สถานการณ์แรงงานประจำสัปดาห์ 5-11 ก.พ. 2556

 

สปส.เล็งแก้หลักเกณฑ์ เก็บเงินสมทบแบบใหม่

วันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่กระทรวงแรงงาน นายสง่า ธนสงวนวงศ์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ตนได้เรียกผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม (สปส.) มาสอบถามถึงระเบียบในการเรียกเก็บเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ ประกันตน เนื่องจากพบว่า การเก็บเงินสมทบในปัจจุบัน ไม่ได้มีการแยกเงินเดือนกับสวัสดิการออกจากกัน เพื่อคำนวณเงินสมทบ ซึ่งส่งผลให้ทั้งผู้ประกอบการและผู้ประกันตนมาตรา 33 ต้องส่งเงินสมทบสูงกว่าอัตราที่กำหนดของอัตราเงินเดือน เช่น เงินเดือน 13,000 บาท นายจ้างจ่ายสวัสดิการเพิ่มอีก 2,000 บาท สปส.ก็นำรายได้ทั้ง 2 ส่วนมารวมกันเพื่อคำนวณอัตราเงินสมทบ ส่งผลให้ผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบอัตราร้อยละ 5 อยู่ที่ 750 บาทต่อเดือน แต่หากคิดเฉพาะเงินเดือน 13,000 บาท ผู้ประกันตนจะส่งเงินสมทบลดลง 100 บาท คือจ่าย 650 บาทต่อเดือน

นายสง่ากล่าวว่า ที่ผ่านมาศาลแรงงานกลางได้มีคำวินิจฉัยในเรื่องนี้ ว่า เงินเดือนกับสวัสดิการเป็นคนละส่วนกัน ไม่สามารถนำมาคำนวณอัตราเงินสมทบได้ ดังนั้น จึงมองว่าไม่เป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ซึ่งได้แนะนำให้ผู้บริหาร สปส.ไปปรับปรุงวิธีการเก็บเงินสมทบใหม่ แต่หากเกรงว่าจะขัดกับระเบียบ ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 ก็ควรมีการแก้ไขหลักเกณฑ์ในการเก็บเงินสมทบใหม่ เพื่อความเป็นธรรมกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง

(ประชาชาติธุรกิจ, 5-2-2556)

 

นายจ้างไม่เชื่อตัวเลขเลิกจ้างจากการปรับค่าแรง 300 บาท มีเพียง 1,400 คน

6 ก.พ. 56 - กรรมการค่าจ้างฝ่ายนายจ้าง ไม่เชื่อข้อมูลการถูกเลิกจ้างจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท ของ ก.แรงงาน ที่มีเพียง 1,400 คน อ้างยังมีสถานประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับประกัน สังคมอีกจำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ วอนรัฐตั้งกองทุนชดเชยส่วนต่าง

นายอาทิตย์ อิสโม รองปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ว่า ที่ประชุมได้หารือผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าจ้างใน 70 จังหวัด โดยกรรมการฝ่ายนายจ้างยังต้องการให้รัฐบาลตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานประกอบการโดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี ยังไม่สามารถเข้าถึงมาตรการช่วยเหลือ 15 มาตรการของรัฐบาล เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินกู้เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี

ขณะเดียวกัน เห็นว่าข้อมูลการเลิกจ้างของกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ที่ระบุว่า ในช่วงเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างเป็นวันละ 300 บาท ใน 70 จังหวัด มีสถานประกอบการ 13 แห่ง เลิกจ้างแรงงานกว่า 1,400 คน ยังไม่ใช่ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากในการหารือกันของภาคธุรกิจ มีข้อมูลว่าแรงงานโดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีถูกเลิกจ้างเป็นจำนวนมาก แต่บางส่วนไม่ได้ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ทำให้ไม่มีข้อมูลการเลิกจ้างในส่วนนี้

ทั้งนี้ ตนเองได้แจ้งต่อที่ประชุมไปว่า รัฐบาลได้ชี้แจงชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถจัดตั้งกองทุนจ่ายเงินชดเชยส่วนต่าง ค่าจ้างที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ โดยได้ตั้งคณะกรรมการพิจารณาให้ความช่วยเหลือธุรกิจเอสเอ็มอี ซึ่งมีนายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

ขณะเดียวกัน นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้จัดโครงการแรงงานสัญจรขึ้นในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคมนี้ โดยจะลงพื้นที่ไปยังจังหวัดต่างๆ โดยเฉพาะจังหวัดที่มีการปรับขึ้นค่าจ้างแบบก้าวกระโดด เช่น พะเยา ลำปาง น่าน ศรีสะเกษ เพื่อรวบรวมข้อมูลผลกระทบและความต้องการความช่วยเหลือของสถานประกอบการ โดยเฉพาะกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี มาเสนอรัฐบาลแก้ปัญหา

(สำนักข่าวไทย, 6-2-2556)

 

รัฐบาลยกเครื่องรักษาพยาบาล ขรก.ท้องถิ่น 15 หน่วยได้รับสิทธิ์

เมื่อวันที่ 6 ก.พ. น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงเพื่อให้บุคคลผู้มีสิทธิ์ตามระเบียบ กระทรวงมหาดไทยว่าด้วยการเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาลของพนักงาน ส่วนท้องถิ่น พ.ศ.2541 ใช้สิทธิ์รับบริการสาธารณสุขตามพระราชบัญญัติหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2545 หรือ "โครงการป่วยไข้ไม่ล้มละลาย" ณ ตึกสันติไมตรี (หลังใน) ทำเนียบรัฐบาล

โดยมอบหมายให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กระทรวงสาธารณสุข ลงนามร่วมกับ 15 หน่วยงาน อาทิ กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมพนักงานเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมราชการส่วนตำบลและเทศบาล สมาคมข้าราชการองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมลูกจ้างประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัด สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย สมาคมข้าราชการและพนักงานท้องถิ่นแห่งประเทศไทย สมาพันธ์ปลัดเทศบาลแห่งประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฯ ในการพัฒนาให้เกิดความคุ้มครองความมั่นคงสิทธิด้านการรักษาพยาบาลของข้า ราชการ-พนักงานส่วนท้องถิ่น และเห็นชอบในหลักการให้ข้าราชการ/พนักงานส่วนท้องถิ่น ได้รับสิทธิ์เช่นเดียวกับสวัสดิการรักษาพยาบาลของข้าราชการและสามารถเข้าถึง การรักษาได้

(บ้านเมือง, 7-2-2556)

 

รมว.แรงงาน สั่งเฝ้าระวังสถานประกอบการเสี่ยงเลิกจ้างจากค่าแรง 300 บาท รวม 33 แห่ง

7 ก.พ. 56 - รมว.แรงงาน สั่งเฝ้าระวังสถานประกอบการอีก 33 แห่ง เสี่ยงเลิกจ้าง หลังที่ผ่านมามีลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพราะการปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทแล้ว 483 คน

นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยข้อมูลของศูนย์สนับสนุนผู้ประกอบการ พร้อมจ่ายอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ กระทรวงแรงงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-4 กุมภาพันธ์ 2556 มีสถานประกอบการเลิกจ้างลูกจ้าง 35 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,881 คน เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 19 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างเพิ่มขึ้น 617 คน สถานประกอบการที่เลิกจ้างจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาท มี 18 แห่ง เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 7 แห่ง เป็นการเลิกจ้างบางส่วน 483 คน เพิ่มขึ้น 48 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างจากผลกระทบอื่น อาทิ วิกฤติเศรษฐกิจยุโรปมี 17 แห่ง เพิ่มขึ้น 8 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 1,398 คน ลูกจ้างเพิ่มขึ้น 800 คน แบ่งเป็นสถานประกอบการที่ปิดกิจการ 4 แห่ง เพิ่มขึ้น 1 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้าง 524 คน เพิ่มขึ้น 338 คน และสถานประกอบการเลิกจ้างบางส่วน 13 แห่ง เพิ่มขึ้น 7 แห่ง ลูกจ้างถูกเลิกจ้างรวม 874 คน เพิ่มขึ้นจากกลางเดือน 229 คน

นอกจากนี้ยังพบสถานประกอบการที่มีแนวโน้มเลิกจ้างอีก 33 แห่ง ลูกจ้างที่เกี่ยวข้อง 4,915 คน ส่วนใหญ่เป็นสถานประกอบการตัดเย็บเสื้อผ้าสำเร็จรูป แปรรูปอาหาร และผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และไฟฟ้า ในพื้นที่ภาคกลางมากที่สุด รองลงมาเป็นภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีผู้ใช้แรงงานไปขึ้นทะเบียนว่างงานกับกรมการจัดหางานตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม-6 กุมภาพันธ์ จำนวน 3,557 คน และตั้งแต่วันที่ 1-6 กุมภาพันธ์ 2556 มีลูกจ้างโทรเข้าสายด่วนกระทรวงแรงงาน หมายเลข  1506 จำนวน 20 สาย เพื่อสอบถามเรื่องค่าจ้าง ส่วนใหญ่ร้องเรียนเรื่องที่นายจ้างไม่จ่ายค่าจ้าง ไม่ให้สวัสดิการและค่าทำงานล่วงเวลา (โอที) นายจ้างไม่ปรับขึ้นค่าจ้างเป็น 300 บาท และเรื่องสิทธิประโยชน์ที่จะได้รับหากถูกเลิกจ้างด้วย

(สำนักข่าวไทย, 7-2-2556)

 

พนง.เจนเนอรัลมอเตอร์ 5,000 คน ประท้วงบริษัท ออกระเบียบให้ทำงานวันเสาร์

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเวลา 07.30 น. วันที่ 8 กุมภาพันธ์ พนักงานบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบร์อด อ.ปลวกแดง หรือ เชฟโรเลต นำโดยนายสุริยา โพธิ์ชัยเลิศ แกนนำสหภาพแรงงานบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และพนักงานจำนวน 5,000 คน ออกมาประท้วงแสดงความไม่พอใจบริษัท เนื่องจากประกาศใช้ระเบียบปฏิบัติใหม่ ให้พนักงานทุกคนมาทำงานวันเสาร์ โดยถือว่าเป็นวันทำงานตามปกติ และจะไม่ได้ค่าแรงค่าโอที 2 แรง ถึงแม้ว่าทางบริษัทจะมีข้อเสนอในเรื่องของการจ่ายเงินโบนัส ค่าปลอบขวัญและสวัสดิการต่างๆ ชดเชย แต่พนักงานคิดว่าไม่คุ้มค่ากับการดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนที่ผ่านมา โดยมีนายสมนึก นามตระกูลชล ผู้จัดการฝ่ายบุคคล บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด และเจ้าหน้ารักษาความปลอดภัยจำนวน 30 คน คอยสังเกตการณ์อยู่รอบโรงงาน

นายสุริยากล่าวว่า สาเหตุที่พนักงานจำนวน 5,000 คน ออกมาประท้วงเรียกร้องให้บริษัทใช้ระเบียบปฏิบัติเหมือนเดิม เพราะในปัจจุบันพนักงานส่วนมากใช้วันหยุดเสาร์อาทิตย์ไปสมัครเรียนต่อ และเป็นการเรียนเทียบโอน เพื่อนำวุฒิไปปรับวิทยฐานะในตำแหน่งหน้าที่การงาน สร้างสมประสบการณ์ และที่สำคัญในเรื่องของครอบครัวที่มีความสำคัญมาก ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนสูงเพียงใด แต่คุณภาพชีวิตเกิดความแตกแยก ครอบครัวขาดความอบอุ่น ไม่มีเวลาดูแลลูกและพ่อแม่ ครอบครัวจะดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุข พนักงานจึงต้องการให้บริษัทใช้ระเบียบปฏิบัติเหมือนเดิม จ่ายค่าแรง มีค่าโอที เหมือนเดิม อย่าบีบบังคับให้ต้องปฏิบัติ เนื่องจากคุณภาพชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนไม่มีภาระอะไรก็ทำโอทีได้ บางคนมีภารกิจ ก็ไม่ต้องทำ ถือว่ายุติธรรมแล้วและไม่จำเป็นต้องนำระเบียบใหม่มาบังคับใช้อีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะที่ผู้สื่อข่าวกำลังบันทึกภาพข่าวเหตุการณ์พนักงานรวมตัวประท้วงอยู่นั้น นายอุกฤษ ศรีวิรัช ผอ.แผนกความปลอดภัยของบริษัท พร้อมเจ้าหน้าที่ รปภ.จำนวน 5 คน เข้ามารุมล้อมกระชากกล้องและพูดจาข่มขู่ห้ามถ่ายภาพ จนได้รับบาดเจ็บบริเวณแขนและบังคับให้ลบภาพข่าวออก อ้างว่าเป็นทรัพย์สินของทางบริษัท ก่อนที่นักข่าวจะยอมลบภาพบางส่วนออกเจ้าหน้าที่ รปภ.จึงยอมปล่อยตัว

(มติชนออนไลน์, 8-2-2556)

 

ผลสำรวจซีอีโอเดือนม.ค.ค่าแรง 300 ต้นทุนพุ่ง

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ร่วมกับศูนย์วิจัย มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ สำรวจความคิดเห็นผู้บริหาร CEO SENTIMENT INDEX ประจำเดือนม.ค.-ก.พ. 2556 จำนวน 418 คน ระหว่างวันที่ 29 ม.ค.-4 ก.พ. 2556 เกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจ ผลกระทบจากนโยบายค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ตลอดจนการปรับตัว พบว่า ผลกระทบจากค่าแรง ผู้บริหารส่วนใหญ่ 63.7% ระบุว่าส่งผลให้ต้นทุนธุรกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ 22.4% ระบุว่าต้นทุนการทำธุรกิจยังไม่เปลี่ยนแปลง และ 13.9% ระบุว่าต้นทุนลดลง ส่วนต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นค่าแรง 10.3% ขณะที่ต้นทุนรวมการทำธุรกิจเพิ่มขึ้น 5.1%

สำหรับแนวทางการปรับตัวของธุรกิจ การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงานเป็นวิธีที่เลือกใช้มากที่สุด 63.9% รองลงมาลดต้นทุนผลิตส่วนที่ไม่ใช่ค่าแรง 61.4% ขึ้นราคาสินค้าอยู่ที่ 44.1% นำเครื่องจักรมาใช้แทนพนักงานบางส่วน 39.5% และอีก 38.6% ลดงบด้านการลงทุนระยะยาว

ผลการสำรวจยังพบว่า ปัจจัยสำคัญ 5 อันดับแรกที่มีผลต่อการทำธุรกิจไตรมาสที่ 1 คือ ภาวะเศรษฐกิจของโลก (3.7 คะแนน) ภาวะเศรษฐกิจไทย (3.6 คะแนน) ต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น (3.6 คะแนน) ต้นทุนค่าขนส่งและพลังงาน (3.5 คะแนน) และการแข็งขึ้นของเงินบาทซึ่งสูงเท่ากับต้นทุนวัตถุดิบ (3.4 คะแนน)

ส่วนดัชนีด้านเศรษฐกิจเดือนม.ค. มีค่าเท่ากับ 39 จุด สะท้อนให้เห็นว่า เศรษฐกิจโดยรวมเดือนม.ค. ที่ผ่านมา ดีกว่าเดือนธ.ค. 2555 แต่เมื่อพิจารณาถึงการคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจเดือนก.พ. และเดือนมี.ค. นี้ พบว่าดัชนีมีค่าลดลงเป็น 22 จุด และ 16 จุดตามลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงการลดลงของความเชื่อมั่นโดยรวมของผู้บริหาร ปัจจัยที่ทำให้ความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจลดลง คือ อัตราขยายตัวทางเศรษฐกิจของสหรัฐในไตรมาสสุดท้ายติดลบ การไหลเข้ามาของเงินจนทำให้บาทแข็งค่าส่งผลต่อความสามารถการแข่งขันของ ประเทศ และผลจากค่าแรง 300 บาท

สำหรับดัชนีด้านการทำธุรกิจมี 4 ด้าน คือ ดัชนีด้านรายได้ ดัชนีด้านต้นทุน ดัชนีด้านการจ้างงานและดัชนีด้านสภาพคล่องนั้น ดัชนีด้านรายได้เดือนม.ค. ที่ผ่านมา มีค่าเป็นบวก 13 จุด สะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจส่วนใหญ่ยังไม่สามารถสร้างรายได้มากเมื่อเทียบกับ เดือนธ.ค. ที่ผ่านมา ส่วนการคาดการณ์รายได้ช่วงเดือนก.พ.-มี.ค. มีทิศทางที่สอดคล้องกัน

ดัชนีด้านต้นทุนอยู่ในระดับ 35 จุดในเดือนม.ค. สะท้อนให้เห็นผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีต่อต้นทุนธุรกิจ แม้การคาดการณ์ดัชนีต้นทุนในช่วงเดือนก.พ.และเดือนมี.ค. จะมีค่าลดลง ยังคงมีค่าเป็นบวก แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น

การเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงของรายได้และการเพิ่มขึ้นของต้นทุน ส่งผลให้ดัชนีสภาพคล่องลดลงจากระดับ 26 จุด ในเดือนม.ค. เป็น 21 จุด และ 8 จุด ในเดือนก.พ.และเดือนมี.ค. ตามลำดับ การลดลงของสภาพคล่องจะเพิ่มความเสี่ยงการทำธุรกิจ การตัดสินใจเลื่อนการจ้างงานเพิ่ม ทำให้ดัชนีการจ้างงานที่มีค่า 25 จุดในเดือนม.ค. มีค่าลดลงเป็น 15 จุด และ 11 จุด ในเดือนก.พ. และเดือนมี.ค. ตามลำดับ

"ผลการสำรวจชี้ให้เห็นว่าค่าแรง 300 บาท เงินบาทที่แข็งค่า และการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ส่งผลต่อธุรกิจไทยไตรมาสที่ 1 ปีนี้ แม้ว่าค่าดัชนีหลายตัวเป็นบวก แต่การที่แนวโน้มดัชนีเหล่านี้มีค่าลดลง เป็นตัวสะท้อนการคาดการณ์ของผู้บริหารว่าช่วงเวลาที่เหลือไตรมาสที่ 1 เป็นช่วงเวลาแห่งความท้าทายที่ธุรกิจต้องหาทางรับมือให้ได้"

(กรุงเทพธุรกิจ, 11-2-2556)

 

SMEชงสอท.ขอรัฐลดประกันสังคม- ลดภาษีบำรุงท้องถิ่น

วงหารือผู้ประกอบภาคใต้ ต่อวิกฤตค่าแรง 300 บาท เห็นควรให้สอท.เป็นหัวหอกเสนอรัฐช้วยผู้ประกอบการด้วยการลดเก็บเงินประกัน สังคม 1 เปอร์เซ็นต์ ควบคู่กับการลดภาษีบำรุงท้องที่้ลงครึ่งหนึ่ง ทั้งยังควรเปิดกว้างด้านซอฟท์โลนด้วยการเปิดทางให้ สภาอุตฯ หอการค้า ร่วมเป็นคณะกรรมการกลั่นกรอง

นายทวี ปิยะพัฒนา รองประธานที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( สอท. ) เปิดเผยว่า ในการร่วมประชุมกับผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อม ( เอสเอ็มอี) ในภาคใต้ เพื่อรับทราบถึงปัญหาจากนโยบายปรับค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท และทางออกในการนำเสนอแนวทางไปยังรัฐบาลขอรับการช่วยเหลือ ที่ประชุมมีข้อสรุปที่จะเสนอผ่านสภาอุตสาหกรรมฯ ไปยังรัฐบาลคือ ขอให้รัฐลดการเก็บเงินประกันสังคมในฝ่ายจ้างเหลือเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ สำหรับในพื้น 3 จังหวัดภาคใต้ คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ยและ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา ให้ลดภาษีบำรุงท้องที่ลงครึ่งหนึ่ง และสนับสนุนในเรื่องของเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำหรือซอฟท์โลน โดยให้ธนาคารลดเงื่อนไขในการอนุมัติ โดยมีสภาอุตสาหกรรมฯ หอการค้า ร่วมเป็นคณะกรรมในการกลั่นกรอง ทั้งนี้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท ทำให้ผู้ประกอบการล้วนได้รับผลบกระทบอย่างรุนแรง จึงอยากให้รัฐบาลได้พิจารณาเรื่องนี้

"ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบคือ ผู้ประกอบการต่างเห็นว่า การปรับค่าแรงเป็นการปรับที่รวดเร็วและก้าวกระโดด ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กปรับตัวไม่ทัน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจทั้งในปีที่ผ่านมาและปีนี้ไม่เอื้อ ที่จะให้ผู้ประกอบการมีความพร้อม จะเห็นว่านับคั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาค ใต้ ได้ปิดรับพนักงานเพิ่ม เพราะไม่ต้องการเป็นภาะในเรื่องของต้นทุนจากการจ่ายค่าแรง อย่างไรก็ตามหลังจากเข้าาสู่กลางปี อาจจะมีการปลดพนักงานออก หากไม่สามารถแบกรับปัญหาอีกต่อไปได้ " นายทวี กล่าว

นางเธียรรัตน์ นะวะมะวัฒน์ หัวหน้าสำนักงาน แรงงานจังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า ภาวะการทำงานของประชากรไตรมาส 3/2555 (ก.ค.-ก.ย.55) พบว่า นครราชสีมามีผู้อยู่ในกำลังแรงแรงงาน 1,617,705 คน หรือคิดเป็นร้อยละ 72.6 ของประชากรอายุ 15 ปี ขึ้นไป และเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงานงานกว่า 600,000 คน โดยประชากรผู้มีงานทำจำนวน 1,603,168 คน ส่วนใหญ่ปฏิบัติงานที่มีฝีมือในด้านการเกษตรและการประมงจำนวน 598,211 คน คิดเป็นร้อยละ 37.3 รองลงมาคือ การผลิต จำนวน 288,859 คน คิดเป็นร้อยละ 18 การขายส่ง ขายปลีก การซ่อมแซมยานยนต์ รถจักรยานยนต์ ของใช้ส่วนบุคคล และขอใช้ในครัวเรือนจำนวน 243,780 คน คิดเป็นร้อยละ 15.2

ทั้งนี้พบว่านครราชสีมามีอัตราการว่างงานในช่วงไตรมาส 3/2555 ทั้งสิ้น 14,537 คน เป็นชาย 8,337 คน และ หญิงจำนวน 6,199 คน แต่ภายหลังมีการปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 300 บาท ทั่วประเทศ พบว่า โรงงานหลายแห่งมีการปลดพนักงานซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมตัวเลข โดยมีผู้มาขึ้นทะเบียนประกันการว่างงานกับสำนักงานจัดหางานจังหวัด นครราชสีมาในปี 2556 เดือนละกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ตามพบว่าโรงงานบางแห่งเลือกที่จะไม่ปลดพนักงานแต่ได้มีการพัฒนา ฝีมือแรงงานให้มีคุณภาพมากขึ้นโดยส่วนราชการ ก็ได้เข้าไปช่วยเหลือในการพัฒนาฝีมือแรงงานและเร่งประชาสัมพันธ์ 15 มาตรการของรัฐบาลที่ให้การช่วยเหลือเพื่อให้นายจ้างอยู่ได้ ในภาวะการแข่งขันทางธุรกิจและการปรับค่าแรงขั้นต่ำ

สำหรับการจดทะเบียนใหม่ ช่วงไตรมาส 3 /2555 จำนวน 23 แห่ง โดยอุตสาหกรรมการผลิต จดทะเบียนมากสุดจำนวน 13 แห่ง จ้างคนงาน 209 คน เงินลงทุน 315.32 ล้านบาท จากจำนวนเงินลงทุนรวมทั้งหมด 580,550,000 บาท สำหรับโรงงานที่เลิกกิจการในไตรมาสนี้มีจำนวน 22 แห่ง สาเหตุการเลิกกิจการอยู่ระหว่างการสำรวจเช่นกัน

(เนชั่นทันข่าว, 11-2-2556)

 

สหภาพ GM ปักหลักประท้วงต่อเนื่อง

สหภาพแรงงาน GM ยังปักหลักประท้วงแสดงความไม่พอใจที่ทางบริษัทฯ ได้มีการประกาศใช้ระเบียบปฏิบัติให้โดยให้พนักงานทุกคนมาทำงานวันเสาร์ทุกคน โดยถือว่าเป็นวันทำการปกติ และจะไม่มีการเบิกจ่ายค่าแรงเพิ่มได้เพียง 1 แรงเท่านั้น

11 ก.พ. 56 - ASTV ผู้จัดการออนไลน์รายงานว่าพนักงานของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม อีสเทิร์นซีบอร์ด อ.ปลวกแดง จ.ระยอง หรือเชฟโรเลต ยังคงปักหลัก ประท้วงแสดงความไม่พอใจที่ทางบริษัทฯ ได้มีการประกาศใช้ระเบียบปฏิบัติให้โดยให้พนักงานทุกคนมาทำงานวันเสาร์ทุกคน โดยถือว่าเป็นวันทำการปกติ และจะไม่มีการเบิกจ่ายค่าแรงเพิ่มได้เพียง 1 แรงเท่านั้น ถึงแม้ว่าทางบริษัทฯ จะมีข้อเสนอในเรื่องของการจ่ายโบนัส ค่าปลอบขวัญ และสวัสดิการต่างๆ ให้เพื่อชดเชย แต่พนักงานได้มาคิดแล้วไม่คุ้มค่ากับการดำเนินชีวิตประจำวันเหมือนที่ผ่านมา
      
สาเหตุที่พนักงานออกมาประท้วงเรียกร้องให้บริษัทฯ ใช้ระเบียบปฏิบัติเดิมก็เพราะในปัจจุบัน พนักงานส่วนมากใช้วันหยุดเสาร์ อาทิตย์ ไปสมัครเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และเป็นการเรียนเทียบโอน เพื่อนำวุฒิไปปรับวิทยฐานะในตำแหน่งการทำงาน สร้างสมประสบการณ์ให้ดีกว่าปกติ และที่สำคัญในเรื่องของครอบครัวที่มีความสำคัญมาก ถึงแม้จะมีค่าตอบแทนสูงเพียงใด แต่คุณภาพชีวิต ความแตกแยก ครอบครัวขาดความอบอุ่น ไม่มีเวลาดูแลลูก พ่อ แม่ และครอบครัว ก็จะดำเนินชีวิตอย่างไม่มีความสุข
      
นายสุริยา โพธิ์ชัยเลิศ ประธานสหภาพแรงงาน กล่าวว่า พนักงานจำนวนมากได้ปักหลักพักแรม กางเต็นท์อยู่บริเวณหน้าบริษัทฯ มาตั้งแต่วันศุกร์ เนื่องจากพวกเราไม่เห็นด้วยกับข้อกำหนดใหม่ของทางบริษัทฯ จากนั้น กลางดึกของวันที่ 9 ก.พ.56 นายอุฤกษ์ ศรีวิรัช ผุ้จัดการฝ่ายรักษาความปลอดภัยได้นำกำลังชายชุดดำ ประมาณ 30 คนมาล้อมสถานที่ชุมนุม โดยมีชายชุดดำมีอาวุธปืนมาด้วย ทำให้ผู้หญิงตกใจ ขวัญผวา หวาดกลัวอย่างมาก และยังพบว่าได้มีอาวุธแปลกปลอมเข้ามาวางไว้ในสถานที่ชุมนุม เพื่อสร้างสถานการณ์ให้เกิดความรุนแรงในการประท้วงครั้งนี้ด้วย โดยในขณะนี้ทางสหภาพแรงงานได้มีการเตรียมกำลังในการต่อสู้ ป้องกันการสลายม็อบ ถ้ามีการสลายอาจเกิดความรุนแรงอย่างแน่นอน

ด้านนายวีโจ้ วาร์จี ผู้จัดการอาวุโสฝ่ายประชาสัมพันธ์ สื่อสารผลิตภัณฑ์ บริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เผยถึงความคืบหน้าการเจรจาข้อเรียกร้องกับสหภาพแรงงานจีเอ็ม ประเทศไทย ว่า นับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2556 คณะผู้บริหารของบริษัท เจนเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ได้มีการเจรจาข้อเรียกร้องกับสหภาพแรงงานจีเอ็ม ประเทศไทย เพื่อหาข้อตกลงร่วมกันด้านข้อกำหนดและเงื่อนไขการว่าจ้างงานใหม่แทนที่ข้อ ตกลงเดิมที่ใช้มา 2 ปี ซึ่งสิ้นสุดเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2556 ที่ศูนย์การผลิตในจังหวัดระยอง หนึ่งในเป้าหมายคือ การยกระดับกระบวนการผลิตซึ่งจะสร้างศักยภาพการแข่งขันของศูนย์การผลิตจีเอ็ม ในประเทศไทย
      
นอกจากนี้ ยังส่งเสริมให้พนักงานได้มีชีวิตส่วนตัว และชีวิตการงานที่สมดุลกัน โดยใช้เวลาอยู่ในที่ทำงานน้อยลง และได้รับสวัสดิการต่างๆ เพิ่มขึ้น จีเอ็ม เชื่อว่า การปรับแผนการผลิตจะช่วยรักษามาตรฐานคุณภาพสูงไว้ รวมถึงยกระดับกระบวนการผลิต และประสิทธิภาพของศูนย์การผลิตได้
      
อย่างไรก็ตาม ระหว่างการเจรจาไกล่เกลี่ยรอบแรกโดยมีพนักงานประนอมข้อพิพาทแรงงานจากสำนัก งานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดระยองเป็นคนกลางเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทางสหภาพฯ ประกาศทันทีว่าจะดำเนินการนัดหยุดงานต่อบริษัทฯ และนัดหยุดงานวันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา สมาชิกสหภาพประกอบด้วยสมาชิกราว 1,400 คน จากพนักงานระดับปฏิบัติการของศูนย์การผลิตจีเอ็ม จังหวัดระยองทั้งหมดประมาณ 5,000 คน
      
นายวีโจ้ กล่าวต่อว่า ระหว่างการเจรจา จีเอ็ม ไม่ได้ยื่นข้อเสนออื่นใดที่นอกเหนือไปจากรูปแบบการทำงานของบริษัทผู้ผลิต ชั้นนำอื่นๆ ในประเทศไทยที่ทำกัน และพร้อมที่จะหาข้อยุติที่เป็นธรรม มีเหตุผล และเกิดประโยชน์ร่วมกันกับสหภาพแรงงานให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้เพื่อ ประโยชน์แก่ทุกฝ่าย โดยเฉพาะกับพนักงานของบริษัทฯ บริษัทฯ ยังไม่ได้มีการประกาศ หรือดำเนินการใช้เงื่อนไขการทำงานใหม่เพียงฝ่ายเดียว
      
ทั้งนี้ ในการเพิ่มการทำงานวันเสาร์ ก็ไม่ได้เป็นการบังคับว่าทุกคนจะต้องมาทำงานวันเสาร์ แล้วแต่ความสมัครใจ เพียงแต่อยากให้เหมือนสากลบริษัทชั้นนำเขาปฏิบัติกัน ซึ่งทางบริษัทพร้อมจะดูแลพนักงานของบริษัทอย่างดีอยู่แล้ว และไม่ได้ต้องการเปลี่ยนแปลงของช่วงเวลาทำงานที่จะทำให้พนักงานต้องมี ชั่วโมงการทำงานในแต่ละสัปดาห์มากขึ้น หรือทำงานในวันเสาร์เพิ่มขึ้นเทียบจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด รูปแบบการทำงานจะมีความคล้ายคลึงกับบริษัทผู้ผลิตยานยนต์ส่วนใหญ่ในประเทศ ไทย ซึ่งมีความจำเป็นสำหรับบริษัทฯ ในการรักษาขีดความสามารถในการแข่งขันไว้
      
สำหรับเรื่องของการไปขอหมายศาลคุ้มครองพื้นที่ของบริษัท เนื่องจากทางบริษัทต้องการปกป้องและรักษาความปลอดภัยของพนักงานทุกคน และทรัพย์สินขององค์กร แต่ที่ผ่านมาได้มีการบุกรุก และเข้าครอบครองพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย โดยนับตั้งแต่วันศุกร์ที่ผ่านมา แกนนำสหภาพฯ และสมาชิกบางคนได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของศาลจังหวัดระยองที่สั่งให้ กลุ่มสหภาพออกจากพื้นที่ที่เป็นทรัพย์สินของบริษัทฯ
      
ดังนั้น เพื่อให้คำสั่งศาลมีอำนาจสูงสุด และให้สถานการณ์เป็นไปอย่างสงบปลอดภัยสำหรับทุกฝ่าย จีเอ็ม จึงตัดสินใจหยุดสายการผลิตจนถึงวันจันทร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ 2556 และหวังว่าทางสหภาพฯ จะกลับมาเข้าสู่การเจรจาที่ชอบด้วยกฎหมาย ได้โดยเร็ว เพื่อหาข้อตกลงใหม่ร่วมกันด้วยความเป็นธรรม และมีเหตุผลในทุกประเด็น

 (ASTV ผู้จัดการออนไลน์, 11-2-2556)

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท