Skip to main content
sharethis

 

เมื่อวันที่ 25 ม.ค.55 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มีการจัดแถลงข่าวเรื่อง “ทิศทางเศรษฐกิจไทย ปี 2556” โดยมีการนำเสนอประเด็นหลัก คือ

1.แนวโน้มหนี้สาธารณะ 2556 – 2560 โดย สมชัย จิตสุชน

2. ข้อเสนอการปรับตัวของภาคการผลิต หลังขึ้นค่าแรง 300 บาท  โดย สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์

3.แนวทางการหนี ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ กับการปฏิรูปภาคบริการ โดย เดือนเด่น นิคมบริรักษ์

ทั้งนี้ งานแถลงข่าวครั้งนี้ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนจำนวนมาก

สมเกียรติ กล่าวว่า ภาพรวมการนำเสนอในวันนี้ เราเห็นว่า เศรษฐกิจโลกกำลังฟื้นตัว เศรษฐกิจไทยก็มีความเติบโต ทำท่าว่าจะไปได้ดี แต่ท่ามกลางการเติบโตนี้มีความเปราะบางอยู่ โดยเฉพาะปัจจัยจากจีน เราจึงจำเป็นต้องมีวินัยการคลัง ยึดหลัก ‘ขาดดุลการคลังเมื่อจำเป็น และเกินดุลทุกครั้งที่มีโอกาส’ ซึ่งจะคุ้มครองให้เศรษฐกิจไทยเติบโตไปได้ในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม การสร้างความเติบโตทางเศรษฐกิจจะทำให้เราลดภาระหนี้ ทำให้ประชาชนมีความกินดีอยู่ดีมากขึ้น แต่การสร้างการเติบโตในระยะยาว ไม่สามารถสร้างจากการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยภาครัฐไปเรื่อยๆ วิธีการเดียวที่มีคือ เพิ่มผลิตภาพทั้งภาคอุตสาหกรรมการผลิตและภาคบริการ เราจึงอยากให้รัฐบาลประกาศให้ทศวรรษนี้เป็น ‘ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของภาคธุรกิจไทย’ ซึ่งจะทำให้ประเทศเป็นไปอย่างที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ คือ พ้นจากประเทศกับดักรายได้ปานกลาง ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น

 

หนี้สาธารณะ 2556-2560 เพิ่มสูง  ‘ประเทศนี้ แก่ก่อนรวย’

สำหรับในรายละเอียดนั้น สมชัย กล่าวถึงเรื่องหนี้สาธารณะว่า โดยแนวคิดแล้ว หนี้สาธารณะเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อการลงทุนในระบบสวัสดิการ โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อดูแลประชาชน แต่ต้องบริหารให้มี ‘พื้นที่การคลัง’ มากพอเพื่อรองรับความจำเป็นหรือวิกฤตในอนาคต โดยแนวทางการบริหารหนี้สาธารณะนั้น ทำได้โดยการ 1.เพิ่มรายได้รัฐ ทั้งการจัดระบบภาษีอัตราก้าวหน้า เพิ่มฐานภาษีใหม่ๆ เช่น ภาษีทรัพย์สิน 2. การวางแผนการใช้จ่ายอย่างระมัดระวัง นโยบายประชานิยมที่พรรคการเมืองทำนั้นไม่ใช่สิ่งเลวร้าย แต่ในเมื่อจะเสียเงินทั้งทีก็ควรเป็นไปเพื่อให้เกิดการลดความเหลื่อมล้ำที่แท้จริง 3.บริหารหนี้สาธารณะอย่างโปร่งใส มีการวางแผน 5 ปีเป็นอย่างน้อย 

สำหรับผลการประมาณการหนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้านั้น สุชัย ระบุว่า หนี้สาธารณะในช่วง 5 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่จะอยู่ที่ 70-80% ของจีดีพี ซึ่งเป็นกรณีที่แย่ที่สุดและไม่คิดว่าจะเกิดขึ้น เพราะเศรษฐกิจไทยน่าจะขยายตัวมากกว่า 4% ซึ่งเป็นค่าที่ตั้งสมมติฐานไว้ โดยสัดส่วนหนี้นี้ คำนวณรายจ่ายจากความสามารถในการคุมรายจ่ายประจำที่ระดับการขยายตัว 7 และ 10% (เฉลี่ยในอดีตปี 33-56 อยู่ที่ 9.7%) , โครงการพิเศษต่างๆ ที่จะเกิดในช่วง 5 ปี ไม่ว่าจะเป็นการขาดทุนจากโครงการรับจำนำข้าว-การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรองรับ AEC-การลงทุนป้องกันน้ำท่วม-การลดลงของภาษีนิติบุคคลตามนโยบายรัฐบาล รวมถึงนโยบายพิเศษอื่นๆ ที่อาจเกิดขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง (รายละเอียดการคำนวณหนี้จากรายจ่ายต่างๆ ในตาราง)

 

 

 

2555

2556

2557

2558

2559

2560

ขาดทุนโครงการจำนำข้าว

 

170,000

200,000

200,000

200,000

200,000

200,000

โครงสร้างพื้นฐานรองรับ AEC

 

          -

26,899

148,819

263,038

286,331

383,154

ป้องกันน้ำท่วม

 

4,639    

20,000

100,000

100,000

75,361

 

ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

 

75,000

115,714

124,971

134,969

145,766

รวมโครงการพิเศษ1

 

174,639

321,899

564,553

688,009

696,661

728,920

เพิ่มนโยบายอื่น

 

           -

20,000

100,000

100,000

100,000

100,000

รวมโครงการพิเศษ2

 

174,639

341,899

664,533

788,009

796,661

828,920

หน่วยเป็น: ล้านบาท

ที่มา: จำนวนข้าวประมาณการโดย TDRI, AEC ประมาณการโดยสถาบันวิจัยนโยบายการคลัง, อื่นๆ โดยผู้วิจัย

หมายเหตุ (ก) การเบิกจ่ายโครงการป้องกันน้ำท่วมและโครงสร้างพื้นฐาน AEC ทำได้น้อยในระยะแรก

              (ข) นโยบาย ‘ประชานิยม’ อื่นๆ สมมติว่ารัฐบาลตั้งงบประมาณไว้รองรับหมดแล้ว

 

ทั้งนี้ หนี้สาธารณะของไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นนอกเหนือจากโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณมากแล้วยังเป็นเพราะแม้ในภาวะปกติ การคลังไทยก็มีโครงสร้างขาดดุลโดยพื้นฐานอยู่แล้ว และยังมีภาระดอกเบี้ยทับถม การควบคุมรายจ่ายประจำจะมีผลช่วยควบคุมการเพิ่มของหนี้สาธารณะได้ค่อนข้างดี

สุชัยกล่าวด้วยว่าภายใต้หนี้สาธารณะที่จะเกิดขึ้นนี้ ยังมีแนวทางการบริหารโอกาสเพื่อไม่ให้หนี้สูงเกินไปได้ เช่น การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านจะมีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจขยายตัว (อาจถึง 6%) ซึ่งช่วยป้องกันไม่ให้หนี้สาธารณะเพิ่มเกิน 60% จึงควรบริหารจัดการให้งบส่วนนี้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด และควรมีมาตรการอื่นๆ เพื่อให้ประเทศหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เช่นการพัฒนาแรงงาน พัฒนาเทคโนโลยี

ส่วนแนวโน้มหนี้สาธารณะในระยะยาวกรณีที่ไทยหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีจีดีพีโต 6% ต่อเนื่องทุกปี กราฟของหนี้สาธารณะก็จะดิ่งหัวลงมาอยู่ที่ 20-40%ของจีดีพีเท่านั้น ซึ่งโดยทิศทางแล้วมีความเป็นไปได้ไม่มากนักและขึ้นอยู่กับความเสี่ยงหลายอย่าง เช่น อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงอาจปรับตัวขึ้นภายใน 2 ปีข้างหน้า (จากปัจจุบันที่ติดลบอยู่) ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอเมริกา ประกอบกับรัฐยังไม่มีแผนการปรับระบบภาษีที่ควรจะเป็น ดังนั้น ข้อเสนอแนะสำหรับช่วงนี้ซึ่งแนวโน้มเศรษฐกิจอยู่ในช่วงขาขึ้นคือ การควรมี ‘พื้นที่การคลัง’ เพิ่มขึ้นในระยะ 5 ปีข้างหน้า เนื่องจากยังมีความเสี่ยงหลายด้าน โดยแนวทางเพิ่มพื้นที่การคลังที่เป็นรูปธรรมคือ พิจารณาปรับลดโครงการพิเศษที่ใช้งบประมาณสูง เช่น โครงการรับจำนำข้าว, คุมการขยายตัวของรายได้ประจำ, ปรับเพิ่มภาษีบางประเภท เช่น ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีVAT  (ดูรูปผลต่อหนี้สาธารณะหากมีการลดภาระขาดทุนจากโครงการจำนำข้าวได้ในตารางด้านล่าง)

 

 

สมชัยกล่าวด้วยว่าภายในไม่กี่ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเป็นสังคมผู้สูงอายุ แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเงินและเศรษฐกิจที่เป็นอยู่นี้ทำให้คาดหวังได้ว่าเราจะหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลาง และเป็นประเทศที่มีรายได้สูง อาจเรียกได้ว่า เราคงแก่ก่อนรวย

 

นโยบาย 300 ดีแล้วแม้ก้าวกระโดด แนะเร่งเพิ่มผลิตภาพด่วน

สมเกียรติเริ่มต้นด้วยการแสดงกราฟวิเคราะห์ค่าจ้างที่แท้จริงในภาคการผลิตว่า ตลอด 10 กว่าปีที่ผ่านมาค่าจ้างแรงงานไทยแทบไม่ขึ้นเลย และเมื่อเทียบกับอัตราเงินเฟ้อ ก็เรียกได้ว่าคนงานไม่ได้รับค่าจ้างเพิ่มแต่อย่างใด

เขามองว่านโยบายขึ้นค่าแรง 300 บาทของรัฐบาลว่า ไม่เหมือนนโยบายในตระกูล ‘ประชานิยม’ ทั่วไป เพราะโดยเจตนารมณ์และผลลัพธ์เป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของแรงงาน ลดความเหลื่อมล้ำ รวมทั้งลดช่องว่างในอำนาจต่อรองระหว่างแรงงานและนายจ้างที่ถ่างมาก การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการจ้างงานมากเพราะตลดาแรงงานไทยตึงตัว การว่างงานของไทยก็ต่ำมากคนงานมีทางเลือกในการหางานใหม่สูง แต่การปรับขึ้นค่าแรงอย่างรวดเร็วจะกระทบด้านลบต่อ SMEs ในอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้น

เขานำเสนอข้อมูลของลูกจ้างภาคเอกชนจาก Labor force survey ปี 2554 ไตรมาส 2 ว่า การปรับขึ้นค่าแรง 300 บาทนั้น ส่งผลให้ภาคการผลิตใดบ้างที่ต้องจ่ายค่าแรงเพิ่มขึ้น และมีสัดส่วนเท่าใด เช่น ในภาคการผลิตเหล็ก การขึ้นค่าแรงส่งผลให้คนงานทักษะต่ำได้รับเงินเพิ่มขึ้น 14% ในขณะที่คนงานทักษะสูงได้เงินสูงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำมากอยู่แล้ว ภาคการผลิตเครื่องนุ่งห่ม สิ่งทอ เป็นภาคที่คนงานทักษะต่ำได้รับการปรับค่าแรงเพิ่ม 47% และในสาขานี้ยังมีสัดส่วนการจ้างงานคนงานสูงมาก เกือบ 100%  (ดูตาราง)

 

 


 

นอกจากนี้ยังวิเคราะห์โครงสร้างต้นทุนค่าแรงและกำไรของภาคการผลิตต่างๆ ซึ่งพบว่าเมื่อปรับค่าแรงขั้นต่ำแล้วอุตสาหกรรมเหล็ก ,ยางยนต์ พลาสติก, อาหาร อาจมีสัดส่วนกำไรลดลง แต่สาขาที่สุ่มเสี่ยงว่าจะขาดทุนได้แก่ อุตสาหกรรมร้องเท้า เครื่องหนัง เฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

สำหรับข้อเสนอเพื่อการปรับตัวของภาคการผลิตนั้น สมเกียรติเสนอให้มีการปรับยุทธศาสตร์อุตสาหกรรมไทย โดยเร่งเพิ่มผลิตภาพประเทศอย่างจริงจัง ซึ่งรัฐบาลน่าจะประกาศให้ปี 2556-2565 เป็น ‘ทศวรรษแห่งการเพิ่มผลิตภาพของธุรกิจไทย’

นอกจากนี้ยังนำเสนอมาตรการระยะสั้น ว่าควรมีมาตรการส่งเสริมการปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องจักร โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมในสาขาเสี่ยงขาดทุน , อำนวยความสะดวกในการย้ายฐานการผลิต บริการข้อมูลกฎระเบียบ แรงงาน ตลาดให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs และลงทุนโครงสร้างพื้นฐานการขนส่ง ลอจิสติกส์เพื่อสนับสนุนการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมกับเพื่อนบ้าน แก้ไขปัญหาจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน จัดทำอนุสัญญาภาษีซ้อนกับกัมพูชา เพื่อย้ายกิจกรรมการผลิตที่มูลค่าเพิ่มต่ำไปประเทศเพื่อนบ้านควบคู่กับการยกระดับการผลิตในประเทศให้มีมูลค่าสูงขึ้นแล้เชื่อโยงการผลิตเข้าด้วยกัน

ส่วนข้อเสนอแนะในระยะกลางและยาวนั้น สมเกียรติระบุถึงเป้าหมายการลงทุนด้าน R&D หรือการวิจัยพัฒนา ให้ถึง 1% ของจีดีพี โดยพิจารณาลดหย่อนภาษีการทำ R&D ของเอกชน เพิ่มประสิทธิภาพ R&D ภาครัฐ รวมไปถึงการปฏิรูปการศึกษา ที่สำคัญ ในอนาคตควรกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำอย่างค่อยเป็นค่อยไป ภายใต้กติกาที่ชัดเจน โดยค่าจ้างในแต่ละพื้นที่ไม่จำเป็นต้องเท่ากัน

 

ปฏิรูปภาคบริการไทย หนทางหนี ‘กับดักประเทศรายได้ปานกลาง’

เดือนเด่น กล่าวถึงอีกหนึ่งหัวใจสำคัญของเศรษฐกิจ คือภาคบริการ ซึ่งเป็นภาคที่สำคัญมาก แต่มักถูกละเลย แม้กระทั่งข้อมูลที่เป็นระบบก็ยังไม่มีเจ้าภาพในการจัดเก็บ เหตุที่ภาคบริการสำคัญเพราะมีแรงงานอยู่ในภาคบริการสูงถึง 45% ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรมแม้จะสร้างรายได้เป็นครึ่งหนึ่งของจีดีพี แต่มีแรงงานอยู่เพียง 14%

เดือนเด่นกล่าวว่าผลวิเคราะห์การเพิ่มผลิตภาพแรงงานของทีดีอาร์ไอแสดงว่า อัตราการขยายตัวของ GDP จะไม่ติดลบ หากผลิตภาพแรงงานสามารถเพิ่มขึ้นได้ 8.4% ในขณะที่ผลวิเคราะห์ของธนาคารแห่งประเทศไทยก็ใกล้เคียงกันคือระบุว่าผลิตภาพแรงงานของไทยต้องเพิ่มจาก 4% เป็น 8%

อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาผลิตภาพของแรงงานภาคบริการอยู่ในสัดส่วนที่ต่ำกว่าภาคการผลิตมาก และแทบไม่ได้รับการพัฒนาให้เพิ่มขึ้นเลยตลอด 10 กว่าปี  จนภาคบริการกลายเป็นตัวถ่วงของการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทยทั้งหมด

เดือนเด่นกล่าวว่า เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะภาคบริการต่างจากภาคอุตสาหกรรมหรือภาคการผลิตตรงที่ ไม่ต้อนรับการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งมาทั้งในรูปเงินทุนและเทคโนโลยี เนื่องจาก พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ.2542 ซึ่งจำกัดหุ้นส่วนต่างชาติที่ร้อยละ 49 และกฎกติกากำกับดูแลในบางสาขาบริการที่ไม่เอื้อต่อการแข่งขัน ทำให้เกิดการผูกขาด ภาคบริการที่ล้าหลังนั้นทำให้แรงงานกว่าล้านคนมีรายได้ต่ำเกินควร และต้นทุนของบริการสูงเกินหรือคุณภาพบริการต่ำเกิน ซึ่งก็ไปบั่นทอนขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรมอีกทีหนึ่ง เป็นผลให้การลงทุนจากต่างประเทศไหลไปที่ประเทศอื่นโดยเฉพาะสิงคโปร์

เดือนเด่นกล่าวด้วยว่า หากดูโอกาสของภาคบริการ จะพบว่าการลงทุนที่มาสู่อาเซียนมีแนวโน้มจะมุ่งไปที่ภาคบริการมากขึ้น หากเรายังคิดแต่ภาคการผลิตก็จะไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ส่วนว่าทำอย่างไรจึงจะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของภาคบริการได้นั้น นักวิจัยจากทีดีอาร์ไอระบุว่า จะต้องเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทางเทคโนโลยี แต่ก็ไม่ใช่เปิดในทุกสาขา ไทยควรมี Roadmap ในการเปิดเสรีภาคบริการของตัวเอง ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับข้อตกลงการค้าเสรีย่อยๆ ที่ประเทศอื่นๆ กำหนด และรัฐบาลก็ควรแก้ไข พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว เพื่อแปลงบัญชี 3 จากการเป็น positive list เป็น negative list ส่วนสาขาที่ควรเปิดเสรี ได้แก่ บริการที่สนับสนุนภาคธุรกิจ เช่น การเงิน ประกันภัย ขนส่ง โทรคมนาคม การสื่อสาร พลังงาน ซึ่งเป็นบริการที่มีลักษณะผูกขาดหรือกึ่งผูกขาด

นอกจากนี้ยังจะต้องปรับปรุงกฎระเบียบว่าด้วยการลงทุนจากต่างประเทศ เช่น ข้อกำหนดจ้างงานคนไทย 4 คนต่อคนต่างด้าว 1 คน และข้อจำกัดเกี่ยวกับการจ้างงานวิชาชีพที่เป็นคนต่างด้าว ทบทวนนโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่ให้สิทธิประโยชน์แก่ธุรกิจอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าต่ำ และหันมาเน้นภาคบริการโดยเฉพาะบริการที่สนับสนุนธุรกิจ เช่น การวางระบบ payment ของบัตรเครดิต

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net