Skip to main content
sharethis


(11 ก.พ.56) สารี อ๋องสมหวัง ประธานอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กสทช. กล่าวว่า  แม้ กสทช.จะประกาศให้ปีนี้เป็นปีทองแห่งการคุ้มครองผู้บริโภคและมีมาตรการคุ้มครองผู้บริโภคออกมาไม่น้อย แต่ในทางปฏิบัติไม่เป็นจริงนัก ไม่ว่าเรื่องค่าโทร 0.99 บาทต่อนาทีที่ยังมีเรื่องร้องเรียน การแจกซิมฟรีแต่กลับมีการเรียกเก็บเงินภายหลัง ระบบพรีเพดซึ่งมักมีการกำหนดให้มีวันหมดอายุ บริการที่จะหมดสัญญาสัมปทานใน 16 ก.ย.นี้ การสมัคร SMS อัตโนมัติ จากเดิมที่ต้องส่งข้อความตอบรับ แต่รูปแบบใหม่ จะมีการส่งข้อความโดยระบบเสียง ต้องฟังจบจนเพื่อกดปฏิเสธ ไม่เช่นนั้นจะถือว่าสมัครโดยอัตโนมัติ

เดือนเด่น นิคมบริรักษ์  ผู้อำนวยการวิจัยด้านการบริหารจัดการระบบเศรษฐกิจ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ในฐานะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า เรื่องที่ร้องเรียนเข้ามาเป็นเรื่องซ้ำๆ เดิมๆ และแก้ปัญหาไม่ได้เสียที ปัญหาเหล่านี้จะแก้ได้โดย กสทช. ต้องส่งเสริมให้มีผู้ประกอบการหลายรายในตลาด

เดือนเด่น กล่าวว่า ตามหลักเศรษฐศาสตร์ มีวิธีคุ้มครองผู้บริโภคสองวิธี หนึ่งคือ ให้กลไกตลาดกดดันกันเอง ให้ผู้ประกอบการแข่งกันเอง ก็จะได้ค่าบริการที่ถูกลง คุณภาพที่ดีขึ้น บริการที่หลากหลาย ตลาดทั่วโลกก็ได้พิสูจน์แล้วว่ายิ่งมีผู้ประกอบการหลายราย ผู้บริโภคก็จะได้รับประโยชน์ สอง หากเปิดแล้ว ไม่มีผู้แข่งขันจริงๆ จึงค่อยกำกับดูแล  แต่ที่ผ่านมา กสทช.ไม่เคยทดลองวิธีแรกเลยว่ากลไกตลาดจะคุ้มครองผู้บริโภคได้หรือไม่ ทั้งยังไม่สามารถกำกับ 3 เจ้าที่มีได้ด้วย

ทั้งนี้ มาตรการที่จะช่วยส่งเสริมการแข่งขัน ได้แก่ มาตรการในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) ที่สอดคล้องกับต้นทุน ปัจจุบัน มีการกำหนดราคาขายปลีกที่นาทีละไม่เกิน 0.99 บาท ซึ่งต่ำกว่าอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายที่นาทีละ 1 บาท ถือเป็นการปิดกั้นรายใหม่ไม่ให้เข้ามาในตลาด เพราะไม่มีใครคิดราคานี้ได้ยกเว้นจะเป็นเจ้าของโครงข่ายเอง ซึ่งก็มีเพียง 3 เจ้าเท่านั้น

เดือนเด่น กล่าวต่อว่า มีหลักฐานชัดเจนว่า IC charge ต่ำกว่า 50 สตางค์แน่ๆ เพราะเมื่อปี 2552 ดีแทคเคยมีโปรโมชั่น "ซิมรับสาย รับทรัพย์" ลูกค้าดีแทคจะได้รับค่าโทรฟรี นาทีละ 0.50 บาท ถ้ารับสายจากเบอร์นอกเครือข่าย หมายความว่า ถ้ามีเบอร์ดีแทคแล้วรับสายเอไอเอส จะได้ฟรี 0.50 บาทต่อนาที ตรงนี้สะท้อนให้เห็นว่า อัตราค่าเชื่อมต่อที่แท้จริงต่ำกว่า 0.50 บาท เพราะแม้จะแบ่งให้ลูกค้า 0.50 บาทแล้ว ก็ยังมีกำไร อย่างไรก็ตาม ทราบมาว่า กสทช. กำลังจะปรับลดค่า IC charge เหลือนาทีละ 0.45 บาท ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่ กสทช. ควรออกมาชี้แจงว่า 0.45 บาทนั้นคิดจากอะไร เพราะสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากทีดีอาร์ไอ เคยศึกษาไว้ที่ 0.27 บาท และบริษัทที่ปรึกษาของ กสทช. เคยเสนอแนะที่ 0.25 บาท

เดือนเด่น กล่าวว่า นอกจากนี้ มาตรการในการกำหนดอัตราค่าเชื่อมต่อ (IC Charge) แล้ว กสทช.จะต้องออกประกาศเรื่องการทำโรมมิง (roaming) มาตรการในการส่งเสริมผู้ให้บริการที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง MVNO และการเช่าใช้โครงข่าย (infrastructure sharing) ด้วย หากไม่มีประกาศ 3 ฉบับนี้ไม่มีทางที่จะมีผู้แข่งขันรายใหม่เข้ามาในตลาดไทย เพราะไม่มีอะไรรับรองว่าเขาจะใช้ หรือเช่าใช้โครงข่ายที่มีอยู่เดิมได้ ต้องลงทุนเองหมด

"จนการประมูล 3G จบไปแล้ว จนจะประมูล 4G ประกาศ 3 ฉบับนี้ก็ยังไม่ออกมา สะท้อนอะไร สะท้อนว่าประเทศไทยไม่ได้เปิด ไม่มีนโยบายใดๆ ที่จะเอื้อให้รายใหม่เข้ามาเลย" เดือนเด่นกล่าว และย้ำว่า  นโยบายในการคุ้มครองผู้บริโภคในอนาคต เรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่เรื่องที่จะออกกฎระเบียบมากมายเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจากโครงสร้างที่ผูกขาด แต่หากแก้โครงสร้างที่ผูกขาดได้ ปัญหาเหล่านี้จะหายไปเอง เพราะที่ผ่านมา ผู้บริโภคถูกเอาเปรียบ ส่วนหนึ่งมาจากผู้ประกอบการมีเพียง 3 รายและไม่อยากจะแข่งขันกัน

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net