Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis
 
เกริ่นนำ
 
แน่นอน นักวิชาการ ไม่ใช่อริยบุคคล ฉะนั้น ไม่จำเป็นต้องใช้กลไกทางจิตวิทยาปกป้องตนเองว่า “ใครๆก็มีข้อบกพร่องอยู่ทั้งนั้น” เพราะนั่นเป็นเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ และไม่เห็นประโยชน์จะอภิปรายด้วย เพราะสิ่งที่จะอภิปราย คือ การใช้โอกาสทางสติปัญญาเพื่อประชาชนตามอัตภาพต่างหาก ถึงแม้ว่า นักวิชาการจะไม่ใช่นักรบ แต่สำหรับสังคมที่ขาดเสรีภาพแล้ว หูตาที่กว้างไกลของนักวิชาการอาจช่วยปลดปล่อยประชาชนได้ในระดับสงคราม อย่างน้อยที่สุด สำหรับบางสังคม นักวิชาการมีอภิสิทธิ์บางอย่าง เช่น ความเป็นครู ความเป็นชนชั้นกลางถึงสูงที่ได้รับโอกาสทางการศึกษา 
 
ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของนักวิชาการมักถูกอ้างอิงเสมอ ไม่ว่าจะเป็น คำพูด หรือ งานเขียน ฉะนั้น เราอาจยอมรับว่า นักวิชาการยังมีอิทธิพลต่อความคิดของประชาชนในสังคมไม่มากก็น้อย แต่นั่นเอง กว่าจะเป็นนักวิชาการที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางได้ ก็คงต้องฝ่าฟันอะไรมาไม่มากก็น้อย เหตุนี้ การหล่อหลอมในสังคมที่มีแรงเสียดทานสูงและเสรีภาพต่ำ เช่น สังคมไทย อาจทำให้เราได้นักวิชาการที่แข็งแกร่งแบบบิดๆเบี้ยวๆ ตามแรงบีบของสังคมในขณะที่เป็นนักศึกษาอยู่ อย่างไรก็ตาม ประชาชนย่อมคาดหวังว่า นักวิชาการจะไม่ทิ้งประชาชน  ปัญหาคือบางครั้งอัตตาของนักวิชาการแต่ละคนอาจสูงเกินกว่าที่จะร่วมงานกับประชาชน หรือ เพื่อนนักวิชาการด้วยกันได้ นั่นทำให้ ขบวนการประชาชนไม่อาจสู้กับอำนาจที่กดขี่พวกเขาได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเสียที 
 
 
เนื้อหา
 
ต้องยอมรับว่า “พ่อค้า” ทำงานเป็นเครือข่ายได้ดีกว่า “นักวิชาการ” หลายเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นการผูกขาดทางเศรษฐกิจ หรือ การสนับสนุนในภาครัฐให้ทุจริตเชิงนโยบาย และกลุ่มที่เก่งกาจไปกว่านั้น คือ  “ขุนนางอำมาตย์” ซึ่ง ทำงานเป็นเครือข่ายได้ดีกว่า “พ่อค้า” เพราะควบทั้งอาชีพพ่อค้าและอำมาตย์  กลายเป็นว่า ชนชั้นสองกลุ่มนี้ได้สร้างเครือข่ายขนาดใหญ่และครอบคลุมทุกพื้นที่ ยังไม่รวมถึงการสถาปนาความจริงอีก (ทั้งที่อาจจะไม่จริงก็ได้) ขณะที่ เครือข่ายนักวิชาการล้วนอ่อนแอในสังคมที่ผูกขาดด้วยพ่อค้าและอำมาตย์ เพราะก้าวไม่ข้ามอัตตาของตนเอง ที่สุดแล้ว เพื่อนนักวิชาการบางส่วนก็โน้มเอียงเข้ากับแหล่งทุนขนาดใหญ่นี้ บางคนก็ถูกหลอกใช้เพราะไปหลงเชื่อการสถาปนาความจริงดังกล่าว บางคนก็เรียกร้องให้ผู้อื่นเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงแต่ตนเองไม่ ดูเหมือนว่า นักวิชาการจะมีพลังเพียงเท่านี้
 
อย่างไรก็ตาม ใช่ว่า นักวิชาการทุกๆ ความเชี่ยวชาญจะต้องมาเกี่ยวข้องโดยตรงกับเรื่องการเมืองไปเสียหมด กระนั้นก็ดี นักวิชาการสามารถสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งเพื่อนำประชาชนให้พร้อมต่อการปลดปล่อยตนเองสู่อิสรภาพอย่างรอบด้านได้ เป็นต้น ถ้าพูดถึงเรื่องการวางผังเมืองที่ไม่มีชนชั้นสูงมาคอยกำหนดตามผลประโยชน์ของตัวแล้ว นักวิชาการด้านผังเมือง (ภูมิศาสตร์) ดูจะมีบทบาทสำคัญ ในทำนองเดียวกัน ถ้าพูดถึงเรื่องการเจรจาในระดับมวลชน หรือ การควบคุมฝูงชน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ดูจะมีบทบาทสำคัญ ฉะนั้น นักวิชาการทุกคนมีตำแหน่งแห่งที่ของตน 
 
ที่จริงในพื้นที่หลังสมัยใหม่ (Post-modern) คำว่า “นักวิชาการ” ไม่ได้มีพลังมากนักเหมือนยุคสมัยใหม่ (Modern) เพราะว่า ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี อาจทำให้ใครคนหนึ่ง เป็นนักวิชาการ หรือ ดูเหมือนนักวิชาการ ได้ ฉะนั้น จากรอยต่อแห่งยุคสมัยดังกล่าว โลกจึงได้รู้จัก ใครหลายคนที่เป็นมากกว่านักวิชาการ เช่น นักเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิสตรีที่มีฐานข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องที่ตนสนใจอย่างหนาแน่น ทั้งที่ นักเคลื่อนไหวคนนั้นอาจไม่ได้จบการศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องเลยแม้แต่น้อย ถ้าพูดให้ชัดเจนกว่านั้น คือ พื้นที่ในศตวรรษที่ 21 เป็น พื้นที่ภายหลังยุคหลังสมัยใหม่ (Post-postmodern) ซึ่งรอยต่อแห่งยุคสมัยนี้จะช่วยกระตุ้นให้การเรียนรู้ของมนุษย์ก้าวหน้ายิ่งขึ้น และในบางเรื่องทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้ได้เองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพานักวิชาการเหมือนแต่ก่อนอีกแล้ว
 
สำหรับประเทศกำลังพัฒนา? อย่างไทย ความเชี่ยวชาญของนักวิชาการมีความคาบเกี่ยวกัน (Intersection) ในหลายพื้นที่ความคิด บางคนอาจเป็นลูกศิษย์ (Disciple of discipline) ของมโนทัศน์แบบก่อนสมัยใหม่ (Pre-modernism) บางคนอาจเป็นลูกศิษย์ของมโนทัศน์แบบสมัยใหม่ (Modernism) บางคนอาจเป็นลูกศิษย์ของมโนทัศน์แบบหลังสมัยใหม่ (Post-modernism) บางคนอาจเปลี่ยนแปลงความเป็นลูกศิษย์ไปอย่างมีพลวัตแบบหลังยุคหลังสมัยใหม่ (Post-postmodernism) กระนั้นก็ดี นักวิชาการไม่ใช่คอมพิวเตอร์ (คณิตกรณ์) ฉะนั้น อารมณ์ความรู้สึก ปมทางจิตวิทยา และอัตตาจึงเข้ามาเกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งโลกส่วนตัวที่ซับซ้อนแบบนั้นบางทีประชาชนก็เข้าไม่ถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประชาชนที่เข้าถึงความรู้เช่นเดียวกัน  ปัญหาคือ เพื่อเป้าหมายร่วมอะไรเป็นยุทธวิธีสู่ความสำเร็จ
 
เป็นที่ยอมรับว่า “วิธีข้าฯมาคนเดียว” ไม่เคยประสบผลสำเร็จในระยะยาว บ่อยครั้ง วิธีดังกล่าวเมื่อใช้กับอำนาจรัฐก็ประสบความสำเร็จในระยะสั้นๆ เพราะบ่อยครั้งเกิดจากการที่รัฐเกรงใจแค่ตัวบุคคล เช่น คานธี (Gandhi) เห็นได้ชัดแล้วว่า แม้ คานธี จะมีวิสัยทัศน์ก้าวหน้าล้ำสมัยเพียงใด แต่หลักสัตยาเคราะห์ (satyagraha) ก็ไม่ได้งอกงามมากพอในประเทศอินเดีย ไม่ใช่ว่า คานธี ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ต้องยอมรับว่า คานธี เป็นตัวแบบที่สุดโต่งเกินไป ซึ่งประชาชนไม่อาจจะปฏิบัติตามหลักการที่ คานธี วางไว้ได้ สุดท้ายแล้ว แนวทางนี้จึงเลื่อนไหวไปตามกาลเวลาของประเทศอินเดียและที่จริงของประเทศปากีสถานด้วย ฉะนั้น “วิธีข้าฯมาคนเดียว” อาจให้ผลสำเร็จในลักษณะที่วูบวาบ หวือหวา เท่านั้น ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนหรือถอนรากถอนโคน เฉพาะอย่างยิ่ง กับปัญหาที่มีการวางเครือข่ายอย่างชาญฉลาด
 
คำว่า “คนไทยทำงานร่วมกันไม่เป็น” อาจเป็นภาพสะท้อนที่บางเบาของวัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายที่ฝังแน่นอยู่ในสายเลือด เพราะต้องมี “ฉัน” (Self) ที่เป็นศูนย์กลางของกิจกรรม และต้องมีการยกย่องให้เกียรติ “ฉัน” (Self) และเป็น“ฉัน” (Self) ที่จะเรียกร้องให้ใครทำอะไรก็ได้ตามใจฉัน ซึ่งถ้า“ฉัน” (Self) ไม่ได้รับการปฏิบัติที่ได้ดั่งใจ “ฉัน” (Self) จะประณามใครก็ตามที่ขัดใจ“ฉัน” (Self)  แต่เพื่อประสานประโยชน์ไว้ ทุกคนอาจจำเป็นต้องอดทนกับท่าทีแบบนี้ เพราะใครคนนั้นอาจมีผลประโยชน์กับกลุ่มมากพอ ที่จริง น่าตั้งคำถามว่า ถ้ามีนิสัยแบบนี้แล้วไม่มีประโยชน์ หรือทำให้กลุ่มเสียประโยชน์ อะไรจะเป็นสิ่งที่กลุ่มจะตัดสินใจ? 
 
สำหรับประชาชนส่วนใหญ่ แน่นอนว่า พวกเขามีโอกาสน้อยที่จะเข้าถึงการเนื้อหางานวิจัยระดับลึก ที่เต็มไปด้วยเครื่องไม้เครื่องมือ (ทฤษฎี) มากมาย และแน่นอนอีกว่า พวกเขาจำเป็นต้องสะสมประสบการณ์อีกมากเพื่ออ่านหรือทำความเข้าใจให้เท่าทัน กับบรรดานักวิชาการที่คลุกคลีเรื่องนี้มาโดยตลอด ฉะนั้น คงไม่ผิดอะไรที่ประชาชนส่วนใหญ่จะฝากความหวังไว้กับนักวิชาการ โดยไม่สนว่าเขาเหล่านั้นจะมีนิสัยแบบใดก็ตาม แต่ ปัญหาคือบรรดานักวิชาการที่ประชาชนฝากความหวังไว้ เพราะเขาจะตัดสินใจอย่างไรกับการช่วยเหลือประชาชน?
 
การตัดสินใจมีได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็น เคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิให้ในฐานะแกนนำ หรือจะเป็น การให้ความรู้ความเข้าใจกับประชาชน หรือจะเป็นงานเบื้องหลังแบบการทำงานวิจัยในประเด็นที่แหลมคม เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการผลักดันให้เกิดการเคลื่อนไหว ฉะนั้น ตราบใดที่บรรดานักวิชาการยังวนเวียนอยู่กับความเป็น “ฉัน” (Self) มากเกินไป นั่นอาจทำให้เสียเวลาในอันที่จะทำอะไรต่อมิอะไรเพื่อประชาชนอย่างที่ตั้งใจ และจะกลายเป็นหลักฐานมัดตัวเองชิ้นสำคัญ ในกรณีที่นักวิชาการเหล่านั้นอ้างว่า “ทำเพื่อประชาชน” เพราะจริงๆ ทำเพื่อสนองอัตตาหรือปมของตนเอง
 
 
สรุป
 
การย้อนมาพิจารณาเรื่องอัตตาในระดับปัจเจกบุคคลของนักวิชาการ ในฐานะปัจจัยที่หน่วงเหนี่ยวต่อการเคลื่อนไหวเพื่อประชาชนให้เกิดความล่าช้าอาจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะในสังคมไทยนักวิชาการยังมีอิทธิพลต่อการชี้นำและนำความเปลี่ยนแปลงสู่สังคมอย่างยั่งยืนได้มากกว่าประชาชน แม้ว่าทุกวันนี้ ความเข้มแข็งของเครือข่ายนักวิชาการจะถูกรัศมีของพ่อค้าและขุนนางอำมาตย์บดบังเสียจนไม่มีที่ยืนในฐานะที่เรียกตนเองว่า “ปัญญาชน” ก็ตาม แต่คงไม่สายเกินไปนัก ถ้าบรรดานักวิชาการรวมถึงประชาชนที่คาดหวังกับนักวิชาการด้วย จะหันมาพิจารณาตนเอง รู้จักตนเอง และพึ่งพาตนเอง ในอันที่จะแก้ไขเยียวยาปัญหาเบื้องลึกของตนเองเพื่อเป้าหมายของตนเอง เพื่อจะได้ใช้สติปัญญาที่หลายคนสรรเสริญ ช่วยเหลือผู้ที่กำลังตกทุกข์ได้ยากอย่างทันท่วงที โดยที่ไม่ต้องให้มีคำว่า “สายเกินไป” เพราะความเป็น “ฉัน” (Self) ขัดขวางอยู่แท้ๆ 
 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net