Skip to main content
sharethis

"สุขุมพันธ์ บริพัตร" งัดเพลงหาเสียงแปลงมาจาก "กังนัมสไตล์" "สุหฤท สยามวาลา" ชู 5 ข้อ "กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผู้หญิงมีความสุข" "เสรีพิศุทธิ์" หยั่งเสียงจัดระเบียบทางเท้า ด้าน "โสภณ พรโชคชัย" ขอประชันวิสัยทัศน์ออนไลน์ หลังไม่ได้ขึ้นดีเบตที่จุฬา

"สุขุมพันธุ์" ชูแก้นโยบายจรจาครบวงจร สั้น กลาง ยาว - โชว์เพลงหาเสียงแปลงจาก "กังนัมสไตล์"

บรรยากาศหาเสียงการเลือกตั้งผู้ว่าราชการ กทม. เมื่อวานนี้ (14 ก.พ.) นั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้สมัครหมายเลข 16 ได้โพสต์อัลบั้มภาพ "ภารกิจการลงพื้นที่หาเสียง วันที่ 14 ก.พ. 2556" ลงในเฟซบุคของตน ระบุข้อความว่า "ประชันวิสัยทัศน์ผู้ว่าฯกทม. ที่มรภ.สวนสุนันทา ชูนโยบายแก้ปัญหาการจราจรแบบครบวงจร แก้ปัญหาระยะสั้น กลาง ยาว เน้นต้องพัฒนาและส่งเสริมการใช้ขนส่งมวลชนสาธารณะเพิ่มจาก 40% เป็น 60% จึงจะบรรเทาปัญหาการจราจรได้ จากนั้นไปลงพื้นที่บ้านเด็กตาบอด ผู้พิการซ้ำซ้อน รามอินทรา 34 และนำเสนอนโยบายเปิดโรงเรียนกทม.ให้เด็กพิการที่ช่วยเหลือตัวเองได้ เรียนร่วมกับเด็กปกติ ช่วงบ่ายไปร่วมประชันวิสัยทัศน์ ผู้ว่าฯกรุงเทพมหานคร ที่ modernnine TV รายการพิเศษ "เกาะติดศึกชิงผู้ว่าฯ กทม" ใครพลาดชมอ่านสรุปได้ในนี้ครับ http://storify.com/Sukhumbhandp/story-9 ช่วงค่ำพบปะพี่น้องและปราศรัย ณ ตลาดปัฐวิกรณ์ ซ.นวมินทร์ 72 เขตบึงกุ่ม และที่สุเหร่าแดง ซ.46 ถ.เสรีไทย เขตคันนายาว ขอบคุณทุกการต้อนรับครับ"

โดยหนังสือพิมพ์คมชัดลึกรายงานด้วยว่าในระหว่างการเยี่ยมโรงเรียนบ้านเด็กรามอินทรา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เต้นท่าควบม้า และเปิดเพลงหาเสียงของพรรคที่ใช้ทำนองเพลง "กังนัมสไตล์" ด้วย

 

"พงศพัศ" เสนอนโยบายจราจรไร้รอยต่อ 7 ข้อ

ขณะเดียวกัน พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครหมายเลข 9 ได้โพสต์นโยบายจราจร 7 ข้อติดต่อกันในเฟซบุคของตน โดยระบุว่า "สู่เป้าหมายการลดเวลาเดินทางลง 30% ในชั่วโมงเร่งด่วน คืนเวลาให้ภาคธุรกิจและครอบครัว ผมขออาสาเป็นผู้เชื่อมประสานและแก้ไข วางยุทธศาสตร์ สร้างอนาคตกรุงเทพฯร่วมกับรัฐบาลเพื่อผลักดันโครงการต่างๆ ซึ่งจะทยอยนำเสนอทุกท่าน โปรดติดตามครับ"

"โครงข่ายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 1 ประสานกับรัฐบาล เพื่อผลักดันโครงการเชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน - พัฒนาส่วนต่อขยายรถไฟฟ้า BTS กับรถไฟฟ้าสายสีเขียวของรัฐบาลตลอดแนวถนนราชพฤกษ์ช่วงบางหว้า รวมทั้งจุดเชื่อมต่อที่สถานีแบริ่งไปยังบางปู สมุทรปราการ ระยะทาง 11 กม.

- รถไฟฟ้าขนาดเบา(Monorail/Light Rail) รอบศูนย์กลางคมนาคมพหลโยธิน บางซื่อ ถึง Energy Complex ระยะทาง 7 กม.
- รถไฟฟ้าขนาดเบา(Monorail/Light Rail) ช่วงวัชรพลถึงพระราม9 ระยะทาง 15.5 กม. ส่งผู้โดยสารเข้าสู่เส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก
- นำเสนอรัฐบาลปรับโครงสร้างทางด่วนเส้นทาง งามวงศ์วาน - เกษตรศาสตร์ - ประเสริฐมนูกิจ ระยะทาง 12.5 กม. เป็นรถไฟฟ้าขนาดเบา เชื่อมต่อ รถไฟฟ้า สีแดง เขียว ชมพู และม่วง

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 2 ประสานงานกับรัฐบาลผลักดันตั๋วร่วม 1 ใบ ใช้ได้ทุกที่ สร้างมาตรฐานกลางของระบบบัตรโดยสารร่วม เพื่อความสะดวกในทุกเส้นทางด้วยตั๋วเพียงใบเดียว

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 3 เชื่อมโยงโครงข่ายระบบขนส่งมวลชน บูรณาการเพื่อยกระดับคุณภาพบริการของรถประจำทาง
- เสนอให้มีรถประจำทางฟรี สำหรับผู้มีรายได้น้อย
- ติดตั้งป้ายรถโดยสารดิจิตอลบอกเวลา เชื่อมโยงสัญญาณ GPS และระบบจราจรแจ้งเตือนระยะเวลาการเดินทางให้แก่ผู้โดยสาร
- พัฒนาระบบให้ข้อมูลการเดินรถผ่านป้ายรถโดยสารดิจิตอลบอกเวลา และ Smartphone Application
- พัฒนาจุดเชื่อมต่อการเดินทางผู้โดยสารหลายรูปแบบ ทั้งรถไฟฟ้า รถไฟ เรือ รถประจำทาง ให้ประชาชนสามารถเดินทางถึงจุดหมายได้หลากหลายช่องทาง
- สนับสนุนระบบ Feeder เชื่อมต่อรถไฟฟ้า

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 4 เชื่อมโยงและเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจราจรให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น ด้วยการจัดตั้งศูนย์จราจรกรุงเทพมหานคร
- ประสานงานเชื่อมสัญญาณภาพจากกล้อง CCTV ทุกจุดบนถนน เข้าสู่ศูนย์บริหารจราจร
- ประสานงานตำรวจจราจร สนข. โรงพยาบาล หน่วยกู้ภัย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับความปลอดภัยบนท้องถนน เตรียมพร้อมดูแลพื้นที่เกิดเหตุ ลดเวลา และปัญหาจราจรติดขัดจากอุบัติเหตุ
- ประสานงานกับรัฐบาล บริหารจราจรด้วยระบบ ITS (Intelligent Traffic System) ควบคุมสัญญาณจราจรให้สัมพันธ์กับจำนวนรถยนต์บริเวณทางแยกจากศูนย์กลาง 
- รายงานสภาพจราจรผ่านอุปกรณ์มือถือ จัดทำระบบรายการข้อมูลจราจร เหตุฉุกเฉิน และจุดเกิดเหตุบนท้องถนนผ่าน Smartphone ให้ประชาชนได้รับข้อมูลจราจรแบบ Real time

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 5 เติมเต็มระบบเสริมที่หลากหลาย รับ-ส่งคนกรุงเทพฯให้เข้าถึงรถไฟฟ้าอย่างสะดวก
- จัดให้มีรถแท็กซี่ จักรยานยนต์รับจ้าง สามล้อเครื่อง รถตู้ รถสองแถวประจำทาง พร้อมรับ-ส่งผู้โดยสารจากบ้านสู่รถไฟฟ้าหรือจากรถไฟฟ้าไปยังปลายทางได้อย่างสะดวกโดยไม่จำเป็นต้องใช้รถส่วนตัว
- ประสานงานเอกชนปรับปรุงและจัดการจุดจอดรถ Taxi รถตู้ ให้เป็นระเบียบและเพียงพอกับความต้องการของประชาชน

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 6 รวมพลังคนกรุงเทพฯ แก้ปัญหารถติดด้วยน้ำใจ และวินัยจราจร
- จัดอบรมอาสาสมัครจราจร เพื่อช่วยดูแลการจราจรในช่วงเวลาเร่งด่วน
- ทำงานร่วมกับตำรวจจราจร กวดขันวินัยจราจร ลดปัญหาจราจรและลดอุบัติเหตุบนท้องถนน
- ให้เทศกิจสนับสนุนอำนวยความสะดวกช่วยดูแลระเบียบวินัยจราจร
- ดูแลให้ประชาชนสัญจรบนทางเท้าได้อย่างปลอดภัย
- สร้างวินัยจราจร ตรวจตราผู้กระทำผิดด้วยระบบกล้อง CCTV ระบบตรวจจับความเร็วอัตโนมัติ และระบบตรวจผู้ฝ่าฝืนวินัยจราจร เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด ฝ่าไฟแดง อื่นๆ

นโยบายจราจรไร้รอยต่อ เรื่องที่ 7 ฟื้นฟูรถรางท่องเที่ยว เสริมเสน่ห์ให้ย่านประวัติศาสตร์ พัฒนาระบบรถรางในพื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ (Tram Way) 12 สถานี ความยาว 7 กม. เชื่อมโยงการเดินทางสู่รถไฟฟ้า 3 สาย ได้แก่ สีส้ม สีม่วง และสีน้ำเงิน

 

"สุหฤท" ชู 5 ข้อ "กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผู้หญิงมีความสุข" "เสรีพิศุทธิ์" หยั่งเสียงจัดระเบียบทางเท้า

ขณะเดียวกัน นายสุหฤท สยามวาลา ผู้สมัครหมายเลข 17 ได้โพสต์แสดงนโนบาย "กรุงเทพฯ เป็นเมืองที่ผู้หญิงมีความสุข" 5 ข้อ โดยระบุว่า "หนึ่งในนโยบายที่อยากนำเสนอคือ กรุงเทพฯเป็นเมืองที่ผู้หญิงมีความสุขครับ

สุข 1 ความปลอดภัย แสงสว่าง มีบริการสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะเช่น lady taxi
สุข 2 มีที่บริหารออกกำลังกายคลายเครียดมากๆหลังเลิกกิจกรรมประจำวัน
สุข 3 จัดตลาดนัดผู้หญิงให้ช้อปปิ้งของดีจากทางบ้านในราคาที่ถูก shopping street หมุนเวียน
สุข 4 เมืองแห่งแฟชั่น วันนี้เรามีคนที่ทำเสื้อสวยๆ ดีขายเต็ม facebook ทำไมไม่นำมารวมกัน ส่งเสริมดีไซน์เนอร์ท้องถิ่น
สุข 5 ผู้ชายไม่เจ้าชู้

ตามอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินผมทำได้แน่ๆ ทุกข้อครับยกเว้นข้อ 5 อย่างเดียวครับ เชื่อแบบเดิม เลือกแบบเดิม ได้กรุงเทพฯแบบเดิม สุหฤท สยามวาลา"

ด้าน พล.ต.อ.เสรีพิศุทธิ์ เตมียาเวส ผู้สมัครหมายเลข 11 ได้โพสต์สเตตัสในเฟซบุคของตน แสดงความเห็นเรื่องการขายของบนทางเท้าว่า "ผมเข้าใจมากครับ คนขายก็อยากขาย อยากมีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัว คนเดินทางเท้าเองก็อยากเดินสบายไม่เกะกะ ผมเชื่อว่าถ้าเราจัดระเบียบดีๆ ให้คนขายได้มีที่ขายที่เป็นที่เป็นทางหรือจัดโซนให้ชิดด้านใดด้านหนึ่ง ก็จะเป็นระเบียบมากขึ้น แล้วน้องๆ คิดยังไงกันบ้างครับ" @sereepisuth"

 

"โสภณ พรโชคชัย" ขอประชันวิสัยทัศน์ออนไลน์ หลังไม่ได้ขึ้นดีเบตที่จุฬา

ขณะเดียวกัน เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ที่ผ่านมา นายโสภณ พรโชคชัย ผู้สมัครหมายเลข 4 ได้เผยแพร่บทความ "ลองดูวิสัยทัศน์พัฒนาเมืองของผม" หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 13 ก.พ. ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทยฯ ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ จัดเสวนาสาธารณะ ประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร 2556 (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง) อย่างไรก็ตามผู้จัดงานไม่ได้เชิญนายโสภณขึ้นแสดงวิสัยทัศน์ ทำให้ต่อมา นายโสภณซึ่งไปฟังการประชันวิสัยทัศน์ด้วย ได้เขียนบทความเพื่อแสดงวิสัยทัศน์ดังกล่าว โดยมีรายละเอียดดังนี้

"เมื่อวานนี้ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดงานเสวนาประชันวิสัยทัศน์ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม. ในด้านผังเมือง บริหารมหานครและการใช้ทางเท้า ผมไม่ได้รับเชิญ ผมจึงติดต่อไปแต่เขาว่ามีหลายคนแล้วและอนุญาตให้ผมไปฟังเผื่อแสดงความเห็นด้วย แต่เมื่อผมไปถึงคนล้นห้องแทบไม่มีที่ยืนจึงต้องเดินทางกลับในภายหลัง ในฐานะที่ผมรู้เรื่องเมืองเป็นอย่างดี จบ ดร.ด้านนี้ และทำงานเกี่ยวข้องมาโดยตลอด ผมจึงขอแสดงวิสัยทัศน์ที่แตกต่างตรงนี้ครับ 

ลองเปรียบเทียบที่ผมตอบกับที่ท่านอื่นตอบ (http://prachatai.com/journal/2013/02/45274) ว่าต่างกันอย่างไรนะครับ

คำถาม: มีแนวทางจัดการเมืองอย่างไร ระหว่างเขตเศรษฐกิจ เมืองเก่า สถานบันเทิง ฯลฯ

เราต้องส่งเสริมและอำนวยความสะดวกต่อเขตเศรษฐกิจเพราะเป็นเขตที่สร้างรายได้และภาษีมาเลี้ยงดูประชาชนทั้งกรุงเทพมหานครและทั้งประเทศ ดังนั้นการอำนวยความสะดวกให้ประกอบการค้าเชื่อมโยงกับทั่วโลกได้จึงเป็นสิ่งสำคัญ รูปธรรมก็คือระบบขนส่งมวลชน เป็นต้น 

ส่วนเขตเมืองเก่าเป็นเขตอนุรักษ์ความเป็นไทย สถาบันหลัก และรักษารากเหง้าทางวัฒนธรรม ผมเสนอการพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์เป็นไนท์บาซาร์ที่ใหญ่และดีที่สุดในโลก เนื่องจากกลางวันร้อนจัด แต่ไม่ใช่เพียงเพื่อส่งเสริมวิสาหกิจขนาดย่อม ยังมุ่งส่งเสริมการแสดงออกของเด็ก เยาวชน ศิลปิน ผู้สูงอายุ เป็นต้น

ส่วนสถานบันเทิง ผมจะจัดโซนหรือบริเวณพิเศษให้อยู่ร่วมกัน โดยในบริเวณนี้มีการตรวจตราอาวุธและยาเสพติดอย่างเข้มงวด สถาบันบันเทิงต่าง ๆ จะย้ายเข้ามาอยู่แทบทั้งหมด เพราะไม่ต้องเสียค่าคุ้มครองเช่นที่เป็นอยู่ การรบกวนเพื่อนบ้าน ชุมชนและภาพบาดตาต่าง ๆ ก็จะหมดไป

คำถาม : ในทางกฎหมาย อำนาจของ กทม. มีจำกัด เช่น รถเมล์ เป็นของคมนาคม ถนนบางสายเป็นของกรมทางหลวง ฯลฯ ท่านคิดว่าจำเป็นหรือไม่ ที่จะดึงอำนาจการบริหารจัดการมาจากรัฐบาลกลาง มีแนวทางอย่างไร ด้วยวิธีการใด

บางท่านบอกว่าให้แก้ไขกฎหมายเพื่อให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจมากขึ้น แต่การแก้ไขกฎหมายคงไม่ใช่หน้าที่ที่ทำได้สำเร็จของผู้ว่าฯ  ผู้ว่าฯ ควรบริหารเรื่องใหญ่น้อยให้สำเร็จ ซึ่งจะทำให้หน่วยงานต่าง ๆ เชื่อมั่นและให้ความร่วมมือให้การทำงานไปในทิศทางเดียวกัน ที่สำคัญต้องประสานต่อเนื่อง ไม่ถือตัวว่าได้รับเลือกตั้งมา 

ตัวอย่างหนึ่งก็คือรถประจำทาง ซึ่งทางราชการบริหารขาดทุนมาโดยตลอด ในขณะที่รถร่วมฯ ที่ทางราชการได้ค่าธรรมเนียม กลับมีกำไร  แต่รถร่วมฯ บางสายก็มีคุณภาพต่ำ ดังนั้นประเด็นจึงอยู่ที่การจัดการและการทำงานที่โปร่งใส ซึ่งหากผู้ว่าฯ กทม. ทำได้ ก็ย่อมสามารถแสวงหาความร่วมมือกับทุกภาคส่วนได้

คำถาม: มีแนวทางในการสร้างความสมดุลในการใช้พื้นผิวทางเท้า ระหว่างหาบเร่แผงลอยกับคนเดินทางอย่างไร

ปัจจุบันนี้ทางเท้ามีไว้ขายของ ถนนมีไว้เดินเสียแล้ว การขายของบนทางเท้าต้องเสียเงินแพง บางบริเวณสูงถึง 100-200 บาทต่อตารางเมตรต่อวัน เทียบได้กับการเช่าพื้นที่ห้างสรรพสินค้าหรูๆ เยี่ยงพารากอน หรือเอ็มโพเรียม แต่เงินไม่รู้ไปที่ไหน ถ้าผมเป็นผู้ว่าฯ จะลดค่าเช่าลงครึ่งหนึ่ง เพื่อผู้เช่าจะสามารถขายสินค้าและบริการในราคาที่ถูกลงต่อผู้ซื้อ แล้วนำเงินมาพัฒนาท้องถิ่น เก็บกวาดให้ดี ไม่ใช่ปล่อยระเกะกะกะเช่นทุกวันนี้  แต่ถึงที่สุดต้องจัดบริเวณค้าขายให้ดี พร้อมกับการสร้างนิสัยการซื้อ-ขายสินค้าที่ไม่รบกวนสังคม

คำถาม: การมีส่วนร่วมคน กทม. มีอย่างจำกัด ในการออกบัญญัติ กทม.ทำได้ยาก ต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่ง ถอดถอนผู้บริหารท้องถิ่น ต้องใช้เสียงถอดถอด 3 ใน 4 ของผู้มาใช้สิทธิ ประมาณ 2 ล้าน คำถามคือ ท่านมีท่าทีเชิงนโยบายที่จะขยายการมีส่วนร่วมในเรื่องนี้อย่างไร

สิ่งแรกที่ผมจะทำก็คือการถ่ายทอดสดการทำงานของผู้ว่าฯ ยกเว้นเวลาอยู่บ้านหรือนั่งล้วงแคะแกะเกาในห้องทำงานส่วนตัว แต่การเจรจาพบปะกับผู้มาเยี่ยมเยียนใด ต้องเปิดเผยได้ยินกันโดยตลอด รวมทั้งจัดที่นั่งให้ทั้งฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลมานั่งสังเกตการณ์ทำงานหน้าห้องผู้ว่าฯ เพราะไม่มีวาระซ่อนเร้น  นี่เป็นการมีส่วนร่วมขั้นแรก ส่วนที่สำคัญก็คือการให้ภาคประชาชนได้ตรวจสอบการทำงานของทั้งผู้ว่าฯ และข้าราชการ กทม. แต่ไม่ใช่การเล่นปาหี่ ภาคประชาชนนี้จะต้องมาจากการเลือกตั้งในแต่ละลำดับชั้น ไม่ใช่กลุ่มองค์กรที่อุปโลกน์กันขึ้นมา เมื่อมีการตรวจสอบจากประชาชนใกล้ชิด ก็ย่อมโปร่งใส เพราะ “ผีย่อมกลัวแสงสว่าง”

คำถาม: เรื่องการจราจร 

การสร้างจุดจอดแท็กซี่ที่ผ่านมาน่าจะมีปัญหา ใช้งบประมาณไปมากมาย อาจไม่คุ้มค่า ไม่รู้เงินเข้ากระเป๋าใคร  ควรสร้างจุดจอดวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างมากกว่าสร้างเพิงอยู่บนทางเท้า และควรประกันชีวิตมอเตอร์ไซค์รับจ้างและผู้โดยสาร รวมทั้งการตรวจสอบให้ดี เพื่อไม่ให้มีการรีดไถ

ในการแก้ปัญหาจราจร เฉพาะหน้าต้องทำบัสเลนเฉพาะช่วงเช้าเย็น ใครฝ่าฝืนจับปรับหนัก แต่ไม่ทำบีอาร์ทีที่ใช้ช่องทางจราจร 2 ช่องตลอด 24 ชั่วโมงซึ่งไม่มีประโยชน์ อนาคตเมื่อสร้างรถไฟฟ้าแล้วจะต้องเลิกบีอาร์ที ส่วนที่มีรถไฟฟ้าแล้วก็สร้างรถไฟฟ้ามวลเข้าเข้าถึงพื้นที่ปิดล้อม รวมทั้งการส่งเสริมให้มีจักรยานยนต์ไฟฟ้าคันแรก และการใช้จักรยานเช่า 40,000 คัน 1,000 จุดเพื่อให้คนใจกลางเมืองขี่ไปทำงาน

คำถาม: กทม.ใช้งบมากแก้ปัญหาปากท้องให้กทม. ซึ่งส่วนหนึ่งเอามาจากงบรวมทั้งประเทศ แล้วจังหวัดอื่นที่ประชาชนยากจนกว่าเขาจะคิดอย่างไร มีความเห็นต่อเรื่องนี้อย่างไร 

การพัฒนาใด ๆ นั้น ผู้ใช้ต้องเป็นผู้จ่าย ไม่ใช่ไปขอเงินหลวง ไม่ใช่ไปกู้เงินตะพึดตะพือ จะได้ไม่เอาเปรียบคนจน เมืองพิเศษ เช่น กทม. หรือพัทยา ต้องมีนโยบายเป็นสากล คือ นอกจากบริหารด้วยเงินตัวเองแล้ว ยังมีเงินสนับสนุนชาติ ไม่ใช่ยังไปขอเงินงบประมาณแผ่นดิน เช่นทุกวันนี้ 20% ของงบ กทม. มาจากเงินภาษีประชาชนทั่วประเทศ

คำถาม: ผู้สมัครแต่ละท่านมีนโยบายอย่างไรในการสนับสนุนการอ่านของคนกรุงเทพฯ ทำอย่างไรให้ประชาชนได้อ่านหนังสือที่มีคุณภาพ

ก่อนอื่นต้องส่งเสริมให้มีหนังสือที่มีคุณค่า และอ่านสนุก พร้อมกับเผยแพร่ผ่านสื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะสถานีวิทยุและโทรทัศน์ของ โดยเริ่มต้นที่สถานีของ กทม. ก่อน  การกระตุ้นต่อเนื่องที่ไม่ใช่แบบ “ไฟไหม้ฟาง” เป็นสิ่งจำเป็น

คำถาม: เขตปทุมวันส่วนใหญ่เป็นที่ดินทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ถ้ามีการไล่รื้อ เมื่อเป็นผู้ว่าฯ จะดูแลชุมชุนอย่างไรให้อยู่คู่เมืองใหญ่ / จะมีแนวทางจัดการปัญหาขยะอย่างไร เพราะขยะไม่มาเก็บหลายวัน 

ต้องเจรจากับทรัพย์สินฯ สร้างแนวคิดการพัฒนาแบบ Land Sharing คือแบ่งส่วนหนึ่งให้ประชาชนอยู่อาศัย อีกส่วนหนึ่งให้ทรัพย์สินฯ ไปพัฒนาทางธุรกิจตามที่ต้องการ มีกรณีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่นที่ถนนพระรามที่ 4 เป็นต้น

ส่วนเรื่องขยะนั้น นหัวใจในการบริหารขยะอยู่ที่การลดปริมาณขยะ การแยกขยะ และการกำจัดขยะที่ไม่ก่อให้เกิดมลพิษโดยใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพและโปร่งใสเพื่อให้เกิดความผาสุกในกรุงเทพมหานคร รวมทั้งการสร้างรายได้จากขยะ

คำถาม: พัฒนาอย่างไรให้ประชาชนกรุงเทพฯ พร้อมเข้าสู่ AEC ตามทันสิงคโปร์

ผมไปสำรวจนครต่าง ๆ มาทั่วอาเซียน ไปเป็นทำงานให้กับกระทรวงการคลังกัมพูชา เวียดนาม และอินโดนีเซีย รวมทั้งองค์การสหประชาชาติและธนาคารโลก พบว่าหากเปิด AEC ไทยจะได้รับความสนใจในการลงทุนมากที่สุด เราต้องทำสัญญาและธุรกรรมต่าง ๆ ให้เป็นธรรม เพื่อความมั่นใจของนักลงทุนและคุ้มครองประโยชน์ของคนไทย ควรให้ผู้ประกอบการได้ “ติดอาวุธ” ทางปัญญาเพื่อแข่งขันกับต่างชาติได้

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net