Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

อธิบายภาพ : ภาพแสดงให้เห็นฟ้าผ่ายอดมหาวิหารนักบุญเปโตร บันทึกโดย BBC

เกริ่นนำ

ประกาศสภาพระสังฆราชคาทอลิกแห่งประเทศไทย ลงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2013 ยืนยันข่าวการสละตำแหน่งผู้นำศาสนจักรของสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 ซึ่งจะมีผลในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2013 (02.00 น. ของวันที่ 1 มีนาคม 2013 ตามเวลาในประเทศไทย) พร้อมกับเน้นว่า ประหลาดใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะตลอด 600 ปีที่ผ่านมา ยังไม่มีสันตะปาปาทรงลาออกเลย [1] เหตุการณ์นี้ ชวนให้นักวิชาการด้านศาสนจักรทั่วโลก วิเคราะห์ไปต่างๆนานา ว่ามีอะไรที่มากไปกว่าเหตุผลเรื่องพระสุขภาพของพระองค์หรือไม่ และเพื่อชวนให้ผู้อ่านตั้งข้อสังเกต เราอาจวิเคราะห์ได้ดีขึ้นเมื่อพิจารณาข้อมูลการลาออกของอดีตสันตะปาปาในประวัติศาสตร์ศาสนจักร เพราะต้องไม่ลืมว่า คาร์ดินัล ยอแซฟ รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) ผู้นี้ เป็น นักวิชาการสายอนุรักษนิยม อันการที่พระองค์ทรงลาออกก่อนวันครบรอบสมณสมัยปีที่ 8 ในวันที่ 19 เมษายน 2013 ที่กำลังจะมาถึงอีกไม่นาน และยังเป็นการลาออกในระหว่างเทศกาลถือพรต (Lent) ของชาวคริสต์คาทอลิกอีกด้วย จะไม่มีความหมายอื่นเลยหรือ?


เนื้อหา

ตามประวัติศาสตร์อันยาวนานของศาสนจักร มีสันตะปาปาเคยลาออกทั้งสิ้น  8 พระองค์ (เบเนดิกต์ที่ 16 เป็นองค์ที่ 9) และแต่ละพระองค์ก็มีเหตุผลของการลาออกที่น่าสนใจ ดังข้อมูลต่อไปนี้

(1) สันตะปาปานักบุญปอนสิอานูสมรณสักขี (St.Pontianus the Martyr) [2] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 230-235 เป็นสันตะปาปาพระองค์แรกที่สละตำแหน่ง เหตุการณ์สำคัญในสมณสมัยของพระองค์ คือ เรื่องของนักคิดหัวรุนแรงอย่างนักบุญฮิปโปลีตูส (St.Hippolytus the Martyr) [3] สังฆราชแห่งกรุงโรม ผู้เป็น “สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (Anti-Pope) พระองค์แรก (สัญญาณเกี่ยวกับการประกาศแบ่งแยกการปกครองระหว่างนิกายคาทอลิกกับนิกายออร์โธดอกซ์) ต่อมาในปลายสมณสมัย พระองค์และฮิปโปลีตูส ถูกเนรเทศโดยจักรพรรดิแม๊กซีมีนูส ชาวธรากซ์ (Maximinus Thrax) ให้ไปทำงานหนักในเหมืองบนเกาะซาร์ดิเนีย (Sardinia Island) ฉะนั้น เพื่อให้ศาสนจักรเดินหน้าไปต่อได้จึงสละตำแหน่งในเดือนกันยายน คริสตศักราช 235 ซึ่งสันตะปาปาที่รับตำแหน่งต่อจากพระองค์ ก็ครองสมณสมัยได้ไม่ยาวนานอีกเช่นกัน เหตุเพราะการเมืองการเบียดเบียนศาสนจักร

(2) สันตะปาปานักบุญมาร์แชลลีนูส (St. Marcellinus) [4] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 296-304? เป็นสันตะปาปาในยุคการเมืองเบียดเบียนศาสนจักรอีกเช่นกัน (สมัยจักรพรรดิไดโอกลีเตียน – Diocletian) ต่อมาในปลายสมณสมัยของพระองค์ จักรพรรดิไดโอกลีเตียนและบรรดาผู้สำเร็จราชการได้ออกประกาศ 5 ฉบับ เพื่อเพิกถอนสิทธิความเป็นพลเมืองที่เป็นคริสตชน รวมถึง การทำลายศาสนสถาน คัมภีร์ นักบวชในศาสนาคริสต์ เหตุการณ์นี้เป็นการประหัตประหารใหญ่ครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ (Great Diocletianic Persecution) [5] เชื่อกันว่า พระองค์สละตำแหน่งและมรณภาพแบบมรณสักขี (แม้ว่าจะไม่ชื่อบันทึกไว้ในสารบบมรณสักขีก็ตาม) ภายหลังการมรณภาพของพระองค์ในปี 304 ตำแหน่งสันตะปาปาว่างลงเป็นเวลา 4 ปี เนื่องจากการเบียดเบียนศาสนจักรยังไม่คลี่คลาย

(3) สันตะปาปาลีเบรีอูส (Liberius) [6] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 352-366 ทรงเป็นสันตะปาปาท่ามกลางความขัดแย้งทางความคิดเกี่ยวกับเทววิทยาเรื่องพระธรรมชาติของพระเจ้า พระองค์ต่อต้านคำสอนตามแนวคิดแบบแอเรียน (Arianism) ที่เผยแพร่อย่างกว้างขวาง (พวกแอเรียนเชื่อว่า พระเยซูไม่ได้มีพระธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้สร้าง เป็นแต่เพียงสิ่งถูกสร้างในฐานะผู้ศักดิ์สิทธิ์องค์หนึ่ง คือ เป็นสิ่งที่ต่างกัน-hetero-ousios) และฝ่ายสนับสนุนแนวคิดแบบแอเรียนยังมีการแต่งตั้ง “สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (Anti-pope) ทรงพระนามว่า “เฟลิกซ์ที่ 2” (Felix II) [7] เพื่อต่อต้านความคิดเดิมที่ว่า พระเยซูมีพระธรรมชาติเป็นหนึ่งเดียวกับองค์พระผู้สร้าง เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันมิได้ (homo-ousios) ถือว่าเป็นยุคสมัยที่มีความขัดแย้งภายในมากช่วงหนึ่ง ที่สุดแล้ว พระองค์จึงสละตำแหน่ง

(4) สันตะปาปายอห์นที่ 18 (John XVIII) [8] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1004-1009 ประวัติศาสตร์ในสมณสมัยของพระองค์ไม่แน่ชัดนัก นักประวัติศาสตร์เสนอว่าเป็นไปได้ที่พระองค์จะไม่ได้สละตำแหน่งด้วยพระองค์เอง [9] แต่อาจเนื่องมาแรงกดดันจากความขัดแย้งภายในของการเมืองระหว่างตระกูลนักบวช ทรงมรณภาพในสถานะฤาษี (monk) ที่อารามนักบุญเปาโลใกล้กรุงโรมในปีเดียวกันกับที่สละตำแหน่ง

(5) สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 9 (Benedict IX) [10] ครองสมณสมัยอย่างไม่ต่อเนื่องระหว่างปีคริสตศักราช 1032-1047ทรงได้รับเลือกขณะมีพระชนมายุเพียง 12 พรรษา ช่วงเวลานี้มีความวุ่นวายเกี่ยวกับการแก่งแย่งชิงดีอำนาจผู้นำศาสนจักร พระองค์ครองสมณสมัย 3 รอบ ในช่วงเวลาสั้นๆ คือ ครั้งที่ 1 ระหว่างปี 1032-1044 ครั้งที่ 2 ระหว่างปี 1045 (ประมาณ 20 วัน) ครั้งที่ 3 ระหว่างปี 1047 ซึ่งมีข่าวลือว่าทรงสละตำแหน่งให้ (หรือขายให้?) พ่อทูนหัว (God father) ของตน คือ สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 (Gregory VI-1045-1046) ประวัติศาสตร์ช่วงนี้แม้จะมีความสับสนเกี่ยวกับการหากินกับศาสนาอย่างเปิดเผย แต่มีข้อน่าสังเกตว่า ก่อนสิ้นพระชนม์ในปี 1046 สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 จัดตั้งกองทัพของศาสนจักรด้วย ส่วนสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 9 ในบั้นปลายมรณภาพที่อารามกร๊อตตาแฟรราตา (Grottaferrata)

(6) สันตะปาปาเกรโกรีที่ 6 (Gregory VI) ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1045-1046 พระองค์ถูกตัดสินฐานซื้อตำแหน่งสันตะปาปา [11] ไม่นานหลังจากการถูกบีบให้สละตำแหน่งโดยที่ประชุมที่ซูตรี (Sutri) ก็สิ้นพระชนม์

(7) สันตะปาปานักบุญเซเลสตีนที่ 5 (Celestine V) [12] ครองสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1294 (สิงหาคม– ธันวาคม) ทรงมีชาติกำเนิดที่ยากจนและเป็นนักพรตในคณะเบเนดิกติน (Order of St.Benedict) เรื่องการดำรงตำแหน่งของพระองค์เกิดจากการที่บรรดาคาร์ดินัล (ฐานันดรที่มีสิทธิ์เลือกสันตะปาปา) ตกลงกันไม่ได้ว่าจะให้ใครขึ้นดำรงตำแหน่งประมุขศาสนจักร จึงจับผลัดจับผลูมาเลือกพระองค์ (นักพรต Pietro da Morrone) ต่อมา เพราะพระองค์ไม่รู้ภาษาลาตินซึ่งเป็นภาษาราชการ ทั้งยังมีพระทัยปรารถนาชีวิตบำเพ็ญพรต จึงขอลาออกท่ามกลางบรรดาคาร์ดินัล แต่พระองค์โชคร้ายยิ่ง เพราะ สันตะปาปาองค์ต่อไป คือ โบนิฟาซที่ 8 (Boniface VIII) ไม่อนุญาตให้กลับไปบำเพ็ญพรตที่อาราม เพราะกลัวว่า จะมีใครยุยงให้พระองค์ทวงสิทธิ์ความเป็นสันตะปาปาหรือตั้งตนเป็นสันตะปาปาอีกครั้ง (Anti-Pope)  จึงจำกัดบริเวณพระองค์ให้บำเพ็ญพรตอยู่ในค่ายทหารเท่านั้น [13]

(8) สันตะปาปาเกรโกรีที่ 12 (Gregory XII) [14] ครองสมณสมัยระหว่างปีคริสตศักราช 1406-1415 อันเป็นยุคที่ความขัดแย้งทางการเมืองภายในศาสนจักรสะสมมาถึงจุดใกล้แตกหัก ซึ่งจำเป็นต้องอธิบายถึงการลี้ภัยของสันตะปาปาเคลเมนต์ที่ 5 (Clement V) ไปยังเมืองอาวีญง ประเทศฝรั่งเศส ในปี 1309 อันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา และต่อมาสันตะปาปายอห์นที่ 22 (John XXII) ก็ประทับอยู่ที่อาวิญง เช่นเดียวกัน แต่พร้อมกันนั้นกรุงโรมกลับมีการแต่งตั้ง “สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (Anti-pope) ภายใต้อุปถัมภ์ของเชื้อพระวงศ์ อย่างไรก็ตาม แม้ตอนหลังเรื่องการแต่งตั้งซ้อนจะจบลง แต่สันตะปาปาอีกพระองค์ถัดจากยอห์นที่ 22 คือ เบเนดิกต์ที่ 12 (Benedict XII) ซึ่งเป็นนักพรตคณะคาร์ธูสเซียน (Carthusian) ก็ประทับที่อาวีญงเช่นเดิมอีก จนที่สุด เมื่อเกิดความขัดแย้งทางการเมืองภายในปะทุขึ้นอีกครั้ง จึงทำให้คาร์ดินัลแบ่งออกเป็นสองฝ่าย และต่างสถาปนาสันตะปาปาของตนในระหว่างปี 1378 ซึ่งเมื่อสันตะปาปาเกรโกรี่ที่ 12 ครองสมณสมัยจึงทำให้พระองค์ต้องประสบกับปัญหาการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ พระองค์พยายามแก้ไขปัญหาเรื่อง “สันตะปาปาโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย” (Anti-pope) ที่เมืองอาวีญง แต่เหตุการณ์กลับเลวร้ายกว่านั้น เมื่อมีการแต่งตั้งสันตะปาปาซ้อน (Counter pope) ขึ้นมาอีกองค์จากเมืองปีซ่า ประเทศอิตาลี พระนามว่า อเล็กซานเดอร์ ที่ 5 (Alexander V : 1409) และที่สุดพระองค์ทรงจำนนต่อข้อตกลงของสภาสังคายนาเมืองคอนแตนซ์ (Constance Council: 1414-1418)จึงสละตำแหน่งสันตะปาปาในปี 1415 โดยหวังว่าเหตุการณ์จะดีขึ้น [15]

600 ปีต่อมา สันตะปาปาองค์ปัจจุบัน เบเนดิกต์ที่ 16 (Benedict XVI) ผู้ได้รับเลือกจากบรรดาคาร์ดินัลในระยะเวลาอันรวดเร็วเพียง 2 วัน ในวันที่ 19 เมษายน 2005 ผู้ทรงเป็นสันตะปาปาที่มีอายุมากที่สุดเท่าที่เคยมีการเลือก (78 ปี) ผู้เป็นพระราชาคณะที่ดำรงตำแหน่งสำคัญเกี่ยวกับความเชื่อมาโดยตลอด เช่น ประธานสมณกระทรวงพระสัจธรรม ในปี 1981 (Congregation for the Doctrine of the Faith) ซึ่งมีหน้าที่หลักเกี่ยวกับการพิทักษ์ข้อคำสอน (Doctrine) ของศาสนจักร จนได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย [16] ตัดสินพระทัยสละตำแหน่งผู้นำศาสนจักร

แม้พระองค์จะให้เหตุผลที่ชัดเจนเกี่ยวกับพระสุขภาพและพระชันษาที่สูงวัย แต่ในทัศนะของนักวิชาการด้านเทววิทยาหลายคน เช่น ฮันส์ คุง (Hans Kung) กลับมีความเห็นว่า “แม้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้สำหรับการสละตำแหน่ง แต่หวังว่า รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) จะไม่เคลื่อนไหวเพื่อสนับสนุนใครขึ้นมาแทนที่ พร้อมกับตั้งข้อสังเกตว่า ในสมณสมัยของเบเนดิกต์ที่ 16 มีการแต่งตั้งฐานันดรคาร์ดินัลสายอนุรักษ์นิยมมากมาย ซึ่งการแก้ไขความขัดแย้งภายในศาสนจักรนั้นไม่ใช่เรื่องที่คนเพียงคนเดียวจะจัดการได้อีกต่อไป” [17] การสละตำแหน่งในครั้งนี้จึงยังน่าจับตามองอยู่นั่นเอง


สรุป

ไม่ว่าเหตุผลในการสละตำแหน่งของสันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16 จะมีมากกว่าที่พระองค์ชี้แจงหรือไม่ แต่ประวัติศาสตร์การลาออกของสันตะปาปาในศาสนจักรสะท้อนให้เห็นถึงเครื่องหมายของความขัดแย้งภายในอยู่เสมอ เพราะในฐานะนักวิชาการทางเทววิทยาที่สำคัญคนหนึ่ง รัตซิงเกอร์ (สันตะปาปาเบเนดิกต์ที่ 16) จะไม่รู้เชียวหรือว่า เคยเกิดอะไรขึ้นบ้างในศาสนจักรที่ตนเองได้รับเลือกให้ปกครองนี้ และไม่รู้เชียวหรือว่ามีความขัดแย้งอะไรบ้างในสันตะสำนัก (Curia-สำนักงานบริหารส่วนกลาง) ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ข้อสงสัยคงไม่ได้รับคำตอบในเร็วๆนี้ แต่เราสามารถเก็บเกี่ยวเอาแบบอย่างที่ดีอย่างผู้นำศาสนจักรคนนี้ได้อย่างน้อยที่สุด คือ “การรู้จักปล่อยวางตนเองจากเกมอำนาจ”



อ้างอิง
[1] http://www.catholic.or.th/service/download/document/2013/bsthai2013.jpg
[2] http://www.newadvent.org/cathen/12229b.htm
[3] http://www.newadvent.org/cathen/07360c.htm
[4] http://www.newadvent.org/cathen/09637d.htm
[5] http://www.fourthcentury.com/notwppages/persecution-timeline.htm
[6] http://www.newadvent.org/cathen/09217a.htm
[7] http://www.fourthcentury.com/index.php/avellana-1-english
[8] http://www.newadvent.org/cathen/08429a.htm
[9] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope4/pope_John_XVIII_/pope_john_xviii_.html
[10] http://www.newadvent.org/cathen/02429a.htm
[11] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope3/Benedict_IX_/benedict_ix_.html
[12] http://en.wikipedia.org/wiki/Pope_Celestine_V
[13] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope2/St__Celestine_V/st__celestine_v.html
[14] http://www.newadvent.org/cathen/07001a.htm
[15] http://haab.catholic.or.th/Pope/pope2/Gregory_XII/gregory_xii.html
[16] http://www.bbc.co.uk/news/world-europe-11141340
[17] http://protectthepope.com/?p=6727

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net