Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

หลังจากที่ผมเตะโด่งมาศึกษาต่อ ณ สหราชอาณาจักร สิ่งหนึ่งที่ผมทำเป็นประจำ คือ การเดินสำรวจเมืองเพื่อหาขอบเขตและสถานที่สำคัญต่างๆ ของมหาวิทยาลัย โดยในช่วงแรกที่มาถึงลอนดอน ผมลองค้นหามหาวิทยาลัยดังของลอนดอน ไม่ว่าจะเป็น LSE, UCL, King’s College, Queens Mary และที่ชอบมากที่สุดคือ Birkbeck ผมพบว่า มหาวิทยาลัยเหล่านี้ได้แทรกตัวอยู่ในหมู่อาคารบ้านเรือน และอาคารพาณิชย์ (ห้องแถวทรงโมเดิร์น) ซึ่งมีแนวโน้มว่ามหาวิทยาลัยเหล่านี้จะขยายพื้นที่ด้วยการไล่ซื้ออาคารอื่นๆ ออกไปเรื่อยๆ เป็นบทพิสูจน์ความสำเร็จของอุตสาหกรรมศึกษาที่เป็นจุดดึงดูดรายได้สำคัญเข้าสู่ประเทศอังกฤษ

เมื่อมาถึงเมืองลีดส์ ซึ่งมีที่ตั้งอยู่บริเวณตอนเหนือซึ่งเป็นกลุ่มเมืองอุตสาหกรรมของสหราชอาณาจักร ร่วมกับ แมนเชสเตอร์ และลิเวอร์พูลเมืองท่าสำคัญ ผมกลับพบร่องรอยของความเป็นเมืองอุตสาหกรรม “เก่า” หลงเหลืออยู่ในคราบเขม่าดำที่เกาะอยู่ตามผนังตึกเก่าด้านนอกโบสถ์ วิหาร ที่กระจัดกระจายไปตามจุดๆ ต่างๆ แต่โบสถ์วิหารเหล่านั้นได้กลายสภาพเป็นอาคารพาณิชย์ สำนักงาน หรือแม้กระทั่งร้านอาหารและผับ บาร์ ไปแล้ว สิ่งที่หาไม่เจอ คือ โรงงานใหญ่

หากจะสำรวจว่าเมืองนั้นขับเคลื่อนไปด้วยอะไร สถานที่ใดคือศูนย์กลางของเมืองอาจจะเป็นคำถามแรกที่ช่วยให้เกิดความเข้าใจ โดยการสำรวจเริ่มจากศูนย์กลางทางธุรกิจ สถานที่สำคัญทางราชการ และสถานีขนส่งที่เชื่อมโยงกับเมืองอื่น และสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของคนเมืองนี้ วันราชการ (เวลาทำงาน) และวันหยุด (เวลาว่าง) เป็นตัวช่วยอย่างดีในการหาคำตอบ ผมได้สำรวจเปรียบเทียบทั้งสองช่วงเวลา

เมื่อสำรวจพื้นที่บริเวณศูนย์กลางเมืองอันเริ่มต้นที่หอพักมหาวิทยาลัยซึ่งส่วนใหญ่ไปซื้ออาคารซึ่งเคยเป็นหอพักคนงาน และคนที่เคยทำงานอยู่ในเมืองมาทำเป็นหอพักนักศึกษาและเก็บค่าเช่าราคาแพง เมื่อเทียบกับที่พักรอบนอกและชานเมือง สิ่งที่ใกล้เคียงกับเมืองไทย คือ เจ้าของที่ในเมืองขายที่หรือปล่อยเช่าช่วงแล้วย้ายออกไปอยู่ชานเมือง หรือชาวบ้านที่ขายของต่างๆ เปลี่ยนกลุ่มลูกค้ามาเป็นนักศึกษาแทน แต่ก็มีไม่มากแล้ว เนื่องจากร้านค้ากลายเป็นร้านสาขายี่ห้อดังระดับชาติ หรือระดับโลกแทน

มหาวิทยาลัยนั้นตั้งอยู่บริเวณเนินและยอดเขาที่อยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดี ซึ่งเป็นที่แน่ชัดด้วยสถานที่ตั้ง คือ ได้แปลงเอาวิหาร โบสถ์ หรือปราสาทสำคัญต่างๆ ในอดีตมาเป็นมหาวิทยาลัย และรูปแบบตัวอาคารต่างๆ ก็เป็นเครื่องยืนยันอย่างดีว่า มหาวิทยาลัยได้กลายเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของเมืองนี้ไปแล้ว เมื่อดูประชากรนักศึกษาและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่เฉียด 20,000 คนก็เห็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจทั้งในเชิงการบริโภคและการผลิตที่จะพูดต่อไป

การสร้างข้อสรุปหนักแน่นต้องมีการตรวจสอบโดยพยายามออกไปนอกเขตมหาวิทยาลัยและหอพักต่างๆ ที่อยู่รายล้อม ทั้งในแถบชานเมืองที่ใกล้ธรรมชาติ และแหล่งที่อยู่อาศัยของชุมชนคนท้องถิ่น สิ่งที่พบอย่างชัดเจน คือ หน่วยทางเศรษฐกิจหลักๆ คือ ธุรกิจร้านค้า และการให้บริการในชีวิตประจำวันเกี่ยวกับการอุปโภคบริโภคทั่วไป ไม่เห็นโรงงาน และไม่เห็นไร่นา และโรงปศุสัตว์ขนาดใหญ่ ข้อสรุปหลัก คือ เมืองลีดส์ไม่มีฐานในการผลิตเชิงเกษตรและอุตสาหกรรม

เมื่อผนวกกับข้อมูลที่ชี้ว่าเศรษฐกิจสหราชอาณาจักรที่พึ่งพาอินเทอร์เน็ตมากที่สุดในโลก คือ กว่า 30% ของจีดีพี สิ่งที่เป็นการผลิตในประเทศจึงเป็นการขนส่ง การบริการที่เกี่ยวเนื่อง แต่สินค้าผลิตนอกประเทศ ข้อสรุป ณ จุดนี้ คือ สหราชอาณาจักรมิได้พึ่งพาเศรษฐกิจการผลิตเชิงอุตสาหกรรมอีกต่อไป คำถามคือ เศรษฐกิจและจุดแข็งของสหราชอาณาจักรอยู่ที่ใด สิ่งนี้เห็นได้ชัดจากถ้อยแถลงของพรรคอนุรักษ์นิยม และพรรคแรงงาน ที่ล้วนมียุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เน้นการบริการ การสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรม เพื่อให้สหราชอาณาจักรเป็น “แบรนด์” ที่คนทั้งโลกเชื่อถือและปรารถนา

สิ่งที่สหราชอาณาจักรทำได้สำเร็จอย่างชัดเจน คือ ดึงดูดคนจากทั่วโลกให้มาศึกษาและใช้ชีวิตอยู่ในประเทศที่ไม่มีอะไรน่าดึงดูดในเชิงกายภาพ ไม่ว่าจะเป็นภูมิประเทศที่ไม่ได้สวยงามมากนัก หรือภูมิอากาศที่เลวร้ายอย่างที่ทราบกันดี

อะไรคือจุดแข็งของสหราชอาณาจักร สิ่งนั้นน่าจะเป็น การปรับตัวเนื่องจากเห็นโลกกว้างและมีประสบการณ์ในการท่องโลกของอารยธรรมอังกฤษ โดยปรับตัวเองให้เป็นผู้ขาย “ความรู้” ที่เกิดจากการสั่งสมประสบการณ์และต่อยอดองค์ความรู้ต่างๆ ซึ่งรวมไว้ในสถาบันที่พร้อมขายบริการการศึกษา ซึ่งเป็นแบรนด์ที่แข็งแรงและน่าเชื่อถือที่สุดที่ตนมีอยู่ในมือ (เพราะฉะนั้นจึงต้องสร้างสถาบันจัดอันดับสถาบันการศึกษา และกำหนดเกณฑ์ชี้วัดมหาวิทยาลัยให้ทั่วโลกเดินตาม)

ลีดส์ เป็นเมืองที่มีนักศึกษาต่างชาติมากที่สุดในสหราชอาณาจักร กว่า 5,000 คน ย่อมเป็นตัวอย่างที่ดีที่สุด มหาวิทยาลัยลีดส์ได้กลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและนำไปสู่การกำหนดทิศทางพัฒนาเมืองอย่างแท้จริง เนื่องจากมหาวิทยาลัยเป็นพลังหลักในการดึงคนและ “รั้ง” คนให้ต้อง “ทน” ใช้ชีวิตอยู่กับเมืองนี้ไปอย่างน้อยๆ หนึ่งปีในระดับปริญญาโท (หลักสูตรที่เต็มไปด้วยนักศึกษาต่างชาติ) และเกือบครึ่งทศวรรษสำหรับปริญญาเอกและปริญญาตรี

พื้นที่ระหว่างมหาวิทยาลัย (ยอดเนิน) กับสถานีขนส่ง (ที่ราบใกล้แม่น้ำ) เป็นบริเวณซึ่งออกแบบให้จัดวางศูนย์การค้า ร้านรวง และสถานที่บริการต่างๆ ที่เกี่ยวกับการใช้ชีวิตวางอยู่ในพื้นที่ซึ่งเดินได้รอบในเวลาไม่เกินครึ่งชั่วโมง แบรนด์ดังต่างๆ ได้จับจองพื้นที่ใกล้ทางเดินหลักเอาไว้เกือบหมด (ที่อังกฤษจะเป็นห้างแบบอาเขตที่มีการให้เช่าช่วงพื้นที่ มิได้เป็นร้านภายใต้ยี่ห้อห้างค้าปลีกขนาดใหญ่) ส่วนร้านดั้งเดิมหรือทุนท้องถิ่นจะกระจายไปตามตรอกซอกซอยอื่นๆ รวมถึงร้านอาหารและสินค้าไทย ที่อยู่นอกศูนย์การค้า

ตลาดสดของเมืองลีดส์มีขนาดใหญ่ตั้งอยู่ด้านล่างที่ใกล้สถานีขนส่ง คาดว่าจะสะดวกในการนำสินค้าอุปโภค บริโภค และเกษตรมาขายได้ง่าย สิ่งที่น่าสังเกต คือ ร้านค้าของคนบริติชดั้งเดิมมีน้อยกว่าที่คิด คนหน้าเอเชีย กลับเป็นเจ้าของร้านค้าและบริการที่ไม่ใช่ร้านแบรนด์ดังเสียมาก เช่น ร้านขายของชำคนอินเดีย ซูเปอร์มาร์เก็ตคนจีน ร้านอาหารไทย ร้านเครื่องใช้ไฟฟ้าคนอาหรับ ฯลฯ แล้วชาวบริติชไปไหน

คำตอบอยู่ในนโยบายสำคัญของพรรคการเมืองหลักของอังกฤษ คือ การพยายามทำข้อตกลงกับคนอังกฤษรุ่นใหม่ว่า ต่อไปเขาเหล่านั้นจะไม่ได้ห้องพักสวัสดิการทันที แต่ต้องทำสัญญาว่าจะเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษา อาจจะใช้เงินของรัฐหรือกู้ยืม เมื่อจบและเริ่มทำงานจึงจะได้ห้องพักและมีสวัสดิการสังคมรองรับ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้น คือ วัยรุ่นและคนวัยทำงานที่ว่างงาน มีปัญหาการดื่มแอลกอฮอล์ หรืออยู่บ้านใช้เวลาไปกับอินเทอร์เน็ต และสินค้าบันเทิงรูปแบบต่างๆ

จากนโยบายดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า รัฐบาลต้องการสร้างแรงงานที่มีความเชี่ยวชาญสูง ไม่ว่าจะเรียนจนจบปริญญาขั้นสูงเพื่อเข้าสู่ภาคการศึกษาวิจัยและหล่อเลี้ยงมหาวิทยาลัยให้มีผลงานวิชาการสร้างอันดับสูงๆ และดึงดูดคนเข้ามาเรียนอย่างต่อเนื่อง แม้คุณภาพในห้องเรียนอาจจะไม่ได้เหนือกว่าห้องเรียนในประเทศไทยเลย แต่แบรนด์สร้างจากการจัดอันดับ และผลงานวิจัย ตำรา ที่เผยแพร่อยู่ในโลกภาษาอังกฤษซึ่งแพร่สะพัดไปทั่วโลกและเข้มข้นขึ้นในอินเทอร์เน็ต

หากไม่เข้าสู่วงวิชาการ การทำงานวิชาชีพอื่นๆ ก็ยังเป็นงานที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญระดับอุดมศึกษาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น เจ้าหน้าที่บริหาร คนวางระบบ ผู้ควบคุมระบบ และผู้ให้คำปรึกษาแนะนำต่างๆ รวมถึงพนักงานและผู้บริหารในร้านรวงต่างๆ ที่เป็นแบรนด์ดัง เนื่องจากเศรษฐกิจหลัก คือ การให้บริการซึ่งต้องอาศัยการขัดเกลาทางวัฒนธรรมด้วยเพราะต้องให้บริการคนที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมมากขึ้น การเหยียดรูปแบบต่างๆ เป็นสิ่งที่อาจไม่มีวันได้เจอในเมืองอีกต่อไป เว้นแต่การเดินสวนกับกลุ่มวัยรุ่นหรือกลุ่มคนเมาที่พบน้อยมากในเขตศูนย์กลางเมือง

แรงงานที่ไม่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะและร้านต้องการกดค่าแรงให้ต่ำไว้นั้น อาศัยกำลังแรงงานของนักศึกษามหาวิทยาลัย ทั้งที่เป็นคนบริติชอาจจะท้องถิ่นหรือมาจากเมืองอื่นที่ต้องหาเงินเรียน และไม่น้อยเป็นนักศึกษาต่างชาติที่ต้องการหาเงินเพื่อเดินทางท่องเที่ยว หาประสบการณ์ หรือซื้อของต่างๆ ที่มีราคาแพง และเมื่อตรวจสอบพบว่ามีจำนวนไม่น้อยที่ได้ค่าจ้างต่ำกว่าที่กฎหมายกำหนด และไม่มีสวัสดิการใดๆ ทั้งสิ้น

หลายท่านอาจสงสัยว่า คนบริติชที่ไม่มีงานทำใช้อะไรประทังชีวิต คำตอบคือ สวัสดิการสังคมในรูปแบบต่างๆ ที่ได้จากเงินภาษี ซึ่งการบริโภคและการผลิตทางเศรษฐกิจนั้นเองที่เป็นแหล่งที่มาของภาษีที่เจือจุนชีวิตของคนชาติ ดังนั้นสภาพในปัจจุบันจึงมีลักษณะการดึงดูดเงินนักศึกษาต่างชาติผ่านค่าเทอม และการจับจ่ายใช้สอย รวมไปถึงรายได้ที่เกิดจากแรงงานของนักศึกษาต่างชาติไม่น้อย

ความสัมพันธ์ในเชิงการผลิตและบริโภคที่กล่าวไว้ทั้งหมดได้แสดงให้เห็นความสำคัญของมหาวิทยาลัย ในการดึงดูดคนให้เข้ามาใช้ชีวิตเพื่อการเรียนให้ได้วุฒิ และจับจ่ายใช้สอยเพื่อบริโภค แต่ผลพวงที่เกิดนั้นได้กระจายไปยังคนในพื้นที่นั้น ไม่ว่าจะเป็นคนในท้องถิ่นหรือธุรกิจระดับชาติที่เข้ามาลงทุน ก็จะเห็นว่าการวางยุทธศาสตร์ของสหราชอาณาจักรที่มีมหาวิทยาลัยเป็นศูนย์กลางเป็นการออกแบบเพื่อความอยู่รอดของคนทั้งเกาะ ในยุคที่ไม่อาจล่องเรือข้ามมหาสมุทรไปยึดครองและดูดทรัพยากรในรัฐอื่นได้อีกต่อไป

รัฐไทยจะมีนโยบายใดในการพัฒนาเมืองและประเทศท่ามกลางโอกาสที่กำลังจะมาถึง ก็ควรปรับคุณภาพของมหาวิทยาลัยไทยให้พร้อม โดยการผลิตผลงานวิชาการเพื่อสร้างแบรนด์และการประชาสัมพันธ์เชิงรุกเข้าหากลุ่มเป้าหมาย

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net