Skip to main content
sharethis

จากนโยบายลดส่งออก-ผลิตเพื่อบริโภคภายใน เช่นกรณีของอินโดนีเซียที่เพิ่มค่าแรงขั้นต่ำเพื่อกระตุ้นศก.ภายในประเทศ​ ในขณะที่มองความขัดแย้งทะเลจีนใต้อาจยกระดับเป็นการเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจจีนและสหรัฐ 

 

29 ม.ค. 56 - วอลเดน เบลโล ส.ส. จากพรรคอัคบายัน ประเทศฟิลิปปินส์ และนักวิเคราะห์อาวุโสจากองค์กร Focus on the Global South วิเคราะห์แนวโน้มการเมืองโลกโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจในวงเสวนา "โฉมหน้าใหม่เอเชีย ภายใต้วิกฤติการเงินและสิ่งแวดล้อม" ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยว่า ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะคงยังคงเติบโตโดยที่ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุโรปและเศรษฐกิจถดถอยในสหรัฐมากนัก และมองเรื่องความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ว่า อาจเป็นการเผชิญหน้ากันระหว่างมหาอำนาจระหว่างจีนและสหรัฐอเมริกา หากประเทศในอาเซียนพยายามดึงสหรัฐเข้าแทรกแซงในความขัดแย้งดังกล่าว 
 
เบลโลมองว่า เนื่องจากก่อนหน้านี้ เศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังเน้นการส่งออกไปสู่ยุโรปและสหรัฐ แต่ในปัจจุบันได้หันมาเน้นผลิตเพื่อการบริโภคภายในประเทศมากขึ้น ทำให้ไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศดังกล่าว นอกจากนี้ การที่ประเทศในแถบอุษาคเนย์ได้สร้างมาตรการการรับมือจากช่วงวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 จึงทำให้ยังสามารถรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจพอสมควรหลังจากนั้นเป็นค้นมา 
 
นอกจากนี้ นโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เช่น ในฟิลิปินส์ที่มีการส่งเสริมการใช้จ่ายภายในประเทศ กำหนดนโยบายดอกเบี้ย และเน้นการผลิตเพื่อบริโภคภายในประเทศ ก็ทำให้สามารถสร้างรายได้ที่ยังคงเติบโตอยู่อย่างสม่ำเสมอ 
 
นักวิเคราะห์อาวุโสยังตั้งข้อสังเกตด้วยว่า ในอินโดนีเซีย ที่เมื่อเร็วๆ นี้มีการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ นอกจากจะเป็นเหตุผลด้านความยุติธรรมทางสังคมแล้ว ยังเล็งเห็นว่าประเทศไม่สามารถขายจุดเด่นจากการที่เป็นค่าแรงขั้นต่ำอีกต่อไป แต่ต้องเพื่อให้ประชาชนสามารถมีรายได้ที่จับจ่ายใช้สอยและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เปรียบเสมือนเครื่องจักรที่ทำให้ประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน 
 
ในเรื่องของความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ เขามองว่า เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับนโยบายการหันหน้าเข้าหาเอเชียของสหรัฐอเมริกา เพื่อต้องการคานอำนาจของอิทธิพลที่แผ่ขยายมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ผ่านมา ความขัดแย้งภายในอาเซียนเรื่องทะเลจีนใต้ ก็ยังเป็นที่ไม่สามารถหาข้อยุติ จะเห็นจากการไม่สามารถออกข้อสรุปในการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่กรุงพนมเปญเมื่อปีที่แล้ว เนื่องจากเวียดนามและฟิลิปปินส์ต้องการให้เกิดการเจรจาทวิภาคีระหว่างอาเซียนและจีน แต่กัมพูชาไม่ยินยอม 
 
เบลโลกล่าวว่า ในขณะนี้ ฟิลิปปินส์พยายามจะผลักดันให้เกิดการเจรจา แต่ก็ดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาร่วมด้วยเพื่อการถ่วงดุลอำนาจ แต่เมื่อสหรัฐอเมริกาเข้ามาแล้ว อาจทำให้ข้อพิพาทในระดับภูมิภาคกลายเป็นการเผชิญหน้าระหว่างจีนและสหรัฐได้ 
 
"หากมีคนถามผมเรื่องนี้ ผมก็จะบอกตลอดว่าผมไม่เห็นด้วยกับการดึงสหรัฐอเมริกาเข้ามาแก้ปัญหาทะเลจีนใต้ เนื่องจากมันจะนำไปสู่การเผชิญหน้าระหว่างมหาอำนาจสองประเทศในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้" เขากล่าว  
 
อนึ่ง การเสวนาดังกล่าว จัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 56 เวลา 9.00-12.00 น. ที่อาคารประชาธิปก-รำไพพรรณี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยองค์กรพัฒนาเอกชน Focus on the Global South 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net