Skip to main content
sharethis

ในวันวาเลนไทน์ หรือวันแห่งความรัก ซึ่งตรงกับวันที่ 14 ก.พ.ของทุกปี เขตบางรัก มักจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสหมู่แก่คู่รักชาย-หญิง ในปีนี้ กลุ่มองค์กรรณรงค์ด้านสิทธิทางเพศสภาพหลายแห่ง ซึ่งรวมตัวกันภายใต้ชื่อเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ เดินทางมาร่วมแสดงความยินดีกับคู่รักหญิงชาย พร้อมรณรงค์ให้เห็นถึงความสำคัญของการได้มาซึ่งสิทธิในการจดทะเบียนสมรสของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ว่าจะเป็น หญิงรักหญิง ชายรักชาย หรือกลุ่มคนข้ามเพศ

ประวิตร โรจนพฤกษ์ สัมภาษณ์ "ชุมาพร แต่งเกลี้ยง" เจ้าหน้าที่โครงการประชาธิปไตย มูลนิธิศักยภาพชุมชนและนักเคลื่อนไหว กลุ่มอัญจารี ว่าด้วยการจัดกิจกรรมรณรงค์ อุปสรรคที่พบเจอ ตลอดจนก้าวต่อๆ ไปของการเคลื่อนไหวเรียกร้องสิทธิ 


ชุมาพร แต่งเกลี้ยง
 


คู่รักหญิงรักหญิง ขอจดทะเบียนสมรส แต่เจ้าหน้าที่ไม่อนุญาต
เนื่องจากตามกฎหมาย ต้องเป็นชายและหญิงเท่านั้น




ประวิตร: ทำไมจึงมาทำกิจกรรมปีนี้เป็นปีแรก
ชุมาพร: นักกิจกรรมมาปีนี้ปีแรก แต่ก่อนหน้านี้เมื่อปีที่แล้ว มีคู่ชีวิตที่เป็นคู่รักเพศเดียวกันได้เดินทางมาขอจดทะเบียนสมรส โดยใส่ชุดเจ้าสาวกับเจ้าสาวมา ซึ่งทั้งคู่แจ้งว่าทราบดีอยู่แล้วว่าไม่สามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ต้องการบอกว่าเขามีตัวตนอยู่ หลังอ่านข่าว เครือข่ายก็ตระหนักและสนใจในฐานะที่ทำงานด้านสิทธิอยู่ อยากจะผลักดันและสนับสนุนสิทธิของคู่ชีวิต ไม่ว่าคู่เพศเดียวกัน กลุ่มความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มข้ามเพศ และที่สำคัญ ขณะนี้ เรากำลังผลักดันร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนร่างในสภา แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ยังไม่ได้ตอบสนองความต้องการของกลุ่มเครือข่ายความหลากหลายทางเพศ หรือกลุ่มบุคคลโดยตรง อาจจะมีหลายมาตราที่เรารู้สึกไม่เห็นด้วย อย่างเช่น บุตร หรือจะต้องได้รับการตรวจจากหมอก่อน ถึงจะจดทะเบียนได้ เราจึงต้องการเข้ามาเพื่อให้สังคมได้รับรู้และทำความเข้าใจร่วมกัน ว่าความต้องการของเราคืออะไร

ใบจดทะเบียนสมรสไม่ได้มีความหมายมากกว่าความรักก็จริง แต่ว่ามันก็เป็นหลักประกันให้กับคู่ชีวิต ว่าเขาสามารถดูแลกันได้ยามป่วยไข้ แต่ปัจจุบันถ้าหากคู่สมรสหญิง-หญิงป่วยไข้ก็ไม่สามารถดูแลกันได้ เพราะไม่ได้จดทะเบียนสมรส หมอไม่อนุญาตให้อีกคนหนึ่งเซ็นในกรณีสำคัญ ทั้งที่เขามีชีวิตอยู่กันนาน หรือในเรื่องของการประกันชีวิตก็ไม่สามารถประกันชีวิตให้กันได้ ไม่สามารถจะรับบุตรบุญธรรมได้ ตัวนี้ยังมีช่องว่างมีมาก ที่เราต้องผลักดันเคลื่อนไหวต่อไป
 

มองว่าอุปสรรคหลักของการผลักดันเรื่องนี้คืออะไร ทัศนคติของนักการเมือง สังคม หรือกลุ่มไหน
ไม่ได้คิดว่าทัศนคติสังคมผิด เพียงแต่มองว่าข้อมูลข่าวสารยังไปไม่ถึง ดูจากการได้ที่เข้าร่วมทำความเข้าใจกับ ส.ส. หรือผู้รับสมัครเลือกตั้งไม่ว่าสุขุมพันธุ์หรือพงศพัศ เข้ามารับฟังว่าว่าเครือข่ายความหลากหลายทางเพศต้องการนโยบายอะไรบ้าง เห็นได้ว่าหากมีการอธิบายให้ข้อมูลที่ถูกต้อง และจากการที่คนไทยเปิดรับเรื่องเหล่านี้ง่ายอยู่แล้ว เราจะเห็นคาบาเร่ต์ เกย์ กระเทย ทอม ดี้ เดินอยู่ทั่วไป แต่ยังไม่มีกฎหมายรองรับเลย เชื่อว่าหากประชาสัมพันธ์ เชิญชวนให้กับกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศเข้ามาอธิบายให้ครอบครัว เพื่อนพี่น้องเข้าใจ น่าจะไม่ยาก แต่สิ่งที่ยากคืออยากได้พื้นที่ในการทำความเข้าใจจุดนี้มากกว่า
 

การหาพื้นที่ ปัญหาอยู่ที่ไหน จริงๆ สื่อเสนอเรื่องเพศสภาพ แต่เป็นแบบสเตอริโอไทป์หรือเปล่า
จริงๆ แล้วเรามีปัญหาสองด้าน ด้านแรกคือสื่อไม่ได้เปิดพื้นที่ให้กับกลุ่มเครือข่ายในการเรียกร้องสิทธิได้มากพอ อีกด้านคือ สื่อได้เสนอภาพความเป็นตลกโปกฮา อคติด้านลบไปมาก จนคน อย่างมากที่สุดคือไม่กล้า come out ออกมา หรือแสดงตัว

 


 

มีความเชื่อกันว่าไทยค่อนข้างเปิดเรื่องกระเทย เกย์ หรือความหลากหลายทางเพศสภาพ ตรงนี้สะท้อนความเป็นจริงแค่ไหน ทั้งในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือเอเชียด้วยกัน
อันนี้เป็นส่วนสำคัญมาก ในระดับอาเซียนถือว่าเราก้าวหน้าที่สุดแล้วทั้งในด้านกฎหมายและการยอมรับ มองว่าความก้าวหน้าที่เกิดขึ้นของเรามันมาพร้อมกับระบบ commercial หรือระบบธุรกิจ มันเปิดออกทางด้านคาบาเร่ย์ การโชว์ คือทุกคนมองว่าเมืองไทยเปิดรับด้านนี้ แต่จริงๆ ปัจจุบันไม่มีกฎหมายสักฉบับเลยที่จะรองรับ ไม่เฉพาะเรื่องคู่ชีวิต สมมติกระเทยคนหนึ่งเข้าไปรับการรักษาพยาบาล เขาไม่มีสิทธิเลือกห้องผู้ป่วยได้ ต้องไปอยู่กับผู้ชาย ไม่ว่าเขาจะแปลงเพศแล้วหรือไม่ สังคมไทยหรือกฎหมายยังยึดเรื่องเพศกำเนิดเป็นหลัก

เพราะฉะนั้นสังคมหรือประชาคมโลกอาจจะเห็นว่าสังคมไทยเปิดรับ แต่การเปิดรับที่แท้จริงจะต้องมีกฎหมายรองรับ เพราะกฎหมายจะเป็นตัวสนับสนุนหรือเป็นมาตรฐาน ที่จะทำให้กลุ่มความหลากหลายทางเพศมีสิทธิและที่ยืนจริงๆ ในสังคม
 

ในอเมริกามีนักการเมืองที่เปิดตัวว่ามีความหลากหลายทางเพศสภาพแล้วลงสมัครรับเลือกตั้ง คิดว่ามีความจำเป็นไหมที่ประเทศไทยจะมีแบบเดียวกัน
ในระบบประชาธิปไตย การผลักดันประเด็นความต้องการของเราต้องผลักดันหลายๆ ส่วน ทั้งกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศในสภา ที่ยังไม่เปิดตัวออกมากล้าเปิดตัวออกมา หมายความว่าสังคมเปิดมากขึ้น แล้วก็กฎหมายเปิดมากขึ้น เขากล้าจะยอมรับตัวเองในสาธารณะ อีกส่วนคือการที่เราสามารถผลักดันประเด็น และสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ นักการเมืองรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาผลักดันกฎหมายด้วยตัวของกลุ่มเครือข่ายเอง ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นสำคัญในการผลักดันและขับเคลื่อนเพื่อให้การปกครองของเราสอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาในรูปแบบประชาธิปไตย
 

ได้วางกรอบเวลาเพื่อการสู้เพื่อสิทธิทางกฎหมายไว้ไหม ตั้งเป้าไว้กี่ปี
จริงๆ อยากจะบอกว่าเป็นเรื่องยากมาก เพราะระบบกฎหมายหรือรัฐสภาของเรา ถ้ากฎหมายฉบับไหนไม่ได้รับความสนใจจากสังคมหรือตัว ส.ส.เอง กฎหมายก็อาจจะถูกดอง แต่เรามองเป็นสามประเด็นมากกว่าในการผลักดันประเด็นร่วมกัน

ประเด็นแรกคือ กฎหมายคู่ชีวิตหรือรับรองคู่ชีวิต สองคือ การไม่เลือกปฏิบัติ ตอนนี้เรากำลังรวมทีมกันไม่เฉพาะเครือข่ายหลากหลายทางเพศ มีเครือข่ายแรงงาน คนพิการ กลุ่มแรงงานข้ามชาติ เด็กที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ เป็นกฎหมายเพื่อไม่ให้เกิดการเลือกปฏิบัติตามหลักการที่รับจากยูเอ็น อีกฉบับที่ต้องผลักดันร่วมกันเพราะกฎหมายแต่งงานฉบับเดียวยังไม่เพียงพอ นั่นคือ กฎหมายรับรองอัตลักษณ์บุคคล แม้กระทั่งคนที่จะเลือกว่าจะเป็น นาง นางสาว หรืออื่นๆ ตอนนี้ยังไม่มีสิทธิที่จะเลือก เปลี่ยนได้ ถ้ากฎหมายสามตัวนี้คลอดออกมา หมายความว่ามันสามารถล้อแล้วก็ทำงานร่วมกันได้ การมีกฎหมายคู่ชีวิตเพียงอย่างเดียวไม่สามารถทำให้เรามีสิทธิหรือมีสิทธิเท่าเทียมคนอื่น แต่การมีกฎหมายรับรองทุกส่วนจะทำให้เรามีสิทธิเท่าเทียมกัน กรอบของเวลา เป็นเรื่องของพลังที่เราผลักไปมากกว่า และต้องขอให้สภาและ ส.ส. ตระหนักถึงความสำคัญของเรา และเร่งผลักดันด้านกฎหมาย แต่อย่างที่บอกไปว่ากฎหมาย ถ้ากฎหมายเข้าไปในสภาแล้วเรายังถูกตีตราเช่นต้องได้รับการตรวจโรคก่อน หรือเช็คก่อนว่าอยู่ร่วมกันมากี่เดือนกี่ปี ตรงนี้ก็ไม่มีความเท่าเทียมตามหลักสิทธิมนุษยชน เพราะฉะนั้นตัวกฎหมายที่เข้าไปในสภาก็ต้องล้อไปหลักสิทธิมนุษยชน
 

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net