บทสนทนาไม่รู้จบของนักแปล

ประชาไททำหน้าที่เป็นเวที เนื้อหาและท่าที ความคิดเห็นของผู้เขียน อาจไม่จำเป็นต้องเหมือนกองบรรณาธิการ
 
“ทำไมงานเขียนทำนองนี้ถึงไม่ค่อยมีใครแปล?” 
 
นักกิจกรรมกลุ่มหนึ่งตั้งคำถามเมื่อพวกเขาได้อ่านต้นฉบับภาษาอังกฤษที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเคลื่อนไหวทางสังคมการเมืองวัฒนธรรมในต่างประเทศ  บทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารหัวนอกทางเลือก บทวิจารณ์ บทวิเคราะห์ บทสัมภาษณ์ แนวคิดงานรณรงค์หรือปฏิบัติการเคลื่อนไหวทางสังคม ซึ่งบ่อยครั้งต้องหาอ่านเอาจากภาษาต่างประเทศ  
 
คงจะดีไม่น้อยถ้ามีการแปลเป็นภาษาไทย...ความคิดเบื้องต้นนี้นำมาสู่โครงการนำร่องเพื่อสร้างนักแปลรุ่นใหม่ที่สนใจประเด็นสังคมการเมืองและวรรณกรรม  เกิดเป็นคอร์สอบรมการแปลสำหรับนักกิจกรรมครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อ 5 ปีก่อน ที่ อ. สันกำแพง จ. เชียงใหม่  เมื่อวันที่ 5-7 พฤษภาคม 2550 โดยวิทยากรนักแปลอาชีพ ภัควดี วีระภาสพงษ์ และ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์
 
ในสนามอบรมการแปล วิทยากรได้ออกแบบหลักสูตรพื้นฐานอันเป็นหลักการสำคัญของการแปลซึ่งกลั่นมาจากประสบการณ์ในการทำงานแปลมาทั้งชีวิตของสองวิทยากร ไม่ว่าเรื่องหัวใจของการแปล ทริกในการแปล อุปสรรคของการแปล เครื่องมือในการทำงานแปล รวมถึงมุมมองต่ออาชีพนักแปลและการทำงานร่วมกับบรรณาธิการและสำนักพิมพ์  ก่อนจะมาเป็นหลักสูตร “นักแปลข้างถนน” ครั้งที่ 1 จัดขึ้นที่ Book Re:public จ. เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 19-21 ตุลาคม 2555   
 
เสียงตอบรับอย่างดีจากคราวนั้นเป็นเหตุให้ปลายเดือนกุมภาพันธ์นี้ วิทยากรหลักสูตร “นักแปลข้างถนน” จะเปิดอบรมขั้น 1 อีกครั้งที่กรุงเทพฯ  ในการนี้เราจึงรวบรวมเก็บตกคำถามสำหรับมือใหม่หัดแปล รวมทั้งบทสนทนาบางส่วนระหว่างวิทยากรทั้งสองกับผู้เข้าร่วมมาเล่าสู่กันฟัง
 
1. นักแปลต้องเก่งภาษาจริงหรือไม่?
 
พิภพ : “การเป็นนักแปล/ล่ามที่ดี ผมให้ความสำคัญกับความรู้ด้านภาษา 50% ที่เหลืออีกครึ่งหนึ่งผมให้น้ำหนักกับความไม่ลำเอียง ไม่ด่วนสรุปตีความ มีจิตใจใฝ่รู้ มีความสงสัยตลอดเวลา คุณจะเป็นนักแปลที่ดีได้ ต้อง unlearn สิ่งที่คุณ ‘รู้’ มาก่อน คนเก่งภาษาไม่ได้หมายความว่าจะเป็นนักแปลที่ดีเสมอไป”
 
“ความไม่ลำเอียงสำคัญที่สุดในการทำงานล่ามหรืองานแปล ความไม่ลำเอียงไม่ใช่เป็นกลาง แต่คือการให้ความเป็นธรรมกับคนพูดหรือคนเขียน  
 
“ไม่ต้องเกร็งว่าเราไม่เก่งภาษาจะทำงานแปลได้ไหม ผมว่าเป็นไปได้ เพราะชีวิตคนเราทำงานแปลอยู่ตลอดเวลา เราฟังคนพูดหรือดูเขาแสดงท่าทางเราต้องแปลทั้งนั้น แล้วในระหว่างที่เราแปลความรู้ด้านภาษาจะเพิ่มพูนขึ้นเอง”
 
ภัควดี :  “พี่เป็นคนเชื่อเรื่องพรแสวง ถ้ามีความตั้งใจและขยัน ดังภาษิตว่า ‘อัจฉริยะแพ้อดทน’ โดยเฉพาะงานแปลเป็นงานที่ต้องใช้ความอดทนสูง  คนรุ่นใหม่มักมองว่างานแปลเป็นงานโรแมนติก แต่เอาเข้าจริงงานแปลเป็นงานสุดยอดของความน่าเบื่อ มันเป็นงานซ้ำซาก ทุกวันคุณต้องทำงานอยู่หน้าจอคนเดียว ทำงานกับหนังสือเล่มหนึ่งเป็นเดือนเป็นปี อยู่กับตัวอักษรทุกตัวในหนังสือเล่มนั้นไม่รู้กี่รอบต่อกี่รอบ เป็นงานที่ไม่มีอะไรน่าตื่นเต้นเลยแม้แต่นิดเดียว  แต่มันสนุกสำหรับพี่ 
 
“การทำงานแปลต้องมีความชอบเป็นอันดับแรก ต้องมีความต้องการที่จะถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ในสิ่งที่เราอ่าน ได้รู้สึกในสิ่งที่เรารู้สึกเวลาอ่าน  
 
“บางคน ภาษาต่างประเทศดี ภาษาไทยดี แต่บางคนเป็นนักแปลที่ดีไม่ได้ เพราะมีโลกทัศน์แคบ เห็นอะไรดึงเข้าทางความคิดตัวเองหมด  เขาจะแปลได้ดีก็ต่อเมื่อแปลงานต้นทางที่เข้ากับความคิดตัวเอง พอแปลงานที่ไม่เห็นด้วยก็พังเลย คือลากผิดหมดก็เป็นไปได้”
 
2. อย่างไรถึงจะเรียกว่างานแปลที่ดี นักแปลที่ดี ล่ามที่ดี?
 
ภัควดี :  “จริงๆ แล้วหน้าที่ของการแปลคือการเปิดพรมแดนความรู้ของมนุษย์ให้กว้างขึ้น ให้มีการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมเกิดขึ้น  ในต่างประเทศบางทีนักแปลพูดด้วยซ้ำว่างานแปลได้สัก 60% ก็ดีแล้ว ไม่ได้หมายความว่าจงใจละทิ้งหรือบิดเบือนต้นฉบับ แต่เราต้องยอมรับว่าในการแปลมันมีอะไรบางอย่างสูญหายไปเสมอ ไม่มีทางที่ต้นฉบับแปลจะเทียบเท่าหรือสมมาตรกับต้นฉบับ 
 
“ชไลเออร์มาเคอร์ (Friedrich Schleiermacher) บอกว่า การแปลมีอยู่ 3 ส่วน คือ ผู้เขียน ผู้แปล และผู้อ่าน  เขาถามว่างานแปลที่ดีคืออะไร ระหว่างดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน หรือดึงผู้อ่านมาหาผู้เขียน  
 
“แนวคิดทางการแปลยุคหลังมองว่าถ้าดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน แปลว่าคุณได้เปลี่ยนงานผู้เขียนไปมากเพื่อให้ผู้อ่านอ่านแล้วสบายใจราบรื่น  ชไลเออร์มาเคอร์ไม่เห็นด้วยกับการดึงผู้เขียนไปหาผู้อ่าน เพราะเขาคิดว่ามันทำให้คุณค่าของงานแปลหายไปพอสมควร และมันเป็นไปไม่ได้เพราะความจริงแล้วความคิดของมนุษย์ก่อรูปขึ้นในภาษากับวัฒนธรรม ฉะนั้นในภาษาวัฒนธรรมที่ต่างออกไปความคิดก็ไม่เหมือนกัน  ถ้าเราแปลงานโดยที่ทำให้คนอ่านอ่านได้อย่างราบรื่นจนเหมือนกับว่าไม่ได้อ่านงานแปล นั่นหมายความว่าความคิดได้ถูกเปลี่ยนไปแล้ว  เขาคิดว่าการแปลที่ดีคือการดึงผู้อ่านไปหาผู้เขียน แปลด้วยสำนวนภาษาที่แตกต่างออกไปที่คนอ่านไม่คุ้นเคย ทำให้คนอ่านได้รับรู้อรรถรสใหม่ มีมโนทัศน์หรือมโนภาพแบบใหม่ขึ้นมา  ตัวอย่างที่ทำได้สำเร็จคือ นิยายจีนกำลังภายใน  
 
“ตอนเด็กๆ ครูสอนภาษาไทยเคยบอกว่านิยายจีนกำลังภายในทำให้ภาษาไทยวิบัติ แต่จริงๆ แล้วเป็นภาษาที่มีอิทธิพลกับภาษาไทยมากจนกระทั่งพี่เชื่อว่าทำให้ภาษาไทยมีลักษณะเปลี่ยนรูปไปเยอะ อย่างการใช้ประโยคปฏิเสธซ้อนปฏิเสธ การใช้โครงสร้างประโยคเช่น ‘กลางห้องยืนไว้ด้วยบุรุษผู้หนึ่ง’  นี่ถือเป็นความสำเร็จยิ่งใหญ่มาก และเป็นไปตามแนวคิดของชไลเออร์มาเคอร์ คือดึงผู้อ่านไปหาผู้เขียน  พี่เชื่อว่านิยายจีนกำลังภายในได้อัดฉีดสำนวนแบบใหม่เข้ามาในภาษาไทย และมีอิทธิพลต่อนักเขียนไทยจำนวนมากทั้งฝ่ายซ้ายฝ่ายขวา
 
“แต่ขณะเดียวกันก็มีงานแปลประเภทที่อ่านแล้วไม่รู้เรื่อง  จะเอาอะไรวัดว่างานแปลไหนดี ตรงนี้มันมีแต่ข้อยกเว้นในงานแปล ซึ่งเวลาปฏิบัติจริงยากมากที่จะบอกหรือวัดได้”
 
“งานแปลที่ดีในความเห็นของพี่คือ มันขยายพรมแดนความรู้หรือเปล่า  มันได้ฉีดสิ่งใหม่ๆ เข้าไปในกระบวนการรับรู้ของคนในชาติเราหรือเปล่า  มันสร้างมโนทัศน์ใหม่ๆ หรือเปล่า  ถ้าทำได้ก็ถือว่างานแปลนั้นได้ทำหน้าที่ของมันได้ดีพอสมควรแล้วในฐานะการเป็นงานแปล”
 
พิภพ : “ความซื่อสัตย์เป็นพื้นฐานของคนทำงานแปล เริ่มต้นจากอ่านแล้วแปลได้หรือไม่ได้ ถ้าคิดว่าไม่ควรแปลก็ใช้วิธีเก็บความเรียบเรียงซึ่งนั่นไม่ใช่การแปล การเรียบเรียงคือการเอาสิ่งที่เราคิดว่าดีหรือน่าสนใจหรือส่วนที่เซ็กซี่ที่สุดมาถ่ายทอด แต่การแปลแม้แต่ส่วนที่ไม่เซ็กซี่เราก็ต้องแปล งานล่ามก็เช่นกัน คนพูดพูดไม่ดีเราก็ต้องแปลตามนั้นเพราะอย่างที่พูดไปตอนต้นหน้าที่ของเราคือเป็นปากเป็นหูให้เขา
 
“งานล่ามต่างกับงานแปลมากพอสมควร  สำคัญที่สุดสำหรับงานล่ามคือคุณต้องทำการบ้าน ต้องทำความเข้าใจเรื่องนั้นๆ ก่อนล่วงหน้า  สองคือต้องเป็นนักฟัง ฟังให้เข้าใจก่อน จากนั้นเรื่องแปลก็อาศัยประสบการณ์เพราะหลายๆ คำใช้ซ้ำๆ เราก็คุ้นกันอยู่แล้ว ยกเว้นบางคำที่เกี่ยวข้องกับประเด็นเรื่องเพศศึกษา เรื่องเอดส์ ฯลฯ ซึ่งยังไม่มีคำแปลที่ลงตัว เช่นคำว่า stereotype จะแปลว่าการเหมารวมทางเพศก็ได้ แต่บางคนอาจไม่คุ้น คนเป็นล่ามก็ต้องตัดสินใจว่าจะใช้คำไหน  เทคนิคหนึ่งที่ผมใช้ในงานล่ามคือแปลคู่กันใช้สองคำที่คล้ายๆ กัน เช่นคำว่า vision แปลว่าวิสัยทัศน์ แต่บางทีชาวบ้านไม่เข้าใจผมก็ใช้วิสัยทัศน์บ้างภาพฝันบ้างสลับกัน แต่ทั้งนี้ต้องสังเกตผู้ฟังว่าเข้าใจและตามทันด้วย  ขณะที่งานแปล ความสม่ำเสมอของคำที่ใช้เป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะกรณีที่เป็นตำราหรือเอกสารทางกฎหมาย ถ้าคำไม่ตรงกันในทางกฎหมายจะมีปัญหาไม่สามารถบังคับใช้ได้ ดังนั้นในงานแปล คำศัพท์รูปเดียวกันใช้ว่าอะไรก็ต้องใช้อย่างนั้นตั้งแต่ต้นจนปลายให้สม่ำเสมอ”
 
3. สิ่งที่นักแปลควรทำเมื่อลงมือแปล?
 
ภัควดี : “คุณต้องเข้าใจแนวคิดเกี่ยวกับเรื่องนั้นก่อน  งานแปลไม่ว่าประเภทไหน เราต้องรู้แนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่เราจะแปล เพราะถ้าเราไม่รู้แนวคิดเบื้องหลังของสิ่งที่เราจะแปลเลย โอกาสที่จะแปลผิดมีเยอะ  เราจะแปลงานของใครยิ่งอ่านงานของนักเขียนคนนั้นเยอะเท่าไร เราก็จะยิ่งรู้แนวคิดเบื้องหลังของนักเขียนคนนั้นมากขึ้น
“เวลาแปลเราต้องพยายามสร้างโลกของนักเขียนคนนั้นขึ้นมาในหัวเรา แต่ไม่ได้หมายความว่าเราจะเป็นคนเดียวที่เข้าใจนักเขียนคนนั้นดีที่สุด  นี่เป็นเรื่องสำคัญ คือคนอ่านทุกคนมีสิทธิตีความ ไม่ใช่คนแปลตีความถูกคนเดียว”  
 
พิภพ : “ในการแปลต้องคำนึงถึงแบกกราวนด์คนเขียนหรือคนพูดว่าเขาเป็นใครมาจากไหน ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมไหน เพราะภาษานั้นโดยเนื้อแท้แล้วเป็นวัฒนธรรม ถ้าไม่เข้าใจวัฒนธรรมก็ยากจะแปลได้ ดังนั้นคนที่จะทำงานแปลหรือทำงานล่ามควรดูหนังฟังเพลงเยอะๆ  
 
“เมื่อรู้แบกกราวนด์แล้วก็ต้องเข้าใจแนวคิดของนักเขียนคนนั้นว่าเขาต้องการสื่ออะไร ข้อสำคัญคือดูบริบท ต้องเข้าใจบริบท ถ้าไม่เข้าใจบริบทก็จะไม่เข้าใจสิ่งที่แปลแม้คำง่ายๆ อย่าง give out, give in, give up หรือคำว่า fuck เป็นคำที่แปลยากมากที่สุดคำหนึ่งในภาษาอังกฤษ สำนวนที่มีคำว่า fuck มีมากมาย ถ้าเราไม่เข้าใจบริบทเราจะแปลผิดทันที บริบทถึงสำคัญ ถ้าให้ดีควรอ่านทั้งเล่มก่อน จากนั้นทำความเข้าใจผู้เขียน ทำความเข้าใจบริบท
 
“เพราะการแปลเริ่มจากการอ่าน อ่านไม่เข้าใจแปลไม่ได้แน่นอน  หลักการอ่านที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือแบ่งประโยค ต้องเข้าใจเรื่องอนุประโยคหรือประโยคย่อย  นักแปลที่ดีต้องละเอียดอ่อน สังเกตสัญลักษณ์ให้ดีเพราะสัญลักษณ์มีนัยยะในภาษาอังกฤษเสมอ ไม่ว่าการเว้นวรรค การใส่อัญประกาศ การใช้เครื่องหมาย : หรือ ; การใช้ตัวใหญ่ตัวเล็ก ตัวเอน ฯลฯ มีความหมายทั้งนั้น ต้องอ่านสัญลักษณ์ให้ได้ มิเช่นนั้นก็จะแปลไม่ถูกหรือแปลไม่ครบ”
 
 
4. คงรูปหรือความหมาย?
 
พิภพ : “ปัญหาเรื่องจะคงรูป (form) หรือจะเอาความหมาย (matter) เป็นปัญหาคลาสสิก จะใช้เกณฑ์อะไรระหว่างรักษารูปคำ รูปประโยค โครงสร้างประโยค หรือเลือกจะสื่อความหมายให้คนอ่านเข้าใจ เรื่องนี้ไม่มีหลักเกณฑ์ตายตัว แต่เป็นศิลปะของการแปล ว่าจะหาจุดสมดุลของคุณเองว่าควรจะคงรูป โครงสร้างประโยค หรือควรจะให้ความสำคัญกับความหมายมากกว่า”
 
ภัควดี : “ขึ้นอยู่กับว่าแปลอะไร ถ้าแปลข่าว บทความ งานวิชาการ ส่วนใหญ่จะต้องเอาความไว้ก่อน ต้องแปลให้อ่านง่ายที่สุด แปลโดยคำนึงถึงการถ่ายทอดให้ชัดเจนที่สุด ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามแปลให้ได้บุคลิกของนักเขียนคนนั้นด้วย  แต่ถ้าแปลวรรณกรรมก็ต้องคำนึงเรื่องใช้คำ สำนวนหรือวรรณศิลป์ในเชิงวรรณกรรมประกอบ เพราะงานวรรณกรรมต้องการอรรถรส เช่นนักเขียนคนนี้ชอบเขียนประโยคยาวๆ ประโยคหนึ่งสามบรรทัด เราก็ต้องแปลให้ได้ยาวอย่างนั้น  ยิ่งบทกวียิ่งแปลยากเพราะรูปแบบกับความหมายเนื้อสารมันเป็นหนึ่งเดียวเกี่ยวร้อยกันอย่างแยกไม่ได้ ส่วนใหญ่คนที่แปลบทกวีได้ดีจึงเป็นกวีด้วยกัน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะรักษารูปของต้นฉบับไว้ได้ ส่วนใหญ่ก็จะสร้างฟอร์มในภาษาตัวเองขึ้นมามากกว่า”
 
5. จะมั่นใจได้อย่างไรว่าแปลถูก
 
พิภพ : “การแปลสำคัญที่สุดคือใช้สามัญสำนึก เราอ่านแล้วสะดุด คนอื่นอ่านก็สะดุด คำศัพท์บางคำดูเหมือนง่ายๆ แต่บางทีเราก็แปลผิดได้  บางครั้งตอนแปลเราไม่รู้ว่าแปลผิดหรือน่าจะแปลได้ดีกว่านี้เพราะเราเป็นส่วนหนึ่งของสิ่งที่เราแปล แต่ถ้าทิ้งไว้สักพักรอให้เป็นภาพสะท้อนในใจจนกว่าเราจะเอาตัวเราออกมาจากงานแปลได้จึงกลับมาอ่านทวนอีกรอบเหมือนส่องกระจกเราก็จะเห็นข้อผิดพลาด ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายจึงต้องมี reader/ editor ช่วยอ่านช่วยเกลาสำนวนในแง่ความราบรื่น 
“ถามว่าจะมั่นใจยังไง ผมคิดว่าก็ทำผิดเยอะๆ แล้วจะมั่นใจเอง ทำผิดแล้วไม่ต้องอาย เรียนรู้จากข้อผิดพลาด ให้คนโยนงานเราลงถังขยะให้ได้สักครั้งหรือสิบครั้งก่อนจะมั่นใจขึ้น การที่เรามีประสบการณ์แบบนี้เป็นเรื่องที่ดี และผมก็ได้เรียนรู้จากคนที่แก้งานให้  นอกจากนี้ก็ต้องหาความจริงจากเสียงวิจารณ์  คำวิจารณ์เป็นสิ่งที่คนแปลเลี่ยงไม่พ้น นักแปลพึงใจเย็น รับผิดชอบและน้อมรับคำวิจารณ์ ระลึกไว้ว่าถ้าเราไม่เคยทำผิดเลยแสดงว่าเราไม่ได้ทำอะไรหรือทำไม่มากพอ ถ้าทำมากพออย่างไรก็ต้องผิดสักครั้ง”
 
ภัควดี : “ปัญหาของคนแปลผิดส่วนใหญ่คือไม่ได้คิดตอนแปล
“แต่การแปลผิดไม่ใช่อาชญากรรม  อารยธรรมมนุษย์เกิดขึ้นจากการแปลผิดด้วยซ้ำไป  ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการในยุโรปที่เรียกว่าเรอเนซองซ์ เกิดจากการแปลงานของอริสโตเติล และความจริงแปลผิด  เขาไม่ได้แปลจากภาษากรีกแต่แปลจากภาษาอาหรับ หากแต่อิทธิพลของมันทำให้เกิดการตื่นตัวในเรื่องการคิดอย่างมีเหตุผล ความเปลี่ยนแปลงด้านสติปัญญาจนนำมาสู่ยุคเรอเนซองซ์
 
“กล่าวกันว่าอารยธรรมตะวันตกเกิดมาจากการแปล  เกอเธ่พูดว่าในบรรดากิจกรรมทุกอย่างในโลก งานแปลถือเป็นกิจกรรมที่สำคัญที่สุดของมนุษย์  การแปลสร้างความเปลี่ยนแปลงให้แก่โลกมากมาย บทบาทของการแปลในสังคมมนุษย์มีสูงมาก และภารกิจของนักแปลจึงไม่ใช่เรื่องล้อเล่น” 
 
........................................................................
 
ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นเพียงส่วนเสี้ยวของการอบรมนักแปลเท่านั้น จะว่าไปเรื่องการแปลก็เปรียบเสมือนบทสนทนาไม่รู้จบ มีข้อควรคำนึงถึงและเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยอีกมากมายที่สำคัญในการทำงานแปล ซึ่งการได้ทดลองแปลและแลกเปลี่ยนแบ่งปันประสบการณ์น่าจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งของการเรียนรู้ที่จะเป็นนักแปลที่ดีต่อไปในกาลข้างหน้า 
 
ลองมาฟังเสียงสะท้อนจากผู้เข้าร่วมอบรมบ้างว่าได้อะไรจากการอบรมนักแปลข้างถนนกันบ้าง...
 
“ส่วนหนึ่งจากบันทึกของฉันที่ร่วมการอบรมนักแปลข้างถนน ทำให้คิดถึงวลีที่ว่า ‘ไม่มีทางลัดสู่ความสำเร็จ’ มีแต่ความพยายาม มุ่งมั่น และโชคชะตา  หลังอบรมฉันยังไม่มีโอกาสแปลเป็นชิ้นเป็นอัน แต่แปลแบบเก็บความสั้นๆ ง่ายๆ จากสิ่งที่อ่านให้เพื่อนๆ ในแวดวงคนทำงานเพศศึกษาได้อ่านกัน”  อุษาสินี ริ้วทอง
 
“ชอบตรงที่มีการเอางานแปลแต่ละคนมาแปลร่วมกันค่ะ เพราะปกติตอนที่เรียนมหาลัยในคลาส อาจารย์จะไม่เอางานของนักศึกษาทุกคนมาดูกันในคลาสเพราะเวลามีจำกัด จึงทำให้บางครั้งไม่รู้ว่างานแปลที่เราส่งนั้นผิดถูกตรงไหนอย่างไร”  เวลิกา มามูล
 
“เนื้อหาครอบคลุมหลักใหญ่และหัวใจของการทำงานแปล ได้ฝึกแปลไปพร้อมๆ กันทำให้ได้เห็นวิธีการแปลของเพื่อนๆ ในรูปแบบต่างๆ และวิธีการสรุปของวิทยากรที่ให้ผู้เข้าร่วมมีส่วนร่วมดีมาก ได้เก็บตกจากการแลกเปลี่ยนพูดคุย ทั้งวิธีทำงานแปลอย่างเคร่งครัดกับต้นฉบับ ความอดทนของนักแปล การไม่ปล่อยผ่านสิ่งที่แปลไม่ออก บางทีการแปลเป็นเรื่องการต่อรอง ยอมเสียจุดหนึ่งเพื่อไปชดเชยจุดอื่น ฯลฯ ทั้งหมดนั้นมาจากประสบการณ์ของวิทยากรที่ยากจะหาอ่านได้จากคู่มือการแปล”  วิรพา อังกูรทัศนียรัตน์
 
“การแปลไม่ต้องเก่งภาษาอังกฤษ แต่สำคัญอยู่ที่การค้นคว้าหาความหมายให้ตรงกับสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อมากที่สุด” พรพิมล สันทัดอนุวัตร
 
“ดีที่ให้ทำแบบฝึกหัดมาก่อนและเอามาดูกัน ทำให้ผ่านประสบการณ์ก่อน เวลาเอามาเรียนกันทำให้มีประเด็นแลกเปลี่ยน วิทยากรทั้งสองท่านมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน แต่เสริมกัน ให้วิชาแบบไม่หวงวิชาเลย ^ ^”  กิติพร พรหมเทศน์
 
“ข้าพเจ้ากำลังกลับมาแก้งานที่ทำค้างไว้ พอเริ่มตรวจทานใหม่ก็เริ่มรู้แล้วว่าทำไรผิดไปบ้างและจะแก้ปัญหาที่ค้างคาไว้อย่างไร ถ้าไม่ได้คุยกับพี่ทั้งสองก็คงแช่งานไว้จนเน่าไม่มีสติปัญญาจะทำต่อ ใช้หลักที่พี่เป็ดบอกว่าถ้าแปลออกมาแล้วมันอ่านแปลกๆ ต้องเช็กคำศัพท์ใหม่ เช็กไปเช็กมาก็เจอค่ะ”  อัจฉรา รักยุติธรรม
 
“ไปเรียนรู้เรื่องการแปลข้างถนนครั้งที่ผ่านมา เหมือนมาอยู่อีกที่หนึ่งที่ต่างจากงานที่ทำ ได้ประสบการณ์ที่น่าตื่นเต้นไปอีกแบบ สนุกดี ได้รู้หลักรู้ว่ามีเครื่องมืออะไรบ้าง ตอนนี้กำลังเลือกใช้ทำงานกับส่วนที่เราเข้าไปเกี่ยวข้อง อย่างน้อยก็ทำให้สนุกกับการดูหนัง ฟังเพลงสากล และอ่านภาษาอังกฤษมากขึ้น”  ภาวิณี ไชยภาค
 
“เครื่องมือแปลที่ดีที่สุดในโลกยังไม่มี แต่การแปลให้ดีที่สุดยังพอจะมีหากเราแปลให้เสร็จโดยที่รู้ว่าตรงไหนแปลไม่ได้หรือไม่ตรงเป๊ะ แปลผิดจึงไม่ใช่อาชญากรรม ที่สุดแล้วนักอ่านก็ยังจะได้เรียนรู้จากความผิดพลาดของนักแปลอยู่บ้าง การแปลให้ดีที่สุดจึงควรอย่าหยุดแปล”  ธีระพล คุ้มทรัพย์  (ล่าสุดเขาแปลงเพลงประกอบหนัง Les Misérables “do you hear the people sing?” เป็นภาษาไทย   อ่านเบื้องหลังการแปลงได้ที่ ardisto-เดอะภารโรง/ได้ยินผู้คนร้องเพลงไหม-เพี้ยนแน่ๆ-แต่ไม่บิด)
 

หมายเหตุ : งานอบรม “นักแปลข้างถนน ขั้นที่ 1 ครั้งที่ 2 จะจัดขึ้นอีกครั้งวันที่ 25-27 กุมภาพันธ์นี้ ณ สวนเงินมีมา เจริญนคร กรุงเทพฯ  ติดตามรายละเอียดได้ทาง www.wechange555.com หรือเฟซบุ๊ก : นักแปลข้างถนน ขั้นที่ 1 http://www.facebook.com/events/331018830332058/?fref=ts

 
 
 
 
 
 

 

ร่วมบริจาคเงิน สนับสนุน ประชาไท โอนเงิน กรุงไทย 091-0-10432-8 "มูลนิธิสื่อเพื่อการศึกษาของชุมชน FCEM" หรือ โอนผ่าน PayPal / บัตรเครดิต (รายงานยอดบริจาคสนับสนุน)

ติดตามประชาไทอัพเดท ได้ที่:
Facebook : https://www.facebook.com/prachatai
Twitter : https://twitter.com/prachatai
YouTube : https://www.youtube.com/prachatai
Prachatai Store Shop : https://prachataistore.net
สนับสนุนประชาไท 1,000 บาท รับร่มตาใส + เสื้อโปโล

ประชาไท