Skip to main content
sharethis

ผู้แทนไทยคนแรกใน AICHR แจงความยากลำบาก กว่าจะมาเป็น ‘ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน’ เผยหลักการหลายส่วนถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากล แต่ไม่ได้เลวร้ายขนาดใช้ไม่ได้ แนะประชาชนในอาเซียนร่วมผลักดันให้กลายเป็นกฎหมายทางประเพณีที่ได้รับการยอมรับ

 
วันที่ 31 มกราคม 2556 ณ ห้องประชุม Victory 2 โรงแรมวิคทรี แบงคอก เครือข่ายผู้หญิงเพื่อความก้าวหน้าและสันติภาพ จัดงานเสวนา "ปฏิญญาอาเซียนเรื่องสิทธิมนุษยชนจะส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนผู้หญิงได้อย่างไร" สนุบสนุนโดย SEA Women’s Caucus และ UN Women & CIDA
 
ภายในงาน เป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างกลุ่มนักกิจกรรมที่เคลื่อนไหวในประเด็นสิทธิมนุษยชนของผู้หญิง คนพิการ โดยไฮไลท์ของงานเป็นการบรรยายเกี่ยวกับกระบวนการต่างๆ ในการทำงาน ก่อนจะมาเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Declaration) และแนวทางสู่การยกระดับสิทธิมนุษยชนในภูมิภาคอาเซียน โดย ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้แทนคนแรกของประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR)
 
 
กว่าจะมาเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียน การเดินทางอันแสนขรุขระ
 
ดร.ศรีประภา อธิบายถึงกระบวนการในการยกร่างปฏิญญาว่า จะกระทำโดยให้ผู้แทน AICHR ของแต่ละประเทศ คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนเข้าไปนั่งในคณะกรรมการยกร่าง แต่ประเทศที่ปฏิบัติตามอย่างแท้จริง คือ ส่งผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนจริงๆ เข้าไปนั่งในคณะกรรมการยกร่าง ซึ่งมีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้น เช่น ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ แต่ประเทศอื่นให้บุคคลประเภทข้าราชการระดับสูง รองปลัดกระทรวง ก็จะมีปัญหามาก คือเขาก็เน้นแต่เรื่องผลประโยชน์ของประเทศ ไม่ได้พยายามจะผลักดันเรื่องสิทธิมนุษยชน และบางประเทศก็เป็นประเทศที่เสียงดังมากกว่าประเทศอื่นๆ จึงทำให้หลักการในปฏิญญาออกมาไม่ดีนัก ไม่มีความสมบูรณ์ในตังเอง
 
ดร.ศรีประภา กล่าวว่า หลังจากได้คณะกรรมการยกร่างมาแล้ว ก็มีปัญหากันตั้งแต่เริ่มยกร่าง การเจรจาในครั้งแรกมีการถกเถียงกันว่าจะให้ร่างนี้ชื่อว่าอะไร มีความพยายามจากบางประเทศที่จะลดระดับให้เป็นเพียง "กรอบความร่วมมือ" ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นก็จะไม่มีเขียนบอกว่า สิทธิของประชากรอาเซียนมีเรื่องอะไรบ้าง ซึ่งไม่เป็นผลดี แต่สุดท้ายก็กลายเป็น "ปฏิญญาอาเซียน" ซึ่งมีการเขียนรับรองเรื่องสิทธิต่างๆ แต่ก็ยังมีปัญหาเรื่องคำศัพท์อีก อย่างเราเสนอให้มีการใช้คำว่า Sexual Identity เพิ่มเติมจากคำว่า Sex, Gender บางประเทศก็บอกว่า "ไม่ต้องมาพูดเลยนะ" คือถึงอย่างไรเขาก็ไม่ยอม
 
หรือคำว่า Public Morality ซึ่งมันกินความมาก ก็กลายเป็นคำที่ดูจะมีปัญหา เพราะอาจจะไปบดบัง Human Rights เสียหมด ซึ่งคำว่า Public Morality นี้เสียงส่วนใหญ่ก็ตกลงกันว่าจะให้ตัดออก มีเพียงเสียงส่วนน้อยเท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย แต่มันก็ที่ว่าในอาเซียนเสียงส่วนน้อยมักชนะเสมอ คำนี้จึงยังปรากฎอยู่ในข้อ 8 ของปฏิญญา
 
ดร.ศรีประภา กล่าวด้วยว่า เพื่อแก้ปัญหา ให้งานสามารถเดินหน้าได้อย่างคล่องตัว จึงมีการจัดกันเป็นกลุ่มๆ โดยแต่ละกลุ่มจะรับผิดชอบเนื้อหาของปฏิญญาในส่วนต่างๆ ที่แตกต่างกัน แต่ก็เกิดปัญหาขึ้นอีก คือกลายเป็นว่าผู้แทนแต่ละประเทศก็อยากเข้าไปอยู่ทุกกลุ่ม อยากมีส่วนร่วมกับทุกกลุ่ม เพราะต่างคนต่างไม่ไว้ใจกัน กลัวว่าบางประเทศจะใส่หลักการหรือเนื้อหาอะไรที่ตนไม่ต้องการ แต่ก็มีบางประเทศใช้วิธีไม่ขออยู่กลุ่มไหนเลย แต่ให้สมาชิกเขียนมาจนเสร็จแล้วถึงเข้ามาเจรจาแลกเปลี่ยนทีหลัง มันก็มีความติดขัดอยู่เสมอ แต่สุดท้ายมันก็ออกมาเป็นปฏิญญาจนได้ แม้จะทุลักทุเล
 
ดร.ศรีประภา กล่าวว่า คณะกรรมการยกร่างก็มีหน้าที่ยกร่างอย่างเดียว ไม่ได้รับอนุญาตให้จัดประชุมปรึกษาหารือกับภาคประชาสังคม อย่างไรก็ตามในภายหลังมีการอนุญาตให้ภาคประชาสังคมเข้าเสวนาด้วยได้ แต่จำกัดโควต้าโดยให้ประเทศละ 4 องค์กร องค์กรละ 2 คน ตรงนี้ก็ทำให้เกิดความไม่หลากหลาย บางครั้งต้องแก้ปัญหาด้วยการขอยืมตัวกันระหว่างองค์กรเลยก็มี ต้องนับว่ากว่าจะมาเป็นปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนได้นั้นสาหัสสากรรจ์มาก
 
 
ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนก็ไม่ได้เลวร้ายจนเกินไป
 
ดร.ศรีประภา กล่าวว่า หลักการที่ปรากฏอยู่ในปฏิญญาหลายส่วนก็ต้องถือว่าต่ำกว่ามาตรฐานสากลอย่างมาก เช่น ข้อ 8 ซึ่งมีหลักว่า สิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของทุกคนต้องอยู่ภายใต้ขอบเขตที่กฎหมายกำหนด และตอบสนองความมั่นคงของชาติ, ศีลธรรมอันดี (The exercise of human rights and fundamental freedoms shall be subject only to such limitations as are determined by law solely for the purpose of securing due recognition for the human rights and fundamental freedoms of others and to meet the just requirements of national security, public morality.) ตรงนี้ทำให้เกิดปัญหาการตีความ มันไม่เป็นประโยชน์ต่อการคุ้มครองเลย
 
แต่ตัวปฏิญญาไม่ได้เลวร้ายขนาดใช้ไม่ได้ หลักการทั่วไปที่กล่าวไว้ในข้อ 1-5 ถือว่าดี หรืออย่างในข้อ 4 ก็ได้บัญญติรองรับให้ปฏิญญาคุ้มครองครอบคลุมในกลุ่มคนที่หลากหลาย และในข้อ 38 เป็นเรื่องสิทธิในสันติภาพ กล่าวว่า "ทุกคนและประชาชนของอาเซียนมีสิทธิในสันติภาพ ภายใต้กรอบอาเซียนว่าด้วยความมั่นคงและความีเสถียรภาพ ความเป็นกลางและเสรีภาพ" (very person and the peoples of ASEAN have the right to enjoy peace within an ASEAN framework of security and stability, neutrality and freedom, such that the rights set forth in this Declaration can be fully realised.) สิทธิในสันติภาพถือเป็นเรื่องที่ไปไกล นอกจากนี้ยังมีการใช้คำว่า His or Her ในข้อ 15, 21, 25, 27(2), 28, 31(3) ซึ่งตรงนี้ก็ถือว่าก้าวหน้า เพราะใน The Universal Declaration of Human Rights ยังใช้แค่คำว่า His อย่างเดียว
 
 
กลไกที่ช่วยส่งเสริมสิทธิมนุษยชนคือประชาชน
 
ผู้แทนไทยคนแรกใน AICHR กล่าวว่า เรื่องสิทธิของผู้หญิงไม่ใช่เรื่องที่ขับเคลื่อนได้โดยยาก เพราะไม่ใช่เรื่องที่อ่อนไหวทางการเมือง แต่ปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนไม่มีสภาพบังคับทางกฎหมาย AICHR มีหน้าที่ส่งเสริมให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชน มาตรการที่จะส่งเสริมให้เกิดการปกป้องสิทธิมนุษยชนได้อย่างแท้จริงต้องเกิดจากความร่วมมือของประชาชนในอาเซียน แต่ก่อนอื่นต้องมีการให้ความรู้กับประชาชนในอาเซียน ทำให้เขารับรู้ว่าเรามีปฏิญญานี้อยู่ ในปัจจุบันประชากรในอาเซียนไม่ค่อยรู้จัก AICHR ไม่รู้จักปฏิญญาฯ เมื่อเป็นอย่างนี้ก็ขับเคลื่อนลำบาก
 
ดร.ศรีประภา อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อปฏิญญาสิทธิมนุษยชนอาเซียนเป็นที่รู้จักแล้วก็ต้องช่วยกันกล่าวอ้างถึงหลักการในตัวปฏิญญาอยู่เป็นนิจจนมันกลายเป็นเรื่อง Customary Law แม้จะไม่มีสภาพบังคับ แต่กลายเป็นกฎหมายทางประเพณีที่ได้รับการยอมรับและปฏิบัติตามอย่างกว้างขวาง เหมือนกับกรณีของ The Universal Declaration of Human Rights
 
ดร.ศรีประภา กล่าวว่า มาตราการที่ควรส่งเสริมให้มีคือการทำ Convention หรืออนุสัญญาทางสิทธิมนุษยชน ซึ่งมีสภาพบังคับทางกฎหมาย เป็นเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพมากกว่าปฏิญญา แต่ก็ต้องศึกษา ต้องระมัดระวังให้มาก หากหลักการทางสิทธิมนุษยชนที่ปรากฎในตัวอนุสัญญามีมาตราฐานต่ำกว่ามาตราฐานในระดับสากล จะกลายเป็นว่าสถานการณ์ทางสิทธิมนุษยชนก็จะยิ่งแย่เข้าไปใหญ่
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net