Skip to main content
sharethis

11 กุมภาพันธ์ 2556 - นายคณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ลงนามในหนังสือบันทึกความเห็นและข้อสังเกตต่อร่างกฎหมาย 2 ฉบับ คือ ร่างพ.ร.บ.กองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. ... และ  ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ.... เพื่อเสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร

โดยร่างกฎหมายฉบับแรก คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย ได้ศึกษาและพิจารณาร่าง พ.ร.บ.กองทุนพัฒนาสื่อฯ ทั้ง 4 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ฉบับคณะรัฐมนตรี 2.ฉบับนางผุสดี ตามไท กับคณะ 3.ฉบับนางสุนทรี ชัยวิรัตนะ กับคณะ และ4.ฉบับนางสาวเข็มพร วิรุณราพันธ์กับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 12,046 คน จากการศึกษา คปก.ได้ตั้งข้อสังเกตแบ่งเป็น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่ 1.กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ซึ่งเห็นว่า วัตถุประสงค์ของกองทุนควรครอบคลุมปัจจัยในการพัฒนาและเผยแพร่สื่อที่มีคุณภาพ ประกอบด้วย การผลิตและการใช้สื่อเพื่อการเรียนรู้ของสังคม การพัฒนาศักยภาพของผู้ผลิตสื่อ การส่งเสริมทักษะการเรียนรู้เท่าทันสื่อของเด็ก เยาวชนและประชาชน และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกระดับ ด้านที่มาของเงินในกองทุนฯ เห็นควรให้จัดสรรเงินแก่กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยฯ โดยกำหนดสัดส่วนที่แน่นอนของเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเป็นประจำทุกปี เพื่อความมั่นคงและต่อเนื่องของการดำเนินการตามภารกิจของกองทุนอย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้คปก.มีความเห็นว่าแนวทางการตรากฎหมายโดยการกำหนดให้กิจการขององค์กรตามกฎหมายจัดตั้งองค์กรนั้นๆ ไม่อยู่ในบังคับของกฎหมายคุ้มครองแรงงาน กฎหมายแรงงานสัมพันธ์และกฎหมายกองทุนเงินทดแทนนั้นจะทำให้องค์กรต่างๆตามกฎหมายนั้นไม่อยู่ในมาตรฐานขั้นต่ำในการคุ้มครองสิทธิ และหน้าที่ตามกฎหมาย จึงไม่ควรบัญญัติไว้ในลักษณะดังกล่าว และอาจจะขัดต่อรัฐธรรมนูญอีกด้วย

2. คปก.เห็นด้วยกับอำนาจหน้าที่ของคณะกรมการกองทุนฯ ในการออกข้อบังคับว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการสร้างความมีส่วนร่วมของประชาชน โดยให้คำนึงถึงการสร้างความยั่งยืนให้กับผู้รับการสนับสนุนและความเท่าเทียมเป็นธรรมของการเข้าถึงการสนับสนุนจากกองทุนของคนด้อยโอกาสในกลุ่มต่างๆ

กรณีรองประธานกรรมการกองทุนฯ คปก.พิจารณาแล้วมีความเห็นว่า คณะกรรมการกองทุนฯจะเป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายหลักเกี่ยวกับการพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ นอกจากการมีองค์ประกอบให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และให้มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรมเป็นรองประธาน คปก.เห็นด้วยกับการเสนอให้มีรองประธานอีกตำแหน่งหนึ่งที่มาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกองทุนฯ

 3.การกำหนดให้มีกลไกการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ชัดเจน คปก.เห็นควรให้มีสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติ และสภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ (มาตรา 33 ถึง มาตรา 39) เพื่อเป็นกลไกเสนอนโยบายในการจัดทำข้อเสนอและนโยบาย รวมทั้งทำหน้าที่ตรวจสอบเกี่ยวกับงานสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นช่องทางสำคัญที่ให้คนทั่วไปตรวจสอบการบริหารงานของกองทุน การมีส่วนร่วม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และเสนอแนะต่อทิศทางการบริหารจัดการและการดำเนินงานของกองทุน อย่างไรก็ตาม  รูปแบบการทำงานของสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ฯ และสภาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ไม่ควรมีความซับซ้อนและควรให้คณะกรรมการกองทุนฯ นำรายงานและข้อเสนอที่ได้จากการจัดสมัชชาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์แห่งชาติประจำปีมาพิจารณาในการให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานประจำปี แผนการเงินและงบประมาณประจำปีของกองทุนด้วย

วันเดียวกัน นายคณิต ณ นคร ประธานคณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย (คปก.) ยังได้ลงนามในหนังสือ เรื่อง ร่างพ.ร.บ.องค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. .... เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานวุฒิสภา และประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้พิจารณาเร่งรัดการตราร่างพ.ร.บ.นี้ โดยไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นกระบวนการรับฟังความคิดเห็นและยกร่างกฎหมายฉบับใหม่ขึ้นอีก เพื่อเป็นหลักประกันในด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนตามนโยบายของรัฐบาลที่แถลงไว้ต่อรัฐสภาและเป็นไปตามแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าวของรัฐบาล

เพื่อให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕๐ มาตรา 67 วรรคสอง ประกอบกับคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ได้มีหนังสือที่ กป.อพช 014/2555 ลงวันที่ 29 มีนาคม 2555 ถึง ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย เรื่อง การเข้าชื่อเสนอกฎหมายภาคประชาชนร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ พ.ศ. .... เพื่อให้คปก.พิจารณาให้ความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว ซึ่ง คปก.ศึกษาแล้ว เห็นว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้ ได้รับการพิจารณาเพื่อตราเป็นกฎหมายมานานกว่า 15 ปี อันถือเป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลในการอนุญาตหรืออนุมัติโครงการของผู้ประกอบการ ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการลงทุนและภาคอุตสาหกรรมตลอดจนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากไม่มีมาตรการในการคุ้มครองเพียงพอที่อาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพของประชาชนอย่างรุนแรงได้

อนึ่ง การพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้มีการดำเนินการจากหลายภาคส่วนมาโดยลำดับ กล่าวคือ

1.ผ่านความเห็นชอบจากสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 22 และวุฒิสภามีมติรับร่างพ.ร.บ. ต่อมาเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2554 มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร แต่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันไม่ได้เสนอให้รับรองร่างพ.ร.บ.ฯ ดังกล่าว เพื่อให้ได้รับการพิจารณาต่อจึงเป็นอันตกไป

2.เป็นกฎหมายสำคัญที่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และนโยบายของคณะรัฐมนตรีที่นายกรัฐมนตรีแถลงต่อรัฐสภา ซึ่งปรากฏในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรี ข้อ 5.3 ว่าด้วยการดูแลรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม และเร่งรัดการควบคุมมลพิษ นอกจากนี้ ยังเป็นกฎหมายที่อยู่ในแผนการตรากฎหมายที่จำเป็นต่อการดำเนินการตามนโยบายและแผนการบริหารราชการแผ่นดิน 2555 ถึง 2558 หรือแผนนิติบัญญัติของคณะรัฐมนตรีด้วย

3.กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 14 หน่วยงาน เข้าร่วมประชุมพิจารณาร่างพ.ร.บ.นี้ ซึ่งที่ประชุมคณะทำงานยกร่างพ.ร.บ.ได้มีมติให้คงเนื้อหาเดิมที่ผ่านความเห็นชอบของสภาผู้แทนราษฎรแล้วและมีการแก้ไขจำนวน 6 มาตรา ดังนั้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจึงมีหนังสือถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อเสนอร่างพ.ร.บ.ฯ ต่อคณะรัฐมนตรีพิจารณา เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2555 แต่ต่อมาสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีมีหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 20 กันยายน 2555 ให้พิจารณาทบทวนแนวทางของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวเพื่อให้สอดคล้องกับความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา(คณะ 7) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

4.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวน 11,219 คน ได้ร่วมกันเข้าชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติองค์การอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ พ.ศ. .... ต่อสภาผู้แทนราษฎรตามมาตรา 163 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 และสภาผู้แทนราษฎรได้ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาให้คำรับรองของนายกรัฐมนตรี ตามมาตรา 142 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เนื่องจากเป็น การเสนอร่างพระราชบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการเงิน

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net