Skip to main content
sharethis

 

นายนที สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยมูลนิธิอิสรชนร่วมกับบ้านมิตรไมตรี กรุงเทพมหานคร ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ทำการสำรวจผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน 2555 ถึง 31 ธันวาคม 2555 พบว่า มีจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ทั่วกรุงเทพมหานคร ทั้งสิ้น 2,846 คน โดย 5 เขต ที่มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากที่สุด ได้แก่1.เขตพระนคร 518 คน 2.เขตบางซื่อ 263 คน 3.เขตจตุจักร 215 คน 4.เขตปทุมวัน 202 คน 5.เขตสัมพันธวงศ์ 173 คน

ส่วนกลุ่มผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่มีจำนวนมากที่สุด คือ คนเร่ร่อน 838 คน, ผู้ติดสุรา 802 คน, คนที่ใช้ที่สาธารณะในการหลับนอน 750 คน, ผู้ป่วยข้างถนน 690 คน, คนจนเมือง 600 คน, คนไร้บ้าน 410 คน, เด็กเร่ร่อนและครอบครัวเร่ร่อน 382 คน, คนเร่ร่อนไร้บ้าน 320 คน, พนักงานบริการอิสระ 362 คน, ผู้พ้นโทษ 66 คน

ตลอดปี 2555 ในพื้นที่เขตพระนคร บริเวณสนามหลวง คลองหลอด พบผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เสียชีวิต ตลอดทั้งปี 49 คน มีเพียง 5 รายที่สามารถได้รับหลักฐานการแจ้งตาย นอกจากนั้นไม่สามารถแจ้งได้เพราะไม่มีหลักฐานแสดงตัว กลายเป็นการเสียชีวิตข้างถนนที่ไร้การมองเห็นและรับรู้จากสังคม

เมื่อเทียบสถิติที่มูลนิธิเก็บข้อมูลมาติดต่อกันเป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วง 2 ปีแรกมีข้อจำกัดในเรื่องเวลาของการจัดเก็บข้อมูล โดยมีเวลาจัดเก็บข้อมูลเพียง 1 เดือนเศษ แต่ในปี 2555 ใช้เวลาเก็บข้อมูลมากกว่า 120 วัน จึงทำให้มีเวลาตรวจสอบข้อมูลและลงพื้นที่ซ้ำทำให้จำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ค่อนข้างแม่นยำมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา

ข้อสังเกตจากจำนวนผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะที่เพิ่มขึ้นมาก เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2554 เพราะในปี 2554 มีปัจจัย เรื่องน้ำท่วมเข้ามาเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้ ผู้ใช้ชีวิตฯส่วนหนึ่ง เข้ารับบริการในศูนย์พักพิงของรัฐที่เปิดขึ้นในช่วงน้ำท่วม และเมื่อพ้นวิกฤติการณ์ ดังกล่าว ก็ออกมาใช้ชีวิตในที่สาธารณะเช่นเดิม

 

นอกจากนี้ทางมูลนิธิยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “ปิ่นเกล้าโมเดล” โดยระบุถึงแนวคิดริเริ่มว่า จากการลงพื้นที่รอบสนามหลวง ถนนราชดำเนิน และใต้สะพานปิ่นเกล้า พบว่า คนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ โดยส่วนใหญ่ ไม่ได้ต้องการบ้านที่เป็นหลัง แต่สิ่งที่เขาต้องการคือโอกาสการยอมรับของสังคม ซึ่งการทำงานกับพวกเขาต้องเป็นแบบเพื่อน โดยลงมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยตัวอาสาสมัครหรือเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่ไม่ใช่การไล่จับหรือจัดหาที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ เพราะผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะบางรายมีงานทำและมีรายได้อยู่บริเวณโดยรอบของพื้นที่สาธารณะนั้นๆ 

แต่ในขณะเดียวกัน ในบางส่วนของคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ จากการตรวจสอบจำนวนผู้ออกมาใช้ชีวิตในพื้นที่รอบสนามหลวง เช่น คลองหลอด ตรอกสาเก หลังกระทรวงมหาดไทย และใต้สะพานปิ่นเกล้า เป็นต้น โดยพบว่ามีเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้เกิดภาวะว่างงาน คนตกงานและสิ้นเนื้อประดาตัว ล่าสุดนับจำนวนคนใช้ชีวิตโดยรอบสนามหลวง ซึ่งอยู่เป็นเวลานานประมาณ 400 คน นอกจากนี้ยังมีคนที่เข้ามาอยู่ไม่เกิน 7 วันแล้ว เพื่อพักพิงหรืออาศัยเป็นที่หลับนอนชั่วคราว เตรียมหางานทำและหารายได้ก่อนกลับภูมิลำเนา กลุ่มนี้หมุนเวียนเข้ามาประมาณ 200 คน

ในกลุ่มที่พอมีรายได้ ที่พอเช่าบ้านราคาถูก เช่นวันละ 30-50 บาท ตอนหลังกว่า 18 ครอบครัวได้ อพยพมานอนใต้สะพานปิ่นเกล้า หลังบ้านที่เขาเช่าอยู่ ขึ้นราคาค่าเช่าในปี 2554 เดิมคนเหล่านี้ใช้เสื่อนอนหลับเรียงรายกันดูไม่เป็นระเบียบ ดังนั้น ทำให้ ทางมูลนิธิอสรชน เกิดไอเดีย “ปิ่นเกล้าโมเดล” ที่จะให้คนในที่สาธารณะอยู่เป็นหลักแหล่ง เพื่อง่ายต่อเจ้าหน้าที่ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าไปทำงานฟื้นฟู และพัฒนาเพื่อส่งกลุบภูมิลำเนา หรือสามารถมีแรงกลับไปเช่าบ้านอยู่ได้อย่างเดิม

ปิ่นเกล้าโมเดล นี้ไม่ได้มุ่งสนับสนุนให้คนออกมาใช้ชีวิตปักหลักอยู่ข้างถนน แต่เป็นการจัดระเบียบของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะอยู่อาศัยเป็นที่เป็นทาง และง่ายต่อการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนได้ร่วมมือกันเยียวยา ฟื้นฟู และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้มีอาชีพและรายได้ เมื่อสามารถตั้งหลักได้ สามารถพึ่งพาตนเองได้ ก็จะถอนตัวออกจากที่สาธารณะไปในที่สุด ปิ่นเกล้าโมเดลนี้เป็นการทดลองนำร่องและจะเป็นต้นแบบนำไปสู่การทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะทั่วประเทศได้ต่อไป 

สำหรับรูปแบบ “ปิ่นเกล้าโมเดล”คือ การออกแบบ Shelter หรือที่พักชั่วคราว ที่สามารถจะกล่าวว่าเป็นทางออกที่ดีสำหรับคนที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ให้เหมาะสมกับกลุ่มของผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ คือ 1.อยู่รวมกันเป็นกลุ่ม โดยมีหัวหน้ากลุ่มที่ร่วมประสานงาน หรือเป็นหลักในการประสานงาน ดูแลกันเอง (ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นผู้ใหญ่บ้านในกลุ่มนั้นๆ)กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน, 2.หน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาฟื้นฟู และส่งเสริมอาชีพ เพื่อให้ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมีรายได้ และกลับสู่ภูมิลำเนา หรือหาที่อยู่เป็นหลักแหล่งได้

ส่วนสาเหตุที่เลือกเต็นท์ เพราะเต็นท์เหมาะที่สุดกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะในประเทศไทย เพราะมี 3 ฤดู โดยเฉพาะฤดูฝน เต็นท์ ช่วยป้องกันในฝนสาด และไม่ต้องนอนเปียกชื้น เหมือนเช่นประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่นและออสเตรเลีย ที่สร้างบ้านพักให้คนเร่ร่อนอยู่ในที่สาธารณะ โดยมีกลไกทำงานร่วมกันระหว่างอาสาสมัครมูลนิธิอิสรชนกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ และจัดกฎระเบียบร่วมกันในการอยู่อาศัยให้มีความเป็นระเบียบเพิ่มขึ้น พร้อมตั้งหัวหน้ากลุ่มขึ้นมาทำหน้าที่เหมือนผู้ใหญ่บ้านคอยควบคุมชีวิตความเป็นอยู่ให้เหมาะสม 

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2554 มูลนิธิอิสรชน ร่วมกับบ้านมิตรไมตรี กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดโครงการแจกเต็นท์เพื่อผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะและพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน โดยมีคนเร่ร่อนไร้บ้านจำนวน 18 ครอบครัว เข้าอยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณใต้สะพานปิ่นเกล้า ฝั่งพระนคร

มูลนิธิอิสรชนได้เยียวยาและฟื้นฟูจนบางรายกลับบ้านตนเอง บางรายเราส่งกลับบ้านและประสานงานบ้านมิตรไมตรีจัดส่งต่อ ขณะนี้ได้เริ่มแจกเต็นท์ให้อยู่ร่วมกันเป็นสัดส่วนเหมือนครอบครัวเดียวกัน และจัดฝึกอาชีพต่างๆ เช่น ซ่อมรองเท้า ร้อยลูกปัดเครื่องประดับ ขายหนังสือ และเป็นพนักงานรักษาความปลอดภัย เป็นต้น โดยมีหน่วยงานเข้ามาจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์และเงินทุน รวมทั้งการออมเงิน เมื่อมีรายได้ก้อนหนึ่งก็จะสามารถออกไปหาบ้านเช่าและถอนตัวออกจากริมถนนในที่สุด ณ ตอนนี้ บางครอบครัวก็ไปเช่าบ้านอยู่ที่วัดบางยี่ขัน

ส่วนการทำงานร่วมกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ของกรุงเทพมหานคร มีทัศนคติเชิงลบต่อประชาชนที่ยากจนและด้อยโอกาสที่สุดในประเทศ และมีมุมมองเชิงสังคมแตกต่างจากองค์กรพัฒนาเอกชนที่ลงพื้นที่และสัมผัสคนเหล่านี้อย่างจริงจัง กทม.จึงไม่รู้ต้นตอหรือรากเหง้าของปัญหา และไม่สามารถแก้ปัญหาได้ตรงจุด หาก กทม.ต้องการแก้ปัญหานี้ให้สำเร็จจะต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติโดยต้องมองคนกลุ่มนี้ให้เหมือนคนทั่วไปในสังคม.

“เนื่องอยู่ในช่วงหาเสียงเลือกตั้งผู้ว่า กทม. แต่ยังไม่มีผู้ว่าราชการท่านใดที่ให้ความสำคัญในเชิงนโยบายกับการทำงานกับผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ” ตัวแทนมูลนิธิฯ ระบุ

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net