Skip to main content
sharethis

 

จากกรณีที่ คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งกำหนดให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีฐานะเป็นนิติบุคคล และเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ หรือเรียกง่ายๆ ว่า นำมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ออกนอกระบบราชการ เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทำให้เกิดเสียงคัดค้านจากประชาคมนักศึกษาส่วนหนึ่ง

เราจะพาไปฟังเสียงสะท้อนจาก “นนทรัตน์ สุวรรณพงศ์” ตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ ซึ่งอยู่ในกลุ่มแนวร่วมนักศึกษาธรรมศาสตร์จับตามหาวิทยาลัยนอกระบบ พร้อมทำความเข้าใจในรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับ ม.นอกระบบ กับ “ปกรณ์ อารีกุล” นิสิตคณะมนุษย์ศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเคลื่อนไหวประเด็นความเป็นธรรมทางการศึกษา

นนทรัตน์ จากธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เรื่องการออกนอกระบบของธรรมศาสตร์ มีการดำเนินการกันมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2541 แล้ว จนมาวันที่ 13 ธันวาคม 2555 มีข่าวเกี่ยวกับการออกนอกระบบของมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในส่วนของธรรมศาสตร์มีการยืนยันจากอธิการบดีว่า “พร้อมออกนอกระบบ และได้ส่งเอกสารเร่งรัดไปยังรัฐบาลตั้งแต่ปี 54 แล้ว” แต่แทบจะไม่มีนักศึกษาคนใดรู้เลยว่าอธิการบดีได้ดำเนินการเรื่องเหล่านี้ไว้ นักศึกษารุ่นปัจจุบันไม่รู้ข้อมูลอะไรเลยแม้แต่น้อย เมื่อข่าวนี้ออกมาก็มีการตั้งแฟนเพจขึ้นมาชื่อ ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง? เพื่อทวงถามถึงการมีส่วนร่วมและการรับรู้ของนักศึกษา เนื่องจากเรามีความกังวลในหลายเรื่อง ทั้งเรื่องการขึ้นค่าหน่วยกิต คุณภาพการศึกษา สวัสดิการ รวมไปถึงเรื่องการแสวงหาผลประโยชน์ที่ไม่เป็นธรรม

 

รูปภาพจาก : ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง?

 

นักศึกษาธรรมศาสตร์เล่าต่อว่า อธิการบดีได้กล่าวในทำนองว่า "อย่างน้อยๆ ก็สามสี่ปีกว่าจะออกนอกระบบ เดี๋ยวพวกคุณก็จบกันไปแล้ว แปลกนะที่เห็นนักศึกษาสนใจเรื่องนี้ ปกติก็ไม่ค่อยเห็นจะสนใจอะไรกัน" เรามองว่ามันก็จริงส่วนหนึ่งที่ว่านักศึกษาไม่ค่อยจะสนใจอะไรนอกจากตัวเอง แต่ต้องไม่ลืมว่าประเด็นนี้มันส่งผลกระทบกับตัวนักศึกษาโดยตรง นักศึกษาส่วนใหญ่ที่ได้ฟังก็ไม่พอใจกับคำพูดนี้เท่าไหร่

เมื่อย้อนกลับไปดูจะพบว่า ทั้ง ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ ดร.สมคิด เลิศไพฑูรย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คนปัจจุบัน ก็กล่าวเหมือนกันว่า “จะไม่ขึ้นค่าเทอม” นนทรัตน์ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้โดยเชื่อมโยงกับส่วนต่างงบประมาณและความพร้อมของมหาวิทยาลัยในการหารายได้

“ภาระทางการเงินจะไม่มาตกอยู่กับนักศึกษาจริงหรอ” เขากล่าวและว่า สุดท้ายก็พบว่าจะมีการขึ้นค่าน้ำค่าไฟ เปลี่ยนโรงอาหารเป็นแบบศูนย์ธุรกิจ คือตามแผนงานจะมีร้านอาหารเอกชนมาร่วมลงทุน จะปรับ “หอใน” เป็นห้องพักรายวัน ซึ่งหอในก็เป็นหอคุณภาพไม่ดีแต่ราคาแพงอยู่แล้ว แต่ก็จะเปลี่ยนเป็นหอในที่ราคาถูกที่สุดเป็นห้องพักรายวัน อนุมานได้ว่าเพราะจะทำกำไรได้มากขึ้นกว่าเดิม

“ง่ายๆ คือ ปัจจุบันมหาวิทยาลัยยังไม่มีความพร้อมเท่าที่ควรในการออกนอกระบบ ไม่มีอะไรมารองรับในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น และก็ไม่มีหลักประกันใดๆ ให้กับนักศึกษาว่า การออกนอกระบบจะทำให้หลายๆ อย่างดีขึ้น เพราะไม่มีวี่แววของการพัฒนาไปในทางที่ดีเลย ทั้งในด้านสวัสดิการและบริการ” นนทรัตน์กล่าว

ตัวแทนนักศึกษาธรรมศาสตร์ได้กล่าวปิดท้ายว่า บางครั้งก็สับสนกับประโยค “ธรรมศาสตร์สอนให้ฉันรักประชาชน” ว่าตกลงเราเป็นประชาชนหรือเปล่า ทำไมไม่ฟังเสียงเราเลย สิ่งที่เราต้องการคือให้มีทบทวนร่าง พ.ร.บ ให้รอบคอบและยืนยันถึงประโยชน์ที่ประชาคมโดยเฉพาะนักศึกษาจะได้รับ และต้องเป็นธรรมที่สุด ไม่เช่นนั้นบ่อน้ำที่บำบัดความกระหายและความเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนที่โฆษณาหนักหนา คงเป็นได้เพียงโฆษณาเรียกลูกค้า

 

รูปภาพจาก : ธรรมศาสตร์ออกนอกระบบ ถามนักศึกษาหรือยัง?

 

เมื่อพิจารณาในส่วนของร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งพบว่ายังมีปัญหาอยู่หลายประการ เช่น หลักการประเมินการปฏิบัติงานของอธิการบดี ซึ่งได้กำหนดไว้ใน มาตรา 56 ของ ร่าง พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "ให้สภามหาวิทยาลัยจัดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติหน้าที่ของอธิการบดี" ซึ่งไม่เคยบัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. ฉบับเก่า โดย มาตรา 56 กำหนดให้หลักเกณฑ์การประเมินผลการปฏิบัติการเป็นไปหลักเกณฑ์ของข้อบังคับของมหาวิทยาลัย

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เคยมีประกาศเกี่ยวกับ "หลักเกณฑ์และวิธีการประเมิลผลการปฏิบัติงานของผู้บริหาร" โดยกำหนดให้มีคณะกรรมการประเมินผลการปฏิบัติการของอธิการบดี ประกอบด้วยบุคคล 7 คน ซึ่ง 3 คนเป็นกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ โดยมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ 1 คน เป็นประธานกรรมการ หากย้อนดูถึงที่มาของกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ จะพบว่ากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงวุฒิเป็นบุคคลภายนอกซึ่งได้รับการสรรหาให้มาดำรงตำแหน่งโดย "คณะกรรมการสรรหากรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ" มีอธิการบดีเป็นประธานคณะกรรมการ

หมายความว่า ในแง่ของตรวจสอบหรือประเมินผลจะไม่มีความสมเหตุสมผลแต่อย่างใด เพราะผู้ที่มาประเมินผลการปฏิบัติงานของอธิการบดีเป็นบุคคลที่ได้รับการสรรหาให้มาดำรงตำแหน่งโดยคณะกรรมการที่มีอธิการบดีเองนั่งไปประธานการสรรหา

หากไม่มีการแก้ไข “กฎหมายลูก” ในส่วนนี้แล้ว ก็ไม่อาจจะบรรลุเจตนารมณ์อันแท้จริงของ มาตรา 56 ที่ว่าด้วยเรื่องการตรวจสอบอธิการบดีได้เลย ตรงนี้เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษ ประมาทนิดเดียวอาจโดนลักไก่ได้

 

มหาวิทยาลัยนอกระบบ 101 กับ “ปกรณ์ อารีกุล”

 

คลิปของ ปกรณ์ หรือ “แมน” ที่ถ่ายทำเรื่อง “ม.นอกระบบ” โดยเลียนแบบไสตล์ “แอล โอรส

แก๊งค์วัยรุ่นที่กำลังโด่งดังในโซเชียลมีเดีย

 

ความรู้เบื้องต้นเรื่อง ม.นอกระบบ

ปกรณ์ อารีกุล กล่าวว่า การออกนอกระบบราชการของมหาวิทยาลัยจะมีผลเมื่อมีกฎหมายมารองรับ คือมีการร่าง พ.ร.บ. ของมหาวิทยาลัยขึ้นมาใหม่ ฐานะของการอยู่นอกหรือในระบบราชการ จะถูกระบุไว้ใน พ.ร.บ. ในส่วนที่ว่า “มหาวิทยาลัยมีฐานะเป็นหน่วยงานในกำกับของรัฐ ซึ่งไม่เป็นส่วนราชการตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน กฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ และกฎหมายว่าด้วยการปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธการงบประมาณและกฎหมายอื่น” เมื่อมหาวิทยาลัยไม่ต้องอยู่ภายใต้ระเบียบต่างๆ ดังที่กล่าวมา สภามหาวิทยาลัยจึงสามารถดูแลบริหารงานได้อย่างอิสระ ซึ่งรวมไปการกำหนดอัตราค่าธรรมต่างๆ โดยยึดมติของที่ประชุมกรรมสภามหาวิทยาลัย

เวลาสภามหาวิทยาลัยต้องการกำหนดระเบียบต่างๆ ก็จะนำระเบียบฉบับนั้นไปผ่านที่ประชุมสภาของมหาวิทยาลัย และเมื่อสภามหาวิทยาลัยมีอำนาจอิสระอย่างเต็มที่แล้ว การพิจารณาก็ทำเพียงยึดมติเสียงข้างมากในที่ประชุม ระเบียบทุกระเบียบก็สามารถออกมาได้ เช่น ในระเบียบว่าด้วยการเก็บเงินค่าบำรุงและค่าธรรมเนียมการศึกษา จะระบุว่า อาศัยอำนาจตามความในมาตรานั้นๆ แห่ง พ.ร.บ.ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีความว่า สภามหาวิทยาลัยมีอำนาจและหน้าที่ควบคุมดูแลกิจการทั่วไปของมหาวิทยาลัยอำนาจและหน้าที่เช่นว่านี้ให้รวมถึง ออกข้อบังคับและระเบียบเกี่ยวกับการบริหารงานการเงิน การพัสดุและทรัพย์สินของมหาวิทยาลัย

 

ค่าเทอมจะแพงขึ้น ?

ปกรณ์ กล่าวว่า ในการจัดการศึกษาในแต่ละหลักสูตรก็จะมีต้นทุนอยู่ในการจัดการศึกษาอยู่ แต่เดิมถ้ายังอยู่ในระบบราชการ การจัดการศึกษาในแต่ละหลักสูตรจะได้รับทุนอุดหนุนส่วนหนึ่งมาจากกระทรวงศึกษาธิการ โดยจะเป็นการอุดหนุนรายหัว คำนวณจากจำนวนนักศึกษาที่เรียนในมหาวิทยาลัยนั้นๆ คูณกับเงินที่รัฐจะให้ต่อหัว แล้วมหาลัยก็จะเอาเงินตรงนี้มาอุดหนุนนักศึกษา โดยนักศึกษาอาจต้องจ่ายค่าธรรมเนียมการศึกษาเพียง 50% จากต้นทุนจริงในการจัดการศึกษา หรืออาจจ่ายเพียง 20% ในคณะที่มีต้นทุนการจัดการศึกษาแพง แต่รัฐให้การอุดหนุนเป็นพิเศษ เช่น แพทยศาสตร์ พยาบาล และเมื่อมหาวิทยาลัยยังเป็นส่วนราชการอยู่ ก็จะไม่สามารถนำเงินอุดหนุนรายหัวไปใช้อย่างอื่นนอกเหนือจากนั้นได้

แต่หากมหาวิทยาลัยออกนอกระบบแล้ว มหาวิทยาลัยก็ยังได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐอยู่ แต่ไม่ใช่ในลักษณะของเงินอุดหนุนรายหัว แต่เป็นการจ่ายตามแผนโครงการที่มหาลัยเสนอไปในแต่ละปี ทำให้นักศึกษาทุกคนจะมีต้นทุนที่ 0 บาทเท่ากันหมด ไม่มีเงินสนับสนุนรายหัวจากรัฐ หมายความว่า ผู้เรียนจะต้องรับผิดชอบค่าเรียน 100 %

 

ที่ผ่านมาเกิดอะไรขึ้นบ้าง ?

 

 

จากรายงานของ ThaiPublica พบว่า ค่าเทอมของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณลาดกระบังในปีการศึกษา 2546-2549 มีการจัดเป็น 2 กลุ่ม คือ ภาคปกติและภาคพิเศษ ภาคปกติจะเสียค่าเทอมซึ่งคำนวณจาก ค่าบำรุงมหาวิทยาลัยประมาณ 2,000 บาท รวมกับค่าลงทะเบียนหน่วยกิตละ 150 บาท และเงินอุดหนุนคณะที่ต้องจ่ายคนละประมาณ 5,000 บาท หากลงทะเบียน 21 หน่วยกิต จะได้ค่าเทอมที่ต้องจ่าย คือ 10,150 บาท ส่วนภาคพิเศษจะเสียค่าเทอมแบบเหมาจ่าย ซึ่งแพงกว่าภาคปกติประมาณเท่าตัว

แต่สำหรับนักศึกษาที่เข้าเรียนในปีการศึกษา 2550 เป็นต้นมา จะจ่ายค่าเทอมแบบเหมาจ่ายทั้งหมด โดยไม่มีการแบ่งเป็นภาคปกติหรือภาคพิเศษแต่อย่างใด โดยราคาเหมาจ่ายเริ่มต้นที่ 14,000 บาทต่อเทอม และสูงสุดที่ 25,000 บาทต่อเทอม (ออกนอกระบบปี พ.ศ.2551) ซึ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่าค่าเทอมแบบเหมาจ่ายในยุค “ลาดกระบังนอกระบบ” แพงกว่าค่าเทอมช่วงปี พ.ศ. 2546-2549 เป็นอย่างมาก

เขากล่าวด้วยว่า หากต้นทุนเพิ่ม สภามหาวิทยาลัยก็อาจขึ้นค่าเทอมได้ทันที โดยใช้วิธีขึ้นค่าเทอมในหลักสูตรใหม่ๆ หรือค่อยๆ ปรับขึ้นทีละคณะ ทีละภาควิชา สภามหาวิทยาลัยจะไม่ออกระเบียบมาทีเดียว เพราะนักศึกษาจะค้านแน่นอน และหากศึกษาจากข้อมูลสถิติของมหาวิทยาลัยที่ออกนอกระบบไปแล้ว จะพบว่า หลายมหาวิทยาลัยมีการรับนักศึกษาเพิ่มมากขึ้น แต่จำนวนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานมีเท่าเดิม พื้นที่เท่าเดิม ก็ต้องตั้งคำถามว่า มันสมดุลกันหรือเปล่าระหว่างทรัพยากรที่มีอยู่กับจำนวนผู้ใช้ทรัพยากรที่เพิ่มมากขึ้น

 

 

แนวโน้มที่จะเกิดขึ้น

ปกรณ์ กล่าวว่า เมื่อมหาวิทยาลัยทุกแห่งออกนอกระบบราชการหมด แนวโน้มของการศึกษาในระดับอุดมศึกษา จะเป็นลักษณะที่ผู้เรียนจะต้องออกค่าใช้จ่ายของตัวเอง รัฐบาลก็จะค่อยๆ ลดภาระในการอุดหนุนลง ในมหาวิทยาลัยที่มีประสิทธิภาพในการแปลงสินทรัพย์ของมหาวิทยาลัยเป็นทุน ก็อาจจะสามารถนำเงินตรงนั้นมาอุดหนุนการศึกษาได้ แต่ก็ต้องยอมรับว่าประสิทธิภาพในแต่ละมหาวิทยาลัยในส่วนนี้ก็มีไม่เท่ากัน

ในเชิงหลักการนี่เป็นการสู้กันระหว่างแนวคิดเสรีนิยมกับรัฐสวัสดิการ คือ เสรีนิยม เอาระบบการศึกษาไปผูกโยงกับระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดราคาของการศึกษา และการศึกษาในระดับอุดมศึกษา ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะทางของปัจเจก ปัจเจกก็ควรที่จะรับผิดชอบต้นทุนของตัวเอง และมองว่าเมื่อคนยิ่งมีการศึกษา ก็จะยิ่งเป็นแรงงานที่มีคุณภาพ ซึ่งมันผูกโยงกับค่าจ้างที่สูงขึ้น รัฐจึงไม่มีเหตุผลที่จะเอางบประมาณไปอุดหนุนคนเหล่านี้ เพราะถ้าคุณเป็นแรงงานที่มีฝีมือ แม้จะจ่ายต้องค่าเทอมแพงเท่าไหร่ แต่นายทุนหรือกลไกตลาดก็จะให้ค่าจ้างคุณกลับมาเอง ซึ่งฟังดูดี

แต่สถานการณ์ตอนนี้กลายเป็นว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีคุณภาพน้อย นักศึกษากลับต้องจ่ายค่าเทอมแพงกว่ามหาวิทยาลัยบางแห่งที่มีคุณภาพดีกว่า คณะรัฐศาสตร์หลายแห่งค่าเทอมแพงกว่าที่ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ กล่าวได้ว่ามีภาวะการจ่ายต้นทุนที่เกินจริงและไม่ยึดโยงกับคุณภาพ และวันหนึ่งระบบแบบนี้จะทำให้การศึกษาเป็นสิ่งที่ซื้อหากันได้ หมายความว่ามีเงินก็สามารถซื้อที่นั่งเข้าไปเรียนได้ ชื่อสถาบันเป็นเหมือนแบรนด์สินค้า แต่เราไม่เห็นด้วย เราคิดว่าการศึกษาเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน เป็นสิ่งที่รัฐควรจะจัดเป็นสวัสดิการให้ประชาชนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม อยากเรียนต้องได้เรียน ไม่ใช่สอบติดแต่ไม่มีเงิน จึงเรียนไม่ได้หรือต้องไปกูเงินมาเรียน

 

แนวทางการดำเนินการ

เขาระบุว่า เราก็ไม่ได้ฟันธงว่ามหาวิทยาลัยนอกระบบจะมีแต่ข้อเสียอย่างเดียว โดยหลักการแล้วจะออกนอกระบบก็ได้ จะบริหารจัดการแบบอิสระก็ได้ แต่ต้องออกแบบระบบให้มีกลไกการตรวจสอบในมหาลัย ไม่ใช่ปล่อยให้อำนาจในการบริหารทั้งหมดอยู่ที่ผู้บริหารและสภามหาลัย

นอกจากเรื่องกลไกการตรวจสอบ กลไกถ่วงดุลอำนาจในมหาลัยแล้ว ตุ้นทุนในการจัดการศึกษาจะต้องไม่ผลักภาระไปให้ผู้เรียนมากเกินไป อย่างน้อยที่สุดก็ควรจะเป็นแบบเดิม คือผู้เรียนอาจจ่ายเพียง 50% จากต้นทุนจริง หรือให้ก้าวหน้าที่สุด ในภาคปกติ รัฐให้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรีเลย รัฐอุดหนุน 100% เลย ส่วนภาคพิเศษหรือภาคสมทบก็ตามแต่มหาลัยไหนจะเปิดขึ้นมาเพื่อเป็นพื้นที่ให้กับคนที่มีเงิน แล้วเอาส่วนต่างตรงนี้มาอุดหนุนพัฒนามหาวิทยาลัย อันนี้ก็ไม่ว่ากัน แต่ว่าภาคปกติควรมีที่นั่งไว้รับประกันว่าลูกหลาน คนยากคนจนจะได้เรียน หากสอบติดแล้ว

ทั้งนี้ เว็บไซต์สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาระบุว่า สถาบันอุดมศึกษาในประเทศไทยมี 172 แห่ง แบ่งเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐ 15 แห่ง มหาวิทยาลัยของรัฐ 65 แห่ง  มหาวิทยาลัยเอกชน 40 แห่ง สถาบัน 9 แห่ง วิทยาลัยเอกชน 22 แห่ง วิทยาลัยชุมชน 21

โดยมหาวิทยาลัยที่อยู่ในกำกับของรัฐ หรืออกนอกระบบแล้ว 15 แห่งประกอบด้วย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, มหาวิทยาลัยบูรพา, มหาวิทยาลัยพะเยา, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง, มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, สถาบันดนตรีกัลยาณิวัฒนา

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net