Skip to main content
sharethis

การเดินทางร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์คลี่คลายความขัดแย้งกับภาคประชาสังคมอาเจะห์ ชี้อาเจะห์มีเครือข่ายโพ้นทะเลที่เดินหน้ารณรงค์ในต่างประเทศจนเป็นที่รับรู้ทั่วโลก

คณะภาคประชาสังคม ภาคประชาชนและผู้นำชุมชนปาตานี 20 ชีวิต เยือนภาคประชาสังคมอาเจะห์ ประเทศอินโดนีเซีย ภายใต้โครงการเรียนรู้แลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน สำหรับการสร้างชุมชนสันติภาพ ในจังหวัดชายแดนใต้ ประเทศไทย ในระหว่างวันที่ 26 มกราคม – 2 กุมภาพันธ์ 2556 แลกเปลี่ยนการขับเคลื่อนเพื่อสันติภาพ รับฟังบทบาทของนักข่าวในการสนับสนุนนักศึกษาและภาคประชาสังคม งานสื่อข่าวในสถานการณ์ความความขัดแย้งและช่วงการสร้างสันติภาพ

นายมูฮัมหมัด ฮัมซา นักข่าวจากพื้นที่ความขัดแย้งในอาเจะห์กล่าวว่า การรายงานข่าวในพื้นที่ปฏิบัติการทางการทหารรุนแรงในช่วงปี 1999-2000 ซึ่งเป็นช่วงที่มีต่อสู้อย่างชัดเจน ยากลำบากในการเข้าถึงพื้นที่ขัดแย้ง เพราะต้องเผชิญทั้งความไม่ไว้ใจจากกองกำลังของอาเจะห์เพื่อเอกราชหรือ GAM และกองกำลังของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งในช่วงที่มีการประกาศกฎหมายทหารในพื้นที่ การรายงานข่าวไม่เป็นอิสระ ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างอิสระ

“พวกเราเคยถูกฝ่ายขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเอกราชอาเจะห์ หรือ GAM จับไปเพื่อให้เขียนข่าวลงหนังสือพิมพ์รายวันของพวกเรา โดยเป็นการโฆษณาชวนเชื่อว่า GAM ได้สังหารฝ่ายตรงข้ามเท่าไหร่ ซึ่งความจริงชาวบ้านทราบว่าสถานการณ์จริงๆเป็นอย่างไร หนึ่งเดือนหลังจากประกาศใช้ปฏิบัติการทางทหาร GAM โทรหาเราทุกวันเพื่อให้ลงแถลงการณ์ของเขาในหนังสือพิมพ์ของเรา” นักข่าวดังกล่าว

ในขณะเดียวกันก็ได้กล่าวว่า สื่อถูกใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างภาพให้ทหารของรัฐเช่นกัน นักข่าวถูกเกณฑ์ไปในค่ายเพื่อให้สื่อสารว่า เจ้าหน้าที่ทหารได้ปฏิบัติต่อกลุ่มขบวนการที่จับอาวุธต่อต้านรัฐอย่างให้เกียรติ ทั้งๆ ก่อนหน้านี้มีการสังหารฝ่ายตรงข้ามมาแล้วจำนวนมาก

“กลุ่มเราจึงต่อสู้เพื่อความเป็นอิสระในการสื่อสาร เพราะการสื่อสารในพื้นที่ความขัดแย้งต้องเสนอข้อเท็จจริง แม้เราจะไม่สามารถทำให้กระบวนการสันติภาพเกิดขึ้นได้ แต่เราจะไม่ทำให้ความขัดแย้งในพื้นที่เพิ่มขึ้นเพราะการรายงานของเรา” นักข่าวกล่าว

ข้อเสนอจากนักข่าวอาเจะห์คือ สื่อมีความจำเป็นในการสร้างเครือข่ายสื่อภายในและต่างประเทศเพื่อส่งข้อมูลที่เกิดขึ้นในอาเจะห์ออกสู่ข้างนอกให้มากที่สุด มีทั้งการส่งรายงานไปโดยตรงผ่านองค์กรข่าว หรือส่งรายงานไปยังองค์กรเพื่อสิทธิมนุษยชนให้มีการรณรงค์ต่อไป

“พวกเรารายงานเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทุกวัน เพื่อให้ทุกคนเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างที่นี้ และเราได้มองเห็นอย่างหนึ่งว่า นักข่าวในพื้นที่ความขัดแย้งต้องไม่ใช่นักสื่อสารเพื่อรายงานเหตุการณ์อย่างเดียว แต่ต้องมีเป้าหมายเพื่อสันติภาพด้วย” นักข่าวคนเดิมกล่าว

แนะปาตานีต้องสร้างเครือข่ายต่างประเทศ
ในช่วงแลกเปลี่ยนประสบการณ์ถูกจัดที่สำนักงานขององค์กร ACEH Civil Security Taskforce ครั้งนี้ ภาคประชาสังคมปาตานีได้รับข้อเสนอแนะจากภาคประชาสังคมอาเจะห์ว่า ภาคประชาสังคมปาตานีต้องหาจุดร่วมการขับเคลื่อนว่าจะพาปาตานีไปสู่ทิศทางไหน และต้องสร้างเครือข่ายกับองค์กรอื่นๆ ในพื้นที่ระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ ระหว่างประเทศและระดับโลก เพื่อให้ประเด็นออกไปข้างนอกมากที่สุด

ภาคประชาสังคมอาเจะห์สะท้อนว่า อาเจะห์จะแก้ปัญหาโดยลำพังไม่ได้ เพราะการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมอาเจะห์ส่วนใหญ่เกิดในต่างประเทศ และสร้างเครือข่ายกับสื่อต่างประเทศ เพื่อเผยแพร่เรื่องราวของอาเจะห์ให้ออกไปข้างนอกให้มากที่สุด เมื่อมีคนรับรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีคนเข้ามากดดันรัฐบาลให้จัดการปัญหามากขึ้น

“วิธีการเพื่อป้องกันเครือข่ายนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชนของเรา โดยการสร้างเครือข่ายทั้งคนอาเจะห์ทั้งในและนอกประเทศ และเครือข่ายอื่นๆ ซึ่งเมื่อเราสร้างความเข้าใจให้เครือข่ายรับรู้ว่าสถานการณ์ของอาเจะห์เป็นอย่างไร เมื่อมีใครคนใดคนหนึ่งถูกเจ้าหน้าที่จับ เขาจะรีบปล่อยภายใน 24 ชั่วโมงเพราะเครือข่ายทั้งในและต่างประเทศจะโทรสอบถามข้อมูลวันละเป็นพันสาย เป็นการกดดันให้ทหารไม่สามารถละเมิดสิทธิได้ แต่ต้องมีการติดต่อประสานงานเพื่อให้เครือข่ายกดดันก่อน 24 ชั่วโมง ถ้าช้ากว่านั้นอาจจะมีการละเมิดสิทธิกับนักพิทักษ์สิทธิที่ถูกจับไปได้” นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งกล่าว

การรายงานเรื่องการละเมิดสิทธิต่อประชาชนอาเจะห์โดยทหารรัฐบาลอินโดนีเซีย ในช่วงการประกาศใช้ปฏิบัติการทางการทหารพิเศษ หรือที่อินโดนีเซียเรียกว่า DOM ในช่วงปี 2000 กลุ่มที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชนได้รายงานกรณีการละเมิดสิทธิในระหว่างการประกาศใช้กฎอัยการศึกทุกวันอย่างต่อเนื่อง จนเป็นที่รู้จักของเวทีระหว่างประเทศ และมีกลุ่มคนอาเจะห์พลัดถิ่นที่ลี้ภัยในประเทศได้สร้างเครือข่ายกับองค์สิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ เพื่อรับเรื่องของอาเจะห์ไปรณรงค์ด้วย

“เราได้สร้างเครือขายในต่างประเทศ จนเป็นที่รับรู้ขององค์กรทั้งในและต่างประเทศว่าเกิดอะไรขึ้นในอาเจะห์ โดยมีการรายงานอย่างต่อเนื่อง จนมีการเปรียบเปรยว่า แม้เข็มเล่มเดียวตกในแผ่นดินอาเจะห์ คนต่างประเทศก็จะรู้สึก” นักสิทธิมนุษยชนคนหนึ่งกล่าวกับคณะจากปาตานี

นายมุสลาฮุดดิน ดาวุด อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ของฟอรั่มภาคประชาสังคมอาเจะห์ ได้ร่วมถ่ายทอดประสบการณ์กับนักขับเคลื่อนสันติภาพว่า ตนได้ลงพื้นที่ในจังหวัดชายแดนใต้หลายครั้ง ตั้งแต่ 2550 โดยการสนับสนุนจากธนาคารโลก ซึ่งเป็นช่วงที่มีเหตุการณ์ความรุนแรงสูงมากในพื้นที่ เพื่อพบภาคประชาชนที่ทำงานในพื้นที่ปาตานี

นายมุสลาฮุดดิน กล่าวว่า จากที่ลงพื้นที่ทำให้เห็นข้ออ่อนของการขับเคลื่อนสันติภาพในปาตานีหลายข้อ เมื่อเปรียบเทียบกับกระบวนการสันติภาพในอาเจะห์ เนื่องจากกรณีอาเจะห์ทุกภาคส่วนของสังคมหนุนการขับเคลื่อนเพื่อเอกราชในอาเจะห์ แต่นำโดยกลุ่มจับอาวุธที่เรียกร้องเอกราชหรือที่เรียกว่า GAM โดยประชาชนและภาคประชาสังคมทั้งในและต่างประเทศต่างสนับสนุนการขับเคลื่อนนี้เป็นขบวนเดียวกัน แต่ในปาตานี ยังคงมีความหลากหลายในความเห็นอยู่

นายมุสลาฮุดดิน ยังกล่าวอีกว่า ปาตานีมีกลุ่มภาคประชาสังคมที่มีบทบาทสูงมากที่สุดในโลก จากบรรดาประเทศที่มีความขัดแย้ง ซึ่งมีสัดส่วนครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนที่ไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใด ตนมองว่า กลุ่มภาคประชาสังคมที่มีความเป็นกลางจะเป็นนักขับเคลื่อนหลักที่จะทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งดีขึ้น

“ผมยังไม่เคยเห็นการขับเคลื่อนภาคประชาสังคมที่ไหนจะมีบทบาทมากกว่าของปาตานี ซึ่งมีหลากหลาย แต่ปัญหาคือความไม่เป็นเอกภาพในความเห็น ถ้ามีการขับเคลื่อนเป็นเอกภาพได้ จะเป็นตัวเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกิดการกดดันเพื่อให้ดำเนินการสันติภาพได้” นายมุสลาฮุดดิน กล่าว

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net