Skip to main content
sharethis

ผลวิจัยทีดีอาร์ไอระบุข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไป แต่อาชีพข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตเฉลี่ยดีกว่าลูกจ้างภาคเอกชนในทุกระดับการศึกษา นโยบาย ป.ตรี 15000 บาท จะยิ่งเพิ่มช่องว่างของรายข้าราชการกับภาคเอกชนในระดับปฏิบัติการ  

 
2 ก.พ. 56 - การปรับฐานเงินเดือนข้าราชการระดับปริญญาตรีเป็น 15,000 บาทต่อเดือน น่าจะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดุลภาพในตลาดแรงงาน ภาระเงินงบประมาณของรัฐ และระดับการบริโภคของประชาชน โครงการวิจัยการศึกษาผลกระทบของการดำเนินนโยบายรายได้ค่าแรงไม่น้อยกว่า 300บาทต่อวัน และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนที่มีผลต่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทย โดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทยภายใต้การอุดหนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.)การศึกษาในส่วนนโยบายเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาทต่อเดือนในภาคราชการ ทำการศึกษาโดย ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์สวัสดิการ และนายชยดล ล้อมทอง นักวิจัยทีดีอาร์ไอ เน้นพิจารณารายได้ตลอดชีวิตของลูกจ้างราชการเปรียบเทียบลูกจ้างเอกชน และภาระเงินงบประมาณของรัฐในอนาคต ซึ่งจะมีผลต่อฐานะการคลังและความมั่นคงทางการคลังในระยะยาว 
 
การศึกษารายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน ซึ่งการคำนวณรายได้ตลอดชีวิตของข้าราชการและลูกจ้างเอกชน โดยใช้ข้อมูลการสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไตรมาส 3 ทั้งหมด 31 ปี ตั้งแต่ พ.ศ.2523 ถึง พ.ศ.2553 เลือกติดตามดูรายได้ตลอดชีวิตข้าราชการและลูกจ้างเอกชนที่อายุ 25-34 ปี ในพ.ศ.2523 และคำนวณรายได้เฉลี่ย(รวมโบนัส ค่าล่วงเวลา ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า และอื่น ๆ ) ของคนกลุ่มนี้ จำแนกตามระดับการศึกษา 3 ระดับ คือ ต่ำกว่าปริญญาตรี ปริญญาตรี และสูงกว่าปริญญาตรี และจำแนกตามการอยู่อาศัยคือ นอกเขตและในเขตกรุงเทพฯ จากนั้นได้ติดตามลูกจ้างและข้าราชการกลุ่มนี้ทุกปี และคำนวณค่าเฉลี่ยของรายได้ทุกปี จนกระทั่งคนกลุ่มนี้อายุ 55-64 ปีในปี พ.ศ.2553
 
ผลการศึกษาพบว่า การเป็นข้าราชการและอยู่นอกเขตกรุงเทพฯจะมีรายได้ตลอดชีวิตค่อนข้างดีกว่าการเป็นลูกจ้างเอกชน โดยเฉพาะผู้ที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี การเป็นลูกจ้างเอกชนจะมีรายได้ที่ผันผวน(เป็นความเสี่ยง)แม้ดูเหมือนว่าผู้ที่จบการศึกษาสูงกว่า ป.ตรีจะมีรายได้ดีในบางช่วงก็ตาม โดยเฉพาะในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี รายได้ของลูกจ้างเอกชนจะตกแรงมาก ในขณะที่รายได้ของข้าราชการจะไม่ผันผวนตามภาวะเศรษฐกิจ สำหรับข้าราชการที่อยู่ในเขตกรุงเทพฯจะมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนโดยเฉพาะเมื่อมีการศึกษาตั้งแต่ ป.ตรีขึ้นไป แต่ความผันผวนของรายได้ของข้าราชการก็มักจะต่ำกว่า ดังนั้น โดยเฉลี่ยแล้วข้าราชการไม่ได้มีรายได้ต่ำกว่าลูกจ้างเอกชนเสมอไปตามที่เข้าใจกัน แต่จะมีข้าราชการที่มีการศึกษาสูงซึ่งน่าจะมีโอกาสที่ดีที่จะได้รับค่าตอบแทนที่สูงถ้าได้ทำงานในภาคเอกชน ซึ่งข้าราชการในกลุ่มนี้มีจำนวนไม่มากนัก อย่างไรก็ดี การศึกษานี้ไม่สามารถรวมข้อมูลเกี่ยวกับเบี้ยประชุม รายได้จากการสอนพิเศษหรือทำวิจัย หรือเบี้ยอื่นๆ ที่ข้าราชการได้รับ ซึ่งเงินรายได้จำนวนนี้อาจจะมีจำนวนไม่น้อย
 
นอกจากนี้มูลค่าของสวัสดิการที่ข้าราชการได้รับมีประมาณครึ่งหนึ่งของมูลค่ารายได้ตลอดชีวิต ในขณะที่สวัสดิการสำหรับลูกจ้างเอกชนนั้นมีมูลค่าไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบรายได้รวมสวัสดิการที่เป็นมูลค่าปัจจุบัน ผลการศึกษาพบว่าข้าราชการมีรายได้ตลอดชีวิตสูงกว่าลูกจ้างเอกชนในทุก ๆ ระดับการศึกษา ทั้งในเขตกรุงเทพฯและนอกกรุงเทพฯ แต่เมื่อเปรียบเทียบโดยใช้มูลค่า ณ ราคา ปี พ.ศ.2550 จะเห็นว่าข้าราชการที่มีการศึกษาระดับต่ำกว่าปริญญาตรีมักได้รับรายได้ตลอดชีพสูงกว่าลูกจ้างเอกชน
 
ผลการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าการทำงานในเขตกรุงเทพฯจะให้มูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีวิตสูงขึ้นกว่าการทำงานในจังหวัดอื่น ๆ ในทุก ๆ ระดับการศึกษา แต่อย่างไรก็ดี ผู้มีระดับการศึกษาน้อยกว่าปริญญาตรีที่ทำงานให้แก่ภาครัฐก็ยังมีมูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีพสูงกว่าการทำงานให้ภาคเอกชนเพราะมูลค่าของสวัสดิการนั้นสูงกว่ากันมาก รวมทั้งผู้ที่มีการศึกษาสูงกว่าระดับปริญญาตรีและทำงานในบริษัทเอกชนจะมีมูลค่าปัจจุบันของรายได้ตลอดชีวิต ณ เวลาที่เริ่มต้นชีวิตทำงานสูงกว่าผู้ที่มีคุณสมบัติเดียวกันแต่ทำงานในภาครัฐ
 
 
นอกจากนี้ การเปรียบเทียบโดยใช้แบบจำลองเศรษฐมิติ สรุปได้ว่า ข้าราชการได้รับรายได้น้อยกว่าเอกชนเฉพาะกลุ่มอาชีพผู้บริหารหรือข้าราชการที่ทำงานในกรุงเทพเท่านั้น ซึ่งเป็นส่วนน้อยของข้าราชการทั่วประเทศ สำหรับกลุ่มอาชีพอื่น ๆ แล้ว ข้าราชการมีรายได้มากกว่าลูกจ้างเอกชน และความแตกต่างของรายได้เห็นได้ชัดเจนในกรณีที่ข้าราชการทำงานในภูมิภาค ดังนั้น การขึ้นเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีและต่ำกว่า น่าจะยิ่งทำให้ความแตกต่างของรายได้ระหว่างภาครัฐและเอกชนในภูมิภาคต่าง ๆ สูงขึ้นไปอีก 
 
 
สำหรับภาระเงินงบประมาณที่เกิดจากข้าราชการบรรจุใหม่จะน้อยกว่าภาระเงินงบประมาณที่จะเกิดจากการปรับฐานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการเก่า เพราะทุกคนจะได้รับการปรับฐานเงินเดือนชดเชยขึ้นเพื่อไม่ให้น้อยกว่าข้าราชการที่เข้าใหม่ และจำนวนข้าราชการเข้าใหม่จะมีจำนวนน้อยตามนโยบายการลดจำนวนข้าราชการ 
 
การศึกษานี้ชี้ให้เห็นว่า การปรับฐานเงินเดือนให้แก่ข้าราชการที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรีจะมีผลทำให้ช่องว่างระหว่างรายได้ตลอดชีพระหว่างข้าราชการและลูกจ้างเอกชนยิ่งสูงมากขึ้น ในขณะที่รายได้ตลอดชีพของข้าราชการที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้นยังน้อยกว่าภาคเอกชน นับว่าเป็นการแก้ปัญหาโครงสร้างบุคลากรราชการที่ไม่ถูกจุด ในอนาคตนั้นจำนวนข้าราชการจะลดลงและเน้นให้ข้าราชการเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ การปรับฐานเงินเดือนจึงควรมุ่งเน้นไปยังตำแหน่งงานที่มีความรับผิดชอบสูง ส่วนจำนวนข้าราชการระดับใช้ความรู้หรือทักษะน้อยนั้นต้องลดจำนวนลง งานหลายประเภทควรให้ภาคเอกชนรับไปทำ
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net