Skip to main content
sharethis

หวั่น ครม.เห็นชอบโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน เอื้อประโยชน์โครงการใหญ่ เผยสายสัมพันธ์เหมืองแร่โปแตช-บริษัทใหญ่ เกี่ยวผันน้ำที่หนองหานกุมภวาปี จี้รัฐฯ จัดการน้ำให้สอดคล้องกับพื้นที่ ชุมชนร่วมตัดสินใจ

 
หลังจากที่ ครม.เห็นชอบผลการคัดเลือกกรอบแนวคิด เพื่อออกแบบก่อสร้างระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืน และระบบแก้ไขแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 ก.พ.ที่ผ่านมา ตามที่นายปลอดประสพ สุรัสวดี รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัย (กบอ.) เสนอ ครม.เพื่อขออนุมัติตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารจัดการน้ำและอุทกภัยแห่งชาติ พ.ศ.2555 ในเรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการพัสดุในการดำเนินโครงการ ตามระเบียบสำนักนายกฯ ว่าด้วยการบริหารโครงการและการใช้จ่ายเงินกู้เพื่อวางระบบบริหารจัดการน้ำและสร้างอนาคตประเทศ พ.ศ.2555 (ฉบับ2) 
 
พร้อมกันนี้นายปลอดประสพ ยังได้แถลงผลการพิจารณาบริษัทผู้ผ่านการคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้าง ระบบการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท โดยมี 6 กลุ่มบริษัทที่เข้ารอบสุดท้าย ได้แก่ 1.บริษัทโคเรีย วอเตอร์ รีซอสเซส คอร์ปอเรชั่น (เค.วอเตอร์) 2.กิจการร่วมค้าญี่ปุ่น-ไทย 3.ITD-POWERCHINA JV 4.กิจการร่วมค้าทีมไทยแลนด์ 5.กิจการร่วมค้าซัมมิท เอสยูที และ 6.กลุ่มบริษัทร่วมค้าล็อกซเล่ย์ 
 
สำหรับกลุ่มบริษัทที่ผ่านเข้ารอบทั้ง 6 กลุ่ม คณะกรรมการพิจารณาคัดเลือกกรอบแนวคิดเพื่อออกแบบก่อสร้างระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างยั่งยืนและระบบแก้ไขปัญหาอุทกภัยของประเทศไทย (กบนอ.) ได้พิจารณาคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอกลุ่มโครงการ (Module) ละ 3 ราย ซึ่งมี Module ที่ต้องพิจารณาทั้งสิ้น 10 Module แบ่งไปตามแผน และลักษณะการก่อสร้าง เช่น การสร้างอ่างเก็บน้ำ การจัดทำผังการใช้ที่ดิน การจัดทำทางน้ำหลาก (Floodway) และการปรับปรุงระบบคลังข้อมูล เป็นต้น
 
ด้านองค์กรพัฒนาเอกชน หรือ เอ็นจีโอ ได้ออกมาโต้ว่า โครงการบริหารจัดการน้ำของรัฐบาล โดยใช้เงินกู้ในวงเงิน 3.5 แสนล้านบาท เป็นนโยบายที่เอื้อประโยชน์แก่โครงการพัฒนาขนาดใหญ่
 
นายสุวิทย์ กุหลาบวงษ์ เลขาธิการคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ภาคอีสาน กล่าวว่า รัฐบาลมีแนวทางที่จะจัดการน้ำทั้งระบบโดยเสนอให้มีการรวมหน่วยงานเกี่ยวกับเรื่องน้ำ แล้วจัดตั้งกระทรวงน้ำ และนำไปสู่การออกกฎหมายน้ำขึ้นมาบริหารจัดการน้ำ
 
“ในกฎหมายน้ำ เราจะเห็นว่าน้ำเป็นของรัฐ ผู้ที่จะใช้น้ำหรือเข้าถึงน้ำได้ก่อนก็คือ กลุ่มทุนและโครงการขนาดใหญ่ สถานบริการ เกษตรกรก็เป็นลักษณะ Contract farming ที่มีเงินซื้อ ดูกรณีมาบตาพุดที่ทุนได้น้ำไปใช้ก่อนเรา” นายสุวิทย์ กล่าว
 
นายสุวิทย์ กล่าวต่อว่า จากการติดตามโครงการพัฒนาในภาคอีสานโดยร่วมกับชาวบ้านในพื้นที่มากว่า 10 ปี พบว่ามีแผนการลงทุนภาคอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างเช่นโครงการเหมืองแร่โปแตช จำนวน 10 จังหวัด รวมเนื้อที่กว่า 1.3 ล้านไร่ ซึ่งมีความต้องการที่จะใช้น้ำอย่างมหาศาลของกลุ่มทุน และจะส่งผลกระทบต่อการแย่งน้ำในชุมชนเป็นบริเวณกว้าง ดังนั้นนโยบายการจัดการน้ำของรัฐบาลจึงเป็นการเอื้อประโยชน์ เพื่อจัดหาน้ำให้กับเมกะโปรเจกต์
 
“1 ใน 6 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้างระบบน้ำ 3.5 แสนล้านบาท คือ บริษัท ITD-POWERCHINA JV อยู่ในกลุ่มอิตาเลี่ยนไทย และเหมืองแร่โปแตชที่อุดรฯ บริษัทอิตาเลี่ยนไทยก็กำลังยื่นขอประทานบัตรเพื่อประกอบกิจการ โดยมีแผนการใช้น้ำจากโครงการผันน้ำที่หนองหานกุมภวาปี ซึ่งย่อมมีการเอื้อประโยชน์ต่อกันอย่างชัดเจน” 
 
เลขาธิการ กป.อพช. อีสาน ยังได้สะท้อนถึงปัญหาการจัดการน้ำของรัฐ ที่ล้มเหลวในอดีต ดังเช่น โครงการ โขง ชี มูล ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของชาวบ้านถูกทำลาย จนนำมาสู่การชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาในปัจจุบัน ทั้งนี้ เขามีข้อเสนอว่า รัฐบาลควรมีแนวทางการจัดการน้ำให้สอดคล้อง ตามความเหมาะสมแก่สภาพพื้นที่โดยคำนึงถึงความหลากหลายทางชีวภาพ และการมีส่วนร่วมของชุมชนในการตัดสินใจ
 
“รัฐบาลจะต้องส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมที่เป็นธรรมอย่างเท่าเทียมของคนในชุมชนก่อนนำไปสู่การตัดสินใจ ซึ่งในส่วนของเอ็นจีโอ และชาวบ้านได้ปรึกษากันว่าจะตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด” เลขาธิการ กป.อพช. อีสาน กล่าวทิ้งท้าย
 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net