Skip to main content
sharethis

คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ บุกยื่นหนังสือกรรมการสิทธิฯ จี้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิชุมชน และการละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณี ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น-เขื่อนยมบน-เขื่อนยมล่าง’

 
 
14 ก.พ.56เมื่อเวลา 09.30 น.ที่ห้องประชุม โรงแรมฮอริเดย์การ์เดน จ.เชียงใหม่ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) จัดสัมมนา โครงการเครือข่ายในการเฝ้าระวังการละเมิดสิทธิมนุษยชน และการส่งเสริมคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเครือข่าย เรื่อง นโยบายการจัดการน้ำที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน จากนั้นตัวแทนชาวบ้าน ต.สะเอียบได้เข้ายื่นหนังสือต่อนายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ กรรมการสิทธิมนุษยชน ให้ กสม.ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ  กรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่
 
นายแพทย์นิรันดร์ แสดงความเห็นต่อโครงการเขื่อนดังกล่าวว่า ทางกรรมการสิทธิฯ จะดำเนินการต่อไปในการตรวจสอบการละเมิดสิทธิตามที่ชาวบ้าน ต.สะเอียบร้องเรียน และยังกล่าวว่า กรรมการสิทธิมนุษยชน รับเงินเดือนซึ่งเป็นภาษีของพี่น้องประชาชน ต้องทำงานแก้ไขปัญหาให้กับพี่น้องประชาชน เป็นภารกิจและอำนาจหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายตามรัฐธรรมนูญ
 
 
ดร.วสันต์ จอมภักดี อาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วิทยากรหลักในการสัมมนากล่าวถึงการจัดการแม่น้ำ คู คลองของภาคเหนือว่า ที่ผ่านมามีความผิดพลาด การถมริมฝั่งน้ำปิงในเมืองเชียงใหม่ ทำให้แม่น้ำแคบ ระบบนิเวศเปลี่ยนไป เป็นความไม่เข้าใจของหน่วยงานราชการเอง ที่มุ่งเน้นการพัฒนา เน้นความเจริญ ทำให้ระบบนิเวศเสียหาย
 
“เราไม่ควรเร่งพัฒนาจนลืมภูมิปัญญาชาวบ้าน บรรพบุรุษของเรา พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ของพวกเราอยู่กันมาได้มีระบบการจัดการน้ำมาตั้งแต่บรรพบุรุษ บันทึกไว้ในตำรามังรายศาสตร์ แต่ระยะหลังเราให้พวกด็อกเตอร์มาจัดการน้ำ ระบบพังหมด แล้วลูกหลานเราจะอยู่กันได้อย่างไร งบเงินกู้ 3.5 แสนล้านจะทำให้ระบบนิเวศน์แม่น้ำพังหมด แถมยังเป็นภาระให้ลูกหลานเราเป็นหนี้สาธารณะไปอีกนานแสนนาน” ดร.วสันต์ กล่าว
 
 
ด้านนายประสิทธิพร กาฬอ่อนศรี ประธานกลุ่มราษฎรรักษ์ป่า ต.สะเอียบกล่าวว่า เงินกู้ 3.5 แสนล้าน ได้หมกเม็ดแผนการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้นจะทำลายป่า 41,7501 ไร่ เขื่อนแม่วงก์ จ.นครสวรรค์ จะทำลายป่าอีก 13,000 ไร่ นอกจากนี้ ในแผนการจัดการน้ำยังมีเขื่อนที่จะต้องสร้างทั้งหมด 22 เขื่อน ป่าไม้และชุมชนจะต้องถูกกระทบอย่างมากแน่นอน อีกทั้งยังให้ต่างชาติมาประมูลงานอีก การมีส่วนร่วมของชาวบ้านและชุมชนก็ยังไม่มี
 
“รัฐบาล และ กบอ.เดินหน้ากู้เงินมาทำลายป่าอย่างนี้ละเมิดสิทธิหรือไม่” นายประสิทธิพรตั้งคำถาม
 
นายสมมิ่ง เหมืองร้อง ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ กล่าวว่า ตนเองและคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนได้มายื่นหนังสือต่อนายแพทย์นิรันดร์ เพื่อให้กรรมการสิทธิฯ ได้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิกรณีโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น โครงการเขื่อนยมบน โครงการเขื่อนยมล่าง เพราะรัฐบาล กบอ.ไม่เคยมาชี้แจงข้อมูล ข้อเท็จจริง แต่อย่างใด กลับนำโครงการเหล่านี้ไปบรรจุในแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ข้ามขั้นตอนต่างๆ มากมาย ถือว่าไม่เป็นธรรมต่อชาวบ้าน จึงขอให้กรรมการสิทธิช่วยตรวจสอบอีกทางหนึ่งด้วย
 

ทั้งนี้หนังสือดังกล่าวมีเนื้อหา ดังนี้

ศูนย์ประสานงานชุมชน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ 54120

 

14  กุมภาพันธ์  2556

 

เรื่อง      ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ การละเมิดสิทธิชุมชน และการละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณี โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่

 

เรียน      คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ

 

            จากการที่รัฐบาลได้เร่ขายแผนการจัดการน้ำ 3.5 แสนล้าน ให้กับ 6 กลุ่มบริษัทข้ามชาติ ซึ่งในแผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้ในนั้นด้วย อาทิ แผนการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ จะทำลายป่า 41,750 ไร่ แผนการสร้างเขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่ ซึ่งก็คือเขื่อนแก่งเสือเต้นแยกออกเป็น 2 เขื่อน ก็จะทำลายป่าไม่น้อยไปกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น

            แผนการจัดการน้ำดังกล่าว ได้หมกเม็ดการทำลายป่าไว้อย่างมหาศาล อันจะนำไปสู่ปัญหาอุทกภัย และภัยพิบัติ ตามมาอย่างรุนแรงขึ้น ดั่งเป็นที่ทราบกันอยู่แล้วว่าปัจจุบันปัญหาโลกร้อนคุกคามโลกอย่างต่อเนื่อง จึงควรยุติการทำลายป่าซึ่งเหลืออยู่น้อยมากแล้ว

            คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ ได้ยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร และผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ แล้วในวันที่ 1 กุมภาพันธุ์ 2556 ที่ผ่านมาเรียกร้องให้ รัฐบาล และ 6 กลุ่มบริษัทข้ามชาติ ได้ตระหนักถึงปัญหาการทำลายป่าและปัญหาโลกร้อนที่จะเกิดขึ้น โดยกลุ่มราษฎรรักป่าขอเสนอให้รัฐบาลและ 6 กลุ่มบริษัทข้ามชาติ ได้ยุติแผนการทำลายป่า ยกเลิกแผนการสร้างเขื่อน อาทิ เขื่อนแก่งเสือเต้น จ.แพร่ เขื่อนยมบน และเขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่

            คณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน ขอเสนอเหตุผลที่ไม่สมควรสร้างเขื่อน และขอเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม น้ำแล้ง โดยไม่ต้องสร้างเขื่อน ดังต่อไปนี้

เหตุผล 8 ประการที่ไม่สมควรสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

            1. ผลการศึกษาของ องค์การอาหารและการเกษตรโลก (FAO.) ด้วยเหตุผลเรื่องการป้องกันน้ำท่วม เขื่อนแก่งเสือเต้น สามารถ เยียวยาปัญหาน้ำท่วมได้ เพียง 8 เปอร์เซ็นต์

            2. ผลการศึกษาของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI.) ด้วยเหตุผลทาง เศรษฐศาสตร์ ได้ข้อสรุปว่า เขื่อนแก่งเสือเต้นไม่คุ้มทุน

            3. ผลการศึกษาของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้วยเหตุผลทางนิเวศวิทยา ที่มีข้อสรุปว่าหากสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นจะกระทบต่อระบบนิเวศน์ของอุทยานแห่งชาติแม่ยมเป็นอย่างมาก หากเก็บผืนป่าที่จะถูกน้ำท่วมไว้จะมีมูลค่าต่อระบบนิเวศน์ และชุมชนอย่างมาก

            4. การศึกษาของ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ด้วยเหตุผลทางด้าน ป่าไม้ สัตว์ป่า ที่มีข้อสรุปว่า พื้นที่ที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เป็นทั้งอุทยานแห่งชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นแหล่งป่าสักทองธรรมชาติ ผืนเดียวที่เหลืออยู่ ดังนั้น ควรเก็บรักษาไว้ เพื่ออนาคตของประชาชนไทยทั้งประเทศ

            5. ผลการศึกษาของมูลนิธิคุ้มครองสัตว์ป่า และพรรณพืชแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์ ด้วยเหตุผลในการจัดการน้ำ ยังมีทางออก และทางเลือกอื่น ๆ อีกหลายวิธีการ ที่แก้ไขปัญหาน้ำท่วมได้ โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

            6. ผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยนเรศวร ได้เสนอ 19 แผนงานการจัดการน้ำแบบบูรณาการ ซึ่งสามารถแก้ไขปัญหาทั้งน้ำแล้ง น้ำท่วม ได้อย่างเป็นระบบทั้งลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น

            7. ผลการศึกษาของกรมทรัพยากรธรณี ได้ชี้ชักว่า บริเวณที่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ตั้งอยู่แนวรอยเลื่อนของเปลือกโลก คือ รอยเลื่อนแม่ยม ซึ่งยังมีการเคลื่อนตัวอยู่ตลอดเวลา  เป็นการเสี่ยงอย่างมากที่จะสร้างเขื่อนใกล้กับรอยเลื่อนของเปลือกโลก เสมือนหนึ่งเป็นการวางระเบิดบนหลังคาบ้านของคนเมืองแพร่

            8. ผลการศึกษาของโครงการพัฒนายุทธศาสตร์ทางเลือกนโยบายการจัดการลุ่มน้ำยม (SEA) ชี้ให้เห็นว่ามีทางเลือกมากมายในการจัดการน้ำ ในลุ่มน้ำยม โดยไม่ต้องสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เช่น การทำทางเบี่ยงน้ำเลี่ยงเมือง การทำแก้มลิง การพัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก เป็นต้น

แนวทางแก้ไขปัญหา น้ำท่วม น้ำแล้ง ลุ่มน้ำยม 12 ข้อ

1.ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ รักษาป่าที่เหลืออยู่ ป้องกันการบุกรุกป่า ให้ป่าซับน้ำไว้เป็นเขื่อนถาวร  ยั้งยืน และทำหน้าที่เก็บคาร์บอลช่วยลดโลกร้อน รวมทั้งฟอกอากาศให้ออกซิเจนแก่มวลมนุษยชาติ

2.รักษาและพัฒนาป่าชุมชน ทุกชุมชนควรมีป่าชุมชน ไว้ใช้สอย เก็บเห็ด ผัก หน่อไม้ สมุนไพร เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตของชุมชน รักษาป่าอนุรักษ์ โดยเฉพาะป่าอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า ต้องรักษาไว้อย่างเข้มงวด ห้ามมิให้พัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่กระทบต่อป่าและสัตว์ป่า เช่น โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ที่ผ่าใจกลางอุทยานแห่งชาติแม่ยม

3.ปลูกต้นไม้เพิ่ม โดยเฉพาะในเมือง สร้างพื้นที่สีเขียวให้กับครอบครัว ชุมชน หมู่บ้าน ตำบล อำเภอ จังหวัด ภาค และ ประเทศชาติ ทุกคน ทุกชุมชน ช่วยกันทำได้ ช่วยลดโลกร้อนได้อีกด้วย ยุติการตัดถางป่าเพื่อปลูกต้นไม้สร้างภาพไปวันๆ ซึ่งไม่เกิดประโยชน์ ควรปล่อยให้ป่าได้ฟื้นสภาพเอง จะมีความหลากหลายทางพันธุกรรมมากกว่า

4.พัฒนาระบบภาษีเพื่อสิ่งแวดล้อม ชุมชนไหนรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อตัวเองและเพื่อชุมชนอื่น ควรได้รับการสนับสนุน ชุมชนใดไม่มีศักยภาพในการรักษาและอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ควรให้การสนับสนุน เป็นชุมชนพี่น้องหนุนช่วยกัน

5.ฟื้นฟูระบบเหมืองฝาย พัฒนาฝายดักตะกอน ฝายชะลอน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ให้ทั่วทุกพื้นที่ที่มีศักยภาพ

6.เพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำตามลำน้ำสาขา พัฒนาอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ขนาดเล็ก ทั้ง 77 ลำน้ำสาขา ของแม่น้ำยม ซึ่งจะกักเก็บน้ำได้มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

7.ทำแหล่งรับน้ำหลากไว้ทุกชุมชน โดยกรมทรัพยากรน้ำได้สำรวจไว้แล้ว 395 แหล่ง ทั่วทั้งเขตลุ่มน้ำยม เก็บน้ำได้มากกว่า 1,500 ล้าน ลูกบาศก์เมตร มากกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้น ซึ่งเก็บน้ำได้เพียง 1,175 ล้าน ลูกบาศก์เมตร แต่ใช้งบเพียง 4,000 กว่าล้านบาท น้อยกว่าเขื่อนแก่งเสือเต้นถึง 3 เท่า

8.พัฒนาโครงการ หนึ่งหมู่บ้านหนึ่งแหล่งน้ำ หนึ่งตำบลหนึ่งแหล่งน้ำ ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม

9.สนับสนุนการจัดการน้ำระดับครัวเรือน และระดับชุมชนโดยใช้ภูมิปัญญาชาวบ้าน ได้แก่ ฝายต้นน้ำ ฝายทดน้ำ ฝายกักเก็บน้ำ ขุดบ่อ หรือ สระน้ำในไร่นา รวมทั้งอนุรักษ์ และฟื้นฟูระบบเหมืองฝายที่เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านในแต่ละท้องถิ่น จะสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้าน และชุมชน อย่างเป็นจริง และใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างเขื่อนขนาดใหญ่

10.กระจายอำนาจ งบประมาณ ให้กับชุมชนท้องถิ่น ในการวางแผนระบบการจัดการน้ำโดยชุมชน รวมทั้งสนับสนุนงบประมาณในการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและระบบการจัดการน้ำของชุมชนท้องถิ่น รวมทั้งให้สิทธิและอำนาจการจัดการน้ำแก่ชุมชนท้องถิ่น โดยมีกฎหมายรองรับ

11.ทบทวนนโยบายการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในฤดูแล้ง เพื่อลดปริมาณการใช้น้ำ ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกพืชอายุสั้น และเลือกปลูกพันธุ์พืชที่เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ เพื่อลดการบุกรุกพื้นที่ป่า และลดปริมาณการใช้น้ำในการทำเกษตรนอกฤดู

12.ส่งเสริมระบบการใช้ที่ดินให้สอดคล้องกับภูมิสังคม สนับสนุนโฉนดชุมชน สร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับชุมชน ยุติการขับไล่ชุมชนออกจากป่า สนับสนุนชุมชนที่อยู่กับป่า ให้รักษาป่า รักษาต้นน้ำ รวมทั้งจัดการผังเมืองให้สอดคล้องกับธรรมชาติและภูมิสังคม

 

            จึงเรียนมาเพื่อพิจารณา ขอให้ตรวจสอบการละเมิดสิทธิ์ และการละเมิดสิทธิชุมชน การละเมิดรัฐธรรมนูญ กรณี โครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง (เขื่อนแม่น้ำยม) จ.แพร่

 

ขอแสดงความนับถือ

 

(นายสมมิ่ง  เหมืองร้อง)

ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน 4 หมู่บ้าน (บ้านดอนชัยสักทอง)

 

(นายวิชัย  รักษาพล)                     (นายเจริญ  บัวแดง)                      (นายสิทธิพร  ดอกคำ)

 ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อน บ้านดอนชัย บ้านดอนแก้ว บ้านแม่เต้น

 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net