Skip to main content
sharethis

โซมาเลีย ประเทศที่มีสงครามภายในและอยู่ในสภาวะคลอนแคลนมายาวนาน แม้ปัจจุบันสถานการณ์จะคลี่คลายบ้างแล้วแต่ยังมีเหล่าผู้พลัดถิ่นภายในประเทศที่ลี้ภัยจากการต่อสู้ยังต้องพะวงเรื่องความปลอดภัย โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีรายงานเรื่องการข่มขืนจำนวนมากโดยที่ผู้กระทำลอยนวล

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2013 ผู้สื่อข่าวไลลา อาลี ได้รายงานเกี่ยวกับสถานการณ์ของผู้หญิงพลัดถิ่นในประเทศโซมาเลียลงในเว็บไซต์อัลจาซีร่า ที่แม้ว่าการต่อสู้กันภายในประเทศจะสงบลงบ้างแล้ว แต่พวกเขายังต้องระวังภัยจากการล่วงละเมิดทางเพศขณะอาศัยอยู่ในที่พักหลบภัยชั่วคราว

ผู้สื่อข่าวรายงานสภาพทั่วไปของโซมาเลียว่า ความขัดแย้งยึดเยื้อยาวนานกว่า 2 ทศวรรษในโซมาเลียเริ่มสงบลงบ้างแล้ว ตามท้องถนนมีคนสวมชุดยูนิฟอร์มเดินตรวจตราแทนที่จะเป็นกลุ่มคนติดอาวุธไม่ทราบฝ่ายแบบที่ผ่านมา แผงกั้นถนนที่แบ่งแยกระหว่างฝ่ายรัฐบาลกับเขตควบคุมของกลุ่มอัล-ชาบับก็ถูกนำออกไปทำให้การสัญจรกลับมาเป็นปกติ ผู้คนไปรวมตัวกันอยู่ตามชายหาด บ้านหลังเก่าๆ ก็ได้รับการบูรณะ

แต่ก็มีบางส่วนที่ยังไม่ได้มีชีวิตความเป็นอยู่ดีนัก มีค่ายผู้อพยพที่เต็มไปด้วยคนพลัดถิ่นภายในประเทศ พวกเขาต้องหลบหนีจากพื้นที่บ้านเกิดจากสาเหตุความรุนแรงและความไม่ปลอดภัย สิ่งเหล่านี้ยังคงมีให้เห็นอยู่ทั่วไป และกับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในค่ายนั้น เรื่องความรุนแรงและความไม่ปลอดภัยก็ยังเป็นปัญหาอยู่

เช่นกรณีของ นูรา เฮียร์ซี แม่ม่ายที่อาศัยอยู่ในแคมป์คนพลัดถิ่นภายในประเทศ ที่กรุงโมกาดิชู เธอบอกว่าเธอถูกรุมข่มขืนโดยทหารฝ่ายรัฐบาล 7 คน นูราบอกว่าในตอนนั้นลูกๆ ของเธอกำลังหลับ พวกเขามีอาวุธปืน AK47 พากันตบเธอและบังคับให้เธอออกไปข้างนอกแล้วข่มขืน โดยที่เธอไม่สามารถทำอะไรได้เนื่องจากพวกเขาเป็นคนติดอาวุธถึง 7 คน

นูรา กล่าวอีกว่าไม่มีใครมาช่วยเธอเพราะทุกคนกลัวการออกจากบ้านตอนกลางคืน หลังจากนั้นในตอนเช้าเธอก็ไปที่โรงพยาบาลเพื่อรับยามาจำนวนหนึ่งแต่ก็ไม่ได้เล่าเรื่องจริงทั้งหมดไปเพราะเธอไม่อยากให้ชาวโซมาเลียด้วยกันรับรู้ และเจ้าหน้าที่รัฐก็ไม่ได้รับรู้เรื่องการข่มขืนจริงจังนัก

โซมาเลียมีรัฐบาลใหม่มาได้สองเดือน แต่เจ้าหน้าที่รัฐอย่าง อะไวส์ ฮัดแดด อธิบดีกรมแรงงาน, เยาวชน และกีฬา ก็ปฏิเสธว่า กองกำลังของรัฐไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการใช้กำลังทางเพศอย่างกรณีของนูรา ฮัดแดด แต่เขาบอกว่าอาจมีคนสวมรอยใส่ชุดฟอร์มของเจ้าหน้าที่ตำรวจหรือทหาร และอาจเป็นฝีมือของฝ่ายกบฏชาบับ ซึ่งหากพบว่าเจ้าหน้าที่รัฐมีส่วนในกรณีนี้จะมีการจัดการอย่างจริงจัง

สื่อและรัฐเพิกเฉย

อับดัลล์ มูมิน ผู้สื่อข่าวชาวโซมาเลียกล่าวถึงการข่มขืนในโซมาเลียว่า สื่อในประเทศส่วนมากเพิกเฉยต่อความรุนแรงทางเพศรวมถึงไม่สนใจข่าวที่มาจากกลุ่มคนพลัดถิ่นในประเทศ และโซมาเลียก็มีวัฒนธรรมอย่างหนึ่ง ที่ไม่มีใครกล้าพูดว่าตนถูกข่มขืน แต่มักจะบอกว่ามีคนพยายามข่มขืนตน 

ขณะเดียวกันโซมาเลียก็มีองค์กรสตรีชื่อ 'ซิสเตอร์โซมาเลีย' ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2010 ซึ่งได้เปิดศูนย์ให้คำปรึกษาเรื่องการข่มขืนในกรุงโมกาดิชู และมีเหยื่อรายใหม่ๆ มากถึง 7 รายต่อสัปดาห์มาขอคำปรึกษา ซึ่งรวมทั้งหมดแล้วมีราว 400 ราย

ฟาร์ตุน อับดิซาลาน อาดาน ผู้ร่วมก่อตั้งซิสเตอร์โซมาเลียกล่าวว่า ประเด็นเรื่องการข่มขืนไม่ใช่ประเด็นต้องห้ามอีกแล้ว และควรมีการจัดการปัญหาอย่างจริงจัง เธอกล่าวถึงประสบการณ์การทำงานอีกว่าในตอนแรกรัฐบาลและผู้ชายในโซมาเลียไม่ยอมรับเรื่องนี้และผู้หญิงส่วนมากก็อายขะพูดถึงเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ค่อยๆ ได้รับความเชื่อใจมากขึ้น แต่ในตอนนี้ประชาชนในโซมาเลียเริ่มพูดถึงเรื่องนี้และไม่มีใครปฏิเสธว่ามันเกิดขึ้นอีกแล้ว

ฟาร์ตุน บอกอีกว่าสภาพที่พักของค่ายผู้พลัดถิ่นในประเทศทำให้เกิดความเสี่ยงเนื่องจากผู้อาศัยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก และในค่ายก็ไม่มีประตูทำให้คนเข้ามาทำอะไรก็ได้ ซึ่งทางซิสเตอร์โซมาเลีย จะคอยช่วยเหลือผู้มารับคำปรึกษาในเรื่องการรักษาพยาบาล รวมถึงความช่วยเหลือด้านการย้ายถิ่นฐานหากเหยื่อรายนั้นๆ ต้องการออกจากค่ายผู้อพยพเพื่อกลับบ้าน และมีเซฟท์เฮาส์ให้พักชั่วคราว ซึ่งมีบางกรณีที่หญิงวัยรุ่นตั้งครรภ์จากการถูกข่มขืนไม่ต้องการพบครอบครัวมาขออยู่เซฟท์เฮาส์

ไม่ใช่แค่เรื่องของผู้หญิง

ฮาวา อเดน โมฮาเม็ด นักกิจกรรมผู้ได้รับรางวัลผู้ลี้ภัยนานเซ็นของสหประชาชาติกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับวัฒนธรรมการที่เหยื่อไม่กล้าพูด และการที่ผู้กระทำผิดไม่ได้รับโทษ

"มันไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะเรียกร้องการบังคับใช้กฏหมายเมื่อกฏหมายขาดความเข้มงวดหรือไร้ความสำคัญ" ฮาวากล่าว "จากประสบการณ์แล้ว ผ้หญิงร้อยละ 90 ที่ถูกข่มขืนรั้งรอที่จะรายงานเรื่องนี้กับเจ้าหน้าที่เนื่องจากพวกเขาเกรงว่าจะไม่มีใครทำอะไรกับเรื่องนี้ นอกจากนี้ยังต้องมีการให้ความรู้ เพราะมีผู้หญิงหลายคนมองตัวเองว่าเป็น 'ฮะรอม' (haram) หรือผู้ที่มีมลทิน ทำให้ไม่อยากพูดเรื่องนี้"

ฮาวา บอกอีกว่านี่เป็นประเด็นที่ไม่ใช่แค่ประเด็นของผู้หญิง แต่เป็นประเด็นทางสังคมที่รัฐบาลโซมาเลียต้องเข้ามาจัดการ

 

(หมายเหตุจากต้นฉบับ : มีการเปลี่ยนชื่อของผู้ถูกข่มขื่นเพื่อเป็นการปกป้องสิทธิส่วนบุคคล)

เรียบเรียงจาก

Displaced women still vulnerable in Mogadishu, Laila Ali, Aljazeera, 14-01-2013
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net