Skip to main content
sharethis

 

16 ม.ค.56 ตามที่คณะรัฐมนตรีจะเสนอร่างกรอบเจรจาเอฟทีเอไทยกับสหภาพยุโรปให้รัฐสภาพิจารณาวันอังคารที่ 22 ม.ค.นี้ รศ.ดร.จิราพร ลิ้มปานานนท์ สมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และประธานคณะทำงานเกี่ยวเนื่องด้านสาธารณสุขและการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า รู้สึกกังวลต่อท่าทีของกระทรวงพาณิชย์ที่ไม่เปิดเผยร่างกรอบเจรจาฯแม้จะผ่าน ครม.ไปตั้งแต่ 4 ธ.ค.55 และยังไม่เคยนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 190 เกรงว่า กระทรวงพาณิชย์จะสร้างปมปัญหาทางการเมืองแก่รัฐบาลในอนาคต

“ทางสภาที่ปรึกษาเข้าใจดีว่า รัฐบาลต้องการที่จะเริ่มเปิดเจรจาเอฟทีเอกับอียูอย่างเร่งด่วน แต่การเจรจาเอฟทีเอเป็นหนังสือสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 190  ตัวแทนสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศต่างเห็นด้วยกับสภาที่ปรึกษาฯว่า รัฐบาลต้องมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) กรอบเจรจาฯ อย่างทั่วถึงก่อนเสนอให้รัฐสภา ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สอดคล้องตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากที่ผ่านมาร่างกรอบฯนี้ยังไม่เคยเปิดเผยต่อสาธารณะหรือรับฟังความคิดเห็นเลย

การจัดรับฟังความคิดเห็นในร่างกรอบฯ เพียง 1 ครั้งในส่วนกลางไม่ใช่เรื่องยุ่งยากหรือเสียเวลา แต่ถือเป็นข้อมูลที่พึงแนบให้รัฐสภาได้พิจารณา ในฐานะที่ปรึกษาของรัฐบาลตามกฎหมายค่อนข้างกังวลกับท่าทีของกระทรวงพาณิชย์มาก เมื่อวานนี้ในการประชุมพิจารณาร่างความเห็นและข้อเสนอแนะของสภาที่ปรึกษาฯ กรมเจรจาฯยังมีท่าทีไม่เต็มใจที่จะจัดรับฟังความคิดเห็น ขณะที่ภาคเอกชน คือ นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล ที่ปรึกษาอาวุโส กลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ตัวแทนสภาหอการค้าไทย ยังเสนอให้เดินหน้าเข้ารัฐสภา แล้วให้คนที่กังวลก็ไปฟ้องศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งสภาที่ปรึกษาฯไม่อยากเห็นรัฐบาลตกไปอยู่ในภาวะความเสี่ยงทางการเมืองเช่นนั้นอีก”

 รศ.ดร.จิราพร กล่าวว่า สภาที่ปรึกษาฯเสนอให้รัฐบาลกำหนดให้ (ร่าง) กรอบการเจรจาฯ ระบุอย่างชัดเจนให้ระดับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาต้องไม่เกินไปกว่าความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับการค้าขององค์การการค้าโลก กฎหมายไทย หรือความตกลงใดๆ ที่ไทยเป็นภาคีอยู่ ทั้งนี้เป็นไปตามยุทธศาสตร์แห่งชาติด้านยา พ.ศ. 2555-2559 ซึ่งจะทำให้นโยบายลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในระบบสุขภาพที่เป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป็นจริง

“การกำหนดให้การเจรจาเอฟทีเอไม่เกินไปกว่าทริปส์นั้น ไม่ได้เป็นการขวางการเจรจาดังที่ภาคเอกชนวิตกกังวล เพราะดูจากการเจรจาเอฟทีเอของอินเดียกับอียู อินเดียซึ่งมีอุตสาหกรรมยาชื่อสามัญเข้มแข็งระดับโลกไม่ยอมรับเงื่อนไขดังกล่าว จนในที่สุดนายคาเรล เดอ กุช ประธานคณะกรรมาธิการการค้าของสหภาพยุโรป หัวหน้าคณะเจรจา ต้องยอมรับด้วยการเขียนบทความเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ระบุว่า สหภาพยุโรปจะไม่กดดันให้อินเดียต้องแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาในด้านนี้แล้ว เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบที่จะเกิดต่อการเข้าถึงยารักษาโรคในราคาที่เหมาะสมทั้งที่อินเดียและที่อื่นๆ การเจรจาเอฟทีเอของทั้งสองประเทศก็ยังดำเนินต่อได้ไป และเท่าที่ทราบมาในร่างกรอบเจรจาฯหลายประเด็นที่ภาคเอกชนห่วงใยก็ได้กำหนดชัดเจน เช่น มาตรฐานแรงงานและสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามกฎหมายภายในประเทศ ไม่ได้เป็นการกำหนดกรอบอย่างหลวมๆตามอ้าง”

อย่างไรก็ดี สภาที่ปรึกษาฯยินดีอย่างยิ่งที่ทางกระทรวงพาณิชย์รับปากที่จะรอผลการการประเมินผลกระทบทางสุขภาพกรณีศึกษาผลกระทบจากข้อตกลงการค้าเสรีไทย-อียูต่อการเข้าถึงยา ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ จะดำเนินการเสร็จสิ้นเดือนมิถุนายนนี้ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการกำหนดแนวทางในการเจรจาด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับยา และจะให้มีการศึกษาเปรียบเทียบผลดีผลเสียในภาพรวมทางเศรษฐกิจอย่างเร่งด่วน ซึ่งสะท้อนสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่ได้มีการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งจะทำการศึกษาผลดีผลเสียด้านสวัสดิการของเกษตรกร แรงงาน และผู้มีรายได้น้อย เพราะที่ผ่านมาไม่มีความชัดเจนว่าผลประโยชน์จากการทำเอฟทีเอตกไปอยู่ที่ใด

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net