Skip to main content
sharethis


กรณีสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ย่าน 1800 เมกะเฮิรตซ์ ของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด  และบริษัท ดิจิตอลโฟน จำกัด หรือ ดีพีซี ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาสัมปทานกับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในเดือน ก.ย.56 และจากนั้น กสทช.จะต้องนำมาจัดสรรใหม่

(11 ก.พ.56) เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ)ในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม และ อนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ กสทช. กล่าวในการแถลงข่าวเรื่อง "กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานคลื่น 1800 เมกะเฮิร์ต สิ่งที่ผู้บริโภคต้องรับมือ และแนวทางการคุ้มครองผู้บริโภคที่ควรจะเป็น" ว่า ขณะที่ กสทช.ออกมา ยืนยันแล้วว่า ผู้ที่ถือครองคลื่นต้องคืนให้ กสทช. เพื่อนำมาประมูล แต่ยังไม่มีใครออกมาชี้แจงว่าจะเกิดอะไรขึ้นในวันที่ 16 ก.ย. นี้ และจะทำอย่างไรกับลูกค้าประมาณ 17 ล้านรายของทรูในปัจจุบัน

เดือนเด่น กล่าวว่า คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม มีข้อเสนอว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการ ได้แก่  1.กสทช.ต้องแจ้งให้ผู้บริโภคทราบว่าการให้บริการของทั้งสองบริษัทจะสิ้นสุดลงภายในวันที่ 15 กันยายน 2556 2.กสทช.ต้องมีมาตรการโอนย้ายลูกค้าที่ต้องการรักษาเลขหมายเดิม (number portability) โดยให้ผู้ประกอบการเพิ่มขีดความสามารถของบริการโอนย้ายเลขหมาย ปัจจุบันอยู่ที่ 4,000 เลขหมายต่อวันจะโอนย้ายทั้งหมดต้องใช้เวลาสิบกว่าปี ถ้าเพิ่มเป็น 40,000 รายก็ยังต้องใช้เวลา 425 วัน ทั้งนี้ เท่าที่ทราบคือความสามารถจะเพิ่มได้ 60,000-100,000 เลขหมายต่อวัน หรือกระทั่งถึง 300,000 ซึ่งผู้ประกอบการต้องพร้อมจะลงทุน ต้องทำให้แน่นอนว่าจะทำได้ทัน

3. ผู้ประกอบการต้องตรวจสอบรายชื่อผู้ใช้บริการที่ไม่ได้ลงทะเบียนทาง SMS เพื่อให้ทราบเจตจำนงในการย้ายเครือข่าย 4.แพคเกจที่ผูกพันหลังสิ้นสุดสัญญา เช่น ขายมือถือพ่วงแพคเกจเป็นเวลาสองปี มีสองทางเลือก คือ หนึ่ง ผู้ประกอบการต้องปรับแพคเกจ เพราะไม่มีสิทธิประกอบการต่อ จากนั้นต้องคิดว่าจะชดเชยผู้บริโภคอย่างไร หรือ สอง กสทช. ต้องออกเกณฑ์ว่าผู้ประกอบการรายใหม่ที่เข้ามา จะรับช่วงต่อไปอย่างไรกับแพคเกจที่ยังไม่หมดอายุ

5.กสทช.ต้องออกประกาศหลักการในการโอนย้ายผู้ใช้บริการ (Migration rules) อย่างเร่งด่วน ซึ่งจะกำหนดแผนงานในการดำเนินการของผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เกิดภาวะ "จอดำ" ขึ้นในวันที่ 16 ก.ย.56 โดยที่ผู้บริโภคต้องใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง แม้ยังไม่ย้ายก็ต้องใช้ได้ โดยคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ ได้เสนอร่างหลักเกณฑ์ไปแล้ว

โดยแผนดังกล่าวต้องระบุ 1) หลักการในการโอนย้ายผู้ใช้บริการที่ไม่เลือกปฏิบัติ 2) หน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ให้บริการที่สัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง 3) แผนการรองรับการโอนย้ายที่มีขั้นตอนและระยะเวลาที่ชัดเจน เช่น ประกาศกำหนดวันที่ผู้ประกอบการจะหยุดให้บริการ วันที่ต้องแจ้งเตือนผู้ใช้บริการ 4) วิธีดำเนินการสำหรับลูกค้าที่ไม่ได้แจ้งว่าย้ายหรือไม่ 5) การจัดการกับเงินคงค้างในระบบ และ 6) แนวทางในการระงับข้อพิพาทที่เกิดจากการโอนย้าย โดยผู้ประกอบการต้องตั้งหน่วยดูแลข้อพิพาท

เดือนเด่น กล่าวว่า คณะอนุฯ มองว่า หลักการที่สำคัญคือ ผู้บริโภค 17 ล้านรายต้องมีสิทธิที่จะเลือกว่าจะย้ายไปค่ายไหน ดังนั้น ต้องมีการแจ้งให้ทราบและตอบกลับมา ทั้งนี้ จะมีกลุ่มคนที่ไม่เลือก ไม่ตอบ หรือติดต่อไม่ได้  เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียน เหล่านี้เป็นภาระที่ กสทช.ต้องบังคับให้ผู้ประกอบการหาตัวจริงมาให้ได้

เดือนเด่น กล่าวว่า กรณีมีผู้ใช้บริการที่ไม่ได้แจ้งความประสงค์ ในสัญญาเขียนไว้ชัดเจนว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาสัมปทานแล้ว ให้ กสท เป็นผู้ดูแลผู้บริโภคต่อไป เนื่องจากขณะที่ร่าง คิดว่าทุกอย่างจะกลับคืนไป กสท ในฐานะรัฐวิสาหกิจ แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว คำถามคือจะทำอย่างไร เมื่อ กสท มีโครงข่ายแต่ไม่มีคลื่น มีสองซิเนริโอ คือ หนึ่ง หากเปิดประมูลทัน ถ้าเป็นรายเดิมคือทรูก็ไม่เป็นปัญหา แต่ถ้าเป็นรายใหม่ ซึ่งอาจยังสร้างโครงข่าย (roll out) ไม่ทัน อาจให้เจ้าของคลื่นที่ประมูลได้ไปเจรจากับ กสท ขอเช่าโครงข่าย เพื่อให้บริการต่อไป

แบบที่สอง ซึ่งไม่แน่ใจว่าจะมีข้อจำกัดทางด้านกฎหมายอย่างไร คือ หาก กสท ยืนยันว่าจะเป็นผู้ให้บริการต่อเนื่อง ซึ่งก็มีข่าวออกมาว่า กสทช.อาจจะยืดระยะเวลาช่วงเปลี่ยนผ่าน ถ้าเป็นเช่นนั้นก็ต้องถามว่า กสท จะเอาคลื่นที่ไหนมาใช้ เพราะคลื่น 1800 กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนว่า ต้องคืนแล้วนำมาประมูล อนุฯ เสนอว่า กสทช. และ กสท อาจเจรจากับดีแทค เพื่อนำคลื่น 1800 จำนวน 25 MHz ที่ดีแทคถือครองแต่ไม่ได้ใช้ มาใช้ชั่วคราวก่อน

เดือนเด่น กล่าวด้วยว่า จากการสอบถามผู้ประกอบการว่าเหตุใดจึงยังไม่แจ้งผู้บริโภคหรือปรับแพคเกจ ได้คำตอบว่า เพราะ กสทช.ยังไม่มีออกมาบอกว่าหลังวันที่ 16 ก.ย.แล้วจะหารายได้ต่อหรือไม่ จึงยังไม่แจ้งผู้ใช้บริการ เนื่องจากกลัวว่าอาจทำลายรายได้ของ กสท ซึ่งจะเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังนั้น กสทช.ในฐานะองค์กรกำกับดูแล ต้องฟันธงได้แล้ว ไม่เช่นนั้นเอกชนจะไม่ทำอะไรเช่นกัน

สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวเสริมว่า บทเรียนก่อนหน้านี้กรณีฮัทช์ จะเห็นว่ามีเงินคงค้างของผู้ใช้บริการฮัทช์ ทำให้ผู้บริโภคลำบากมาก เพราะฉะนั้น อยากให้กระบวนการจัดการมีความรวดเร็ว เป็นธรรมกับผู้บริโภคด้วย คณะอนุฯ เคยเสนอเรื่องนี้ไปตั้งแต่เมื่อ ส.ค. ปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นยังมีระยะเวลาดำเนินการมากกว่า 1 ปี ปัญหาอาจจะคลี่คลายลง อยากให้ กสทช.ช่วยเร่งรัด และเชื่อว่าผู้ประกอบการเองก็อยากเห็นความชัดเจนเรื่องนี้ 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net