Skip to main content
sharethis

(6 ก.พ.56) ผลการสำรวจล่าสุดจากรายงานผลการสำรวจธุรกิจนานาชาติของแกรนท์ ธอร์นตัน (The Grant Thornton International Business Report: IBR) นำเสนอว่า 4 ใน 10 (39%) ของธุรกิจทั่วโลกต้องใช้ความพยายามอย่างสูงสุดเพื่อหาบุคลากรที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการ ทั้งนี้ การขาดแคลนบุคลากรที่มีทักษะทางเทคนิคนั้นเป็นปัญหาที่สำคัญที่สุด (64%) และสร้างความวิตกกังวลว่าจะกระทบความสามารถในการผลิตของผู้ประกอบการ ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการเติบโตและความสามารถในการทำกำไรของบริษัท

IBR เป็นการสำรวจทัศนคติของนักธุรกิจในบริษัทเอกชนทั้งที่จดทะเบียนและไม่ได้จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ สำหรับผลสำรวจในหัวข้อนี้ได้มาจากการสัมภาษณ์ผู้บริหารจำนวน 6,400 รายทั่วโลกในช่วงเดือนสิงหาคมถึงธันวาคม ปี 2555 ที่ผ่านมา ครอบคลุมทุกกลุ่มอุตสาหกรรม กลุ่มตัวอย่างได้แก่ผู้บริหารในระดับประธานกรรมการบริษัท กรรมการบริหาร ประธาน และผู้บริหารอาวุโส

ทอม โซเรนเซน พาร์ทเนอร์และหัวหน้าสายงานการจัดจ้างบุคลากรระดับผู้บริหารของแกรนท์ ธอร์นตัน ในประเทศไทย กล่าวว่า แท้จริงแล้ว กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วยังมีอัตราการว่างงานในระดับสูง ดังนั้น ผลการสำรวจที่ว่านักบริหารธุรกิจกำลังกังวลกับการขาดแคลนแรงงานมีทักษะนั้นจึงบังเอิญเป็นเหมือนการเสียดสีข้อเท็จจริง ทั้งนี้ มองว่าในระยะสั้น นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องถ่ายทอดทักษะให้กับแรงงานภายนอกองค์กรเพื่อเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ความสามารถให้ได้อย่างดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ แต่ในระยะยาว นักบริหารธุรกิจจำเป็นต้องลงทุนกับโครงการอบรมให้ความรู้ภายในองค์กรเพื่อหล่อหลอมบุคลากรและจะเสริมสร้างให้พวกเขาสามารถทำงานเชิงยุทธศาสตร์ เกิดการพัฒนา และมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานต่อไป

ทอม โซเรนเซน กล่าวเสริมว่า แม้แต่สหประชาชาติยังรายงานไว้เมื่อหลายปีก่อนว่ากลุ่มผู้ใช้แรงงานจะมีจำนวนลดลงอย่างรุนแรงทั่วโลก ซึ่งประเทศจีนและสิงคโปร์กำลังประสบกับภาวะขาดแรงงานทั้งในปัจจุบันและอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ส่วนประเทศไทยจะเข้าสู่สภาวะดังกล่าวในช่วง พ.ศ. 2563-2568 ดังนั้น หากคิดว่าตอนนี้แรงงานหาได้ยากอยู่แล้ว ในความเป็นจริง ปัญหาจะรุนแรงมากขึ้นอีกหลายเท่า

ทั้งนี้ กลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วและกลุ่มเศรษฐกิจเกิดใหม่ล้วนประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะเชิงเทคนิค โดย 61% ของธุรกิจในกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC และ 65% ของธุรกิจในกลุ่มประเทศ G7 ระบุถึงปัญหาดังกล่าว โดยการขาดประสบการณ์ในการทำงาน (56%) และการขาดคุณสมบัติที่เหมาะสม (54%) ก็เป็นปัญหาที่ได้รับการกล่าวถึงเช่นกัน นอกจากนี้ 1 ใน 5 ของผู้บริหารธุรกิจ (21%) กล่าวว่ากฎระเบียบเพื่อตรวจสอบคนเข้าเมืองยังเป็นปัญหาอีกด้วย

ผลกระทบจากปัญหาเรื่องแรงงานต่อคาดการณ์การเติบโตของธุรกิจนั้นมีหลักฐานสนับสนุนอันชัดเจน กล่าวคือ รายงาน IBR เปิดเผยว่ากว่า 1 ใน 4 ของธุรกิจ (28%) คาดว่าแผนการขยายธุรกิจในปี 2013 จะต้องประสบกับปัญหาเนื่องจากขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ส่วนกลุ่มเศรษฐกิจ BRIC ก็มีการรายงานในลักษณะเดียวกันหากทว่าอยู่ในระดับที่รุนแรงกว่า โดยอยู่ที่กว่า 1 ใน 3 (36%) ซึ่งผลการสำรวจนี้ลดลงจาก 35% ทั่วโลกในช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงิน ซึ่งสมัยนั้นอัตราการจ้างงานนั้นสูงกว่าในปัจจุบันอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว

โซเรนเซน กล่าวเพิ่มเติมว่า เราได้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจากการเจรจาระหว่างสถาบันการศึกษา รัฐบาล และผู้บริหารธุรกิจอยู่แล้ว แต่รายงานฉบับนี้น่าจะส่งผลให้มีแรงผลักดันในเรื่องใหม่ๆ เกิดขึ้นได้ เพราะยังคงมีความไม่เชื่อมโยงกันในสถานการณ์ที่ว่าผู้บริหารธุรกิจนั้นมีความต้องการว่าจ้างแรงงานมีทักษะอย่างมาก ส่วนผู้ที่ว่างงานจำนวนมากก็ยังคงกำลังหางานทำ

“สถานการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดความสูญเปล่าทางด้านทรัพยากรบุคคล ซึ่งไม่เป็นผลดีทั้งต่อธุรกิจและผู้ที่ว่างงาน ในที่สุดแล้ว การเติบโตของเศรษฐกิจก็จะได้รับผลกระทบ โดยธุรกิจจะมีข้อจำกัดในการขยายตัว และบุคคลที่ว่างงานก็ไม่มีรายรับเพียงพอที่จะใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งจะก่อให้เกิดวงจรอันไม่พึงประสงค์ ดังนั้น ผมขอเสนอแนะว่าการพัฒนาทักษะของบุคลากรควรจะได้รับการยกระดับความสำคัญ และบรรจุอยู่ในนโยบายสาธารณะ”

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net