Skip to main content
sharethis

จากผลการศึกษาเรื่อง“ความเป็นพลเมืองในสื่อหนังสือพิมพ์ : กรณีการผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค” ของมีเดียมอนิเตอร์ ซึ่งเป็นการศึกษาข่าวจากหนังสือพิมพ์และจากเว็บไซต์ของหนังสือพิมพ์ 6 ฉบับ คือ ไทยรัฐ มติชน เดลินิวส์ กรุงเทพธุรกิจ โพสต์ทูเดย์ และ ASTV ผู้จัดการ ในช่วงเวลาสำคัญ 2 ช่วง คือ วันที่ 9 สิงหาคม - 8 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นช่วงที่เครือข่ายผู้บริโภค ดำเนินกิจกรรมขับเคลื่อนหลากหลายรูปแบบเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.นี้ ให้เข้าสู่สภาภายใน  60 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด  และ ช่วงวันที่ 5 กันยายน - 15 พฤศจิกายน 2555  ซึ่งเป็นช่วงประมาณ 70 วันแรก ในการทำงานของคณะกรรมาธิการร่วมพิจารณาร่างกฎหมายองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ...          

ผลการศึกษา พบว่า
ด้านจำนวนข่าว ในช่วงที่มีการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ.เข้าสภา มีจำนวนข่าวมากกว่าช่วง 70 วันแรกของการทำงานของคณะกรรมาธิการพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ. โดย  ASTV ผู้จัดการ นำเสนอข่าวมากที่สุด (8 ข่าว) รองลงมาเป็นมติชน (5 ข่าว) และโพสต์ทูเดย์ (4 ข่าว)

ด้านวิธีการนำเสนอ โดยแบ่งการนำเสนอเป็น 5 ลักษณะ คือ

1) การนำเสนอในลักษณะการรายงานข่าว พบ ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนข่าวมากที่สุด 8 ข่าว รองลงมาคือมติชน 5 ข่าว โพสต์ทูเดย์ 4ข่าว ในขณะที่เดลินิวส์และกรุงเทพธุรกิจมีจำนวนข่าวเท่ากัน 2 ข่าว

2) การนำเสนอสาระสำคัญของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ  พบว่า ASTV ผู้จัดการมีจำนวนมากที่สุด 5 ข่าว รองลงมาเป็นมติชน 2 ข่าว ในขณะที่เดลินิวส์และโพสต์ทูเดย์นำเสนอเท่ากัน 1 ข่าว

3) การให้ข้อมูลเกี่ยวกับความสำคัญหรือประโยชน์ของ (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ พบว่า  ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนมากที่สุด 3 ข่าว รองลงมาเป็นโพสต์ทูเดย์ 2 ข่าว ในขณะที่มติชนและกรุงเทพธุรกิจนำเสนอเท่ากัน 1 ข่าว

4) การให้ข้อมูลสนับสนุน (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระฯ ASTV ผู้จัดการ มีจำนวนมากที่สุด 5 ข่าว รองลงมาเป็นโพสต์ทูเดย์ 2 ข่าว

5) การนำเสนอข้อมูลที่สนับสนุนขบวนการขับเคลื่อนเพื่อผลักดัน (ร่าง) พ.ร.บ. พบว่า ไม่มีหนังสือพิมพ์ฉบับใดนำเสนอ

ในขณะที่ ไทยรัฐ ไม่นำเสนอเนื้อหาข่าวเกี่ยวกับเรื่อง (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ซึ่งมีสาระใน มาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550

ในการนี้ ผู้เข้าร่วม การเสวนาเรื่อง “สื่อกับบทบาทการเสริมสร้างความเป็นพลเมือง” ซึ่งจัดขึ้นหลังการแถลงผลการศึกษาเมื่อวันที่5 กุมภาพันธ์ 2556 ที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมแสดงความเห็นต่อสิ่งที่พบจากการศึกษา ดังนี้

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการโครงการมีเดียมอนิเตอร์ กล่าวว่า “วารสารศาสตร์พลเมือง”จากแนวคิดของยูเนสโก  (UNESCO) คือ สถานภาพความเป็นสื่ออาชีพ เกิดทีหลังความเป็นพลเมือง เพราะฉะนั้น สื่อจึงพึงเป็นวารสารศาสตร์พลเมือง ที่ใช้วิชาชีพพัฒนาความเป็นพลเมือง ด้วยการปลุกจิตสำนึกสาธารณะ  การเปิดประเด็น หรือเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสนใจในประเด็นที่เป็นประโยชน์หรือเป็นปัญหาสาธารณะ เพื่อระดมความคิดเห็นที่หลากหลาย ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ คือ ประโยชน์สาธารณะหรือปัญหาที่ประสบร่วมกัน เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น สื่อต้องทำให้คนไม่สยบยอม ไม่จำนน ต่อสิ่งที่ทำให้ประโยชน์สาธารณะไม่ได้รับการปกป้องคุ้มครองที่ดี สื่อพึงเป็นสถาบันการศึกษา ที่ทำให้คนในสังคมรู้ความเปลี่ยนแปลงเป็นไปในสังคม สื่อต้องสร้างพื้นที่สาธารณะ  เพื่อสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชน ในประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อสังคม และประเด็นที่เป็นประโยชน์ของประชาชน

 

นายประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์ ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย แสดงความเห็นต่อผลการศึกษา โดยสรุปเป็น 2 ประเด็นหลัก คือ

 1) ความเป็นนักข่าวหรือสื่อที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจในเรื่องนั้นๆ ตัวอย่างเช่น การปฏิรูปที่ดิน หรือการจัดการน้ำ เป็นต้น เมื่อนักข่าว รวมไปถึงโครงสร้างในการจัดการของกองบรรณาธิการที่ไม่เอื้อให้ตัวนักข่าวสามารถฝึกฝนความสามารถเฉพาะด้านได้ จึงทำให้นักข่าวมีความรู้ความเข้าใจในประเด็นที่จะรายงานน้อยเพราะฉะนั้น สื่อกระแสหลักควรมีการฝึกให้นักข่าวสร้างความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านให้มากขึ้น

 2) การศึกษาครั้งนี้ ศึกษาสื่อเชิงพานิชย์ทั้ง 6 ฉบับ ประเด็นจึงอยู่ที่ว่าสิ่งที่นำเสนอจะขายได้หรือเปล่า เสนอไปแล้วจะมีคนอ่านไหม ดังนั้นจำเป็นต้องดูว่าจะมีวิธีการในการนำเสนออย่างไรให้น่าสนใจ กล่าวคือ ทำอย่างไรให้ประเด็นดังกล่าวสามารถขายได้ เช่น ทำอย่างไรให้เป็นเรื่องใกล้ตัว และต้องมีความสำคัญด้วย เป็นต้น ในปัจจุบันมีเพียงสถานีไทยพีบีเอสเท่านั้นที่มีการจัดโครงสร้างกองบรรณาธิการให้มีแผนกข่าวพลเมือง อย่างเป็นเรื่องเป็นราว ในขณะที่สถานีโทรทัศน์อื่นมีเพียงการรับเรื่องร้องเรียนหรือร้องทุกข์ ซึ่งแตกต่างจากการทำหน้าที่วารสารศาสตร์พลเมือง

ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้สรุปว่า สื่อเชิงพานิชย์มีหน้าที่ในการสร้างความเป็นพลเมือง เพราะในความเป็นจริงอาจไกลเกินไป  แต่สื่อท้องถิ่นนั้นอาจมีความเหมาะสมมากกว่า ซึ่งที่ผ่านมาก็มีตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จ โดยมีการลงมือสร้างความเป็นพลเมืองผ่านสื่อท้องถิ่น ประเภทหนังสั้น ละคร หรือการจัดอีเว้นท์ (Event) ฯลฯ โดยอาศัยการสร้างประเด็นจากเรื่องราวในพื้นที่ ที่มีความใกล้ตัวกับประชาชน  รวมทั้งผู้ผลิตสื่อมีความเชี่ยวชาญในการสร้างสื่อดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม และน่าสนใจ ซึ่งช่วยกระตุ้นให้คนในพื้นที่มีความสนใจในประเด็นที่มีการนำเสนอได้เป็นอย่างดี จนส่งผลให้เกิดความตื่นตัวในชุมชนนั้นได้ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุด คือ เรื่องกสทช. ในประเด็นการสรรหา หรือการจัดตั้งคณะกรรมการกสทช. สื่อหรือประชาชนอาจไม่ให้ความสนใจมากนัก  แต่พอมี เรื่องให้สัปทาน 3 G ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของความขัดแย้งในเรื่องของผลประโยชน์ สื่อและประชาชนทั่วไปให้ความสนใจอย่างมาก เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีความใกล้ตัวกับสื่อเชิงพาณิชย์เอง ดังนั้นเมื่อกลับมามองในแง่ขององค์กรผู้บริโภค ต้องนำเสนอการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์อะไรสักอย่างให้แก่ประชาชน ซึ่งเป็นผลประโยชน์ก้อนใหญ่ สิ่งนั้นจะส่งผลให้สื่อมองเห็นความน่าสนใจและจับไปนำเสนอต่อไป ในขณะที่ เรื่องของมาตรา 61 ดูเข้าใจยากและไม่ค่อยน่าสนใจ จึงนำไปสู่คำตอบที่ว่า ทำไมประเด็นดังกล่าวจึงถูกนำเสนอน้อย ถึงแม้ว่าจะเป็นประเด็นที่มีความสำคัญและส่งผลกระทบกับประชาชนก็ตาม      

น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและ กมธ.พิจารณาร่างกฎหมายองค์กรอิสระเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แสดงความเห็นว่า เรื่องของผู้บริโภคนั้นมีเกิดขึ้นใหม่ทุกวัน แม้เป็นเรื่องใกล้ตัว แต่หน่วยงานเรามุ่งทำงานแต่ละประเด็นจนเสร็จสิ้น ในขณะที่การทำข่าวของนักข่าว ให้ความสำคัญกับความสดใหม่ของข่าว จึงสวนทางกับการทำงานของหน่วยงาน  ในเรื่องมาตรา 61 ที่ดูเข้าใจยาก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการที่เราทำงานกันอย่างกระตือรือร้นและต่อเนื่อง จึงทำให้สื่อมองว่า ประเด็นดังกล่าวเริ่มไม่น่าสนใจ และเลือกที่จะนำเสนอประเด็นอื่นแทน

ที่สำคัญคือการที่สื่อมองว่า (ร่าง) พ.ร.บ. องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ของกลุ่ม NGO เพียงอย่างเดียว  ทั้งที่เป็นวาระของสังคม ซึ่งในความเป็นจริงเป็นเรื่องยากมาก เพราะหน่วยงานของเราต่อสู้กับหน่วยงานของรัฐที่ไม่ทำงาน หรือหน่วยงานของรัฐที่ทำงานด้านคุ้มครองผู้บริโภคน้อยไป เพราะฉะนั้นจึงทำให้หน่วยงานของรัฐหรือแม้กระทั่งภาคเอกชนเอง ไม่ให้การสนับสนุน ทั้งที่เราต้องการสร้างกลไก เพื่อการติดตามและรักษาผลประโยชน์ของผู้บริโภค ที่ในความเป็นจริง ผู้บริโภคได้รับความไม่เป็นธรรมมากมาย  เช่น เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน สายการบินจะส่งข้อความ (SMS) แจ้งผู้โดยสาร ซึ่งจ่ายเงินเพียง 3 บาท ในขณะที่ถ้าผู้โดยสารขอเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน ต้องเสียค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่า 500 บาท เป็นต้น  สิ่งที่เกิดกับผู้บริโภค สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนแอของสังคม รวมทั้งกลไกการคุ้มครองผู้บริโภค จึงจำเป็นต้องมีองค์การอิสระตามมาตรา 61 ของรัฐธรรมนูญปี 2550  มาทำหน้าที่

ดร.วัฒนา อัคคพานิช คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม และแกนนำร่วมก่อตั้งกลุ่ม Thai Civic Education  กล่าวว่า ทุกวันนี้ ไม่มีวันไหนที่เราไม่เป็นผู้บริโภค แต่ทุกวันนี้ เรากลับให้ความสำคัญกับฐานะความเป็นผู้บริโภคของเราน้อยเกินไป เพราะคนส่วนใหญ่ยังขาดความเข้าใจในสิทธิของตนเอง ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะเรื่องการบริโภคอุปโภคสินค้า และบริการทั่วไปเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงเรื่องสิทธิเรื่องการเมือง  ที่ผ่านมาเราจะเห็นได้ว่าประชาชนยังขาดความรู้และความสำนึกในอำนาจความเป็นพลเมืองในระบอบประชาธิปไตย ทั้งจากการขายเสียงในการเลือกตั้ง หรือการเลือกนักการเมืองที่มีประวัติไม่โปร่งใสเข้ามาทำงานอยู่เรื่อยๆ และอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การผลักดัน  (ร่าง) พ.ร.บ.องค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ยังไม่มีความเป็นรูปธรรม  ปัญหาดังกล่าวต้องแก้ที่ต้นเหตุ คือ การพัฒนาคนให้ตระหนักถึงความเป็นพลเมืองที่ใส่ใจในเรื่องรอบตัว ตลอดจนผลประโยชน์ของตนเองและส่วนรวม  ทั้งนี้โดยผ่านสื่อมวลชนในฐานะสถาบันที่สำคัญของสังคม ที่ต้องพยายามทำหน้าที่ช่วยส่งเสริมให้ประชาชนหันมาสนใจ และเข้าใจในสิทธิความเป็นผู้บริโภค และความพลเมืองของตนเองให้ได้ เพื่อนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงต่อไปในอนาคต

ผศ.ดร.พิรงรอง รามสูต รณะนันทน์ ภาควิชาวารสารสารสนเทศ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความเห็นว่าวารสารศาสตร์พลเมืองมีลักษณะที่สวนทางกับธรรมชาติสื่อ ที่ปัจจุบันมีความเป็นพาณิชย์มากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ต้นจนจบทั้งในแนวตั้งและแนวนอน  จึงส่งผลให้สื่อที่ทำหน้าที่ในลักษณะวารสารศาสตร์พลเมืองมีจำนวนไม่มาก ทั้งนี้เราอาจพบความเป็นสื่อพลเมืองได้ในสื่อท้องถิ่น แต่ก็ยังเป็นประเด็นเฉพาะ ไม่สามารถแพร่กระจายไปในวงกว้างได้  แต่หากต้องผลักดันในระดับชาติ คงต้องอาศัยสื่อที่มีทุนและความเป็นอิสระสูงอย่างช่องไทยพีบีเอส

ดร.พิรงรอง กล่าวต่อไปว่า เราสามารถมองเงื่อนไขความเป็นวารสารศาสตร์พลเมืองได้ 3 มิติ คือ 1)ทฤษฎีการสื่อสารทางการเมือง ที่พูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสื่อ กับแหล่งข่าว ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วคือนักการเมือง  และกลุ่มผู้รับสารในฐานะประชาชน หรือพลเมือง  ทั้งนี้โดยมีบุคคล 2 กลุ่มแรก คือ สื่อ และนักการเมือง เป็นผู้ผูกขาดการกำหนดวาระข่าวสาร โดยที่ประชาชนจะเป็นเพียงผู้คอยติดตามข่าวสารเท่านั้น   

2) พื้นที่สาธารณะ ซึ่งหมายถึง การมีส่วนร่วมในการสร้างพื้นที่สื่อสารของภาคประชาสังคม  แต่ในปัจจุบัน เนื่องจากลักษณะโครงสร้างสื่อที่มีความเป็นสื่อเชิงพาณิชย์สูง จึงทำให้เป็นเรื่องยากในการเปิดพื้นที่ให้ภาคประชาชนเข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือเข้าถึงได้

3) มุมมองเชิงวัฒนธรรมศึกษา ที่มองเรื่องการสร้างความหมายของความเป็นพลเมืองที่แตกต่างกันออกไปในแต่ละ สังคม  ในสังคมและวัฒนธรรมการเมืองแบบไทยๆ อาจจะไม่ได้สร้างความหมายของความเป็นพลเมืองที่เข้มแข็งเท่าที่ควร   และถึงแม้จะมีพื้นที่ให้กับข่าวสารภาคพลเมือง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า การนำเสนอข่าวสารดังกล่าว จะนำไปสู่การส่งเสริม ประชาธิปไตย หากประชาชนยังรู้สึกว่าประเด็นดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง  ดังนั้นผู้ผลักดันวาระนั้นๆ อาจจะต้องมีการปรับกลยุทธ์ในการนำเสนอเพื่อให้สื่อหันมาสนใจมากขึ้น  ตัวอย่างเช่น การใช้สื่อใหม่ หรือโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในการสร้างความตระหนักเรื่องสิทธิพลเมือง ไม่ว่าจะเป็นความรู้ ค่านิยม และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชน ที่ส่งผลให้สื่อกระแสหลักให้ความสนใจในประเด็นนั้นๆ ได้ในที่สุด   สุดท้าย ดร.พิรงรอง กล่าวถึง การปั่นกระแสข่าวของสื่อต่างๆ เพื่อดึงความสนใจของประชาชนจากวาระสำคัญทางสังคมและการเมือง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ “ทฤษฎีสมคบคิด” ระหว่างสื่อ ภาคธุรกิจ หรือ ภาคการเมือง ที่มีส่วนได้เสียในเรื่องดังกล่าว

ผศ.ดร.เอื้อจิต วิโรจน์ไตรรัตน์ ผู้อำนวยการบริหารมูลนิธิสื่อมวลชนศึกษา กล่าวสรุปว่า คงไม่ใช่เรื่องของสื่อเพียงอย่างเดียว เพราะสื่อเป็นส่วนหนึ่งของสังคม ดังนั้นจึงเป็นเรื่องของสังคมด้วย ทำอย่างไรทุกภาคส่วนของสังคม โดยเฉพาะสถาบันการศึกษา การพัฒนาประชาธิปไตย การสนับสนุนสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน จะร่วมกันทำหน้าที่สร้างสำนึกความเป็นพลเมือง

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไท ได้ทุกช่องทาง Facebook, X/Twitter, Instagram, YouTube, TikTok หรือสั่งซื้อสินค้าประชาไท ได้ที่ https://shop.prachataistore.net