Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

บทความ “ความขัดแย้งภายในหมู่ประชาชนและหลักการแก้ปัญหา” ของ อ.ธิดา ถาวรเศรษฐ ได้สะท้อนความกังวลต่อบทบาทการนำของ นปช. ต่อมวลชนเสื้อแดง โดยชี้ว่ามีความพยายามช่วงชิงการนำด้วยการโจมตี บิดเบือนข้อเท็จจริง เพื่อใส่ร้ายป้ายสี นปช.

อ.ธิดา อาจจะคิดว่าเป็นเพราะข่าวสารผิดพลาด และมีความพยายามช่วงชิงการนำ แต่บทบาทการนำได้ถดถอยมาก่อนหน้านี้นานพอสมควร

ความถดถอยในบทบาทการนำ
นับตั้งแต่ปี 2551 หลังจากยึดทำเนียบของ พธม. ที่ได้ผลักดันมวลชนเสื้อแดงออกสู่ท้องถนน นปช. ยุคใหม่ก็ได้แสดงบทบาทการนำแต่นั้นมา นปช. สามารถระดมมาชุมนุมไม่น้อยกว่าห้าแสนคนในปี 2553 ซึ่งเป็นการชุมนุมขนาดใหญ่ที่ยาวนานในประวัติศาสตร์

แค่ภายหลังการปราบปรามการชุมนุมที่ราชประสงค์ ในวันที่ 19 พฤษภาคม 2553 แกนนำของ นปช. ถูกจับกุม ทำให้การเคลื่อนไหวโดย นปช. ขาดหายไป ขณะที่ สมบัติ บุญงามอนงค์และมวลชนเสื้อแดงจำนวนหนึ่ง รวมถึงเสื้อแดงกลุ่มย่อยบางส่วน ยังคงเคลื่อนไหวท้าทาย พรก.ฉุกเฉิน จนถึงจุดสูงสุดในวันที่ 19 ตุลาคม 2553 ที่มาร่วมชุมนุมหลายหมื่นคน

การเคลื่อนไหวส่งผลมวลชนเสื้อแดงและเสื้อแดงกลุ่มย่อยมีประสบการณ์มากขึ้น มีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ในวันที่ 10 ตุลาคม 2553 เสื้อแดงภาคตะวันตก จัดขบวนรถยนต์ประมาณ 30 คัน รวมกับเสื้อแดงใน กทม.และพื้นที่ใกล้เคียง มีรถยนต์ประมาณ 100 คัน เดินทางราชประสงค์ไปยังอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ขณะเดียวกัน นปช. ยังคงไม่มีการเคลื่อนไหว กว่าที่ นปช. จะเคลื่อนไหวก็เป็นช่วงหลังจาก รัฐบาลอภิสิทธิ์ ยกเลิกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเดือนธันวาคม 2553

ถึงแม้ว่า การเคลื่อนไหวในช่วงเวลานี้ จะไม่มีผลต่อการยอมรับการนำของ นปช. แต่เสื้อแดงกลุ่มย่อมมีการยกระดับความสามารถในการเคลื่อนไหว ส่งผลต่อความมั่นใจในการเคลื่อนไหวด้วยตัวเอง

ต่อมา การรณรงค์รวบรวมรายชื่อแก้ไขมาตรา 112 นำโดย ครก.  ขณะที่ พท. ขัดขวางการเคลื่อนไหว ครั้น นปช. ไม่สนับสนุนการเคลื่อนไหวและยังขัดขวาง แต่ไม่แสดงโดยตรงเหมือน พท. เช่น การให้สัมภาษณ์ของ จตุพร พรหมพันธ์ ที่กล่าวโดยนัยว่า มีความพยายามหาข้ออ้างล้มรัฐบาล จากการเคลื่อนไหวแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งสร้างความหวั่นไหวให้กับเสื้อแดง แต่การเคลื่อนไหวไม่ได้หยุดลง เสื้อแดงกลุ่มย่อยได้เข้าร่วมอย่างคึกคักในระดับทั่วประเทศสามารถรวบรวมรายชื่อได้ประมาณ 40,000 รายชื่อ

การขัดขวางการแก้ไข มาตรา 112 ของ พท. ได้ทำลายความเชื่อมั่นของเสื้อแดงที่กระตือรือร้นในเรื่องความตั้งใจของ พท. และ นปช. ในการสร้างประชาธิปไตยสมบูรณ์ ขจัดอำนาจของอำมาตยาธิปไตย นี่เป็นจุดเริ่มต้นของการลดระดับการยอมรับการนำของ นปช. ในเสื้อแดงย่อย

ปริญญาโบนันซ่า
ในบทความของประธาน นปช. ได้พยายามชี้ว่า นปช. ได้ทำดีที่สุด ด้วยการอ้างถึงภารกิจในการแก้รัฐธรรมนูญ โดยอ้างถึง “ปฏิญญาโบนันซ่า” ในเดือนธันวาคม 2555 คือ

1) ให้รัฐสภาโหวดผ่านวาระ 3 เพื่อลงมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2) ให้รัฐบาลประกาศรับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศเฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน – พฤษภาคม 2553

3) การออกกฎหมายนิรโทษกรรมให้กับประชาชนในคดีอาญาทั้งหลาย อันเนื่องมาจากความขัดแย้งทางการเมืองทุกสีเสื้อ

ประเด็นการแก้รัฐธรรมนูญ ถึงแม้ว่า นปช. จะอ้างเป็นภารกิจสำคัญ แต่เสื้อแดงรู้ว่า ถ้า พท. ไม่สนับสนุน การผลักดันของ นปช. ก็ไม่มีวันเป็นจริง

ประเด็น การรับรองศาลอาญาระหว่างประเทศ เฉพาะกรณีการปราบปรามประชาชนในวันที่ 10 เมษายน – พฤษภาคม 2553 ในขณะที่ศาลอาญาได้ตัดสินคดีในทิศทางที่เสื้อแดงยอมรับได้ การพิจารณาในทิศทางเป็นไปได้ยากที่ศาลอาญาระหว่างประเทศจะมาแทรกแซง แต่ถ้า นปช. ยังยืนยันในเรื่องนี้ ควรปรับเป็นการให้สัตยาบัน รับรองเขตอำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศ เพื่อป้องกันการปราบปรามการชุมนุมของประชาชนในอนาคตที่อาจจะเกิดขึ้นมากกว่า

ประเด็น การออกกฎหมายนิรโทษกรรม ถึงแม้ว่าจะเป็นเรื่องดีเหมาะสม แต่ในขณะที่ประกาศก็ไม่มีรูปธรรม ไม่มีตัวร่างกฎหมาย และที่สำคัญคือ ช้าเกินไป

การช่วยเหลือนักโทษการเมืองน้อยและช้าเกินไป
การช่วยเหลือนักโทษการเมืองเป็นประเด็นสำคัญมาก เพราะสาเหตุที่พวกเขาต้องถูกจำคุกของบุคคลเหล่านี้สืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่นำโดย นปช. จึงเป็นพันธะที่ไม่อาจปฏิเสธแม้แต่น้อย เมื่อ พท. ได้มาเป็นรัฐบาล สภาได้เสนอร่าง พรบ. ปรองดองฉบับเหมาเข่ง ซึ่งไม่สามารถผ่านออกมาได้ และข้อโต้แย้งมากมาย โดยเฉพาะจากฝ่ายเสื้อแดง

ในช่วงการอดอาหารประท้วงเรียกร้องให้ประกันตัวนักโทษการเมือง เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ 2555 ในคิวอดอาหารของ ดร.สุดา รังกุพันธ์ นายแพทย์เหวง ได้มาเยี่ยม ผมได้ถือโอกาสถามว่า เมื่อไร นปช. จะเสนอร่าง พรบ.นิรโทษกรรมเสื้อแดงในกรณีเผาศาลากลางและ 112 นายแพทย์เหวงตอบว่า ร่างให้เฉพาะคนเหล่านี้ทำไม่ได้ ผมบอกว่า ถ้าผมสามารถร่างได้มาเสนอจะรับไปดำเนินการต่อ นายแพทย์เหวงตอบว่าได้ ถึงแม้ว่า ผมจะไม่สามารถเสนอร่างได้ แต่ข่าวสารได้ไปถึง นปช. แต่กว่าจะมีข้อเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมได้ก็ใช้เวลานานประมาณ 10 เดือน ใน “ปฏิญญาโบนันซ่า” เดือนธันวาคม 2555

แต่ที่มาข้อเรียกร้องกฎหมายนิรโทษกรรมนั้นก็ไม่ได้มาจากข้อเสนอของผม แต่เข้าใจว่ามาจากความกดดันของมวลชนเสื้อแดง เมื่อมีการสั่งถอนประกัน ก่อแก้ว พิกุลทอง ซึ่งแกนนำ นปช.คนที่สองที่ต้องเข้าเรือนจำหลักสี่ แกนนำ นปช.ที่มาเยี่ยม ก่อแก้ว ต้องเผชิญคำถามจากกับมวลชนเสื้อแดงที่มาเยี่ยมนักโทษการเมือง ว่าทำไมประกันแต่แกนนำ สิ่งสำคัญที่ก่อให้เกิดความรู้สึกเช่นนี้ เป็นเพราะแกนนำ นปช. ไม่มีใครแม้แต่คนเดียวจะเยี่ยมนักโทษเหล่านี้แม้แต่ครั้งเดียวตลอดระยะ 2 ปีกว่า ไม่มีการดูแลครอบครัวของบุคคลเหล่านี้แม้แต่น้อย

การรวมตัวของเสื้อแดงในวันที่ 29 ม.ค. นำโดย ดร.สุดา เกิดขึ้นเพราะเสื้อแดงกลุ่มย่อยและมวลชนไม่มีความมั่นใจต่อความมุ่งมั่นของ นปช. ในการผลักดันการนิรโทษกรรม

ถ้าย้อนกลับไปที่การรวบรวมความจริงของเหตุการณ์ พฤษภาคม 2553 คนเสื้อแดงได้ให้ข้อมูลจำนวนมากกับ พท. และ นปช. แต่ นปช. ไม่ได้แสดงตัวเป็นแนวหน้าในการผลักดันและเปิดเผยเรื่องนี้ เพียงแต่ส่งโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ซึ่งทนายผู้นี้ได้เสนอใช้ช่องทางผิดกับอภิสิทธิ์ ผ่านศาลอาญาระหว่างประเทศ

ในการเผยแพร่ความจริงของเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 กลุ่มที่มีบทบาทก็เป็นเสื้อแดงกลุ่มย่อย และ ศปช. ในที่สุด ศปช. ที่ดำเนินงานด้วยงบประมาณจำกัดนี้ สามารถรวบรวมและจัดทำเอกสารที่ส่งผลสะเทือนอย่างมาก ในขณะที่ นปช. และ พท. ไม่สามารถทำได้ทั้งที่มีทรัพยากรมากกว่า

การปรับตัวเพื่อฟื้นฟูการนำ
นปช. ยังเป็นองค์กรที่เสื้อแดงให้ความเชื่อถือและยอมรับการนำมาโดยตลอด มีความสามารถนำการเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ มีผู้เข้าร่วมมาหลายแสนคนถึงสองครั้ง แต่การนำตกต่ำหลังเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553

นปช. ควรจะปรับตัวเพื่อฟื้นฟูช่วงชิงการนำกลับให้ยิ่งใหญ่เหมือนเดิม

ประการแรก ต้องมองเสื้อแดงว่ามีพลวัตร มีขีดความสามารถในการเคลื่อนไหวด้วยตัวเองมากขึ้น ดังนั้นการสั่งการโดยหวังว่าจะเชื่อฟังโดยดีเหมือนในอดีตคงไม่มีอีกแล้ว

ประการที่สอง “ต้องเดินแนวทางมวลชน” ควรเลิกทำตัวเป็นอำมาตย์แดง เหินห่างมวลชน ไม่ฟังเสียงมวลชน

ประการที่สาม นปช. ต้องยืนยันในจุดยืนเคียงข้างมวลชนเสื้อแดงมากขึ้น ดูแลเอาใจใส่ผู้ได้รับผลกระทบ ไปพร้อมกับจุดยืนประชาธิปไตยต่อต้านอำมาตย์

ประการที่สี่ ควรสร้างการเชื่อมโยงกับเสื้อแดงกลุ่มย่อยบนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตย ไม่ควรคิดว่าองค์กรเหล่านี้ต้องขึ้นต่อ ตลอดเวลาที่ผ่านมาฝ่าย นปช. ไม่มีประสิทธิภาพในการสร้างองค์กรรวบรวมเสื้อแดงที่กระจัดกระจายให้เป็นเอกภาพระดับสูง ทั้งที่มีปัจจัยเอื้ออำนวยและทรัพยากร เมื่อถึงเวลานี้ควรลดทิฐิส่วนตัวว่า ทุกคนต้องขึ้นต่อแกนนำ นปช.

ถึงแม้ว่าสถานการณ์ปัจจุบันจะเงียบสงบ พท. สามารถรักษาอำนาจมานานพอสมควร แต่ความเงียบสงบนี้อาจจะเป็นทะเลสงบก่อนพายุใหญ่จะมา ดังนั้น เรามีความต้องการองค์กรนำอย่าง นปช. ในสถานการณ์ที่คนเรือนแสนอาจจะต้องออกมาสู่ท้องถนนอีกครั้งหนึ่ง เพราะองค์กรนำไร้ประสิทธิภาพ ยังดีกว่ามวลชนออกมาแบบอนาธิปไตยที่การสูญเสียจะมากมายมหาศาล

 

 

 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net