3 คนข่าวเสวนาข้อท้าทายในการรายงานข่าวเจาะ-ภาคใต้-112

อียูจัดเสวนาว่าด้วยเสรีภาพในไทย เวทีเรื่องความท้าทายในการทำงานของผู้สื่อข่าว 'สถาพร' ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส ชี้ความท้าทายข่าวคอร์รัปชั่น ต้องพิสูจน์มุมหมิ่นเหม่ทางกฎหมาย 'ปกรณ์' จากสำนักข่าวอิศรา แจง 3 ความท้าทายการทำข่าวภาคใต้ 'ประวิตร' จากเนชั่น ชี้อุปสรรคการนำเสนอข่าว 112 คือสื่อ


(จากซ้ายไปขวา) ปกรณ์ พึ่งเนตร-ประวิตร โรจนพฤกษ์-สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา-โจนาธาน เฮด (ผู้ดำเนินรายการ)

 

(30 ม.ค.56) ในการเสวนาหัวข้อภูมิทัศน์สื่อในประเทศไทย เรื่องข้อท้าทายในการทำงานจากมุมมองของผู้สื่อข่าว ภายใต้การสัมมนาเรื่องการปรองดองและเสรีภาพในการแสดงออกในประเทศไทย  ซึ่งจัดโดยสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่โรงแรมดุสิตธานี

สถาพร พงษ์พิพัฒน์วัฒนา ผู้สื่อข่าวสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส กล่าวถึงการทำข่าวสืบสวนสอบสวนว่า เป้าหมายในการทำข่าวประเภทนี้ไม่ได้ต้องการรังแกหรือทำลายความน่าเชื่อถือของใคร แต่เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น โดยที่ผ่านมา ในการทำข่าวเรื่องขบวนการบุกรุกที่ ราชพัสดุ อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี ซึ่งได้รับรางวัลข่าวสืบสวนสอบสวนยอดเยี่ยม ก็เคยถูกขู่ฆ่า และสกัดทุกวิถีทางในการเข้าถึงพื้นที่  แต่ถือว่า มีข้อได้เปรียบคือทำงานในองค์กรที่ไม่มีโฆษณา ไม่มีคำสั่งจากรัฐบาล ทำให้เสนอเรื่องนี้ได้จนจบ โดยไม่เคยโดนสั่งให้เลิกทำ หรือให้เบาลง มีแต่บอกว่ายังไม่พอ โดยมีข้อพิสูจน์คือ ในการติดตามเรื่องนี้ 4 เดือน เสนอไป 30 ตอน นำไปสู่บทสรุปที่มีข้อเสนอ จนเกิดวาทกรรมสวนผึ้งโมเดล

สถาพร กล่าวว่า เรื่องของการบุกรุกที่ดินของรัฐนั้น มีบริบทชัดเจน แต่ประเด็นที่ยากกว่าคือเรื่องการทุจริตคอร์รัปชั่นเนื่องจากมีมุมที่หมิ่นเหม่ทางกฎหมาย มีการแก้ไขระเบียบให้การทุจริตเหมือนไม่ทุจริต ซึ่งความท้าทายคือการพิสูจน์ว่านี่คือการทุจริตนั้นยากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากนี้ สถาพรยกตัวอย่างอีกปัญหาที่พบจากทำงานล่าสุด ที่ติดตามเรื่องสารปรอทในพื้นที่อุตสาหกรรม โดยพบในปลาและเส้นผมมนุษย์ว่า ชาวบ้านมีท่าทีให้ความร่วมมือในการให้ข้อมูล แต่ไม่ออกสื่อ เพราะมีความหวาดกลัว เนื่องจากต้องชนกับอุตสาหกรรมกระดาษที่ใหญ่ที่สุดในประเทศหรืออาจจะในภูมิภาคอาเซียน นอกจากนี้ พอเป็นการต่อสู้เรื่องข้อมูล ก็ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่รัฐไปช่วยกลุ่มอุตสาหกรรม โดยหลังมูลนิธิแห่งหนึ่งตรวจพบสารปรอท แต่เมื่อหน่วยงานรัฐมาตรวจกลับบอกว่าไม่มีปัญหา

3 ความท้าทายการทำข่าวภาคใต้
ปกรณ์ พึ่งเนตร หัวหน้าศูนย์ข่าวภาคใต้ สำนักข่าวอิศรา  และผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กล่าวถึงความท้าทายในการทำข่าวความขัดแย้งในภาคใต้ว่า หนึ่ง คืองานด้านความมั่นคง เนื่องจากรัฐบาลไทยให้กองทัพ โดย กอ.รมน. เป็นเจ้าภาพในการแก้ปัญหา เมื่อมีการทำข่าวภาคใต้ในเชิงตรวจสอบ โดยนำเสนอคนที่ไม่ได้พูด กลุ่มคนที่ถูกจับ สื่อก็จะถูกมองว่าอยู่ตรงข้ามกับรัฐ หรือไม่รักชาติ ทั้งที่บางเรื่องไม่ใช่เรื่องความมั่นคงของชาติ แต่เป็นความมั่นคงของคนบางคนในกองทัพ เช่น เรื่อง GT200 แอร์ชิพ โรฮิงญา โดยวันที่มีการสอบทหารที่เกี่ยวข้องกรณีโรฮิงญา ตนเองได้ยินว่ามีทหารระดับ พ.อ. พ.ต. ร.ท. เกี่ยวข้องด้วย แต่สุดท้ายกลับมีการบอกว่าเป็นการนำรถไปช่วยขนคน ซึ่งนี่ไม่ต่างจากเรื่องเล่าที่ว่ามีตำรวจไปทลายแหล่งขายบริการ แล้วพบตำรวจซึ่งเป็นผู้ซื้อบริการ แล้วได้คำตอบว่ามาล่อซื้อ ทำให้ไม่มีการสืบสวนต่อ นอกจากนี้ในการทำข่าวจะถูกคุกคามด้วยวาจา เช่น ผู้นำกองทัพไม่ให้ข่าว และยังด่ากลับ ขณะที่ลับหลัง จะมีทีมงานมาคุย ให้ข้อมูลอีกแบบ และที่ร้ายกว่านั้นในพื้นที่ยังมีการให้เงินจ้างให้นักข่าวรายงานเฉพาะสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงต้องการด้วย

ปกรณ์ กล่าวต่อว่า สอง วิธีการนำเสนอ ลักษณะของข่าวไทยนั้นเน้นรายวัน จบแล้วจบเลย ยากที่จะมีการเกาะติด ตามจนจบ โดยยกตัวอย่างตนเองที่วานนี้ได้รับมอบหมายให้ทำรายงานเรื่องกล้องวงจรปิดถูกเผาที่ภาคใต้ ซึ่งก็ทำจนดึก พอมาเช้านี้มีข่าวกำนันเป๊าะถูกจับ เรื่องของตนคงไม่ได้ตีพิมพ์ และตลอดอาทิตย์นี้คงมีแต่เรื่องกำนันเป๊าะ ทั้งที่มาของคดี การกลับเข้าประเทศ  ทั้งนี้ การทำข่าวเช่นนี้ของสื่อก็สะท้อนสังคมไทยที่ตามข่าวแบบผิวเผินด้วย สังเกตจากตอนที่ตนเองทวีตข่าวในวันตัดสินคดียุบพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งมีผู้ติดตามและรีทวีตจำนวนมาก แต่พอวันถัดมา ก็ไม่มีใครสนใจแล้ว

ปกรณ์กล่าวว่า นอกจากนี้การที่นักข่าวในพื้นที่ต้องตามข่าวรายวัน ต้องส่งข่าวให้ได้ จึงเกิดปรากฏการณ์ได้ข่าวจากรัฐฝ่ายเดียว เช่น ในการวิสามัญฆาตกรรมผู้ต้องสงสัยคนหนึ่งว่าเป็นมือปืน มีหมายจับ 30-60 หมายจับ ขณะที่ในเว็บของกองปราบฯ นั้น คนที่เป็นมือปืนมือหนึ่งมีหมายจับเพียง 7 หมายจับเท่านั้น ตั้งคำถามว่าทำไมไม่มีนักข่าวคนไหนไปตามที่บ้านของผู้ตาย ไปถามความเห็นจากคนใกล้ตัวเขาเลย ทั้งนี้ ตั้งข้อสังเกตว่าหากผู้ต้องสงสัยดังกล่าวมีหมายจับจำนวนมาก ฆ่าได้หมดทุกคนก็คงเก่งมากๆ เพราะสามารถฆ่าตำรวจที่จบพลร่มได้ หรือกรณียิงครูจำนวนมากตั้งแต่กันยายนถึงสิ้นปี รวมแล้ว 11 กรณี ไม่มีใครนำเสนอต้นทางของปัญหาซึ่งคือการตายของผู้ช่วยครูใหญ่โรงเรียนสอนศาสนาชื่อดังซึ่งน่าจะเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องนี้นอกจากนักข่าวมาเลเซีย โดยชาวบ้าน-คนในพื้นที่เชื่อว่าเป็นฝีมือเจ้าหน้าที่ สร้างความชอบธรรมให้ขบวนการก่อความไม่สงบที่จะแก้แค้นคืน เกิดการเอาคืน มีการฆ่าผู้อำนวยการโรงเรียนสายสามัญของรัฐ 

สาม ความท้าทายสังคมในพื้นที่เอง แยกเป็นสองส่วน คือ หนึ่ง ภาคประชาสังคม ซึ่งหลังๆ มีวาระในการเคลื่อนไหวของตัวเอง ด้านสิทธิมนุษยชนบ้าง ด้านการเมืองการปกครองเรียกร้องเขตปกครองพิเศษ ทำให้สื่อทำงานยาก บางทีเสนอมุมที่แตกต่าง องค์กรเหล่านี้ไม่ยอมรั ตอบโต้หรือกดดันสื่อ  อีกกลุ่มคือ สังคมในพื้นที่ที่มีกระแสอิสลามภิวัฒน์สูง ตัวเองโดนกดดันเยอะ เพราะไม่ได้เป็นมุสลิมและทำงานในส่วนกลาง ทำให้ไม่ได้รับความเชื่อถือ ไม่ได้นับถือศาสนาเดียวกัน หรือพูดภาษาเดียวกัน ทั้งที่นักข่าวของตนเป็นคนในพื้นที่อยู่แล้ว
 

อุปสรรคในการเสนอ 112 คือ "สื่อ"
ด้านประวิตร โรจนพฤกษ์ กล่าวถึงอุปสรรคในการเสนอข่าวเรื่องมาตรา 112 ว่าไม่ใช่ปัญหาจากภายนอก แต่เป็นปัญหาภายใน โดยน่าเศร้าที่สื่อไทยเป็นส่วนหนึ่งของกลไกที่ปิดหูปิดตาภายใต้มาตรา 112 สื่อไม่ได้มีเจตจำนงจะแก้ไขมาตรานี้และยังรักษาไว้ พร้อมยกตัวอย่างบทบรรณาธิการหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ฉบับวันนี้ (30 ม.ค.56) ย่อหน้าที่ 5 ที่ว่าคนไทยทุกคนต้องการปกป้องสถาบันกษัตริย์ ซึ่งเป็นการผลิตซ้ำความเชื่อที่ไม่สะท้อนความจริง ราวกับไม่มีใครที่มีความเห็นต่าง และที่ว่าไม่มีใครหรือกลุ่มใดที่มีเหตุผลที่เรียกร้องให้ยกเลิกมาตรา 112 ซึ่งไม่จริง เพราะทั้งตนเองและสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เรียกร้องเรื่องนี้แต่สื่อไม่สนใจ สำหรับสมศักดิ์นั้น กลายเป็นที่ไม่พึงประสงค์ของสื่อหลักไปแล้ว

ประวิตรกล่าวว่า นอกจากนี้ ไม่แปลกใจเลยที่ไม่มีแถลงการณ์จากสมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หลังคำตัดสินจำคุก สมยศ พฤกษาเกษมสุข 10 ปีจากการเป็น บก.นิตยสาร  เพราะทราบจากภรรยาของสมยศว่า ตลอดเวลาที่สมยศถูกคุมขัง 21 เดือน ไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัว 12 ครั้งนั้น ไม่เคยมีแถลงการณ์จากสมาคมนักข่าวฯ เลย

ประวิตรกล่าวด้วยว่า แม้จะมีสื่อหลักรุ่นใหม่ที่เป็นห่วงเรื่องนี้ แต่พวกเขาก็ไม่กล้าแสดงออก เพราะจะเป็นการฆ่าตัวตายทางวิชาชีพ ไม่มีใครที่ไม่เอา 112 แล้วเป็น บก.ในสื่อหลักได้ พวกเขาไม่มีที่ทางแสดงความเห็นถ้าไม่มีอายุงานพอ และถ้าอยากเติบโตในหน้าที่ก็ต้องเงียบ เพราะสื่อส่วนใหญ่นั้นไม่มีปัญหากับมาตรานี้

 
ในช่วงถาม-ตอบ เอกชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาขายวีซีดีเข้าข่ายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ แสดงความเห็นว่า หลังเขาถูกจับกุม สื่อรายงานว่า ตำรวจได้จับกุมเขาเนื่องจากกระทำความผิดมาตรา 112 จากการขายวีซีดีสารคดีและวิกิลีกส์ โดยไม่ได้บอกว่าเนื้อหาในนั้นคืออะไร ในกลุ่มล่าแม่มดหลายกลุ่ม ก็บอกว่าเขาเลว ต้องฆ่าเขา โดยไม่รู้ว่าเนื้อหานั้นคืออะไร อยากขอให้สื่อลงเนื้อหาโดยสรุปก็ยังดี เพื่อที่ประชาชนทั่วไปจะได้มีข้อมูลก่อนจะตัดสินเขา

ขณะที่ปกรณ์ กล่าวว่า จากการทำข่าวมา 20 ปี วัฒนธรรมข่าวเรื่องนี้คือ ตกข่าวดีกว่า ไม่มีใครว่า พอเกี่ยวกับเรื่องนี้สื่อไม่นำเสนอเลยดีกว่า  แม้จะมีสื่อหลายคนไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้ แต่ก็ถูกวาทกรรมกดทับ ซึ่งเขามองว่า ควรเปิดพื้นที่ให้มีการพูดคุยกัน เหมือนอย่างกรณีปัญหาภาคใต้ และอยากให้รัฐเป็นผู้เริ่ม อย่างไรก็ตาม เขากล่าวด้วยว่า ขอให้มองสื่ออย่างเข้าใจด้วย เพราะที่ผ่านมา แม้แต่อดีตอธิบดีกรมตำรวจยังเคยถูกแจ้งความเนื่องจากอ่านเนื้อหาออกสื่อมาแล้ว 

 

 

หมายเหตุ: ประชาไท แก้ไขเนื้อหาบางส่วน เมื่อ 16.50น. วันที่ 31 มกราคม 2556

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท