Skip to main content
ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
sharethis

ขณะนี้กำลังมีการร่างกฎหมายการจดทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักเพศเดียวกันขึ้นมาเพื่อนำเข้าสู่ที่ประชุมรัฐสภารอวาระการโหวตคะแนนเสียงเพื่อออกเป็นกฎหมาย ภาษาทางการเรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า ‘พระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต’ เนื้อหาไม่ได้มีอะไรใหม่เพียงแต่เป็นการนำกฎหมายการจดทะเบียนสมรสชายหญิงที่มีอยู่เดิมมาปรับใช้กับคู่สมรสชายกับชาย หญิงกับหญิง เป็นการเพิ่มชุดกฎหมายขึ้นเพื่อรองรับการใช้ชีวิตของคู่รักเพศเดียวกันให้มีสิทธิเช่นเดียวกับคู่รักต่างเพศ 

บางคนสงสัยว่ากฎหมายฉบับนี้มีความสำคัญอย่างไร ขั้นพื้นฐานเลยก็คือกฎหมายฉบับนี้ช่วยเหลือในกรณีที่คู่รักเพศเดียวกันไม่ว่าจะเป็นคู่รัก ชายกับชาย หรือคู่รัก หญิงกับหญิง หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป ทรัพย์สินที่ทั้งสองฝ่ายต่างช่วยสร้างสมกันมาระหว่างที่อยู่ด้วยกันจะตกเป็นของฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ ทำให้ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่มีทรัพย์สินไว้ดำรงชีพ มีบ้านอยู่ต่อไป ไม่กลายเป็นคนไร้ทรัพย์หรือตกอับกลายเป็นคนไร้บ้าน

แต่ทุกวันนี้สิ่งที่คู่รักเพศเดียวกันที่ ชายกับชาย หรือ หญิงกับหญิง ต้องเผชิญก็คือเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตลงไป ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นคนหลักลอยไปในทันทีเพราะทรัพย์สินของฝ่ายที่เสียชีวิตไปจะตกเป็นของญาติๆ  ในขณะที่ฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่จะกลายเป็นคนไร้บ้านไปในบัดดลเพราะทรัพย์สินที่ทั้งสองต่างร่วมสร้างกันมาไม่ถือว่าเป็น ‘สินสมรส’ เนื่องจากรัฐไทยไม่มีกฎหมายรองรับชีวิตคู่ของเพศเดียวกันมาตั้งแต่แรก ฉะนั้นอะไรที่ร่วมสร้างกันมาถือว่าเป็นสมบัติที่แยกความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของกันไป ไม่ได้เกี่ยวกันในความหมายของสินสมรส  ดังนั้นจึงมีคู่รักเพศเดียวกันหลายคู่ทีเดียวเมื่อฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไปฝ่ายที่ยังมีชีวิตอยู่ต้องถูกเชิญออกจากบ้านที่ตนเองเคยอยู่อาศัย เพราะบ้านหลังนั้นได้ตกเป็นสมบัติของญาติผู้ตายไปเรียบร้อยแล้ว

กฎหมายฉบับนี้ยังช่วยอีกหลายเรื่อง เช่น การทำนิติกรรมร่วมกันเพื่อกู้เงินซื้อบ้านหรืออสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทำได้เฉพาะสามีภริยาเท่านั้นแต่เมื่อมีกฎหมายฉบับนี้ออกมา การทำนิติกรรมร่วมกันในฐานะคู่รักเพศเดียวกันเพื่อกู้เงินซื้อบ้านหรือทำธุรกรรมใดๆ ก็จะไม่เป็นอุปสรรคอีกต่อไป บ้านที่ซื้อก็จะกลายเป็นสองเจ้าของ หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตไป อีกฝ่ายก็ยังมีสิทธิอยู่ต่อเพราะเป็นสินสมรสที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา

นั่นเป็นประเด็นทางวัตถุภายนอกอันเป็นประเด็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่พลเมืองทุกคนควรได้รับ แต่ผู้เขียนมองเห็นประเด็นอื่นๆ ที่อาจเป็นประโยชน์มากกว่านั้น


กฎหมายช่วยเรื่องพัฒนาการด้านใน
เพราะการเป็นคนรักเพศเดียวกันในสังคมไทยยังเป็นเรื่องประหลาด ตลกขบขันทำให้คนที่รักเพศเดียวกันจำนวนหนึ่งต้องหลบซ่อนตัวเองไม่สามารถเปิดเผยตัวเองได้ เพราะเมื่อใดที่เปิดเผยตัวว่าเป็นคนรักเพศเดียวกันก็จะถูกมองว่าเป็นตัวประหลาดหรือตัวตลก ไม่ได้รับการยอมรับ จึงทำให้พวกเขาบางคนไม่สามารถบอกกับสาธารณะได้ว่าตนเป็นคนรักเพศเดียวกัน เพราะหากเปิดเผยไปก็จะถูกล้อเลียนหรือไม่ได้รับการยอมรับ

การมีกฎหมายฉบับนี้ออกมาสนับสนุนอย่างน้อยน่าจะทำให้คนที่รักเพศเดียวกันมองเห็นมากขึ้นว่าตนเองไม่ใช่ตัวตลกของสังคมแต่เป็นบุคคลที่มีสิทธิตามกฎหมาย แต่กฎหมายฉบับนี้ก็อาจจะช่วยเหลือคนรักเพศเดียวกันที่มีคู่รักเท่านั้น หากเป็นคนรักเพศเดียวกันที่เป็นโสดก็อาจจะช่วยแค่ความรู้สึกว่าการเป็นคนรักเพศเดียวกันก็พอจะมีตัวตนในกฎหมายไทยอยู่บ้าง และดูเหมือนคนรักเพศเดียวกันที่เป็นโสดยังไม่มีกฎหมายตัวใดมาช่วยเหลือหรือสนับสนุนการดำเนินชีวิตแบบโสดๆ ของตน

นั่นคือพัฒนาการด้านในเรื่องความมั่นใจที่จะเกิดขึ้นกับคนรักเพศเดียวกัน เมื่อเทียบกับทางธรรม การบรรลุธรรมก็ต้องอาศัยความมั่นใจในตัวเองเช่นกัน “ศรัทธา” หรือ “ความมั่นใจในตัวเอง” จึงเป็นคุณธรรมข้อแรกในพละ 5  หากเรามีความมั่นใจในตัวเองว่าเราสามารถบรรลุธรรมได้ เมื่อนั้นความเข้าใจในธรรมที่ลึกซึ้งขึ้นก็จะเกิดตามมา เห็นได้ว่าความมั่นใจในตัวเองมีความสำคัญในโลกทั้งสองใบที่ซ้อนทับกันอยู่ ความมั่นใจในการเป็นอะไรในโลกของฆราวาสจึงมีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าความมั่นใจในทางธรรม

ความมั่นใจตัวเองในทางโลกสนับสนุนให้คนๆ นั้นมีชีวิตอยู่ฉันใด ความมั่นใจในทางธรรมก็สนับสนุนให้คนๆ นั้นมีชีวิตในโลกทางธรรมที่เจริญเติบโตยิ่งขึ้นไปฉันนั้น เราไม่ควรมองว่าความมั่นใจในตัวเองของบุคคลไม่มีความสำคัญ ความมั่นใจในตัวเองเป็นคุณธรรมที่สนับสนุนให้บุคคลประสบความสำเร็จในทุกๆ เรื่อง

ที่สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกันยายนของปี 2553 มีวัยรุ่นเกย์ฆ่าตัวตายในเดือนเดียวกันถึง 5 คน สาเหตุเพราะถูกเพื่อนในโรงเรียนนำความเป็นเกย์ของพวกเขามาล้อเลียนกลั่นแกล้งทำให้พวกเขารู้สึกอับอายไม่ภาคภูมิใจในตัวเองจนต้องปลิดชีวิตตัวเองในที่สุด เราคงเห็นแล้วว่าความภาคภูมิใจในตัวเองหรือความมั่นใจในตัวเองมีความสำคัญต่อบุคคลมากมายเพียงใด


ช่วยลดความรุนแรงเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องกรรม
แนวคิดเรื่องกรรมกับคนรักเพศเดียวกันเป็นความรุนแรงอย่างหนึ่งที่ติดข้องอยู่ในวิธีคิดของชาวพุทธ มีคำพูดว่าเกิดมารักเพศเดียวกันเป็นกรรมให้ได้ยินบ่อยๆ ทั้งๆ ที่พระพุทธเจ้าไม่เคยตรัสว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรมหรือเกิดเป็นกะเทยเป็นกรรม แต่เป็นการตีความกันเอาเองของสาวกรุ่นหลัง

แท้จริงแล้วความรู้สึกว่าเป็นกรรมเกิดจากสังคมขาดความเข้าใจที่ดีและขาดระบบการสนับสนุนด้านสาธารณะให้กับคนที่เกิดมาแตกต่าง คนที่เกิดมาแตกต่างจึงไม่ได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิตแล้วพลอยคิดไปว่าเป็นกรรม หากคนที่แตกต่างในสังคมได้รับการสนับสนุนได้รับความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต หรือได้รับความเข้าใจที่ดีจากสังคมรอบข้าง ความรู้สึกว่าเป็นกรรมนั้นก็จะหายไป 

กรณีคนรักเพศเดียวกันก็เช่นเดียวกัน คนรักเพศเดียวกันไม่มีกฎหมายหรือการสนับสนุนด้านสาธารณะจากสังคมหรือภาครัฐ หากกฎหมายรับรองการสมรสของคู่รักเพศเดียวกันชนะการออกคะแนนเสียงในรัฐสภา อย่างน้อยความรู้สึกว่าเป็นกรรมของคนที่รักเพศเดียวกันก็อาจเจือจางลงไปบ้างเพราะการใช้ชีวิตคู่ได้รับการรับรองจากรัฐรวมทั้งความมั่นคงทางด้านสินสมรสก็ได้รับการคุ้มครอง เจ้าหน้าที่ภาครัฐที่ต้องให้บริการประชาชนก็มีมุมมองต่อคนรักเพศเดียวกันในทางที่ดีขึ้น มองเห็นคนรักเพศเดียวกันว่าเป็นมนุษย์ ปฏิบัติต่อคู่รักเพศเดียวกันที่มาขอจดทะเบียนสมรสอย่างให้เกียรติ เมื่อนั้นความรู้สึกว่ารักเพศเดียวกันเป็นกรรมก็อาจจะค่อยๆ หมดไปเพราะสังคมให้การยอมรับสนับสนุนมากขึ้น


โลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว
แท้จริงแล้วกฎหมายทะเบียนสมรสสำหรับคู่รักเพศเดียวกันไม่ได้ช่วยเหลือแค่คนสองคนเท่านั้นแต่ยังช่วยเหลือคนอื่นๆ ด้วย เช่น พ่อแม่ที่มีลูกรักเพศเดียวกันแต่เดิมอาจจะรู้สึกตะขิดตะขวงใจรับไม่ได้ แต่เมื่อกฎหมายรับรองชีวิตคู่ของเพศเดียวกันถูกประกาศใช้ ความเข้าใจของพ่อแม่ย่อมพัฒนาไปสู่การยอมรับและเข้าใจลูกมากยิ่งขึ้น รวมถึงพี่ๆ น้องๆ หรือญาติๆ ของคู่รักเพศเดียวกันก็จะค่อยๆ เปลี่ยนทัศนคติเพราะมีกฎหมายออกมารองรับ

ในระดับโรงเรียนและสถาบันการศึกษา การรับรู้สำหรับครูอาจารย์และนักเรียนก็ย่อมเปลี่ยนไป มีการยอมรับและเข้าใจประเด็นคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น ในระดับสังคมที่ใหญ่ออกไปเป็นหมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ประเทศ นักการเมือง ประชาชน ก็ย่อมต้องเปลี่ยนไปอย่างช้าๆ เราไม่อาจพูดได้ว่ากฎหมายช่วยเหลือแค่คนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่กฎหมายได้ช่วยสร้างความเข้าใจให้กับคนอื่นๆ ในสังคม ทำให้โลกเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว

พัฒนาการความมั่นใจในตัวเองและความภาคภูมิใจในตัวเองของมนุษย์ทุกคนล้วนมีความสำคัญ ความรักเป็นสิ่งสวยงามไม่ว่าคู่รักนั้นจะเป็นเพศใด แต่สิ่งสำคัญกว่าอื่นใดก็คือความเข้าใจ การยอมรับ และการสนับสนุนจากสังคมรอบข้าง เพราะเราอยู่ในสังคมเดียวกัน ความเข้าใจในความแตกต่างจึงเป็นเรื่องจำเป็น.

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net