เสวนา 'การนิรโทษกรรมทางการเมือง' เสนอนิรโทษกรรมเพื่อมนุษยธรรม

14 ก.พ.56 เวลา 13.00 น. ห้อง PSB 1011 คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทางคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ร่วมกับ มูลนิธิคอนราดอเดนาวร์ และมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย ได้จัดเสวนาในหัวข้อ “การนิรโทษกรรมทางการเมือง” โดยมีวิทยากรคือ ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอิสระ, ผศ.ชาตรี เรืองเดชณรงค์ คณบดีคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และดำเนินรายการโดย อ.ดร.มาลินี คุ้มสุภา คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ความหมายของการนิรโทษกรรม การอภัยโทษ และการล้างมลทิน
ผศ.ชาตรี เรืองเดชณรงค์ กล่าวว่าทั้งการนิรโทษกรรม การอภัยโทษ และการล้างมลทิน การออกกฎหมายทั้งสามตัวเป็นเครื่องมือทางการเมืองอย่างหนึ่งที่จะใช้ลดความขัดแย้งในสังคม ในความขัดแย้งมันมีการเดินขบวน มีการจลาจลเกิดขึ้นด้วยอารมณ์ หรือบางครั้งมีการใช้กำลัง ไม่ว่าฝ่ายรัฐหรือฝ่ายประชาชน มันจึงต้องมีเครื่องมือในการลดความขัดแย้งเหล่านี้ ที่ผ่านมาในอดีต ทั้งสามวิธีเคยถูกใช้มาทั้งนั้น

ความหมายของกฎหมายนิรโทษกรรม พูดง่ายๆ ก็คือที่ทำกันไป ลืมมันเถอะ ที่มีการทะเลาะกัน มีการยึดสนามบิน ไปชุมนุมที่ราชประสงค์ ลืมมันได้ไหม ถ้าจะเอาเป็นเอาตายว่าใครผิดใครถูก กระบวนการพิสูจน์ความผิดก็ยังใช้เวลาอีก คนที่อยู่ในคุกแล้วไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว นิรโทษกรรมคือการบอกว่าไม่ดำเนินพิจารณาคดี รัฐจะไม่พิสูจน์ความผิดอีก เท่ากับว่าคนที่อยู่ในกระบวนการยุติธรรม อยู่ระหว่างการพิจารณาคดี ก็เป็นอันว่าเจ๊ากันไป ต้องปล่อยตัวคนที่ถูกคุมขัง และถือว่าคนเหล่านี้ไม่มีความผิด สิทธิ์ต่างๆ เช่น สิทธิในการรับราชการ สิทธิในการเล่นการเมือง ก็ยังคงมีอยู่ โดยถือว่าเขาไม่ได้กระทำความผิดมาก่อนเลย

กรณีถ้าเป็นกฎหมายอภัยโทษ ใช้ในกรณีที่ศาลพิพากษาไปแล้ว แล้วจึงมาอภัยโทษ ถ้าหากได้รับโทษอยู่ในระหว่างการคุมขัง ถ้าได้รับอภัยโทษ ก็ถือว่าคนเหล่านั้นเคยทำผิดและเคยทำโทษ โดยที่สิทธิต่างๆ จะไม่มี ยกเว้นว่าจะไปออกเป็นพระราชบัญญัติล้างมลทินอีกทีหนึ่ง  ส่วนพระราชบัญญัติล้างมลทิน เป็นกฎหมายที่ถือว่าคนที่ได้รับโทษไปแล้ว หรือไม่ได้รับโทษก็ตาม ถ้ามีกฎหมายออกมา ถือว่าสิ่งที่เคยผิดก็ล้างมลทินไปเลย สิทธิต่างๆ ที่เคยมี ก็จะกลับมา

ทั้งสามอันนี้เป็นเครื่องมือเหมือนกัน วัตถุประสงค์ของมันเอามาใช้ลดความขัดแย้ง แต่จะลดได้มากแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับขอบเขตเนื้อหาของมัน การนิรโทษกรรมจะมีขอบเขตเนื้อหาแค่ไหน ไปนิรโทษกรรมในเหตุการณ์ไหน จะรวมการกระทำไหน หรือตัวผู้กระทำความผิดจะแบ่งแยกแยะว่าเป็นใครบ้าง หรือลักษณะของความผิด้วย ว่าจะเฉพาะที่เกี่ยวกับการชุมนุมทางการเมืองหรือเปล่า หรือไปถึงเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือไม่ เช่น การคอรัปชั่น

ผลของกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าออกมาก็คือเลิกแล้วต่อกัน ไม่ต้องพิสูจน์ความผิดอีก ผลในทางกฎหมายคือความผิดที่ถือเป็นความผิดอาญาก็ยกเว้นไป ในทางแพ่งก็จะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันไม่ได้ หรือการรับผิดในทางปกครองก็จะถูกยกเว้นด้วยเหมือนกัน ถ้าระบุไว้

ข้อถกเถียงว่าการนิรโทษมันควรจะออกเป็นพระราชบัญญัติหรือพระราชกำหนด ถ้าออกเป็น พ.ร.ก.มันมีเงื่อนไขเดียวคือเรื่องของกฎหมายต้องฉุกเฉิน ต้องมีเหตุผลเรื่องความมั่นคง ความปลอดภัยของประเทศ ปัญหาตอนนี้คือจะมีเหตุผลพอไหมที่จะออกเป็น พ.ร.ก. และถ้าออกแล้วไม่เป็นไปตามเงื่อนไขในรัฐธรรมนูญ ถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ ก็จะมีผลกระทบและความเสี่ยงทางการเมืองพอสมควร ตนจึงสนับสนุนให้ออกเป็นพ.ร.บ.มากกว่า แต่พ.ร.บ.ก็จะมีห้วงเวลาในการเสนอ จึงมีเรื่องการต่อรอง มีแรงผลักพอสมควรกว่าจะออกมาได้

ภาพรวมของคดีการเมืองและความจำเป็นต้องนิรโทษกรรม
ผศ.ดร.พวงทอง ภวัครพันธุ์
ให้ข้อมูลถึงตัวเลขของนักโทษการเมืองนับจากเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2553 ว่ามีผู้ถูกจับกุม 1,857 คน และถูกดำเนินคดี  1,763 คน ในจำนวนนี้เป็นคดีข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 1,019 คน ที่เหลือเป็นคดีอาญาอื่นๆ 744 คน เช่น ก่อการร้าย, วางเพลิงเผา, พกอาวุธ, ทำให้เกิดระเบิด, ลักทรัพย์ ฯลฯ  แต่ในขณะนี้ มีผู้ที่ถูกคุมขังอยู่ 20 คนที่เรือนจำหลักสี่ เป็นคดีที่ศาลชั้นต้นตัดสินแล้ว 18 คน ถูกตัดสินจำคุกระหว่าง 6-35 ปี คดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ส่วนอีก 2 คนอยู่ในศาลชั้นต้น ในข้อหาเผาเซ็นทรัลเวิร์ด

จากตัวเลขนี้พันกว่าคนที่ถูกฟ้อง เขาได้รับโทษไปแล้ว และจำนวนมากก็มีการยกฟ้อง มีการขังฟรี ขังเกินไป ตนได้เขียนบทความโต้แย้งข้อเสนอที่ให้นิรโทษกรรมคนที่ถูกคดีจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน (ดู พวงทอง ภวัครพันธุ์: ไม่เห็นด้วยกับการนิรโทษกรรมเฉพาะผู้ต้องโทษฝ่าฝืน พรก.ฉุกเฉิน) แต่คนเหล่านี้รับโทษจนเสร็จแล้ว ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน แน่นอนว่าต้องนิรโทษกรรมให้ แต่ก็ยังพอรอกันได้ เพราะคนเหล่านี้ยืนอยู่นอกคุกแล้ว เหตุที่ต้องนิรโทษกรรมให้ เพราะโทษที่มันติดตัวไปอยู่ มันจะส่งผลไปถึงอาชีพการงานในอนาคตของเขา จึงจำเป็นต้องมีการล้มลางมลทินให้คนเหล่านี้

พวงทองกล่าวถึงกรณีตัวอย่างที่ฝ่ายที่ต่อต้านนิรโทษกรรม มักจะอ้างเรื่องการนิรโทษกรรมคือการช่วย “พวกเผาบ้านเผาเมือง” และอ้างว่าเป็นเรื่องที่ “พวกมากลากไป” “กดหมู่เหนือกฎหมาย” แต่ในขณะนี้ เมื่อคดีความเรื่องนี้คลี่คลายออกมา มันชี้ว่าเรื่องนี้มีปัญหามาก เช่น กรณีเซ็นทรัลเวิร์ด จากคำเบิกความของพยานในคดีซึ่งเป็นเลขาธิการสมาคมอาสาสมัครบรรเทาสาธารณภัยแห่งประเทศไทย ข้อหา “เผาบ้านเผาเมือง” อาจเปลี่ยนจากคนเสื้อแดง เป็นชายในชุดพรางกายแทนก็ได้ รวมถึงหลักฐานที่อ่อนมาก แต่ก็ยังมีการส่งฟ้องคดีมาได้ด้วย (ดูในบทความข้างต้น)

หรือกรณีเผาศาลากลางในต่างจังหวัด พบว่าประชาชนจำนวนมากถูกกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและตกเป็นจำเลย เพียงเพราะมีภาพถ่ายอยู่ในเหตุการณ์ชุมนุมเท่านั้น หลายรายศาลยกฟ้อง แต่ติดคุกเป็นปี โดยไม่มีประกันตัวและไม่มีการเยียวยา กรณีคนเสื้อแดงที่ถูกจับกุมคุมขังอื่น ๆ จำนวนมากถูกยัดข้อหาว่ากำลังจะไปร่วมชุมนุม ทั้งๆ ที่ไม่ได้เข้าไปในวันชุมนุม และมีการซ้อมทรมานในระหว่างจับกุม

ผลจากการถูกจับกุม ทำให้ครอบครัวของเขาต้องหาหลักทรัพย์ไปประกัน ด้วยเงินกู้นอกระบบ บางรายสูญเสียทรัพย์สิน เช่น บ้านและที่ดิน แต่ก็ไม่ได้ประกันตัว หรือบางกรณีที่อัยการไม่ส่งฟ้อง แต่ถูกควบคุมตัวหลายเดือน กรณีแบบนี้รัฐไม่จ่ายเงินชดเชยให้ เพราะยังไม่ตกเป็นจำเลย รวมทั้งปัญหาการประกันตัว ในคดีที่ยังไม่เด็ดขาด แม้จำเลยจะได้รับความช่วยเหลือเงินประกันจากกองทุนยุติธรรม แต่ศาลก็ไม่ให้ประกันตัว ฉะนั้นคนเหล่านี้ แม้จะพ้นโทษไปแล้ว ก็สมควรมีกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อลบล้างความผิดของเขาจากประวัติ ในกรณีที่รัฐสมควรจ่ายค่าเยียวยา รัฐก็ต้องเยียวยาชดใช้ให้พวกเขา

พวงทองสรุปว่า สภาพที่กระบวนการยุติธรรมปกติไม่สามารถเป็นที่พึ่งของประชาชนที่ต่อต้านอำนาจอนุรักษ์นิยม ที่ปฏิเสธการเมืองในระบอบการเลือกตั้งได้ ฉะนั้นการเรียกร้องให้นิรโทษกรรม จึงไม่ใช่เรื่องของการช่วยคนผิดให้กลายเป็นถูก ไม่ใช่ “พวกมากลากไป” แต่มันมีปัญหาของความไม่ชอบธรรมในสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด อีกทั้งแรงจูงใจของการกระทำของคนเสื้อแดงที่มาร่วมชุมนุม เป็นเหตุผลทางการเมือง ไม่ใช่เหตุผลเพื่อก่ออาชญากรรม พวกเขาเข้าร่วมประท้วงเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลในขณะนั้นยุบสภาแล้วเลือกตั้ง  หากจะมีเหตุการณ์ความรุนแรงใด ที่เป็นผลของการบันดาลโทสะในช่วงเวลาวิกฤตนั้น  สังคมต้องคำนึงถึงประเด็นเหล่านี้ด้วย และในทางกลับกัน ต้องมองการใช้ความรุนแรงของรัฐ ที่ต้องการปราบปรามคนเสื้อแดง ในฐานะปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้จากผู้ชุมนุมด้วย

หัวใจการนิรโทษกรรม คือการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก
ศ.ดร.นิธิ เอียวศรีวงศ์
ตั้งข้อสังเกตว่า ตอนนี้ทุกฝ่ายเห็นพ้องต้องกันว่าเราควรมีนิรโทษกรรม แต่เพราะความเห็นพ้องนี้เองก็เลยขัดแย้งกันทุกคนเลย ฝ่ายหนึ่งบอกควรออกเป็น พ.ร.บ. อีกฝ่ายบอก พ.ร.ก. อีกฝ่ายบอกควรยกโทษให้คดีแบบนี้ด้วย ถึงขนาดที่จะต้องเดินขบวนไปล้อมทำเนียบบ้าง

เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นว่า คนที่คิดว่าการออกนิรโทษกรรมจะเป็นต้นเหตุหรือทางที่จะนำมาซึ่งความปรองดองในสังคม ตนคิดว่าเป็นความคิดที่ผิด เพราะแม้แต่บอกว่า เอานะเราเลิกแล้วต่อกัน แค่นี้ยังทะเลาะกันเลย เพราะความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในสังคมไทยเวลานี้ ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างเสื้อสี ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างคนต่างวัย ไม่ใช่ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปัตย์กับคุณทักษิณ มันลึกลงไปกว่านั้นมาก

ทั้งชีวิตไม่เคยคาดคิดมาก่อนว่าจะได้เห็นสิ่งนี้ คือได้เห็นสิ่งที่เรียกว่า อาญาสิทธิ์ในสังคมไทย ไม่ว่าอาญาสิทธิ์ทางการเมือง อาญาสิทธิ์ทางวัฒนธรรม อาญาสิทธิ์ด้านตุลาการ ถูกตั้งคำถามตัวใหญ่หมด เวลานี้เราบอกว่า เรานับถือจุดนั้นจุดนี้ สถาบันนั้นสถาบันนี้ องค์กรนั้นองค์กรนี้ จะมีเพื่อนคุณบอกว่าไม่นับถือเสมอ ดังนั้นถ้าเราคิดว่าจะออกการนิรโทษกรรมเพียงเพื่อลดความขัดแย้ง ตนคิดว่าไม่เป็นผล เพราะความขัดแย้งมันลึกกว่าจะแก้ได้โดยนิรโทษกรรม

นิธิอธิบายว่า การนิรโทษกรรมคือเครื่องมือของรัฐในการแก้ปัญหาต่างๆ นานา หนึ่งในนั้นคือปัญหาการเมือง และไม่ใช่การเมืองก็มี  Amnesty หรือการให้อภัย เป็นเครื่องมือนี้ใช้กันเป็นปกติในทุกรัฐเลย เช่น ในสหรัฐมีคนลักลอบเข้าเมืองจำนวนมาก มีการวิจัยว่า ถ้าอนุญาตให้คนเหล่านี้คนหนึ่งประกอบอาชีพในสหรัฐจะทำเงินให้ปีละ 5 พันเหรียญ โดยเสียภาษี แต่ถ้าคนๆ นี้ยังเป็นผู้ลักลอบเข้าเมืองอยู่ สหรัฐจะต้องเสียเงินปีละ 3 พันเหรียญเพื่อไล่จับ สิ่งที่สหรัฐเลือกคือ ให้นิรโทษกรรมถ้าคุณมีคุณสมบัติสองสามอย่าง ก็น่าจะให้เป็นคนอเมริกันสักที หรือในเมืองไทยก็มีการให้นิรโทษกรรมแก่ปืนเถื่อน หรือการนิรโทษแก่ผู้ติดยาเสพติด เพราะยังไงมันก็ปราบไม่ได้

กฎหมายนิรโทษกรรมจึงมีขึ้นเพื่อให้มันปฏิบัติได้ (Practicality) น่าจะมีประโยชน์กับส่วนรวมมากกว่า แต่ก็จะมีคนมาบอกว่า แบบนี้คนก็จะไม่เคารพกฎหมาย จึงไม่ควรนิรโทษกรรมเพราะกลัวจะเสียศีลธรรม แต่คนเหล่านี้ไม่เคยถามกลับว่า รัฐบาลที่ออกกฎหมายเหล่านี้มันมีศีลธรรมหรือเปล่า ตนเห็นว่า Practicality เป็นหัวใจของการออกนิรโทษกรรม อะไรที่เรารู้สึกว่าทางนี้ดีกว่า มันจะผิดหลักการอะไรไปบ้าง ก็ต้องยอมรับ เพราะมนุษย์เราอยู่ใต้หลักการส่วนหนึ่ง แล้วก็มีชีวิตที่ดำเนินไปอย่างปกติพอสมควรส่วนหนึ่งด้วย

ในกรณีนี้เมืองไทย เพื่อประนีประนอมจะออกนิรโทษกรรม ให้มาแบ่งกันว่า การกระทำที่เกิดขึ้นในทางการเมือง กับการกระทำที่เป็นอาชญากรรม อะไรทีเป็นการเมืองก็นิรโทษกรรมไป เป็นอาชญากรรมก็ไม่ได้ แต่พอคิดแล้วระหว่างการเมืองกับอาชญากรรมแยกกันลำบากมาก เช่น กรณีเซ็นทรัลเวิร์ดอย่างที่ อ.พวงทองกล่าวไป หรือกรณีมาตรา 112 ช่วงหลังรัฐประหาร ถามว่ามันมีความเข้าใจผิดในหมู่คนจำนวนหนึ่งว่าพระเจ้าอยู่หัวอยู่เบื้องหลังการรัฐประหารหรือไม่ เหตุดังนั้นก็จึงมีคนไม่พอใจรัฐประหาร และไปโจมตีพระเจ้าอยู่หัว ถามว่าอันนี้การเมืองหรืออาชญากรรม หรือในช่วงวิกฤติทางการเมือง ก็มีคนเอากฎหมายฉบับนี้มาใช้ปราบปรามศัตรูทางการเมือง จะแยก 112 กับการเมือง จึงไม่รู้จะแยกกันตรงไหน

นั่นคือเหตุผลสำคัญที่กฎหมายนิรโทษกรรมที่มันออกมายาก เพราะจะออกให้มันมีผลจริงๆ มันกระทบต่อโครงสร้างที่มีมาแต่ก่อน พูดง่ายๆ คืออำนาจอนุรักษ์นิยมทั้งหลาย จะถูกกระทบจากการชี้ว่า ใครควรจะได้รับนิรโทษกรรมบ้าง จะนับคนที่โดน 112 ไหม มันกระทบอำนาจอาญาสิทธิ์มากกว่าเรื่องนิรโทษกรรมทักษิณเสียอีก มันจึงเป็นการตั้งคำถามตัวใหญ่ๆ ต่ออำนาจที่เรียกว่าอาญาสิทธิ์

ตนเห็นว่าหลักการที่จะใช้ในการออกนิรโทษกรรม คือความทุกข์ยากของคน (Human Suffering) ดูกรณีทั้งหมดที่เกิดขึ้น ว่ามันเกิดความทุกข์ยากแก่ใครบ้าง พยายามนิรโทษกรรมแก่คนเหล่านี้ หัวใจสำคัญของการนิรโทษกรรมไม่ใช่เพื่อการปรองดอง แต่เพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยากอยู่

อาจมีคำถามว่า ถ้าตนปล้นแบงค์แล้วถูกจับ ลูกเมียตนก็ทุกข์ยากด้วย ซึ่งไม่ใช่ เพราะต้องพิจารณาภายใต้สภาวะการเมืองอันหนึ่ง ไม่ใช่การก่ออาชญากรรมปกติธรรมดา ไม่ว่าจะต้องคดี 112 ต้องคดีเผาบ้านเผาเมือง ต้องคดีชุมนุม ทั้งหมดเหล่านี้เขาได้รับความทุกข์ยากมากพอแล้ว แม้แต่คนที่หลบหนีอยู่ก็ทุกข์ยาก ซึ่งน่าจะช่วยให้เขาพ้นความทุกข์เสียที เป็นการนิรโทษกรรมเพื่อมนุษยธรรม อันนี้ควรจะเป็นหัวใจของการนิรโทษกรรม ซึ่งไม่ค่อยถูกพูดถึง แต่ไปพูดถึงเรื่องการปรองดอง ซึ่งจะทำให้เกิดปัญหากับการออกกฎหมายฉบับนี้ด้วยซ้ำ

คลิปวิดีโอจาก : Think Box

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
ข่าวรอบวัน
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท