รายงาน: พื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา วีระ-ราตรี และราษฎรอื่นๆ

พูดคุยกับอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองฯ ของคณะกรรมการสิทธิฯ ถึงเรื่องราวสภาพในเรือนจำของวีระ สมความคิด และปัญหาทับซ้อนชายแดนไทย-กัมพูชา ที่มีประชาชนของทั้งสองประเทศเป็นเหยื่อของความรุนแรงอย่างเงียบๆ และถูกละเลย

 

วันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ น่าจะมีข่าวดีเกี่ยวกับการปล่อยตัวนางราตรี พิพัฒนาไพบูลย์ ที่ได้รับอภัยโทษและเดินทางออกจากเรือนจำเปรยซอว์ กรุงพนมเปญ แม้ว่ายังเหลือนายวีระ สมความคิด อีกคนหนึ่งที่ติดค้างที่นั่น

ทั้งสองถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวเมื่อวันที่ 21 ส.ค.53 พร้อมกับนายพนิช วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ คนสนิทของอดีตนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ รวมถึงคนอื่นๆ ในทีม ขณะเดินทางไปในหมู่บ้านแห่งหนึ่งใน อ.โนนสูง จ.สระแก้ว เพื่อเข้าไปตรวจสอบเรื่องพื้นที่ทับซ้อน ซึ่งในขณะนั้นเป็นช่วงสถานการณ์ตึงเครียดระหว่างไทยกับกัมพูชาอันเนื่องมาจากกรณีพิพาทปราสาทพระวิหาร ซึ่งนายวีระเคยนำทีมไปอ่านแถลงการณ์ทวงคืนพื้นที่ทับซ้อนปราสาทพระวิหารจนมีเหตุปะทะกับชาวบ้านในพื้นที่ก่อนหน้านี้ หลังการจับกุมรัฐบาลอภิสิทธิ์พยายามประสานขอตัวคนกลุ่มนี้กลับแต่ไม่ได้รับการตอบรับ ต่อมาหลังศาลกัมพูชาตัดสินโทษ คนส่วนใหญ่ได้กลับประเทศ เว้นแต่นายวีระเเละนางราตรี โดยในวันที่ 1 ก.พ.2554 ศาลกัมพูชาพิพากษาให้ทั้งสองมีความผิด 3 ข้อหา คือ รุกล้ำชายแดน เข้าไปในเขตทหาร และโจรกรรมข้อมูลทางทหาร ตัดสินจำคุกนายวีระ 8 ปี ปรับ 1 ล้าน 8 แสนเรียล และตัดสินจำคุกนางราตรี 6 ปีปรับ 1 ล้าน 2 แสนเรียล

เรื่องราวผ่านมากว่า 2 ปี ล่าสุด นายสุวัฒน์ แก้วสุข จากกองคุ้มครองดูแลผลประโยชน์ของไทยในต่างประเทศ กรมการกงสุล แจ้งความคืบหน้าให้กับอนุกรรมการด้านสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง คณะกรรมการสิทธิฯ ซึ่งมีหมอนิรันดร์ พิทักษ์วัชระ เป็นประธาน ว่า  กัมพูชามีการอภัยโทษให้กับนักโทษต่างชาติและกัมพูชาราว 500 คน เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพอดีตกษัตริย์นโรดม สีหนุ ซึ่งจะเริ่มในวันศุกร์ (1 ก.พ.) นี้ ในจำนวนนี้มีคนไทยอยู่ด้วย 5 คน รวมวีระและราตรี (จากจำนวนนักโทษชาวไทย 37 คนในกัมพูชาซึ่งส่วนใหญ่เป็นคดียาเสพติด) นางราตรีได้ปล่อยตัวทันทีส่วนนายวีระนั้นได้รับการลดโทษ 6 เดือน แต่ก็มีสัญญาณที่ดีว่าน่าจะนำไปสู่การอภัยโทษในอนาคต ทั้งนี้ เพราะตามหลักเกณฑ์ของกัมพูชา นักโทษจะได้รับอภัยโทษได้เมื่อได้รับโทษครบ 2  ใน 3 แล้ว

นอกจากนี้ยังอาจมีการหารือเรื่องการโอนตัวนักโทษ ซึ่งตามเกณฑ์ของกัมพูชาแล้วต้องรับโทษมาแล้ว 1 ใน 3 ซึ่งสำหรับนายวีระนั้นจะได้รับโทษครบ 1 ใน 3 ในเดือนกุมภาพันธ์นี้ สำหรับขั้นตอนการโอนตัวนั้น จะมีคณะกรรมการร่วมจากกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กรมการกงสุล และกรมราชทัณฑ์ ซึ่งในเบื้องต้นคณะกรรมการได้พิจารณาเรื่องของนายวีระไว้แล้ว หากครบกำหนดโทษตามหลักเกณฑ์และมีการส่งเรื่องเข้าคณะกรรมการเมื่อใดก็สามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็วทันที เรียกได้ว่า ขออภัยโทษ กับขอโอนตัว ทำสิ่งไหนได้แต่ก่อนก็จะทำทันที

นพ.นิรันดร์ ซึ่งเป็นประธานอนุกรรมการฯ ที่ติดตามเรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทยกัมพูชา เคยเดินทางไปเยี่ยมนายวีระและนางราตรีที่เรือนจำในกัมพูชาเมื่อปลายปีที่แล้ว ให้สัมภาษณ์ว่า การจับกุมคุมขังครั้งนี้เป็นประเด็นทางการเมือง โดยที่วีระ ราตรีไม่ได้เป็นสายลับจารกรรมข้อมูลดังที่ถูกกล่าวหา เพราะจากประสบการณ์ส่วนตัวที่ทำงานกับวีระในเรื่องการต่อต้านการคอรัปชั่นมายาวนาน ประกอบกับวีระเองก็เป็นอนุกรรมการฯ ที่นพ.นิรันดร์เป็นประธาน ทำให้ยืนยันได้ว่าเขาเป็นคนตรงไปตรงมา และพยายามต่อสู้เรื่องปัญหาพื้นที่ทับซ้อนตามชายแดนตามแนวทางที่เชื่อ เพราะเรื่องนี้กระทบสิทธิของชุมชนและประชาชนด้วย

ประธานอนุกรรมการฯ กล่าวด้วยว่า อนุกรรมการฯ ชุดนี้ไม่ได้เพียงแต่ดูเรื่องคุณวีระ ราตรี แต่ได้รับเรื่องร้องเรียนของประชาชนไม่น้อยในเรื่องเขตแดนที่ไม่ชัดเจน มีคนไทยถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวไปอยู่ในเรือนจำที่เสียมเรียบบ้าง พนมเปญบ้าง และขณะเดียวกันก็มีพี่น้องกัมพูชาที่อยู่ชายแดนถูกทำร้ายโดยทหารของฝ่ายไทย โดยทางอนุฯ ได้เข้าไปตรวจสอบแล้วในหลายกรณี

“อยากให้เห็นว่านอกจากประเด็นชาตินิยมที่ต่างกัน ในเรื่องปราสาทพระวิหารแล้ว เรื่องเขตแดนที่ไม่ชัดเจนมันก็กระทบกับพี่น้องประชาชนในพื้นที่ด้วย เช่น พี่น้องประชาชนมาร้องว่า ไม่มีที่ดินทำกิน เพราะที่ดินตรงนั้นถูกประกาศให้กลายเป็นอุทยานแห่งชาติไป และประกาศกฎอัยการศึกไม่ให้คนไทยเข้าไปทำมาหากิน ทั้งๆที่เขาทำมาหากินมานาน แต่ตรงข้ามรัฐบาลกัมพูชาให้ชาวกัมพูชามาหากินได้ สร้างบ้านเรือนได้ มันเป็นนโยบายที่แตกต่างกัน”นิรันดร์กล่าว

เมื่อถามถึงสภาพการถูกคุมขังที่เรือนจำในกัมพูชา นพ.นิรันดร์ กล่าวว่า ในการไปเยี่ยมนั้นได้คุยกับวีระนานร่วมชั่วโมง ทั้งนายวีระ และนางราตรี อยู่ในห้องขังแยกกัน สำหรับสุขภาพของวีระนั้นดีขึ้น เนื่องจากมีโรคประจำตัวคือ โรคภูมิแพ้ โรคไขข้ออักเสบ แต่ระยะหลังมีคณะแพทย์จากประเทศไทยไปดูอาการและให้ยาเป็นระยะ

สำหรับการอยู่ในเรือนจำมีสภาพต่างกัน นพ.นิรันดร์เล่าว่า วีระถูกควบคุมมากกว่า ถูกจำกัดไม่ให้มีหนังสืออ่าน เขียนเอกสารใดๆ ไม่ได้ ไปไหนมาไหนจะมีผู้คุมเดินประกบตลอด อยู่ห้องขังเดี่ยว เพราะเขาถือว่าเป็นสปายสายลับ ซึ่งตรงข้ามกับราตรีที่ยังส่งหนังสือให้อ่านได้ ระยะหลังจึงผ่อนคลายพอสมควร

นพ.นิรันดร์กล่าวด้วยว่า “จุดที่วีระไปแล้วถูกจับเป็นจุดที่วีระเคยไปมาหลายครั้งแล้ว วีระยืนยันว่าจุดที่ไปอยู่ฝั่งไทย เพราะมีโอกาสพูดคุยกับประชาชนในพื้นที่นั้นมาก่อน ไปเห็นหมุดเขตแดนชัดเจน เขาเชื่อมั่นตรงนั้นอยู่ในฝั่งไทย เพียงแต่มันมีนโยบายจัดการชายแดนที่ต่างกันระหว่างไทยกับกัมพูชา นอกจากนี้การจัดการเขตแดนของไทยกับกัมพูชามีปัญหามาตลอด ไม่สามารถเคลียร์ได้ แต่วีระเขามั่นใจว่าเขตนั้นอยู่ในเขตไทย ที่ไปแล้วถูกจับในครั้งหลังเพราะได้รับการติดต่อจากส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ให้ช่วยพาไป จริงๆ คุณวีระไม่ได้อยากไป โปรแกรมคุณวีระวันนั้นจะพาคุณแม่ไปพักผ่อน เพราะใกล้ปีใหม่ด้วยซ้ำไป” นิรันดร์กล่าว

นพ.นิรันดร์กล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องการเมือง ประเด็นที่ถูกจับเป็นเรื่องการเมืองระหว่างประเทศ ทั้งสองฝ่ายไม่ว่าไทยหรือกัมพูชา และการที่เขาถูกจับ นักการเมืองกัมพูชาก็ได้ประโยชน์ในการปลุกกระแสชาตินิยมในประเทศของเขา การที่สามารถที่จะดำเนินการทำให้มีการลดหย่อนโทษวีระและปล่อยราตรี แสดงให้เห็นว่าการเมืองของความตึงเครียดที่มองกันเป็นศัตรูนั้นลดลง และเป็นข้อพิสูจน์ว่าความขัดแย้งในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต้องแก้ไขปัญหาด้วยการเจรจาไม่ใช่ใช้ความรุนแรง หรือการรบ วิธีการเหล่านี้ไม่ได้เกิดประโยชน์

ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชานั้นไม่ได้มีเฉพาะกรณีของวีระ-ราตรี แต่ยังมีกรณีชาวบ้านอุบลราชธานีถูกทหารกัมพูชาจับกุมตัวไปด้วย อย่างที่กล่าวไปว่าการอภัยโทษครั้งนี้มีคนไทยรายอื่นรวมอยู่ด้วย คือ นายทองแดง ยะลา อายุ 51 ปี และนายพิณ นาอ่อน อายุ 46 ปี ชาวบ้านจังหวัดอุบลราชธานี ซึ่งมีอาชีพหาของป่า และเป็นพรานล่าสัตว์ ถูกทหารกัมพูชาจับตัวบริเวณช่องอานม้าเมื่อวันที่ 31 พ.ค.53 เนื่องจากเข้าไปในพื้นที่ทับซ้อน โดยพวกเขาถูกจำคุกอยู่ที่เสียมเรียบ

นายทองแดง  และนายพิณ  ถูกทหารกัมพูชาจับในข้อหา เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และข้อหาครอบครองและมีไว้ซึ่งอาวุธปืน(ปืนแก๊ปและกระสุนกว่า 500 นัด) ศาลลงโทษให้จำคุก 5 ปี ในระดับพื้นที่โดยปกติเจ้าหน้าที่จะใช้วิธีการเจรจา แต่เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความสัมพันธ์ไทย-กัมพูชา ไม่ค่อยจะดีนักจึงไม่ประสบผล  เมื่อญาติทราบข่าวการถูกจับกุมได้ไปร้องเรียนในหลายหน่วยงานแต่ไม่ได้รับความสนใจ ไม่ว่ากระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงยุติธรรม ทำเนียบรัฐบาล จนสุดท้ายได้ร้องเรียนมายังอนุกรรมการสิทธิพลเมืองฯ ซึ่งอนุกรรมการได้เดินทางไปเยี่ยมผู้ต้องขังทั้งสองที่กัมพูชาและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การช่วยเหลือเท่าที่จะเป็นไปได้ในที่สุด

นอกจากนี้ยังมีการร้องเรียนกรณีชาวบ้านอุบลราชธานีถูกทหารพรานของไทยเองยิง เหตุเกิดเมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2554 นายไชยา สายสิม อายุ 39 ปี พร้อมลูกชายเดินทางกลับจากการหาของป่า ช่วงเวลาประมาณ 20.00น. ทั้งสองขับรถไถนาแบบเดินตามที่เก็บท่อนไม้ยาวประมาณ 1 เมตรจำนวน 4 ท่อนกลับมาด้วย เมื่อเดินทางมาถึงบริเวณไร่มัน เจ้าหน้าที่ส่องไฟใส่ แล้วยิงบริเวณขาทั้ง 2 ข้าง นายไชยาฯ เข้าไปหลบอยู่ในไร่มัน ส่วนลูกชายได้วิ่งหนีไปก่อนหน้านั้น ทหารพรานที่อยู่ในเหตุการณ์ ทั้งหมดประมาณ 6 – 7 นาย ได้ประสานให้เจ้าหน้าที่จากอุทยานเขาพระวิหารมายึดรถไถนาเดินตามของนายไชยาฯ

ภายหลังการพักรักษาตัวราว 1 สัปดาห์ มีการได้ติดต่อให้เจ้าหน้าที่ทหารพรานผู้ก่อเหตุมาเจรจากันที่โรงพัก แม้จะไม่มีการแจ้งความ อย่างไรก็ตามในท้ายที่สุดทหารได้ยอมจ่ายค่าเสียหายให้กับนายไชยา

ไม่เฉพาะราษฎรไทยที่ประสบปัญหาในพื้นที่ทับซ้อนเหล่านี้ ราษฎรกัมพูชาเองก็ประสบภัยคุกคามจากความไม่ชัดเจนของเขตแดนเช่นเดียวกัน โดยปลายปีที่แล้ว นักวิชาการกลุ่มหนึ่งและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนได้ร้องเรียนมายังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติให้ตรวจสอบกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยทหารไทย กรณีการสังหารประชาชนชาวกัมพูชานอกกระบวนการยุติธรรม (Extra-judicial executions) ตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในปี พ.ศ. 2551 – 2554  ซึ่งตามข้อมูลที่ได้รับจากสมาคมสิทธิมนุษยชนและการพัฒนาแห่งกัมพูชา (Cambodia Human Rights and Development Association) และศูนย์สิทธิมนุษยชนแห่งกัมพูชา (Cambodia Center for Human Rights) ซึ่งเป็นองค์กรสิทธิมนุษยชนแนวหน้าในประเทศกัมพูชานั้นได้อ้างถึงเหตุการณ์หลายกรณีในช่วงระยะเวลาปี พ.ศ. 2551 – 2554 ที่เกี่ยวข้องกับกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนต่อประชาชนกัมพูชาตามบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาโดยทหารไทย โดยอ้างว่าในช่วงเวลา 4 ปีที่ผ่านมาทหารไทยได้มีการสังหารประชาชนกัมพูชาไปกว่า 20 คน อย่างไรก็ตาม จากการสอบถามเอ็นจีโอที่ติดตามเรื่องนี้พบว่า ไม่มีความคืบหน้าในการตรวจสอบทั้งในฝั่งไทยและกัมพูชา

เป็นที่แน่ชัดว่า สถานการณ์ทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศที่คลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นนั้นทำให้การเผชิญหน้า ความตึงเครียดบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชาในจุดต่างๆ ลดน้อยลง แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่เรากำลังเตรียมพร้อมอย่างหนักในการแถลงต่อศาลโลกในคดีพื้นที่ทับซ้อนปราสาทพระวิหาร เราอาจต้องหันมาตรวจสอบและแก้ปัญหาการบริหารจัดการพื้นที่ทับซ้อนตามแนวชายแดนจุดอื่นๆ ด้วย เพื่อไม่ให้ราษฎรของทั้งสองประเทศต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงโดยไม่มีใครแยแสอีกต่อไป

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท