Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
 
 

บทความชิ้นนี้ขอนำเสนอปัญหาการเลิกจ้างพนักงานบริษัทอิเลคโทรลักซ์จำนวน 129 คนและขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ให้บริษัทรับพนักงานทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยทันที  ด้วยเหตุผลและข้อเท็จจริงที่จะกล่าวต่อไป

ทันทีที่นโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 300 บาทถูกบังคับใช้ให้เป็นผลทั่วประเทศเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2555 และอีกครั้งในวันที่ 1 มกราคม 2556 สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ และคณะกรรมการสวัสดิการโรงงานเริ่มตั้งต้นขอเจรจากับผู้บริหารทั้งคนไทยและคนต่างชาติในช่วงเดือนธันวาคม 2555  ให้มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล พร้อมทั้งปรับเงินขึ้นประจำปี โบนัสตามฐานเงินเดือนใหม่และปรับสถานะของลูกจ้างชั่วคราวให้เป็นลูกจ้างประจำ แต่ไม่สามารถตกลงกันได้ และบริษัทใช้วิธีเลิกจ้างพนักงานในช่วงเจรจาต่อรองแทนการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับพนักงานและยกระดับมาตรฐานการจ้างงานในประเทศไทย  ผู้เขียนได้สัมภาษณ์สมาชิกสหภาพแรงงาน และติดตามสถานการณ์  จึงขอนำเสนอผลที่เกิดจากนโยบายดังกล่าว ในหัวข้อต่อไปนี้

 
1.     ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 กับการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน
2.     ปัญหาการเจรจาต่อรองร่วมกับการเลิกจ้างพนักงาน
3.     ความไม่ครอบคลุมของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
4.     รัฐกับการส่งเสริมสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมของลูกจ้าง
 
 
 
 
 
1.    ค่าจ้างขั้นต่ำ 300 กับการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน
 
ที่ผ่านมา รัฐบาล ฝ่ายนายจ้างและสื่อมวลชนขาดการนำเสนอเรื่องการยกระดับมาตรฐานการจ้างงาน เนื่องจากนำเสนอเฉพาะประเด็นค่าจ้างขั้นต่ำที่บังคับใช้กับลูกจ้างที่เพิ่งเข้ามาทำงานและผลกระทบต่อภาคเอกชน แต่ไม่ได้กล่าวถึงการปรับฐานค่าจ้าง 300 บาทนี้ให้แก่ลูกจ้างเดิมตามสัดส่วน โดยเฉพาะในบริษัทขนาดใหญ่เช่นกรณีบริษัทอิเลคโทรลักซ์ จ.ระยองที่ตั้งมาเป็นเวลาเกือบ 10 ปีและสร้างกำไรเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก จากหลักร้อยล้านเป็นพันล้าน
 
ด้วยระบบการจ้างงานแบบยืดหยุ่นของบริษัทอิเลคโทรลักซ์ ที่มีพนักงานทั้งสิ้นประมาณ 900 คน สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย มองว่า พนักงานยังไม่ได้รับประโยชน์ที่เพียงพอและมีคุณภาพชีวิตที่ดีนัก เมื่อเทียบกับการเติบโตของบริษัท จึงมองถึงการปรับมาตรฐานการจ้างงานให้ดีขึ้น และออกมาเป็นข้อเสนอสำหรับเจรจากับผู้บริหาร ดังนี้
 
1.1 ขอปรับฐานค่าจ้างและปรับเงินขึ้นอีกตามอายุงานให้แก่พนักงานรายเดือน   ได้แก่
คนงาน อายุงาน 2 ปี          ควรได้รับการปรับเงินเดือนเป็น 9,000+300 บาท
คนงาน อายุงาน 3 ปี          ควรเป็น 9,000+600 บาท
คนงาน อายุงาน 4 ปี          ควรเป็น 9,000+900 บาท
คนงาน อายุงาน 5 ปี-สูงสุด ควรเป็น 9,000+1,200 บาท
 
การปรับเงินเดือนของสหภาพแรงงานนั้นเริ่มจากการปรับฐานค่าจ้างให้พนักงานได้รับเงินเดือนๆ ละ 9,000 บาทเท่ากัน เพราะโดยส่วนใหญ่แล้ว พนักงานที่ทำงานมาก่อนยังมีเงินเดือนไม่ถึง 9,000 บาท   แล้วบวกเพิ่มขึ้นอีกตามอายุงาน เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่คนงานที่มีอายุงานมากกว่าและเป็นอัตราก้าวหน้า  รวมแล้วบริษัทจะต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มอีกเดือนละ 50,000 บาทสำหรับพนักงานฝ่ายผลิตทุกคน หากเปรียบเทียบกับกำไรที่บริษัทสามารถทำได้ สหภาพแรงงานมองว่าสมควรเป็นอย่างยิ่ง[1]
 
ทว่า ผู้บริหารไม่ตกลง และออกประกาศปรับเงินเดือนพนักงาน โดยไม่คำนึงถึงอายุงาน ดังนี้
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 8,000-8,099 บาท            ปรับเพิ่มให้ 1,000 บาท  (12.3%-12.5%)
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 8,100-10,000 บาท           ปรับเพิ่มให้ 900 บาท (9%-11%)
พนักงานที่มีเงินเดือนอยู่ระหว่าง 10,001-15,000 บาท         ปรับเพิ่มให้ 800 บาท (5.3%-8%)
 
สิ่งที่แตกต่างกันคือ คนงานอายุงานมากกว่าจะได้รับการขึ้นเงินเดือนในอัตราที่ต่ำกว่าคนงานที่เพิ่งเข้าทำงาน และทำให้เงินเดือนของคนงานโดยรวมทั้งหมดอยู่ในระดับใกล้เคียงกัน  เนื่องจากพนักงานที่มีเงินเดือนระหว่าง 8,000-10,000 บาทมีอายุงานระหว่าง 1-5 ปี  ซึ่งเท่ากับว่าบริษัทจะปรับเงินขึ้นเพียงคนละ 900-1,000 บาทในอัตราที่ใกล้เคียงกัน
           
1.2 นอกจากนี้ สหภาพแรงงานต้องการให้บริษัทปรับตำแหน่งพนักงานเหมาค่าแรง (sub-contract workers) ที่ผ่านการทดลองงาน 6 เดือนแล้ว และที่ทำงานให้แก่บริษัทมาได้ 1-2 ปี ให้เป็นพนักงานรายเดือนเพื่อให้มีรายได้และสวัสดิการเทียบเท่า และมีงานที่มั่นคงขึ้น เนื่องจากระบบการจ้างงานของบริษัทส่วนใหญ่จ้างงานแบบยืดหยุ่นมาตั้งแต่ก่อตั้ง  กล่าวคือ พนักงานฝ่ายผลิตแบ่งออกเป็น 2 ประเภทจากทั้งหมดประมาณ 800 คน แบ่งเป็นพนักงานรายเดือนจำนวน 380 คน ที่เหลือเป็นพนักงานเหมาค่าแรง  ซึ่งมีสภาพการจ้างงานไม่มั่นคง คือมีการต่อสัญญาเป็นระยะๆ 3 เดือนครั้งบ้าง 4 เดือนครั้งบ้าง หรือเดือนละครั้งบ้าง ฉะนั้นหากพนักงานได้รับการปรับปรุงสภาพการจ้างงานให้มั่นคงขึ้น ได้รับโบนัส 2 เดือนตามฐานค่าจ้างใหม่เหมือนกัน ก็จะช่วยให้พนักงานมีกำลังใจทำงานมากขึ้น
 
2.    ปัญหาการเจรจาต่อรองร่วมกับการเลิกจ้างพนักงาน
 
อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาเกิดขึ้นในระหว่างการเจรจา คือ ตัวแทนเจรจาคือ ประธานสหภาพแรงงานถูกไล่ออกไปให้พ้นนอกเขตโรงงาน กระบวนการเจรจาต่อรองถูกตัดตอน และการกล่าวหาว่าพนักงานที่มารอฟังเจรจา ผละงาน และท้ายสุดถูกเลิกจ้างในเย็นวันที่ 11 ม.ค. 56
 
จากจดหมายตอบกลับของรองประธานอาวุโสของบริษัท สำนักงานใหญ่ประเทศสวีเดน จะเห็นว่า บริษัทไม่ยอมรับการเจรจาในครั้งนี้ เพราะตามข้อตกลงสภาพการจ้างงานได้กำหนดกันสองฝ่ายว่าจะมีการเจรจาร่วมกันในเดือนพฤศจิกายน ปลายปีนี้ ฉะนั้นการขอเจรจาในครั้งจึงไม่เป็นไปตามข้อตกลง และมองว่าพนักงานจำนวนหนึ่งมีพฤติกรรมผละงาน ที่ยอมรับไม่ได้[2]
 
อย่างไรก็ตาม พนักงานดังกล่าวต้องการมีส่วนร่วมในการเจรจาต่อรองร่วมในฐานะสมาชิกของสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ และการเจรจาเป็นไปตามกลไกการปรึกษาหารือสามฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายนายจ้าง สหภาพแรงงาน และคณะกรรมการสวัสดิการที่นายจ้างแต่งตั้ง ซึ่งเป็นกลไกปกติ ทุกเดือนจะมีการปรึกษาหารือกันอยู่แล้ว[3]   นอกจากนี้ พนักงานได้ชี้แจงว่า การที่ยังไม่กลับเข้าไปทำงานเพราะผู้บริหารสั่งไล่ตัวแทนเจรจาออกไปอย่างผิดปกติ ซึ่งเป็นการกระทำที่ยอมรับไม่ได้ จึงต้องเรียกร้องให้ผู้บริหารนำตัวแทนกลับมาทันที  อีกทั้งคนงานได้ชี้แจงว่า ถูกรปภ.และตำรวจปิดล้อมคนงานไม่ให้ออกจากบริเวณ ไม่ให้ออกไปห้องน้ำและรับประทานอาหาร เป็นเวลาหลายชั่วโมง จนเจ้าหน้าที่จะสำนักงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองเข้ามาต่อรองให้ผู้บริหารนำตัวแทนเจรจากลับเข้ามา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ กระทั่งเวลาเย็น ผู้บริหารออกมาประกาศเลิกจ้างพนักงานด้วยวาจา[4] และแจ้งสิทธิต่างๆ ที่จะได้รับ
 
3.    ความไม่ครอบคลุมของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท
 
ระบบค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทตามกรอบนโยบายประชานิยมของรัฐบาล ยังไม่สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นและยังห่างไกลจากประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่มีมาตรฐานการจ้างงานดีกว่า ประชาชนมีรายได้สูงและได้รับสวัสดิการถ้วนหน้า  ดังนั้นนโยบายนี้จึงจำต้องถกเถียงเพื่อยกระดับ และเพื่อให้ทุนปรับตัวมากขึ้น ในประเด็นดังต่อไปนี้
 
3.1  ความไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตของครอบครัวแรงงาน เนื่องจากยังอยู่ในสภาพที่ดิ้นรน คือผู้ใช้แรงงานภาคอุตสาหกรรมต้องทำงานหนักวันละ 12 ชั่วโมง มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 9,000 บาท แต่คุณภาพชีวิตยังห่างไกลจากคนชั้นกลาง ผู้บริหาร ผู้ถือหุ้น เจ้าของกิจการ ที่มีรายได้สูงกว่า 60 เท่าขึ้นไปจนถึงกว่า 100 เท่า  ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่สมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเป็นนายกรัฐมนตรีและยังขึ้นอีกในรัฐบาลชุดนี้  และค่าจ้างขั้นต่ำนี้ยังอยู่ในกรอบของนโยบายค่าจ้างราคาถูก (cheap labor) ที่มาพร้อมกับระบบการจ้างงานยืดหยุ่น ไม่มั่นคง (labor flexibility) เช่น การเป็นลูกจ้างรายวัน เหมาช่วง รายชิ้น ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่นายทุน/นักลงทุนทั้งในและต่างประเทศในการลดต้นทุนการผลิต  โครงสร้างการจ้างงานยืดหยุ่นนี้ทำให้คนงานต้องทำงานหนักเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ต้องทำล่วงเวลาในปกติและวันหยุดเพื่อหารายได้เพิ่ม จนไม่มีเวลาพักผ่อน ศึกษาและดูแลครอบครัว
 
3.2  การขาดการเชื่อมโยงถึงการปรับค่าจ้างตามอายุงานหรือตามอัตราก้าวหน้า ที่ผ่านมารัฐบาลพูดเพียงค่าจ้างขั้นต่ำหรือเงินเดือนขั้นต่ำสำหรับพนักงานที่เพิ่งเข้าทำงาน  แต่ปล่อยให้เรื่องการปรับแบบขั้นบันไดสำหรับพนักงานที่มีอายุงานมากกว่าจากฐานคิด 300 บาทเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารกับพนักงานที่จะเจรจากันเอง  โดยไม่มีมาตรการรองรับ  นอกจากนี้ รัฐบาลขาดการพูดถึงค่าจ้างยังชีพได้ที่มาจากความต้องการที่แท้จริงของลูกจ้าง และจากข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงานที่ได้นำเสนอทางสาธารณะ  และละเลยการพูดถึงค่าจ้างที่เป็นธรรมตามมาตรฐานสากลที่จะต้องสามารถเลี้ยงดูสมาชิกครอบครัวได้อีก 2 คน
 
3.3  การขาดการเชื่อมโยงกับตัวชี้วัดอื่นที่บ่งชี้ถึงมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ได้แก่ ระบบสวัสดิการครบถ้วน ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ชั่วโมงการทำงานลดลง สภาพการทำงานปลอดภัย ระบบการจ้างงานประจำ และการประกันสิทธิเสรีภาพในการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงาน เพื่อป้องกันการละเมิดสิทธิของนายจ้าง
 
จากข้างต้น ทำให้มาตรฐานการจ้างงานในประเทศไทยยังคงต่ำ ไม่ได้รับการพัฒนาเท่าที่ควร ทั้งปล่อยให้กฎหมายถูกบังคับใช้อย่างยืดหยุ่นเพื่อประโยชน์ของนายจ้างมากกว่าแรงงาน
 
4.    รัฐกับการส่งเสริมสิทธิการเจรจาต่อรองร่วมของลูกจ้าง
 
ที่ผ่านมา รัฐบาลเน้นให้ความสำคัญกับปัญหาของผู้ประกอบการรายย่อยและรายกลางมากกว่าเพราะได้จัดหามาตรการรองรับผู้ประกอบการในกรณีที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ เช่น การลดภาษีนิติบุคคล ลดค่าใช้จ่าย ให้ความช่วยเหลือด้านเงินทุน สินเชื่อ  ส่วนมาตรการจะมีประสิทธิภาพหรือไม่ เป็นคนละประเด็น ในทางกลับกัน รัฐบาลขาดการพูดถึงการรองรับปัญหาการเลิกจ้างคนงานที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้ อำนาจการต่อรอง สวัสดิการและความมั่นคงในการทำงาน  ดังกรณีปัญหาของคนงานบริษัทอิเลคโทรลักซ์ถูกเลิกจ้างทันทีเมื่อขอต่อรองการปรับฐานเงินเดือนตามอายุงานของพนักงานและปรับสถานะการจ้างงานที่มั่นคงขึ้นจากพนักงานเหมาค่าแรงเป็นพนักงานรายเดือน เพราะบริษัทมีกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมากอันมาจากระบบการจ้างงานที่ยืดหยุ่นนี้
 
นี่คือปัญหาของรัฐบาลในการพัฒนานโยบายค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไม่เป็นระบบ เน้นประเด็นเดียว ไม่ครอบคลุมพนักงานทั้งหมด ภายใต้กรอบคิดทุนนิยมที่เอาใจนักลงทุน ผู้ประกอบการที่แข่งขันกันหากำไรมากขึ้นๆ  ขาดวิสัยทัศน์เรื่องมาตรฐานการจ้างงานที่ดี ขาดการพัฒนาระบบสวัสดิการ และขาดการสรรหานโยบายที่จะช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างคนรวยกับคนจนที่เป็นผลจากการเอาใจนักลงทุนมากเกินไป
 
ดังนั้น ผู้เขียนเสนอให้รัฐบาลส่งเสริมข้อเสนอ/ข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน ด้วยการยอมรับการการปรับฐานค่าจ้างขั้นต่ำ 300 ให้ครอบคลุมคนงานที่มีอายุงานตั้งแต่แรกเข้าไปจนถึงคนงานที่มีอายุงานมากที่สุดในลักษณะอัตราก้าวหน้า  ยกระดับมาตรฐานการจ้างงานให้เป็นสากลขึ้น บังคับให้นายจ้างอิเลคโทรลักซ์ยอมรับกลไกการเจรจาต่อรองร่วมของพนักงาน เคารพศักดิ์ศรีคนงาน และยอมรับข้อเรียกร้องของสหภาพแรงงาน
 
และในเฉพาะหน้านี้ บริษัทอิเลคโทรลักซ์ต้องรับพนักงานที่ถูกเลิกจ้างทั้งหมดกลับเข้าทำงานโดยทันที และให้กลับไปเจรจาต่อรองกันตามปกติตามข้อเสนอของสหภาพแรงงาน เคารพตัวแทนเจรจา ยอมรับความต้องการของคนส่วนใหญ่ที่ช่วยทำกำไรให้บริษัทเสมอมา เพื่อยกระดับมาตรฐานแรงงานสากล เยี่ยงประเทศที่พัฒนาแล้ว
 

[1] สัมภาษณ์นายไพรวรรณ์ เมทา ประธานสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. 27 ม.ค. 56 ณ ที่ชุมนุมเชิงสะพานชมัยมรุเชษฐ์ ตรงข้ามทำเนียบรัฐบาล กรุงเทพฯ.
[2] ข่างประชาไท. ผู้บริหารอีเลคโทรลักซ์แจง ไม่ได้ละเมิดสิทธิคนงานที่ระยอง. 29 ม.ค.56.  แหล่งที่มา : http://www.prachatai3.info/journal/2013/01/44987
[3] สัมภาษณ์นายไพรวรรณ์ เมทา ประธานสหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย ทางโทรศัพท์โดยโครงการรณรงค์เพื่อแรงงานไทย. 1 ก.พ. 56.
[4] สหภาพแรงงานอิเลคโทรลักซ์ ประเทศไทย.  เอกสารลำดับเหตุการณ์ข้อเท็จจริง. 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net