นิธิ เอียวศรีวงศ์: พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร

ในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเร็วๆ นี้ คนหนุ่มสาวกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่ง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นนักศึกษาของมหาวิทยาลัยแห่งนั้น บางคนสวมครุยปริญญา บางคนแต่งตัวปกติ แต่ทุกคนสวมหน้ากากของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ต่างเดินปะปนไปกับเหล่าบัณฑิตใหม่ที่พากันถ่ายรูปเป็นที่ระลึกในบริเวณมหาวิทยาลัย บางคนตั้งกลุ่มล้อมบัณฑิตใหม่ซึ่งเป็นเพื่อนกัน แล้วร้องเพลงเชียร์พร้อมทั้งเต้นไปด้วย

ในทางศิลปะ คงจะเรียกการแสดงชุดนี้ว่าเป็น Happening Art เพราะเหล่าบัณฑิตใหม่และนักศึกษาจำนวนมากไม่รู้ว่าพวกเขากำลังทำอะไร และใบหน้าบนหน้ากากคือใคร ครั้นได้คำตอบจากผู้แสดงว่าคือคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็ไม่มีใครเข้าใจว่า คุณสมยศคือใคร ครั้นได้รับคำชี้แจงว่า เขาคือผู้ต้องโทษตามคำพิพากษาให้จำคุก 11 ปี ในความผิดตาม ม.112 ของกฎหมายอาญา หลายคนอุทานว่า อ๋อ พวกเสื้อแดง แล้วก็ไม่ใส่ใจอะไรต่อไป

นี่ย่อมสะท้อนคุณภาพการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยของประเทศ ไม่เฉพาะแต่ของมหาวิทยาลัยแห่งนี้เท่านั้น เพราะมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยชั้นต้นๆ ของประเทศ จากการสำรวจคุณภาพมหาวิทยาลัยรัฐซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สกว. ภาควิชาต่างๆ หลายภาควิชาของมหาวิทยาลัยแห่งนี้ติดอันดับไม่เคยต่ำกว่าที่ 4 จากหลายสิบมหาวิทยาลัยของรัฐ

ในเวลาต่อมาก็มีผู้เขียนบัตรสนเท่ห์ กล่าวหาอาจารย์ท่านหนึ่งว่าอยู่เบื้องหลังการแสดงนี้ รวมทั้งวินิจฉัยว่าการแสดงนี้เป็นการหมิ่นสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ซึ่งเป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตรแทนพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงเรียกร้องให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยลงโทษอาจารย์ท่านนั้น เพื่อรักษาเกียรติของมหาวิทยาลัย

นี่เป็นเรื่องน่าเศร้าในสังคมไทย ซึ่งดำเนินสืบเนื่องมาหลายปีแล้ว แต่เมื่อผมคิดถึงพิธีพระราชทานปริญญาบัตร ก็พบว่า บางทีเรื่องเศร้านี้มีความซับซ้อนในตัวเองมากกว่าความไร้ขันติธรรมของคนไทยบางกลุ่ม

ผู้นำในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้เห็นมานานแล้วว่า การศึกษาระดับสูงซึ่งริเริ่มขึ้นในสมัยนั้น กำลังจะผลิตปัญญาชนซึ่งอาจมีความคิดอิสระของตนเอง และความคิดนั้นอาจไม่สอดคล้องกับระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ได้ ร.6 จึงทรงเห็นชอบกับผู้บริหารของโรงเรียนข้าราชการพลเรือน (ซึ่งจะแปรมาเป็นจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา) ที่จะรับนักเรียนชั้นปลายๆ ของโรงเรียนมาทำหน้าที่มหาดเล็กในราชสำนักช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะสำเร็จการศึกษาออกไป เพื่อให้รู้จัก "ผู้ใหญ่" ในวงราชการ และได้มีโอกาสรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างใกล้ชิดสักช่วงหนึ่ง อันจะก่อให้เกิดความจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์อย่างแน่นแฟ้น

แม้ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ถูกยกเลิกไปในวันที่ 24 มิถุนายน 2475 แต่ผู้ได้รับปริญญาบัตรจากมหาวิทยาลัยที่เกิดขึ้นใหม่ ก็ได้เข้าเฝ้าฯพระเจ้าอยู่หัว (หรือผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์) ในพิธีรับปริญญาสืบต่อมาอย่างมั่นคง แม้ว่าหลังนโยบายพัฒนา ทำให้ประเทศไทยมีมหาวิทยาลัยเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างไม่หยุดยั้ง กลายเป็นพระราชภารกิจที่หนักต่อ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จึงได้โปรดให้เจ้านายชั้นผู้ใหญ่เสด็จแทนพระองค์เป็นผู้พระราชทานปริญญาบัตร ฉะนั้นจึงถือได้ว่าบัณฑิตที่เข้ารับพระราชทานปริญญาทุกคนได้เข้าเฝ้าพระมหากษัตริย์เหมือนๆ กัน

สิ่งที่ขาดไม่ได้ในพิธีพระราชทานปริญญาบัตรก็คือพระบรมราโชวาท ทำไมจึงต้องเป็นพระบรมราโชวาท ไม่ใช่พระราชปราศรัยธรรมดา (ปราศรัยแปลว่าพูดระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย) ก็เพราะเมื่อนักเรียนโรงเรียนข้าราชการพลเรือนจะสำเร็จการศึกษา เพื่อเข้าปฏิบัติงานเป็นข้าราชการ พระเจ้าอยู่หัวในฐานะประธานของฝ่ายบริหารสูงสุดของราชการ ย่อมต้องพระราชทานพระบรมราโชวาทแก่ "ข้าราชการ" ใหม่เป็นธรรมดา

เป็นที่ปลาบปลื้มแก่บัณฑิตใหม่ ถือเป็นวันสำคัญในชีวิตที่จะต้องบันทึกภาพของตนไว้ประดับบ้านเรือนสืบไป ในสมัยก่อนเมื่อพระเจ้าอยู่หัวไม่ได้เสด็จออกทรงเยี่ยมเยือนราษฎรอย่างกว้างขวางเช่นรัชกาลปัจจุบัน การที่ราษฎรได้มีโอกาสเข้าเฝ้าใกล้ชิดอย่างในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร ไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆ ฉะนั้นตัวพิธีและรูปภาพจึงเป็นคำประกาศที่ชัดเจนว่า บัณฑิตเป็นคนอีก "ชนชั้น" หนึ่ง ที่แตกต่างจากคนทั่วไปเนื่องจากสำเร็จการศึกษาระดับสูงซึ่งประชาชนทั่วไปไม่มีโอกาส

ความหมายที่แท้จริงของพิธีพระราชทานปริญญาบัตรคือคำประกาศดังกล่าว แน่นอนความหมายดังกล่าวนี้จะเป็นที่ประจักษ์ชัดได้ก็คือการเสด็จฯของพระเจ้าอยู่หัวหรือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ซึ่งปฏิบัติงานแทนพระองค์ หากจะมีกิจกรรมอื่นใดแทรกซ้อนเข้ามา ก็ต้องไม่ทำลายความหมายหลักของวันนี้ เช่น การให้ดอกไม้ช่อใหญ่, การแต่งหน้าและผม, การถ่ายรูปที่ระลึกกับครูบาอาจารย์หรือสถานที่สำคัญในมหาวิทยาลัย, การชุมนุมญาติมิตรอย่างใหญ่เพื่อเลี้ยงฉลองในตอนเย็น ฯลฯ ทำได้เลย เพราะไม่กระทบต่อความหมายหลัก

ปราศจากความหมายหลักดังกล่าวนี้แล้ว เราจะไม่มีทางเข้าใจความคร่ำเคร่งในการซ้อม, และค่าใช้จ่ายสูงและเวลาที่บัณฑิตต้องเสียไปในการนี้ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยที่ตั้งในต่างจังหวัด เช่น มช.

ผมเคยเข้าใจผิดมาเป็นนานว่า คนจบเป็นบัณฑิตแล้ว จะต้องซ้อมอะไรกันนักหนา มีจุดหมายเลข 1-2-3 บนพื้นเวที บอกให้รู้ว่า เมื่อเหยียบแต่ละจุดแล้วต้องถวายคำนับอย่างไร บอกกันหนเดียวก็น่าจะรู้เรื่องแล้ว เพิ่งมาเข้าใจในภายหลังว่า การซ้อมอย่างเอาเป็นเอาตายเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน และดังที่รู้กันอยู่แล้วว่า พิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน-ไม่ว่าของชนป่าเถื่อนหรือชนอารยะ ไม่ได้เป็นแค่เปลี่ยนสถานะของวัยเท่านั้น แต่เป็นการเปลี่ยนผ่านสถานะทางสังคมด้วย... มันไม่ใช่แค่ธรรมเนียมการเข้าเฝ้า

ดังนั้น เมื่อวิเคราะห์พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรตามแนวของพิธีกรรมเปลี่ยนผ่าน เราก็อาจมองเห็นได้ว่า พิธีกรรมนี้ได้ให้การเรียนรู้อะไรแก่บัณฑิตใหม่ไทย หรือกลับกันสังคมไทยต้องการสอนและตอกย้ำอะไรแก่คนที่กำลังจะเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ชนชั้นนำทางสังคม

ผมควรกล่าวด้วยว่า พิธีกรรมเปลี่ยนผ่านในทุกวัฒนธรรม ล้วนเป็นการฝึกทักษะที่จำเป็นในชีวิตของผู้ใหญ่ และ/หรือให้ความรู้ที่เหมาะกับผู้ใหญ่ และ/หรือตอกย้ำค่านิยมที่ผู้ใหญ่ควรเคารพในวัฒนธรรมนั้นๆ

โดยอาศัยแนวเทียบเช่นนี้ เท่าที่ผมมองเห็นในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตรของไทยก็คือ ตอกย้ำให้บัณฑิตใหม่ตระหนักถึงความเป็นช่วงชั้นของสังคม นอกจากตนเองได้ก้าวเข้าสู่ช่วงชั้นที่สูงขึ้นอันเป็นผลจากการที่สำเร็จการศึกษาแล้ว ยังสำนึกได้ดีว่า ในสังคมวงกว้างยังมีช่วงชั้นอื่นๆ ที่สูงกว่าตน นับตั้งแต่อาจารย์ที่สวมครุยหลากสีจากมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นายกสภามหาวิทยาลัย ซึ่งได้กราบบังคมทูลก่อนใครเหมือนคนใหญ่สุดของมหาวิทยาลัยซึ่งไม่เคยมีใครเห็นมาก่อนเลย (มีอำนาจที่ใหญ่กว่าอยู่เบื้องหลังอำนาจที่เราเผชิญอยู่เสมอ) ตลอดขึ้นไปถึงองค์ประธานของพิธี ซึ่งคือเจ้านายชั้นผู้ใหญ่เป็นอย่างน้อยเสมอ

พิธีรับพระราชทานปริญญายังสอนให้บัณฑิตรู้จักทักษะสำคัญในสังคมไทย นั่นคือการทำตัวให้ลงรูปลงรอย (conform) กับเงื่อนไขทางสังคมอย่างไม่ต้องตั้งคำถาม คำสอนทั้งสองนี้ได้จากการเตรียมการฝึกซ้อมอย่างเคร่งเครียด มาจนถึงชุดเสื้อครุยและการแต่งกายให้ถูกต้อง (ทั้งๆ ที่ไม่มีใครมองเห็น เพราะเสื้อครุยปิดทับไว้) ในขณะเดียวกันก็ตอกย้ำความเป็นเอกภาพน้ำหนึ่งใจเดียวกัน (solidarity) ของเมเจอร์, ของรุ่น, ของสถาบัน... และของชนชั้นตนเอง เพราะต่างก็สวมชุดรับปริญญาเตร็ดเตร่ออกไปนอกบริเวณงานด้วย สร้างความแตกต่างอย่างชัดเจนจากประชาชนทั่วไป

จึงไม่มีพื้นที่เหลือให้แก่หน้ากากของคุณสมยศ พฤกษาเกษมสุข ในวันรับพระราชทานปริญญาที่ตรงไหนเลย

เปรียบเทียบกับพิธีรับปริญญาซึ่งเป็นพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านอีกอย่างหนึ่งของวัฒนธรรมอเมริกัน สาระสำคัญของพิธีกรรมอเมริกัน แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากพิธีกรรมไทย

การให้ปริญญากระทำกันในเชิงสัญลักษณ์โดยอธิการบดี หรือนายกสภามหาวิทยาลัยในฐานะ "เจ้าหน้าที่" ของมหาวิทยาลัย ผู้มีศักดิ์สูงสุดในพิธีกรรมคือหมอผีประจำมหาวิทยาลัย อุ๊บส์ขอโทษ อาจารย์ของมหาวิทยาลัย ซึ่งจะเดินเข้าแถวตามคทาของ "คณาจารย์" เข้าสู่ห้องประชุมอย่างเคร่งขรึม และทุกคนในห้องประชุมต้องลุกขึ้นยืนให้แก่คทาดังกล่าว ในบางมหาวิทยาลัย เพลง Academic Festival ของ Johanne Brahms จะดังขึ้นในตอนนี้ คทานี้เป็นตัวแทนอำนาจของคณาจารย์ และอำนาจดังกล่าวนั้นประกอบด้วยเสรีภาพทางวิชาการ และความซื่อสัตย์ทางปัญญา

พิธีกรรมนี้สอนอะไร คงไม่ต้องพูด

จุดเด่นสุดของพิธีรับปริญญาคือแขกรับเชิญซึ่งจะแสดงปาฐกถาแก่บัณฑิต แขกผู้มีเกียรติคนดังกล่าวอาจเป็นนักการเมือง, อดีตผู้บริหารรัฐ, ประธานาธิบดี หรือรัฐมนตรีต่างประเทศ, ผู้ได้รับรางวัลโนเบล, หรือนักวิชาการที่มีชื่อเสียงระดับโลก เนื้อหาของปาฐกถาของคนดังเหล่านี้ บางครั้งก็ได้รับการรายงานแม้ในสื่อที่ชาวบ้านทั่วไปรับเช่นหนังสือพิมพ์และทีวี

ทำไมจึงต้องเป็นบุคคลประเภทนี้ เหตุผลก็เพราะเขาคือบุคคลที่รู้จักโลกและชีวิตอย่างดี ไม่ว่าเราจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยกับความคิดของเขา ก็ปฏิเสธความจริงข้อนี้ไม่ได้ และโลกนอกมหาวิทยาลัยนั้นมีความหลากหลายและซับซ้อนกว่าวิชาที่เรียนในมหาวิทยาลัยเป็นอันมาก ปาฐกถาคือส่วนเสี้ยวเล็กๆ ของความเป็นจริงในโลกข้างนอก ซึ่งบัณฑิตจะต้องเผชิญเมื่อจบออกไปแล้ว เขาจะต้องไม่เผชิญมันอย่างทื่อๆ (เช่น อ๋อ พวกเสื้อแดง) คือไม่รับคำตอบสำเร็จรูปใดๆ มายึดถือโดยไม่ต้องซักไซ้ค้นหา ความเป็นจริงในโลกข้างนอกนั้นหลากหลายมิติและซับซ้อน ผู้ที่ได้ชื่อว่าบัณฑิตจะต้องเผชิญมันทั้งในแง่จัดตัวเองให้ลงรูปลงรอย และทั้งในแง่ค้นหาท้าทายเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน

เมื่อเปรียบเทียบพิธีกรรมเปลี่ยนผ่านของทั้งสองวัฒนธรรมแล้ว ทั้งหน้ากากคุณสมยศ และตัวคุณสมยศ ย่อมไม่มีพื้นที่ใดๆ ในพิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร หรือแม้แต่ในสังคมไทยเลย

 

 

ที่มา: มติชนออนไลน์  นิธิ เอียวศรีวงศ์ : พิธีรับพระราชทานปริญญาบัตร

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท