Skip to main content
sharethis

เปิดใจ ‘พิศาล อาแว’ นายอำเภอมายอ ชีวิตเฉียดคมกระสุนและแรงระเบิด กับงานมวลชนที่ต้องเดินหน้า ชี้ไฟใต้เป็นปัญหาการเมืองที่อยู่เหนือความสามารถของพื้นที่แล้ว

 

เริ่มต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2556 เพียงไม่ถึงสัปดาห์ก็เกิดเหตุรุนแรงในชายแดนใต้ถึง 7 ครั้ง มีคนตายไปถึง 11 คน โดยมีเหตุการณ์สำคัญ 3 เหตุการณ์ หนึ่งในนั้นคือ เหตุคนร้ายใช้อาวุธสงครามยิงถล่มใส่รถกระบะของนายพิศาล อาแว นายอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี ในช่วงเย็นของวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2556 แต่นายพิศาลพร้อมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดนที่นั่งมาด้วยไม่ได้รับอันตราย เนื่องจากเป็นรถกันกระสุน เหตุเกิดบนถนนสาย 4061 บ้านจาแบปะ หมู่ที่ 4 ตำบลระแว้ง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี

ทำไมนายอำเภอมุสลิม ซึ่งมีพื้นเพดั้งเดิมเป็นคนในพื้นที่จึงต้องถูกตามยิง หลังเกิดเหตุ ผู้สื่อข่าวมีโอกาสได้สัมภาษณ์นายพิศาลในช่วงที่มีผู้คนจากที่ต่างๆเดินทางมาเยี่ยมให้กำลังใจอย่างเป็นระยะ แม้เจ้าตัวยังมีสีหน้าที่เป็นกังวลอยู่ก็ตาม
 

ชีวิตเฉียดคมกระสุนและแรงระเบิด
 
พิศาลเล่าว่า เหตุการณ์นี้เป็นครั้งที่ 2 แล้วสำหรับเขา เพราะเมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2551 เคยเกิดเหตุคนร้ายลอบวางระเบิดนายอำเภอมายอขณะทำพิธีปล่อยปลาในพื้นที่ตำบลกระเสาะ อำเภอมายอ มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บาดเจ็บสาหัสอีก 2 ราย ซึ่งขณะนั้นพิศาลอยู่ในเหตุการณ์ด้วยแต่ไม่ได้รับอันตราย ทั้งที่อยู่ห่างจากนายอำเภอมายอประมาณ 1 เมตรเท่านั้น
“ขณะนั้น ผมมีตำแหน่งเป็นจ่าจังหวัดปัตตานี ก่อนจะมาเป็นรักษาการนายอำเภอมายอ หลังจากนายอำเภอคนเดิมได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้
 
เหตุการณ์ครั้งล่าสุดก็เกิดขึ้นในวันที่ 4 กุมภาพันธ์เช่นกัน ซึ่งไม่รู้ว่าเกี่ยวข้องอะไรหรือไม่ แต่เชื่อว่าคนร้ายคงต้องการทำร้ายผมมาหลายครั้งแล้ว”
 
พิศาล บอกว่า การป้องกันตัวนั้น คิดว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากตนเองต้องลงพื้นที่เป็นประจำ เช่น ลงไปเยี่ยมครู เยี่ยมเจ้าหน้าที่โครงการต่างๆ ในพื้นที่ แต่ก็ไม่ประมาท และไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นกับตัวเองอย่างจังแบบนี้
 
“คิดว่าคนร้ายต้องการก่อเหตุกับบุคคลระดับสูงในพื้นที่ เพราะถ้าทำได้ก็จะทำให้คนในพื้นที่สูญเสียกำลังใจ ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ของเขาที่ต้องสร้างความสูญเสียและเป็นเรื่องยากมากที่จะไปเปลี่ยนความคิดของเขาได้ในเวลาสั้นๆ”
 
หลังเกิดเหตุ มีผู้ใหญ่มาให้กำลังใจเยอะ แต่ยังไม่มีคำสั่งอะไรจากต้นสังกัด ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการหลังจากนี้
แม้อำเภอมายอมีสถิติเกิดเหตุไม่สงบบ่อยครั้ง แต่พิศาล ระบุสั้นๆว่า ยังเข้าถึงได้ทุกที่ บางพื้นที่มีความเข้มแข็งมาก มีเพียงบางจุดที่ยังไม่เข้มแข็ง
 
 
“สู้มาตลอด มุ่งพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชน”
 
พิศาล เล่าว่า ที่ผ่านมางานด้านมวลชนสัมพันธ์ในพื้นที่ของอำเภอมายอได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เช่น การจัดงานวันเด็กที่แต่ละปีมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ โดยดึงทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน การเมืองท้องถิ่น ทั้งองศ์การบริหารส่วนตำบล(อบต.) และเทศบาล มาร่วมกันจัดงาน ดังนั้นแต่ละปีจึงมีเด็กมาร่วมงานจำนวนมาก
นอกจากนี้ ยังเน้นเรื่องการฟื้นฟูนาร้าง เนื่องจากในอำเภอมายอ มีพื้นที่นาร้างประมาณ 1,000 ไร่ อยู่ในตำบลกระหวะ ตำบลสะกำและตำบลถนน ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2553
 
ในปี 2554 ที่ผ่านมา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้(ศอ.บต.) 1,000,000 บาท นำมาใช้ขุดคลองระบายน้ำออกจากพื้นที่นาร้างและกำจัดวัชพืช โดยให้ทหารช่างมาดำเนินการ ขณะนี้สามารถทำนาในพื้นที่นาร้างได้แล้ว 400-500 ไร่
 
ที่ผ่านมา ทางอำเภอได้ส่งประชาชนในพื้นที่เดินทางไปเรียนรู้การทำนาที่ศูนย์เรียนรู้หมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี จำนวน 63 คน และจะมีครูชาวนามาช่วยฟื้นฟูนาร้างในอำเภอมายอด้วย หลังจากเกิดเหตุร้ายกับครูชาวนาที่อำเภอยะหริ่ง ทางเจ้าหน้าที่ก็ต้องเข้าไปดูแลมากขึ้น
 
พิศาลระบุว่า การฟื้นฟูนาร้างเป็นเรื่องที่ตนเน้นมาก เพราะจะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ได้
“ผมอยู่ที่นี่มานาน ผมสู้มาตลอด โดยเฉพาะการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่ แต่เนื่องจากในพื้นที่นี้มีมิติของความมั่นคง ทำให้ต้องให้เวลากับงานด้านความมั่นคงมาก จึงไม่มีเวลาให้กับมิติด้านการพัฒนามากนัก เช่น ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลครู โรงเรียน เป็นต้น รวมทั้งต้องดูแลอาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ของอำเภอ”
 
พิศาล ยังบอกด้วยว่า ในอนาคตคนมุสลิมจะมีโอกาสดำรงตำแหน่งระดับสูงในพื้นที่มากขึ้น เช่น นายอำเภอและผู้ว่าราชการจังหวัด เพราะข้าราชการคนเก่าๆ และคนนอกพื้นที่จะขยับออกไปจำนวนมาก คนในพื้นที่จะเข้ามาแทนที่ แต่ก็ไม่ใช่ว่า การที่จะขึ้นมาอยู่ในตำแหน่งระดับนี้ได้มาจากความเป็นมุสลิมหรือมีจุดขายอยู่ที่ความเป็นมุสลิม
 
“คนที่จะขึ้นมาระดับนี้ได้ มันต้องมีความสามารถ เพราะตำแหน่งระดับนี้มีการแข่งขันกันสูง ไม่เกี่ยวกับความเป็นมุสลิมหรือไม่”
“แม้ผมไม่ได้เรียนปอเนาะมาก่อน แต่ก็มีโอกาสได้เรียนรู้ศาสนา ก็ต้องการที่จะรับราชการในพื้นที่ อยากได้ยินเสียงอาซานทุกวัน ซึ่งหากอยู่ในบรรยากาศอย่างนี้ เราก็จะไม่ไปทำในสิ่งที่ผิดหลักศาสนา”
 
 
“มันเกินความสามารถของพื้นที่ไปแล้ว”
 
ถามว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่จะแก้ไขอย่างไร พิศาล ระบุว่า “ข้าราชการเล็กๆ อย่างผมก็คงทำอะไรได้ไม่มากแล้ว เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นมันเกินความสามารถของพื้นที่ไปแล้ว ปัญหานี้มันเกิดมา 9 ปีแล้วหน่วยงานในพื้นที่ก็ยังแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะมันเป็นเรื่องทางการเมืองที่ต้องแก้ด้วยการเมือง”
“เรื่องเจรจาเพื่อหาทางออก ผมคิดว่าก็เป็นเรื่องของฝ่ายการเมือง ข้าราชการประจำทำอะไรไม่ได้ ต้องปฏิบัติตามฝ่ายการเมือง”
พิศาล ยังแสดงความเห็นในเรื่องการประกาศเคอร์ฟิว(การห้ามออกนอกเคหะสถาน)ในพื้นที่ด้วยว่า ไม่น่าจะต้องไปกังวลมากนัก เพราะตลอด 9 ปีที่ผ่านมา คนก็ไม่ออกจากบ้านในเวลากลางคืนอยู่แล้ว และประชาชนก็รู้ว่าควรจะปรับตัวอย่างไร 
“ถึงจะการประกาศหรือไม่ประกาศเคอร์ฟิว ประชาชนก็สามารถใช้ชีวิตตามปกติอย่างที่เคยเป็นอยู่มาตลอดอยู่แล้ว แต่การประกาศเคอร์ฟิวอาจมีเหตุผลที่เจ้าหน้าที่จะเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการปิดล้อม ตรวจค้นมากกว่า”

 
นายอำเภอมุสลิมลูกหลานคนชายแดนใต้
 
นายพิศาล อาแว ดั้งเดิมเป็นคนย่านตลาดเก่า เขตเทศบาลนครยะลา จบมัธยมศึกษาจากโรงเรียนคณะราษฎรบำรุง อำเภอเมือง จังหวัดยะลา จบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เริ่มเข้ารับราชการในปี 2522 ส่วนใหญ่รับราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
วันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2551 รักษาการแทนนายอำเภอมายอ (ตำแห่นงขณะนั้นเป็นจ่าจังหวัด) จากนั้นวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 ขึ้นเป็นนายอำเภอมายอครั้งแรก ต่อมาวันที่ 18 พฤษภาคม 2554 ย้ายไปเป็นนายอำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี และวันที่ 13 ธันวาคม 2554 กลับมาเป็นนายอำเภอมายออีกครั้งจนถึงปัจจุบัน โดยมีอายุราชการอีก 2 ปี

 
แนวโน้มแรงขึ้น สถิติไม่สงบในอำเภอมายอ
 
อำเภอมายอ ตั้งอยู่ทางตอนกลางของจังหวัดปัตตานี มีพื้นที่ 216.1ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับอำเภอยะหริ่ง อำเภอปะนาเระ อำเภอสายบุรี อำเภอทุ่งยางแดง และอำเภอยะรัง ซึ่งทุกอำเภอล้วนแต่มีข่าวเกี่ยวกับเหตุไม่สงบมาตลอดเช่นกัน โดยมี 13 ตำบล 59 หมู่บ้าน มีจำนวนประชากรประมาณ 54,000 คน ความหนาแน่น 521.5 คนต่อตารางกิโลเมตร
จากการรวบรวมสถิติเหตุการณ์ไม่สงบที่เกิดขึ้นในเขตพื้นที่อำเภอมายอ ของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ตั้งแต่ ปี 2547-2556 ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556 พบว่า มีทั้งหมด 262 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิตรวม 124 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุด คือ 50 คน รองลงมาเป็นทหารและลูกจ้างของรัฐอย่างละ 15 คน มีผู้บาดเจ็บรวม 140 คน โดยเป็นชาวบ้านมากที่สุดถึง 66 คน รองลงมาคือทหาร 32 คน ตำรวจ 22 คน
 
จากสถิติพบว่า ในปี 2555 มีเหตุร้ายเกิดขึ้นมากกว่าปี 2554 ถึง 3 เท่า โดยมีเหตุการณ์สำคัญๆ เช่น เหตุการณ์กลุ่มคนร้ายขับรถยนต์กระบะ 3 คันประกบยิงทหารเสียชีวิต 4 ราย ซึ่งกล้องวงจรปิดเก็บภาพไว้ได้ จนเป็นข่าวโด่งดังมาแล้ว และเหตุการณ์คนร้ายบุกเข้าไปยิงครูในโรงเรียนบ้านบาโง ตำบลปานัน เสียชีวิต 2 คน หนึ่งในนั้นเป็นผู้อำนวยการของโรงเรียน จากนั้นผ่านไปเพียงเดือนเศษของปี 2556 ก็มีเหตุร้ายเกิดขึ้นแล้ว 5 ครั้ง
ส่วนเหตุคนร้ายยิงถล่มนายพิศาล แม้จะเกิดขึ้นในพื้นที่อำเภอยะรัง แต่ก็เป็นพื้นที่ต่อเนื่องกับอำเภอมายอและไม่ไกลจากที่ว่าการอำเภอมายอมากนัก
 

  สถิติเหตุไม่สงบในอำเภอมายอ จังหวัดปัตตานี (ข้อมูล ณ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2556) ดังนี้

ปีที่เกิดเหตุ

2547

2548

2549

2550

2551

2552

2553

2554

2555

2556

รวม

จำนวนเหตุการณ์

31

54

40

26

24

25

35

13

39

5

292

เสียชีวิต

5

19

15

12

13

11

20

10

17

2

124

บาดเจ็บ

5

17

12

20

21

12

10

24

17

2

140

 

 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net