Skip to main content
sharethis

 

"สหภาพบัวหลวง" ชุมนุมต่อ เตรียมขอกระทรวงแรงงานตั้งตัวแทนชี้ขาดข้อพิพาท-เงินโบนัส

เมื่อวันที่ 29 มกราคม เวลา 12.00 น. สหภาพแรงงานธนาคากรุงเทพ ได้รวมตัวกันที่ลานบัว หน้าอาคารสำนักงานใหญ่ ถนนสีลม จำนวนหลายร้อยคน เพื่อชุมนุมกดดันผู้บริหารเรื่องการขอขึ้นเงินโบนัสพิเศษและข้อเรียกร้อง ทั้ง 4 ข้อที่ได้เสนอไปแล้วก่อนหน้านี้ และการไกล่เกลี่ยที่กระทรวงแรงงานเมื่อสัปดาห์ก่อนยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งการชุมนุมในครั้งนี้เป็นการเสนอมติต่อมวลชน ก่อนที่จะเข้าไกล่เกลี่ยกับตัวแทนธนาคารในวันพฤหัสบดีที่ 31 มกราคมนี้ ที่กระทรวงแรงงานอีกครั้ง
 
นายชัยวัฒน์ มาคำจันทร์ ประธานสหภาพแรงงานธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า คณะกรรมการสหภาพแรงงานมีมติหลังหารือร่วมกันที่จะยกระดับการเจรจาให้เข้มข้น หลังจากที่การเจรจาไกล่เกลี่ยกับผู้แทนธนาคารหลายครั้งที่ผ่านมาไม่ได้ข้อ สรุปและยืดเยื้อมานาน และยังไม่มีท่าทีจากฝ่ายบริหารในเรื่องนี้ ซึ่งทางฝ่ายบริหารส่งนักกฎหมายเข้าเจรจากับทางสหภาพและอ้างอิงกฎหมาย ซึ่งไม่ได้มีอำนาจในการตัดสินใจและไม่ได้มีความชัดเจนให้กับทางสหภาพ รวมทั้งพยายามกดดันให้สหภาพฟ้องศาลเพื่อตัดสินเอง ซึ่งกระบวนการทางศาลเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตาม สหภาพยินดีที่จะเจรจากับทางฝ่ายบริหารตลอด ทั้งนี้อยากให้เรื่องนี้จบให้เร็วเพื่อผลดีของทั้ง 2 ฝ่าย เนื่องจากขณะนี้มีกระแสข่าวลือทั้งเรื่องกรรมการสหภาพรับเงินเพื่อยุติการ ชุมนุม รวมทั้งข่าวลือเรื่องฝ่ายบริหารไม่ให้พนักงานใส่ชุดดำ

“สหภาพจะรอความชัดเจนอีกครั้งในวันที่ 30 มกราคมนี้ หากยังไม่มีข้อสรุปจะเดินหน้าต่อ โดยจะขอให้กระทรวงแรงงานแต่งตั้งผู้ชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานในวันพฤหัสบดีนี้ โดยจะมีการเสนอชื่อคนกลางฝ่ายละหนึ่งคน ซึ่งตัวแทนของฝ่ายสหภาพจะขอให้ทางกระทรวงแรงงานพิจารณา และเรียกร้องให้ฝ่ายนายจ้างส่งนายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ เป็นตัวแทนฝ่ายบริหารเพื่อชี้ขาดข้อพิพาท”

โดยข้อเสนอของสหาพแรงงานธนาคารกรุงเทพคือ 1.ขอโบนัส 4 เดือน จากปัจจุบันที่ธนาคารจ่าย 2 เดือน และเงินช่วยเหลือพิเศษอีก 1 เดือน ข้อที่ 2.เงินประทังชีวิตหลังเกษียณจากปัจจุบัน 3 แสนบาทต่อราย เป็น 4.5 แสนบาทต่อราย ข้อที่ 3 ขอขึ้นอัตราเงินเดือน 6% เท่ากันทั้งธนาคาร หลังจากที่ปรับให้พนักงานประจำ 3% การตลาดฝ่ายขาย 6% และข้อที่ 4.ขอให้มีการแก้ไขการจ่ายคืนเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ จากปัจจุบันคิดเป็นอันดับขั้น ให้คิดเป็น 7% เท่ากันทั้งธนาคาร

(มติชนออนไลน์, 29-1-2556)

 

ยังไม่มีลูกจ้างใน 25 จังหวัดขึ้นทะเบียนว่างงานหลังปรับค่าแรง 300 บาท

29 ม.ค. 56 - รมว.แรงงาน เผย ยังไม่มีลูกจ้างใน 25 จังหวัดที่มีการปรับค่าจ้าง 300 บาทแบบก้าวกระโดดขึ้นขึ้นทะเบียนว่างงาน ขณะที่พบการเลิกจ้างเนื่องจากการปรับค่าจ้าง 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1-25 มกราคม 2556 มีสถานประกอบกิจการเลิกจ้างลูกจ้างจำนวน 16 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,264 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือนที่ผ่านมา 2 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน โดยสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มีจำนวน 7 แห่งเท่ากับกลางเดือนที่ผ่านมา เป็นการเลิกจ้างลูกจ้างบางส่วน จำนวน 435 คน และสถานประกอบการที่เลิกจ้างเนื่องจากผลกระทบอื่นๆ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจยุโรป ธุรกิจขาดทุนสะสมมีทั้งหมด 9 แห่ง เพิ่มขึ้น 2 แห่ง มีลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 598 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 231 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 3 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 186 คน เพิ่มขึ้น 4 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน 6 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 643 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 217 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการ ตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า

ขณะเดียวกันจากการรายงานของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการพร้อมจ่ายอัตราค่า จ้างขั้นต่ำใน 25 จังหวัด ที่มีการปรับค่าจ้างแบบก้าวกระโดดพบว่ายังไม่มีลูกจ้างรายใดแจ้งขึ้นทะเบียน ว่างงาน เนื่องจากผลกระทบค่าจ้าง 300 บาท แต่เป็นการแจ้งเลิกจ้างกรณีอื่นๆ จำนวน 99 คน ทั้งลาออกเองและเลิกจ้างในสถานประกอบการ 94 แห่ง

(สำนักข่าวไทย, 29-1-2556)

 

ไฟเขียวลดเงินสมทบประกันสังคมอุ้มเอสเอ็มอี

นพ.ทศพร เสรีรักษ์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 ม.ค. ที่ประชุมครม.เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดอัตราเงินสมทบกองทุนประกันสังคม พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจากการปรับขั้นค่าจ้าง ขั้นต่ำ 300 บาททั่วประเทศ โดยปรับลดเงินจ่ายสมทบกองทุนประกันสังคมตามกฎกระทรวงเดิมที่กำหนดให้ทั้ง รัฐบาล นายจ้าง และผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีประสบอันตรายหรือเจ็บ ป่วยทุพพลภาพ/ตาย/คลอดบุตร ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.2556 เป็นต้นไปที่อัตรา 1.5% ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราจ่ายสมทบลงเหลือฝ่ายละ 0.5% ของค่าจ้างตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-31 ธ.ค.2556 และให้กลับมาเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมในอัตรา 1.5% ของค่าจ้างตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค.2557 เป็นต้นไป ซึ่งการลดเงินสมทบตามร่างกฎกระทรวงฉบับนี้จะมีผลทำให้ผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ได้รับการลดอัตราเงินสมทบด้วย จากเดิมออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 432 บาท เป็นออกเงินสมทบในอัตราเดือนละ 336 บาทด้วย

สำหรับเงินสมทบเพื่อจ่ายประโยชน์ทดแทนกรณีสงเคราะห์บุตรและกรณีชราภาพ ให้ปรับอัตราเงินสมทบตามกฎกระทรวงเดิมที่รัฐบาลจ่ายสมทบในอัตรา 1% ของค่าจ้าง โดยปรับอัตราสมทบที่รัฐบาลจะต้องจ่ายในส่วนนี้เป็น 2% ของค่าจ้างไปจนสิ้นสุดปี 2556 ส่วนนายจ้างและผู้ประกันตนให้จ่ายสมทบในอัตรา 3% ของค่าจ้างต่อไปเช่นเดิม

นพ.ทศพรกล่าวอีกว่า ที่ประชุมยังเห็นชอบให้กรมทางหลวงก่อหนี้ผูกพันข้ามปีงบประมาณ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายจ้างเหมาะก่อสร้างทางบริการ (โลคัลโรด) ทางหลวงหมายเลข 7 กรุงเทพฯ-บ้านฉาง จ.ชลบุรี ตอนที่ 1-2 ระยะทาง 32 กิโลเมตร วงเงิน 1,190 ล้านบาท รวมทั้งขยายเวลาก่อหนี้ผูกพันข้ามปีจากปีงบ 2555-56 เป็นปีงบ 2555-58 ก่อนที่กรมทางหลวงจะไปลงนามในสัญญาก่อสร้างกับผู้รับเหมาต่อไป

นอกจากนี้ ครม.ยังเห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดลักษณะ หรือการจัดให้มีอุปกรณ์ สิ่งอำนวยความสะดวก หรือบริการในอาคาร สถานที่ ยานพาหนะ และบริการขนส่ง เพื่อให้คนพิการเข้าถึงและใช้ประโยชน์ พ.ศ. ... ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ

(ข่าวสด, 30-1-2556)

 

แจงกมธ.จี้ “รัฐ”เยียวยาผลกระทบขึ้นค่าแรง 300 บ.

(30 ม.ค.) ที่รัฐสภา มีการประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.)การแรงงาน สภาผู้แทนราษฎร มีนายนิทัศน์ ศรีนนท์ ส.ส.นนทบุรี พรรคเพื่อไทย เป็นประธานในที่ประชุม มีการพิจารณา เรื่องมาตรการช่วยเหลือเยียวยาสถานประกอบการและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ซึ่งได้รับผลกระทบการปรับเพิ่มอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท โดยเชิญนายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย นายชาลี ลอยสูง ประธานคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย (คสรท.)มาชี้แจง

นายมนัส กล่าวว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น300 บาท สร้างความพอใจให้กับแรงงาน แต่ขณะเดียวกันก็สร้างผลกระทบต่อผู้ประกอบการ ทั้งเรื่องการปิดตัวของโรงงาน แต่ไม่ใช่ผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงเพียงอย่างเดียว แต่มาจากผลกระทบจากน้ำท่วมปี54 ไปจนถึงการไม่มีคำสั่งซื้อด้วย และยังส่งผลกระทบทำให้เกิดแรงงานต่างด้าวโดยเฉพาะ กัมพูชา พม่า ลาว ทะลักเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้น  จึงอยากเรียกร้องให้รัฐบาลมีมาตรการป้องกันไม่ให้แรงงานต่างด้าวทะลักเข้ามา ในประเทศ  นอกจากนี้ ยังพบว่ามีบางโรงงานใช้วิธี ลดค่ากะ ลดเบี้ยเลี้ยง เพื่อนำไปนับรวมเป็นค่าแรง 300 บาท  จึงอยากให้รัฐบาลควบคุมราคาสินค้าไม่ให้เพิ่มสูงขึ้น

ด้านนายชาลี กล่าวว่า ในปี54 เคยทำการการสำรวจค่าใช้จ่ายของแรงงานโดยเฉลี่ยจะอยู่คนละ 348  บาท ซึ่งการขึ้นค่าแรง 300 บาท แม้จะดีขึ้นแต่ก็ยังไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่แท้จริง  เพราะค่าครองชีพสูงขึ้น ผลสำรวจล่าสุดพบว่าค่าใช้จ่ายเฉลี่ยของแรงงานอยู่ที่ 421 บาท เพิ่มสูงขึ้น 32 % ถามว่าพอใจหรือไม่ ก็ต้องบอกว่า “พอใจ”แต่ก็ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นด้วย  จึงอยากให้รัฐบาลช่วยควบคุมดูแลราคาสินค้าโดยเฉพาะตัวแปรสำคัญคือค่าแก๊สหุง ต้ม และน้ำมันที่กระทบต่อราคาสินค้าอื่นๆ

นายชาลี กล่าวต่อว่า การขึ้นค่าแรงมีทั้งผลบวกและผลลบ ซึ่งหลังจากขึ้นค่าแรกล็อตแรก7จังหวัด ทำให้คนตกงานเพิ่มขึ้นเล็กน้อย0.5% เป็น0.6 % เพราะส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่มีบริษัทขนาดใหญ่  แต่ก็มีเรื่องร้องเรียนเข้ามายังคณะกรรมการสมานฉันท์แรงงานไทย 83 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องนำสวัสดิการ ค่าอาหาร ค่ารถนำมาคำนวณเป็นค่าแรงใน300 บาท และบางโรงงานก็ไม่ขึ้นค่าแรงตามที่กำหนด โดยข่มขู่ลูกจ้างไม่ให้ไปฟ้องร้องไม่เช่นนั้นจะถูกปลดออกจากงาน จึงอยากให้ไปสำรวจทุกบริษัทกว่า 4 แสนแห่งทั่วประเทศว่าขึ้นค่าแรง300 บาท จริงหรือไม่

นายชาลี กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องลูกจ้างเข้าใหม่ 1 เดือนได้ค่าแรงเท่ากับลูกจ้างที่อยู่มาแล้ว7-8 ปี บางทีคนเป็นหัวหน้าได้เงินน้อยกว่าหรือเท่ากับลูกจ้างเข้าใหม่ ที่สร้างปัญหาในการบริหารงาน หรือมีช่องว่าเรื่องพนักงานที่เหมาช่วงค่าแรง จะไม่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงในส่วนนี้ด้วย  ในขณะที่โรงงานซึ่งปิดตัว บางครั้งก็ไม่ได้จ่ายค่าชดเชยให้ตามที่กฎหมายกำหนด ซึ่งอยากเรียกร้องให้กระทรวงแรงงานตั้งกองทุนขึ้นมา จ่ายเงินชดเชยให้กับแรงงานที่ไม่ได้รับค่าชดเชยก่อน หลังจากนั้นเมื่อทางโรงงงานจ่ายเงินมาแล้วก็นำไปใช้คืนกองทุน เพื่อบรรเทาความเดือนร้อนของผู้ใช้แรงงงาน.

(เดลินิวส์, 30-1-2556)

 

"บีโอไอ" ระบุความต้องการแรงงานของบริษัทรับส่งเสริมการลงทุน 2,000 โครงการปี55 สูงกว่า 2.5 แสนคน

31 นางวาสนา มุทุตานนท์ รองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการรวบรวมข้อมูลความต้องการแรงงานของบริษัทที่ได้รับการส่ง เสริมการลงทุนใน ปี 2555 (ม.ค.-ธ.ค.) พบว่ามีโครงการที่แจ้งความประสงค์ต้องการแรงงานเพื่อรองรับการลงทุนใหม่ รวมถึงการขยายการลงทุนในโครงการต่างๆรวม 2,131 โครงการ โดยมีความต้องการแรงงานรวม 254,569 คน แบ่งเป็น กลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป (ป.6-ม.6) จำนวน 156,877 คน ช่างเทคนิค (ปวช.-ปวส.) จำนวน 48,705 คน และระดับปริญญาตรีขึ้นไป จำนวน 34,220 คน

โดยปริมาณความต้องการแรงงานดังกล่าว มีจำนวนใกล้เคียงกับปริมาณความต้องการในปี 2554 ซึ่งมีโครงการแจ้งความต้องการแรงงานจำนวน 1,828 โครงการ และมีปริมาณความต้องการแรงงานรวม 302,115 คน แรงงานที่ต้องการมากอยู่ในกลุ่มผู้ใช้แรงงานทั่วไป (ป.6-ม.6) 204,008 คน ช่างเทคนิค 45,889 คน และปริญญาตรี 36,337 คน

ทั้งนี้ปี 2555 อุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด อยู่ในอุตสาหกรรมบริการ และสาธารณูปโภค รองมาเป็นผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าตามลำดับ โดยช่างเทคนิค เป็นกลุ่มที่ความต้องการขยายตัวอย่างต่อเนื่องจากปี 2554 อาทิ ช่างกลโรงงาน ช่างอิเล็กทรอนิกส์ ช่างไฟฟ้าเครื่องกล ช่างเชื่อมโลหะในขณะที่ระดับการศึกษาปริญญาตรี กลุ่มที่มีความต้องการมากคือ วิศวกรในสาขา เครื่องกล อุตสาหการ ไฟฟ้า รองมาเป็นสายบริหารธุรกิจ และวิทยาศาสตร์ เป็นต้น

บีโอไอตระหนักถึงปัญหาขาดแคลนแรงงาน ดังนั้นนโยบายส่งเสริมการลงทุนในอนาคต จึงไม่มุ่งเน้นส่งเสริมอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเข้มข้นอีกต่อไป แต่จะเน้นอุตสาหกรรมฐานความรู้ที่ใช้เทคโนโลยีสูงขึ้น

(กรุงเทพธุรกิจ, 31-1-2556)

 

ส.จัดหางานลงสัตยาบัน ไม่เอาเปรียบการจัดส่งแรงงาน

นายเกริกศักดิ์ ศักดิ์บดินทร์ นายกสมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ เปิดเผยว่า จากการที่ประเทศไทยถูกจัดลำดับ Tier 2 Watchlist หากไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม ในอนาคตอาจถูกนานาชาติใช้มาตรการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจ ซึ่งทำให้ประเทศชาติโดยรวมได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง ซึ่งในเรื่องนี้สมาคมการจัดหางานไทยไปต่างประเทศ พร้อมด้วยสมาชิกจำนวน 70 บริษัท ทั่วประเทศ ได้ให้สัตยาบันร่วมกันว่าเราจะเรียกเก็บค่าบริการและค่าใช้จ่ายจากคนหางานใน การจัดส่งไปทำงานต่างประเทศไม่เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และจะควบคุมตรวจสอบกันเอง หากมีการฝ่าฝืนจะเพิกถอนจากการเป็นสมาชิก และแจ้งกรมการจัดหางานดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

โดยในวันที่ 31 ม.ค.2556 จะมีการลงนามให้สัตยาบันกับกระทรวงแรงงานเกี่ยวกับการจัดส่งคนหางานไปทำงาน ไต้หวัน เชื่อว่าต่อไปการเอารัดเอาเปรียบคนหางานก็จะหมดไป คนหางานก็จะได้รับประโยชน์ ก็ต้องขอขอบคุณท่าน รมว.แรงงาน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ที่เอาจริงเอาจังและห่วงใยพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่ประสงค์จะเดินทางไปทำงาน ต่างประเทศด้วย

(แนวหน้า, 31-1-2556)

 

บริษัท ฟูจิโคคิ จำกัด หนองแค สระบุรี ปลดคนงานกว่า 100 คน
      
2 ก.พ. 56 - ที่บริเวณหน้าบริษัท ฟูจิโคคิ ประเทศไทย จำกัด หนองแค ตั้งอยู่เลขที่ 35/1 หมู่ 4 ตำบลบัวลอย อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ได้มีพนักงานกว่า 100 คน ได้ชุมนุมกันอยู่หน้าบริษัทฯ เพื่อฟังข้อตกลงเกี่ยวกับพนักงานหยุดงานประท้วง เพื่อต้องการเจรจาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์การให้โบนัสของบริษัทฯ ที่ไม่เป็นธรรม โดยพนักงานเคยขอร่วมเจรจากับนายวิเชียร เฉกไชยเชษฐ์ ผู้จัดการบริษัทฯ แต่ทางบริษัทฯ ไม่รับเจรจาด้วย
      
จนกระทั่งนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน จังหวัดสระบุรี ได้เป็นตัวแทนพนักงานเข้าเจรจาเมื่อวานนี้ แต่ปรากฏว่า ทางบริษัทไม่ยอมเจรจา และไม่รับเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นของพนักงานทั้งหมดที่เคยรวมกลุ่มประท้วงไม่เข้าทำงาน
      
ต่อมา นายวิเชียร เฉกไชยเชษฐ์ ได้ออกมาพบพนักงานบริเวณหน้าบริษัทฯ โดยเปิดเผยกับกลุ่มพนักงานว่า ทางบริษัทฯ ยื่นเงื่อนไขให้พนักงานทั้งหมดออกอย่างเดียว พร้อมกับนำกระดาษเปล่าให้กลุ่มพนักงานบางส่วนเซ็นชื่อ โดยอ้างว่า หากผู้ใดมีความประสงค์จะลาออก โดยทางบริษัทฯ จะกรอกข้อความเอง ซึ่งมีพนักงานบางส่วนได้เซ็นชื่อไป และมีบางส่วนที่ไม่ยอมเซ็นชื่อเพราะเกรงจะเสียรู้ให้บริษัทฯ โดยพนักงานทั้งหมดจะได้เดินทางไปพบกับเจ้าหน้าที่สวัสดิการและคุ้มครองแรง งานจังหวัดสระบุรี เพื่อขอทราบขั้นตอนในการเลิกจ้างของบริษัทฯ ในครั้งนี้
      
ผู้สื่อข่าวได้ติดต่อถึงนายกิตติพงษ์ เหล่านิพนธ์ สวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดสระบุรี สอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับการเลิกจ้างของบริษัทฯ ซึ่งนายกิตติพงษ์ ได้เผยว่า ทางสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดจะต้องมีการสอบสวนข้อเท็จจริงจาก พนักงานทั้งหมดที่เข้าร้องเรียนว่าถูกหรือผิดในกรณีนี้ และพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรมในด้านกฎหมายแก่คู่กรณีทั้งสองฝ่าย

(ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 2-2-2556)

 

สปส.ชี้สธ.เพิ่มค่ารักษาไม่กระทบประกันสังคม

นายจีรศักดิ์ สุคนธชาติ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เตรียมให้โรงพยาบาลในสังกัดปรับขึ้นค่ารักษาพยาบาล 10 -15% ว่า กรณีดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม กองทุนยังคงสามารถใช้อัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเดิมซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 1,446 บาทต่อคนต่อปีต่อไปได้โดยไม่น่าจะต้องมีการปรับเพิ่ม เนื่องจากก่อนหน้านี้สปส.ได้ช่วยลดภาระด้านงบค่ารักษาพยาบาลเกี่ยวกับโรค ร้ายต่างๆให้แก่โรงพยาบาลในเครือข่ายระบบประกันสังคมโดยการจัดงบสรรงบกว่า 4,460 ล้านบาท เพื่อนำมาจ่ายเงินค่ารักษาให้แก่ผู้ประกันตนที่ป่วยเป็นโรคร้ายแรงที่มีค่า ใช้จ่ายสูงตามกลุ่มวินิจฉัยโรคร่วม(DRG )ที่มีค่าระดับความรุนแรงของโรค(RW)ตั้งแต่ระดับ 2 ขึ้นไป

"ผมคิดว่าการปรับขึ้นค่ารักษาพยาบายาลของสธ. ไม่น่าจะมีผลกระทบต่อกองทุนประกันสังคม จนทำให้ต้องปรับอัตราเหมาจ่ายค่ารักษาพยาบาลเพราะสปส.ได้แยกค่ารักษาโรคร้าย แรงออกมาต่างหากแล้ว ทั้งนี้ สปส.มีคณะกรรมการการแพทย์คอยศึกษาถึงค่ารักษา ค่ายา และค่าอุปกรณ์ทางการแพทย์ หากคณะกรรมการการแพทย์เห็นว่าจำเป็นจะต้องเพิ่มงบอัตราเหมาจ่ายค่ารักษา พยาบาล ก็จะเสนอผลการศึกษาต่อบอร์ดสปส.เพื่อให้พิจารณาปรับเพิ่มงบอัตราเหมาจ่ายค่า รักษาพยาบาล ที่ผ่านมาจะมีการปรับเพิ่มงบนี้โดยเฉลี่ย 2 ปีต่อ 1 ครั้ง ซึ่งขณะนี้คณะกรรมการการแพทย์ยังไม่มีการนำเสนอในเรื่องนี้" เลขาธิการสปส. กล่าว

(เนชั่นทันข่าว, 4-2-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net