการโดยการทบทวนค่าใช้จ่ายของภาครัฐให้ เหมาะสมกับสถานการณ์ มุ่งปรับเพิ่มอัตราค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมสัมมนาของส่วนราชการ และมาตรการที่ 5.กระตุ้นและส่งเสริมการขายโดยผ่านการบริโภค โดยมุ่งจัดคาราวานสินค้าราคาถูกไปจำหน่ายให้ลูกจ้างในสถานประกอบการ

(สำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์, 14-1-2556)

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net